ภาวะเร่งด่วนทางลำคอ (Throat emergencies)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ภาวะเร่งด่วนทางลำคอ (Throat emergencies) คือ โรคหรือภาวะผิดปกติทางลำคอที่ก่อให้เกิดอาการผิดปกติรุนแรงฉับพลัน/เฉียบพลัน ที่ควรต้องได้รับการรักษาจากแพทย์อย่างรีบด่วน ทันที ซึ่งในบทความนี้จะกล่าวถึงภาวะเร่งด่วนทางลำคอในเรื่องของ

  • สิ่งแปลกปลอมเข้าลำคอ
  • สิ่งแปลกปลอมเข้ากล่องเสียงและหลอดลม
  • โรคลมพิษชนิดรุนแรง
  • โรคฝากล่องเสียงอักเสบ และ
  • โรคอักเสบติดเชื้อรุนแรงของโพรงใต้คาง

สิ่งแปลกปลอมเข้าลำคอ(Foreign body in the throat):ปฐมพยาบาลสิ่งแปลกปลอมเข้าลำคออย่างไร?

ภาวะเร่งด่วนทางลำคอ

สิ่งแปลกปลอมที่หลุดเข้าลำคอ ที่พบได้เรื่อยๆ เช่น ก้างปลา กระดูกไก่ และเหรียญ โดยผู้ป่วยจะให้ประวัติมีสิ่งแปลกปลอมติดคอในทันทีทันใด หรือรู้สึกมีอะไรไปติดคอ กลืนเจ็บ และมีน้ำลายมาก

โดยส่วนใหญ่สิ่งแปลกปลอมมักจะติดคอที่บริเวณต่อมทอนซิล และภายในลำคอส่วนต้นๆ

เมื่อมีสิ่งแปลกปลอมหลุดเข้าลำคอ ควรรีบไปโรงพยาบาล ถึงแม้อาการจะไม่มาก ทั้งนี้เพื่อการหาตำแหน่งสิ่งแปลกปลอม เพื่อการรักษาที่ถูกต้อง เพราะบ่อยครั้งที่สิ่งแปลกปลอม โดยเฉพาะกระดูก หรือก้างปลา จะติดฝังอยู่ในเนื้อเยื่อลำคอ ซึ่งอาจก่อให้เกิดการติดเชื้อได้ และถ้ามีอาการมาก เช่น หายใจไม่ออก ตัว เขียว ต้องไปโรงพยาบาลเป็นการฉุกเฉิน

ถ้ามีการสำลักอาหารเข้าไปติดใน ลำคอ เข้าหลอดลมแล้วผู้ป่วยหายใจขัด ไอมาก ให้รีบเรียกรถพยาบาล ระหว่างคอยรถ ให้ช่วยเหลือผู้ป่วยให้ไอเอาอาหารนั้นออก โดยการเข้าไปด้านหลังผู้ป่วย แล้วกอดรัดบริเวณรอบเอว กำมือทั้งสองข้างเข้าด้วยกันให้เป็นกำปั้น และกดลงในส่วนใต้กระบังลมแล้วดันขึ้นด้านบน เพื่อเพิ่มแรงดันในทางเดินอาหารและในหลอดลม ดันให้อาหารนั้นหลุดออกมา (Heimlich’s maneuver) แล้วรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลฉุกเฉิน

แพทย์วินิจฉัยมีสิ่งแปลกปลอมในลำคออย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยได้จากประวัติอาการต่างๆ และการตรวจร่างกาย ตรวจลำคอด้วยการส่องกล้อง และอาจมีการเอกซเรย์ภาพลำคอ ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์

แพทย์รักษาอย่างไร?

แพทย์ให้การรักษาโดยการส่องกล้องคีบเอาสิ่งแปลกปลอมออก และให้การรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น การกินอาหารอ่อน ดื่มน้ำมากๆ และกินยาแก้ปวด บางครั้งอาจให้กินยาปฏิชีวนะป้องกันการติดเชื้อ ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์

สิ่งแปลกปลอมเข้ากล่องเสียงและหลอดลม (Laryngeal foreign body):ปฐมพยาบาลสิ่งแปลกปลอมเข้ากล่องเสียงและหลอดลมอย่างไร?

สิ่งแปลกปลอมในกล่องเสียงพบได้ไม่บ่อยนัก เพราะผู้ป่วยมักจะไอขับเอาวัตถุนั้นออกมา ถ้ามีสิ่งแปลกปลอมขนาดเล็กติดที่กล่องเสียง ผู้ป่วยจะมีอาการทันที จะแน่นในคอ ไอ และขย้อน หายใจไม่ออกร่วมกับอาการเสียงแหบ หรือพูด ไม่ชัด หายใจขัดหรือหายใจเสียงดัง รายที่สิ่งแปลกปลอมมีขนาดใหญ่ กล่องเสียงอาจหดเกร็ง จนผู้ป่วยขาดอากาศหายใจ และหมดสติได้ ซึ่งเมื่อผู้ป่วยมีอาการดังกล่าวฉับพลัน ต้องรีบนำผู้ป่วยไปโรงพยาบาลฉุกเฉิน

หรืออาจช่วยผู้ป่วยก่อนระหว่างรอรถพยาบาล ด้วยการใช้วิธี Heimlich maneuver เช่นเดียวกับที่ได้กล่าวแล้วในเรื่อง มีสิ่งแปลกปลอมในลำคอ ซึ่งหลักการก็เช่นเดียวกัน คือ ทำการดันบริเวณใต้กระบังลมเพื่อเพิ่มความดันของลมในปอดจนสามารถดันสิ่งแปลกปลอมให้หลุดออกจากกล่องเสียงได้ อาจทำในท่ายืน นั่ง หรือนอน

ผู้ป่วยที่มีสิ่งแปลกปลอมขนาดเล็กหลุดลงในท่อลม หรือในหลอดลม (มัก หลุดลงหลอดลมข้างใดข้างหนึ่ง) ผู้ป่วยจะมีอาการน้อยในตอนแรก แต่ตามมาด้วยอาการหลอดลมอักเสบ ปอดบวมหรืออาการคล้ายโรคหืด ซึ่งบางครั้งถ้าประวัติมีสิ่งแปลกปลอมไม่ชัดเจน จะทำให้การวินิจฉัยล่าช้าไป

แพทย์วินิจฉัย สิ่งแปลกปลอมในกล่องเสียงและหลอดลมอย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยได้ว่าผู้ป่วยมีสิ่งแปลกปลอมในกล่องเสียงและในหลอดลม โดย

1. มีประวัติไอแบบไอสำลัก (Choking) ขณะนั่งเล่น ขณะอมสิ่งของต่างๆ ขณะรับประทานอาหาร หรือขณะวิ่งเล่น (ในเด็ก)

2. ตรวจร่างกายฟังเสียงหายใจอาจพบเสียงหายใจลดลง และ/หรือหายใจมีเสียงผิดปกติ

3. เอกซเรย์ภาพปอดและลำคอขณะหายใจเข้าเต็มที่ และขณะหายใจออกเต็มที่เพื่อเปรียบเทียบกัน เพื่อดูการขยายตัวของปอด

4. อาจต้องมีการส่องกล้องตรวจ ทั้งกล่องเสียง ท่อลม และหลอดลม ทั้งเพื่อเป็นการวินิจฉัย และเป็นการรักษาเพื่อเอาสิ่งแปลกปลอมออก

แพทย์ให้การรักษาอย่างไร?

การรักษาคือ การเอาสิ่งแปลกปลอมออกโดยผ่านทางการส่องกล้อง หลังจากนั้นให้การรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น ยาบรรเทาอาการไอ ยาปฏิชีวนะ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ ทั้งนี้ขึ้นกับอาการผู้ป่วย และดุลพินิจของแพทย์

โรคลมพิษชนิดรุนแรง(Angioneurotic edema): โรคลมพิษชนิดรุนแรงเกิดจากอะไร? ปฐมพยาบาลอย่างไร?

โรคลมพิษชนิดรุนแรงเกิดจากแพ้สิ่งต่างๆ เช่น อาหารทะเล เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ยา หรือแมลงมีพิษ เช่น ผึ้ง ต่อ แตน กัดต่อย (ผึ้ง ต่อ มด กัดต่อย: การปฐมพยาบาล การรักษาและการป้องกัน) เป็นต้น

การปฐมพยาบาล คือ การรีบนำผู้ป่วยไปโรงพยาบาลฉุกเฉิน

โรคลมพิษชนิดรุนแรงมีอาการอย่างไร?

อาการ คือ มีบวมในช่องปาก ใต้ลิ้น ลำคอ ที่ฝากล่องเสียงและที่กล่องเสียง อาการเกิดขึ้นรวดเร็ว ผู้ป่วยจะแน่นอึดอัด หายใจลำบาก บางรายมีผื่นคันทั่วตัวร่วมด้วย ในรายรุนแรงพบมีความดันโลหิต/เลือดต่ำ อาจตายได้จากทางเดินหายใจส่วนบนอุดกั้นเฉียบพลันเพราะกล่องเสียงบวมทันที หรือเกิดภาวะหายใจล้มเหลวจากหลอดลมหดตีบทันทีอย่างรุนแรง (Acute bronchospasm) ร่างกายจึงขาดอากาศทันที

แพทย์วินิจฉัยโรคลมพิษชนิดรุนแรงได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคนี้ได้จากประวัติอาการ และการสัมผัสหรือการบริโภคสิ่งต่างๆที่อาจก่ออาการแพ้ เช่น อาหารทะเล หรือจากประวัติถูกสัตว์กัดต่อย (ผึ้ง ต่อ มด กัดต่อย: การปฐมพยาบาล การรักษาและการป้องกัน)

แพทย์รักษาโรคลมพิษชนิดรุนแรงอย่างไร?

แพทย์รักษาโรคนี้ โดย

1.การฉีดยากระตุ้นการหดตัวของหลอดเลือด เพื่อช่วยให้ความดันโลหิตสูงขึ้น และหัวใจเต้นได้ดีขึ้น คือยา Adrenaline (Epinephrine) เข้าใต้ผิวหนัง ซึ่งอาจฉีดซ้ำในอีก 1–2 ครั้ง ห่างกันแต่ละครั้งประมาณ 10 – 15 นาที

2. ให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ

3. ให้ยาแก้แพ้ (Antihistamine) เข้าหลอดเลือดดำ

4. ให้ยาสเตียรอยด์

5. ถ้าหอบ ให้ยาขยายหลอดลม

6. ถ้าความดันเลือด/ความดันโลหิตยังต่ำให้ยาเพิ่มความดันโลหิต

7. ถ้าหายใจไม่ได้เอง อาจต้องใส่ท่อช่วยหายใจทางปาก หรือโดยการเจาะคอ

โรคฝากล่องเสียงอักเสบ(Epiglottitis): โรคฝากล่องเสียงอักเสบเกิดจากอะไร?

โรคฝากล่องเสียงอักเสบ (Epiglottitis หรือ Acute supraglottitis) เป็นการติดเชื้อที่อันตรายถึงชีวิตได้ ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ชนิด Haemophilus influenzae type B มักพบในเด็กอายุ 2 – 4 ปี พบบ่อยในฤดูหนาว

โรคฝากล่องเสียงอักเสบมีอาการอย่างไร?

อาการของโรคมักเกิดขึ้นรวดเร็วภายใน 2 – 6 ชั่วโมง ซึ่งเมื่อพบเด็กมีอาการดังจะกล่าวถึง ควรต้องนำเด็กไปโรงพยาบาลฉุกเฉิน ซึ่งอาการ คือ

  • มีไข้ เจ็บคอ หายใจมีเสียงดัง
  • เสียงพูด/ร้อง เหมือนอมของร้อนๆในปาก ไม่ใช่เสียงเห่าเหมือนในโรคครูป (Croup ,โรคของกล่องเสียงอักเสบในเด็กที่เกิดจากติดเชื้อไวรัส)
  • เด็กมีลักษณะเจ็บป่วยรุนแรง หายใจเข้าลำบากและมีเสียงดัง ฮี้ด (Stridor)
  • เด็กมักนอนราบไม่ได้เพราะจะยิ่งหายใจลำบาก จึงมักนั่งแหงนคอ และน้ำลายไหลยืด

แพทย์วินิจฉัยโรคฝากล่องเสียงอักเสบอย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคนี้ได้จาก

  • จากประวัติอาการ และการตรวจร่างกาย
  • ถ่ายภาพกล่องเสียงด้วยเอกซเรย์ จะพบฝากล่องเสียงบวมเหมือนนิ้วหัวแม่มือ ร่วมกับมีการบวมของลำคอส่วนคอหอยตอนล่าง และการตรวจด้วยการส่องกล้องกล่องเสียงซึ่งจะพบว่าฝากล่องเสียง และเนื้อเยื่อกล่องเสียงทั้งหมดบวม และมีสีแดงแบบสีลูกเชอรรี (Cherry red)
  • ตรวจเพาะเชื้อจากเลือด

แพทย์รักษาโรคฝากล่องเสียงอักเสบอย่างไร?

แพทย์รักษาโรคนี้โดย

  • ช่วยให้ทางเดินหายใจโล่งด้วยการใส่ท่อช่วยหายใจทางปาก หรือโดยการเจาะคอ ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์
  • ให้ยาปฏิชีวนะ เช่น ยา Ampicillin เป็นต้น
  • การดูแลแบบประคับประคองตามอาการ เช่น การให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ

อนึ่ง การป้องกันโรคนี้คือ การฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อ H. influenzae type B ซึ่งสามารถให้ได้ตั้งแต่เด็กอายุ 2 เดือน ในบ้านเราเนื่องจากโรคนี้ไม่ได้เป็นปัญหาทางสาธารณสุข วัคซีนสำหรับโรคนี้จึงไม่รวมอยู่ในการบริการของรัฐ เป็นวัคซีนที่ถ้าผู้ปกครองสนใจ ควรปรึกษากุมารแพทย์ และต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง

โรคอักเสบติดเชื้อรุนแรงของโพรงใต้คาง(Ludwig’s angina)

Ludwig's anginaได้ถูกเรียกชื่อตามแพทย์ชาวเยอรมัน ชื่อ Wilhelm Frederick von Ludwig ในปีค.ศ.1836 (พ.ศ.2379) ซึ่งเป็นคนแรกที่รายงานโรคนี้

โรค Ludwig’s angina หมายถึงการอักเสบติดเชื้อรุนแรงของเนื้อเยื่อในโพรงใต้คาง (Submandibular space) เป็นภาวะที่พบได้น้อยมากในปัจจุบันเนื่องจากมีการพัฒนาของยาต้านจุลชีพ หรือยาปฏิชีวนะ โดยอัตราการเสียชีวิตลดลงจากประมาณ 50% ในปีค.ศ.1940 (พ.ศ. 2483) ก่อนที่จะมีการใช้ยาต้านจุลชีพในการรักษาการติดเชื้อที่เหงือกและฟัน เหลือเพียงประมาณ 10% หลังจากมีการใช้ยาต้านจุลชีพ โดยภาวะนี้มักพบในผู้ใหญ่มากกว่าในเด็ก

โพรงใต้คาง เป็นโพรงซึ่งอยู่บริเวณใต้ขากรรไกรทั้งซ้ายและขวา ผู้ป่วย Ludwig’s angina ประมาณ 70-85% มีสาเหตุการติดเชื้อแบคทีเรียมาจากฟันกรามล่างผุ และเหงือกอักเสบ เริ่มต้นจึงมักจะเกิดการอักเสบติดเชื้อขึ้นภายในเนื้อเยื่อชั้นที่อยู่ของรากฟัน จากนั้นเชื้อจึงค่อยแพร่กระจายไปสู่โพรงใต้คาง ซึ่งมักพบว่า การอักเสบติดเชื้อในโพรงใต้คาง มักกระจายทั่วทั้ง 2 ข้าง มักไม่พบว่ามีการอักเสบติดเชื้อเฉพาะข้างใดข้างหนึ่ง ยกเว้นในกรณีเชื้อแพร่กระจายผ่านทางทางเดินน้ำเหลือง จึงอาจพบว่ามีการอักเสบติดเชื้อใต้คางแค่ข้างใดข้างหนึ่งได้

เนื่องจากเป็นโรครุนแรง ดังนั้นเมื่อมีอาการดังจะกล่าวถึงต่อไป ควรรีบพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาลเป็นการฉุกเฉิน

แพทย์วินิจฉัยโรค Ludwig’s angina อย่างไร?

โรค Ludwig’s angina มีเกณฑ์ในการวินิจฉัยดังต่อไปนี้

1.เป็นการอักเสบติดเชื้อในโพรงใต้คาง โดยมักเกิดการอักเสบทั้งสองข้างซ้าย ขวา

2. การอักเสบติดเชื้อจะเริ่มต้นที่บริเวณเนื้อเยื่อรากฟันก่อน แล้วจึงลุกลามมายังโพรงใต้คาง และลุกลามต่อไปยังเนื้อเยื่อในช่องปากใต้ลิ้น

3.การอักเสบติดเชื้อมีการกระจายผ่านทางชั้นเยื่อโดยตรง ไม่ผ่านทาง ทางเดินน้ำเหลือง

4.การอักเสบติดเชื้อจะอยู่ในชั้นเนื้อเยื่อเท่านั้น จะไม่มีการลุกลามเข้าต่อมน้ำลาย หรือเข้าต่อมน้ำเหลือง

5.การอักเสบติดเชื้อในชั้นเนื้อเยื่อมักจะกระจายไปบริเวณเนื้อเยื่อโดยรอบอย่างรวดเร็ว มักจะไม่มีลักษณะเป็นฝีหนอง แต่อาจมีลักษณะเป็นน้ำเหลืองปนเลือด (Serosanguinous fluid) ที่มีกลิ่นเหม็นได้

นอกจากนั้น จะมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น ตรวจเลือดซีบีซี ซึ่ง พบว่ามีลักษณะบ่งบอกถึงการติดเชื้อแบคทีเรีย คือมีปริมาณเม็ดเลือดขาวสูงกว่าปกติ และมีการตรวจทางเอกซเรย์ เช่น การถ่ายภาพลำคอซึ่งจะพบการบวมหนาของเนื้อเยื่อบริเวณใต้คาง เนื้อเยื่อบริเวณลำคอส่วนบน เนื้อเยื่อรอบทางเดินหายใจ และ/หรือของเนื้อเยื่อใต้ลิ้น และอาจเห็นลิ้นถูกดันขึ้นไปด้านบนเพดานปากได้ แต่ในรายที่อาการผู้ป่วยและภาพถ่ายเอ็กซเรย์ไม่ชัดเจนในการวินิจฉัย การทำเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์บริเวณลำคอ สามารถช่วยในการวินิจฉัยและดูภาวะแทรกซ้อนได้

อนึ่ง การเอ็กซเรย์ภาพฟัน อาจช่วยให้เห็นว่ามีการติดเชื้อของฟัน ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรค

ในบางรายที่สงสัยการติดเชื้อรุนแรงหรือสงสัยการติดเชื้อที่ไม่ใช่เชื้อก่อโรคทั่วไป อาจตรวจเจาะเอาชิ้นเนื้อหรือของเหลวในโพรงใต้คางไปเพาะเชื้อ และตรวจหาความไวของเชื้อต่อยาต้านจุลชีพ/ยาปฏิชีวนะแต่ละชนิด เพื่อการรักษาด้วยยาต้านจุลชีพที่เหมาะสมต่อเชื้อนั้นๆต่อไป

โรค Ludwig’s angina มีสาเหตุจากอะไร?

สาเหตุของการอักเสบติดเชื้อแบคทีเรียในโรคนี้ ที่พบมากที่สุดเกิดจากการติดเชื้อของรากฟันและเหงือก โดยการติดเชื้อในโพรงใต้คาง มักมาจากฟันกรามล่างซี่ที่ 2 และ/หรือ 3 ผุ หรือติดเชื้อจากเหงือกบริเวณรอบฟันกรามดังกล่าว

ส่วนสาเหตุอื่นที่พบได้น้อย เช่น การติดเชื้อจากแผลด้านนอกช่องปาก เช่น แผลถูกแทง/แผลฉีกขาดใต้คาง เป็นต้น

สำหรับเชื้อแบคทีเรียที่เป็นเหตุก่อโรคที่พบบ่อยสุด คือ เชื้อพวกใช้ออกซิเจนในการดำรงชีวิต (Aerobes) เช่น Hemolytic Streptococci และ Staphylococci นอกจากนี้ยังอาจพบพวกไม่ใช้ออกซิเจนในการดำรงชีวิต (Anaerobes) หรือเป็นเชื้อหลายชนิดร่วมกันก็ได้

โรค Ludwig’s angina มีอาการอย่างไร? มีภาวะแทรกซ้อนอะไรบ้าง?

ผู้ป่วยโรคนี้ มักมีไข้ บางรายอาจมีไข้สูง หนาวสั่น อ่อนเพลีย ใต้คางจะมีลักษณะของการอักเสบติดเชื้อ คือ โป่งนูน และมีอาการปวด บวม แดงร้อน ทั่วใต้คางทั้ง 2 ข้าง บริเวณลำคอด้านหน้าอาจบวมแดง กดเจ็บร่วมด้วย หากอาการเป็นมากใต้ลิ้นจะมีอาการปวด และอาจบวมมากจนลิ้นถูกดันขึ้นไปชิดกับเพดานปากทำให้ปิดกั้นทางเดินหายใจส่วนบน เกิดอาการหายใจลำบาก หายใจเร็วและหอบเหนื่อยได้

นอกจากนี้อาจมีอาการกลืนลำบาก กลืนเจ็บ อ้าปากกว้างไม่ได้ น้ำลายไหล มีเสมหะคั่งค้างในลำคอ ปวดหู และเสียงพูดคล้ายอมวัตถุอยู่ในลำคอ (Muffled voice) ได้

ภาวะแทรกซ้อนจากโรค Ludwig’s angina ได้แก่

1.การติดเชื้อกระจายเข้าสู่ลำคอ ก่อการอักเสบรุนแรงของลำคอ

2.การติดเชื้อกระจายเข้าสู่โพรงในทรวงอก (Mediastinitis)

4.เกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนบน (ช่องปาก และลำคอ)

5.เกิดการอักเสบของกระดูกขากรรไกรล่าง

6.การติดเชื้อกระจายเข้าสู่กระแสเลือด (ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ /ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด) และหากไม่ได้รับการรักษา อาจเกิดอาการช็อก และเสียชีวิตได้

แพทย์รักษาโรค Ludwig’s angina อย่างไร?

สิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรกในการรักษาโรคนี้ คือ ภาวะทางเดินหายใจส่วนบนอุดกั้นซึ่งเกิดจากการบวมมากของเนื้อเยื่อรอบทางเดินหายใจ หรือเกิดจากเนื้อเยื่อใต้ลิ้นบวมดันลิ้นยกขึ้นไปปิดทางเดินหายใจส่วนบน หากเริ่มมีอาการ เช่น หายใจลำบาก หายใจเร็ว หายใจหอบเหนื่อย หายใจเสียงดังฮี้ด หรือประเมินจากภาพถ่ายเอ็กซเรย์ศีรษะและลำคอ หรือเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ พบว่ามีเนื้อเยื่อใต้คาง ใต้ลิ้น และลำคอบวมมาก แพทย์มักให้การรักษาด้วยการเจาะคอใส่ท่อช่วยหายใจอย่างเร่งด่วนเพื่อช่วยป้องกันภาวะหายใจล้มเหลวจากการขาดอากาศหายใจ

นอกจากนั้น คือ

  • การให้ยาต้านจุลชีพ/ยาปฏิชีวนะเข้าทางหลอดเลือดดำ
  • การเจาะ/ดูด หรือการผ่าตัดเพื่อระบายหนองออก เพื่อลดการติดเชื้อ รวมถึงช่วยแก้ไขปัญหาทางเดินหายใจส่วนบนอุดกั้น
  • การรักษาฟันผุ รักษารากฟัน หรือการถอนฟันที่ผุออก ซึ่งขึ้นกับดุลพินิจของทันตแพทย์

บรรณานุกรม

  1. Christian JM. Odontogenic infections. In: Cummiongs CW, Flint PW, Haughey BH, et al. Otolaryngology: Head & Neck Surgery. 5th ed. Philadelphia, Pa: Mosby Elsevier;2010: chap 12.
  2. Scott A, Stiernberg N, Driscoll. Deep Neck Space Infections; Bailey Head & Neck Surgery– Otolaryngology. 1998, Lippincot-Raven Cap. 58: 819-35.
Updated 2017,March25