ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากเคมีบำบัด และ / หรือรังสีรักษา: การดูแลตนเอง (Selfcare of neutropenia during cancer therapy)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: เม็ดเลือดขาวคืออะไร?มีหน้าที่อย่างไร?

เม็ดเลือดขาว (White blood cell) คือ เม็ดเลือดที่มีหน้าที่ให้ภูมิคุ้มกันต้านทานโรค ดัง นั้น เมื่อมีเม็ดเลือดขาวต่ำ ร่างกายจึงติดเชื้อได้ง่าย มักรุนแรง และอาจถึงเสียชีวิตได้

ดังนั้น ในการรักษาโรคมะเร็ง เมื่อมีเม็ดเลือดขาวต่ำ จึงเป็นสาเหตุให้แพทย์ต้องพักการรักษาทั้งยาเคมีบำบัดและ/หรือรังสีรักษา รอจนกว่าเม็ดเลือดขาวจะกลับสู่ภาวะปกติ จึงจะให้การรักษามะเร็งต่อ เพราะการให้การรักษาช่วงเม็ดเลือดขาวต่ำ อาจเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยติดเชื้อรุนแรงจนถึงเสียชีวิต (ตาย) ได้ดังกล่าวแล้ว

นอกจากนั้น การมีเม็ดเลือดขาวต่ำอาจเป็นสาเหตุให้เซลล์มะเร็งดื้อต่อยาเคมีบำบัด และ/หรือ รังสีรักษาได้ และการที่ต้องชะลอการรักษาออกไป จะส่งผลให้เซลล์มะเร็งปรับตัวดื้อต่อการรักษาได้อีก เช่นกัน

ดังนั้น ภาวะเม็ดเลือดขาวปกติ จึงเป็นสิ่งจำเป็นมากสำหรับการรักษาโรคมะเร็งให้ได้ผลดี

ทำไมยาเคมีบำบัดและการฉายรังสีจึงทำให้เม็ดเลือดขาวต่ำ?

ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากเคมีบำบัดฯ

เม็ดเลือดขาว เป็นเซลล์ไขกระดูกที่อยู่ในกระแสเลือดและในไขกระดูก เป็นเซลล์ที่ไว/ตอบสนองต่อยาเคมีบำบัดและรังสีรักษามาก มากกว่าเซลล์ชนิดอื่นๆ ดังนั้นเมื่อได้รับยาสารเคมี หรือการฉายรังสี จึงกระทบถึงเม็ดเลือดขาวในกระแสโลหิต เป็นสาเหตุให้เม็ดเลือดขาวตาย เม็ดเลือดขาวในเลือดจึงต่ำลง

นอกจากนั้น ยาสารเคมีและรังสี เมื่อเข้าไปในร่างกายจะมีผลต่อไขกระดูก ซึ่งเป็นเนื้อเยื่อที่ไวต่อรังสีเช่นกัน ทั้งยาเคมีบำบัดและรังสี จึงเป็นสาเหตุให้เซลล์ไขกระดูกบาดเจ็บเสียหาย ลดการสร้างเม็ดเลือดขาวลง เม็ดเลือดขาวจึงลดต่ำลง

จะทราบได้อย่างไรว่ามีเม็ดเลือดขาวต่ำ?

เม็ดเลือดขาวต่ำไม่ก่อให้เกิดอาการผิดปกติแต่อย่างไร ดังนั้น แพทย์ พยาบาล และผู้ ป่วยสามารถทราบได้ว่ามีเม็ดเลือดขาวต่ำ จากการเจาะเลือดตรวจค่าเม็ดเลือดที่เรียกว่า ซีบีซี (CBC, complete blood count) ซึ่งในการรักษาโรคมะเร็ง แพทย์จะมีการตรวจซีบีซี อย่างน้อยทุกสัปดาห์ และอาจบ่อยขึ้นตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ หรือเมื่อเม็ดเลือดขาวของผู้ป่วยเริ่มลด ลง

ดังนั้น การจะทราบว่ามีเม็ดเลือดขาวต่ำคือ การตรวจเลือดซีบีซีเป็นระยะๆในระหว่างรัก ษา

เม็ดเลือดขาวต่ำมีอาการอย่างไร?

เมื่อเม็ดเลือดขาวต่ำ อาการแสดงทางร่างกายเบื้องต้นไม่มี ยกเว้น อาจอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร แต่โดยทั่วไป ตรวจพบเมื่อผู้ป่วยพบแพทย์ด้วยการแสดงการติดเชื้อแล้ว ซึ่งอาจประ กอบด้วยไข้ (มีได้ทั้งไข้สูงและไข้ต่ำ) และอาการจากการติดเชื้อในระบบต่างๆของร่างกาย ที่พบบ่อย ได้แก่

  • ไอ มีเสมหะเมื่อมีการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ
  • ปัสสาวะสีขุ่น ปวดแสบเวลาปัสสาวะ เมื่อมีการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ
  • ท้องเสีย อาจร่วมกับปวดท้อง เมื่อมีการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อมีเม็ดเลือดขาวต่ำ ?

การดูแลตนเองเมื่อมีเม็ดเลือดขาวต่ำ

ก.การดูแลตนเองในเบื้องต้นเมื่อมีเม็ดเลือดขาวต่ำ ที่สำคัญ คือ

1. ควรมีปรอทวัดไข้ทางปาก (เรียนรู้วิธีวัดปรอทจากพยาบาล) วัดปรอทเช้า–เย็น และจดบันทึกอุณหภูมิทุกวัน เมื่อพบมีไข้ ควรรีบแจ้งพยาบาล/แพทย์/เจ้าหน้าที่ห้องฉายแสง

2. ดื่มน้ำสะอาดมากๆอย่างน้อยวันละ 6 - 8 แก้ว เมื่อแพทย์ไม่สั่งให้จำกัดน้ำดื่ม เพื่อให้ร่างกายขับของเสียออกทางปัสสาวะ จะช่วยฟื้นฟูไขกระดูกได้วิธีหนึ่ง

3. รับประทานอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ พยายามให้ครบห้าหมู่ในทุกมื้ออาหารและในทุกๆวัน โดยเฉพาะอาหารหมู่โปรตีน เพราะเป็นอาหารสำคัญมากในการเสริมสร้างไขกระดูก

4. พักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายซ่อมแซมเซลล์ที่เสียหายได้ดี และฟื้นกลับมามีภูมิต้าน ทานคุ้มกันโรคที่ดี

5. สังเกตอาการแสดงว่าร่างกายได้รับเชื้อโรค เช่น ท้องเสีย ไอ เจ็บคอ หนาวสะท้าน เหนื่อยหอบ

6. รับประทานยาลดไข้เมื่อวัดปรอทได้สูงตั้งแต่ 38 องศาเซลเซียส และใช้น้ำอุณหภูมิปกติช่วยเช็ดตัว โดยเฉพาะตามข้อพับต่างๆ (เพราะมีเส้นเลือดอยู่ การเช็ดตัวในส่วนนี้ จึงลดอุณหภูมิร่างกายได้ดี) หลังจากนั้นถ้ายังมีไข้สูงหรือไข้ไม่ลงภายใน 24 ชั่วโมง ให้รีบพบแพทย์หรือไปโรงพยาบาลเป็นการฉุกเฉิน ทั้งนี้ขึ้นกับความรุนแรงของอาการ

7. รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เสมอ เพื่อลดโอกาสติดเชื้อ และเพื่อให้ร่าง กายแข็งแรง

ข. การดูแลตนเองเมื่อทราบแล้วว่ามีเม็ดเลือดขาวต่ำ: ข้อควรปฏิบัติ

1. ดูแลความสะอาดร่างกาย ผม เล็บ เช่น สระผมทุกวัน อาบน้ำอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ตัดเล็บมือ เล็บเท้าให้สั้น ล้างมือบ่อยๆให้สะอาดอยู่เสมอ

2. เสื้อผ้า ของใช้ ควรทำความสะอาด และแยกไม่ปะปนกับผู้อื่น

3. รักษาความสะอาดที่พักอาศัย ควรให้อากาศถ่ายเทได้ดี เครื่องนอนควรซักให้สะอาด ในห้อง พักไม่ควรมีดอกไม้สดหรืออาหารวางค้างไว้

4. แปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง พบทันตแพทย์ตามนัดหรืออย่างน้อยทุก 6 เดือน

5. รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ สะอาด ควรเป็นอาหารที่ทำเอง หรือจากร้านที่สะอาดถูกสุข อนามัย ไว้ใจได้

6. ดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 2 ลิตร (ประมาณวันละ 8 - 10 แก้ว) เมื่อแพทย์ไม่สั่งให้จำกัดน้ำดื่ม

7. นอนหลับวันละ 6 - 8 ชั่วโมง ถ้าเป็นไปได้อาจไปพักผ่อนต่างจังหวัด (ในวันที่ไม่มีการรักษา ) ที่มีธรรมชาติบริสุทธิ์ เช่น ชายทะเล ภูเขา เพื่อให้จิตใจเบิกบาน แจ่มใส ซึ่งอาจช่วยให้เม็ดเลือดขาวเพิ่มขึ้น

8. รับประทานยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อให้ครบตามแพทย์สั่ง

9. รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน เพื่อลดโอกาสติดเชื้อ และเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง

ค. การดูแลตนเองเมื่อทราบแล้วว่ามีเม็ดเลือดขาวต่ำ: ข้อควรหลีกเลี่ยง (งดปฏิบัติ)

1. หลีกเลี่ยงการอยู่ในชุมชนที่มีคนอยู่รวมกันจำนวนมาก เช่น ตลาด โรงภาพยนตร์ ห้างสรรพ สินค้า ถ้าจำเป็นต้องไป ควรใช้หน้ากากอนามัย ปิดปาก–จมูก และไปในช่วงไม่แออัด เช่น เมื่อห้างเริ่มเปิด เมื่อเสร็จธุระให้รีบกลับบ้าน

2. งดรับประทานผักสด หรือถ้าอยากรับประทานมีข้อควรพิจารณาดังนี้

  • ผักสด ถ้าอยากรับประทานควรล้างให้สะอาดแล้วต้มให้สุก
  • ผลไม้ ควรล้างให้สะอาดแล้วปลอกเปลือกและรับประทานให้หมดไม่วางทิ้งไว้นาน
  • น้ำผลไม้ ควรคั้นเองโดยเน้นล้างให้สะอาดก่อนคั้น หรือเมื่อดื่มชนิดพร้อมดื่ม (ผลไม้กระป๋องหรือน้ำผลไม้กล่อง) ควรเลือกชนิดที่ผ่านการฆ่าเชื้อแล้ว (ดูกรรมวิธีผลิตจากข้างกระ ป๋อง/กล่อง หรือจากผู้ผลิตที่ได้มาตรฐาน)

3. ห้ามวัดปรอททางทวารหนักเด็ดขาด เพราะอาจทำให้ผิวหนังบริเวณนั้นฉีกขาด และนำไปสู่การติดเชื้อที่รุนแรงได้

4. งดการว่ายน้ำในสระว่ายน้ำหรือแหล่งน้ำธรรมชาติ เพราะมักมีเชื้อโรคอยู่มากมาย ซึ่งอาจเข้าสู่ร่างกายได้ โดยเฉพาะในภาวะมีภูมิคุ้มกันต้านทานต่ำ

5. หลีกเลี่ยงการอยู่ร่วมกับผู้ที่ไม่สบาย ผู้ป่วย หรือเป็นโรคติดต่อ เช่น เป็นหวัด อีสุกอีใส หรือคน/เด็กที่เพิ่งได้รับวัคซีนเชื้อเป็น (เช่น วัคซีนโปลิโอ)

6. ไม่กินโยเกิร์ตหรือนมเปรี้ยว เพราะมีเชื้อที่มีชีวิต ซึ่งอาจแข็งแรงจนก่อโรคในยามเรามีภูมิคุ้ม กันต้านทานโรคต่ำ

7. งดอยู่ใกล้สัตว์เลี้ยง เพราะมักมีเชื้อโรคอยู่ตามร่างกาย ขน หรือสารคัดหลั่งของสัตว์เหล่านั้น

ง. กรณีที่ต้องการดูแลเพิ่มเป็นพิเศษ:

  • มีภาวะอักเสบของเยื่อบุต่างๆจากการรักษา เช่น การอักเสบในช่องปาก เพราะอาจส่งผลกระ ทบหลายประการทั้งปัญหาการพูดหรือกลืนอาหาร เกิดความเจ็บปวดจากบาดแผล และก่อการติดเชื้อได้ง่าย ซึ่งมีข้อควรปฏิบัติดังนี้
    • รักษาความสะอาดในช่องปากโดยการแปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เลือกแปรงสีฟันชนิดขนอ่อนนุ่มที่สุด และยาสีฟันชนิดไม่เผ็ด (ยาสีฟันเด็ก)
    • อมบ้วนปากบ่อยๆหลังอาหารและหลังเครื่องดื่มทุกครั้ง สูตรที่แนะนำคือ น้ำสะอาด 1 ลิตรผสมเกลือ 1 ช้อนโต๊ะ ทำวันต่อวัน
    • เลือกรับประทานอาหารที่อ่อนนุ่ม รสไม่จัด (ไม่เปรี้ยว ไม่เผ็ด) ไม่ร้อนจัด
    • ระวังอย่าให้ท้องเสีย เพราะเพิ่มโอกาสติดเชื้อสูงขึ้นมาก
  • ถ้าแพทย์วินิจฉัยว่ามีการติดเชื้อและได้รับยาปฏิชีวนะแล้ว แต่อาการไม่ดีขึ้น ยังมีไข้สูง หนาวสั่น ซึมลง ท้องเสียรุนแรง เจ็บปาก–คอมาก ควรรีบพบแพทย์เป็นการฉุกเฉิน

ดูแลตนเองอย่างไรเพื่อป้องกันเม็ดเลือดขาวต่ำ?

การป้องกันภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ เมื่อรักษาโรคมะเร็งด้วยยาเคมีบำบัดและ/หรือรังสีรัก ษา ที่สำคัญ ได้แก่

1. กินอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ในทุกมื้อและทุกวัน เน้นอาหารโปรตีนสูง เช่น ไข่ (เมื่อกินอาหารได้น้อย ไม่ต้องกังวลเรื่องกินไข่แดง กินได้ทั้งไข่ขาวและไข่แดง วันละ 2 ฟอง) เนื้อสัตว์ ปลา นม (เมื่อกินแล้วไม่ท้องเสีย) ตับ และนมถั่วเหลือง และเมื่อมีปัญหาหรือความกังวลเรื่องกินอา หารควรปรึกษาแพทย์/พยาบาลเสมอ

2. ทำจิตให้แจ่มใส เข้าใจในโรคและในชีวิต เพราะจิตใจอารมณ์ที่แจ่มใสเบิกบานมีความสุข กระตุ้นให้ร่างกายสร้างเม็ดเลือดขาวให้มีภูมิคุ้มกันอยู่เสมอ

3. ดื่มน้ำสะอาดให้ได้อย่างน้อยวันละ 6 - 8 แก้ว เมื่อแพทย์ไม่สั่งให้จำกัดน้ำดื่ม เพราะน้ำจะช่วยขับเศษยาเคมีบำบัดออกจากร่างกายทางปัสสาวะ ไขกระดูกจึงฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

4. ออกกำลังกายสม่ำเสมอตามควรกับสุขภาพ จะช่วยความแข็งแรงของทั้งร่างกายและจิตใจ

5. พักผ่อนให้เพียงพอ นอนให้ได้อย่างน้อยวันละ 6 - 8 ชั่วโมง เพื่อร่างกายได้ซ่อมแซมเซลล์ที่เสียหายสึกหรอ และเพื่อสุขภาพจิตอารมณ์ที่แจ่มใส

6. รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน เพื่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี

ควรพบแพทย์เมื่อไร?

เมื่อมีเม็ดเลือดขาวต่ำ ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลภายใน 24 ชั่วโมงเสมอเมื่อมีไข้(ทั้งไข้สูง และไข้ต่ำ) โดยเฉพาะเมื่อมีไข้ร่วมกับท้องเสีย หรือปวดท้อง หรือกินอาหาร ดื่มน้ำไม่ได้ หรือได้น้อย