ภาวะติดเชื้อหลังคลอด (Postpartum infection)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

ภาวะติดเชื้อหลังคลอดคืออะไร?

ภาวะ/การติดเชื้อหลังคลอด (Postpartum infection) คือ การอักเสบติดเชื้อภายหลังการคลอดทางช่องคลอด หรือ หลังผ่าตัดคลอด(ผ่าท้องคลอดบุตร) ส่วนมากเกิดจากติดเชื้อแบคทีเรีย ผู้ป่วยมักมีไข้สูงตั้งแต่ 38 องศาเซลเซียส(Celsius)ขึ้นไปหลังจาก 24 ชั่วโมงของการคลอดบุตร จนถึงประมาณ 10 วันหลังคลอด ทั้งผู้ที่คลอดทางช่องคลอดหรือผ่าตัดคลอด  

ภาวะติดเชื้อหลังคลอดมีความหมายค่อนข้างกว้าง ได้แก่ การอักเสบติดเชื้อในโพรงมดลูก(เยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบ) ซึ่งพบได้มากที่สุด, และ/หรือการอักเสบติดเชื้อบริเวณแผลฝีเย็บในกรณีที่คลอดทางช่องคลอด, และ/หรือการอักเสบติดเชื้อของแผลผ่าตัดคลอดกรณีผ่าท้องคลอด, และ/หรือการอักเสบติดเชื้อของเต้านมของมารดาที่ให้นมบุตร,  และ/หรือการติดเชื้อ/โรคติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ

ภาวะติดเชื้อหลังคลอดพบได้บ่อยไหม?

ภาวะติดเชื้อหลังคลอด

 

เป็นเรื่องค่อนข้างยากที่จะบอกอุบัติการณ์การติดเชื้อ/ภาวะติดเชื้อหลังคลอดที่ชัดเจน และน่าจะต่ำกว่าความเป็นจริง  เนื่องจากการติดเชื้อหลังคลอดส่วนใหญ่เกิดขึ้นหลังจากผู้คลอดกลับไปอยู่บ้านแล้ว  หากเกิดปัญหาขึ้น ผู้คลอดอาจไปรักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน คลินิก หรือโรงพยาบาลอื่น, มีรายงานจากสหรัฐอเมริกา พบอุบัติการณ์ของภาวะติดเชื้อหลังคลอดได้ประมาณ 1%-8% ของการคลอดทั้งหมด

ภาวะติดเชื้อหลังคลอดมีอันตรายอย่างไร?

ทั่วไป ภาวะติดเชื้อหลังคลอดมีอันตราย/มีการพยากรณ์โรค เช่น  

  • กรณีที่มีการอักเสบติดเชื้อไม่รุนแรง: สามารถรักษาหายได้ด้วยยาปฏิชีวนะ ภายในประมาณ 1 สัปดาห์, แต่สตรีหลังคลอดจะมีความไม่สุขสบาย ปวดแผล ปวดท้อง ปวดท้องน้อยได้
  • ส่วนในกรณีที่มีการอักเสบติดเชื้อรุนแรง: ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยการนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลหลายวัน, ต้องได้รับยาปฎิชีวนะทางหลอดเลือดดำ, อาจไม่สามารถให้นมบุตรได้, นอกจากนั้น อาจมีภาวะแทรกซ้อน (ผลข้างเคียง) เช่น ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด (ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ)จนอาจถึงตายได้

ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดภาวะติดเชื้อหลังคลอด?

ปัจจัยเสี่ยงให้เกิดภาวะติดเชื้อหลังคลอด เช่น

  • มีการผ่าตัดคลอดบุตร
  • มีถุงน้ำคร่ำแตกก่อนเจ็บครรภ์คลอดอยู่นาน
  • มีการตรวจภายในช่วงดำเนินการคลอดมากเกินไป
  • มีการติดเชื้อในช่องคลอดอยู่ก่อนหน้าแล้ว เช่น การติดเชื้อสเตรปโตคอกคัสกรุ๊ปบีระหว่างตั้งครรภ์ (การติดเชื้อจีบีเอสระหว่างตั้งครรภ์)
  • มีภาวะซีด
  • ผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวาน
  • ผู้ป่วยโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน

ภาวะติดเชื้อหลังคลอดมีอาการอย่างไร?

อาการจากภาวะติดเชื้อหลังคลอด เช่น

ก. กรณีจากมีการอักเสบในโพรงมดลูก/เยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบ: ทั้งจากการคลอดทางช่องคลอด และการผ่าตัดคลอดบุตร  อาการที่พบได้ เช่น

  • น้ำคาวปลามีกลิ่นเหม็น
  • น้ำคาวปลาไหลนานกว่าปกติ หรือน้ำคาวปลาหยุดไปแล้วแต่กลับมามีน้ำคาวปลาอีก หรือน้ำคาวปลาที่สีแดงจางลงแล้ว แต่กลับมีสีแดงมากขึ้น/มีเลือดออกนานขึ้น
  • มีเลือดออกทางช่องคลอดกะปริดกะปรอย
  • มีอาการปวดท้องน้อย/ ปวดบริเวณมดลูก/ ปวดในอุ้งเชิงกรานทั่วๆ ไป
  • มีไข้
  • มดลูกเข้าอู่ช้า (มดลูกหดตัวช้า ยังคลำมดลูกได้จากการคลำทางหน้าท้อง) หรือลดขนาดลงช้า  โดยทั่วไป หลังคลอด มดลูกจะหดรัดตัวดี  ขนาดมดลูกจะลดลงเรื่อยๆ  และ หลังคลอดประมาณ 2 สัปดาห์ จะคลำไม่พบมดลูกทางหน้าท้อง แต่ในกรณีที่มีการอักเสบในโพรงมดลูก  มดลูกจะหดตัวช้า ทำให้แพทย์สามารถคลำมดลูกทางหน้าท้องได้

ข. ในกรณีที่มีการอักเสบที่แผลฝีเย็บ: สตรีหลังคลอดจะมีอาการปวดบริเวณแผลฝีเย็บ ปวดปากช่องคลอด ปวดก้น รู้สึกนั่งลำบาก อาจคลำได้ก้อนบริเวณปากช่องคลอดที่เกิดจากการบวมของแผลและมีก้อนหนอง หรือมีฝี

ค. ในกรณีมีการอักเสบที่แผลผ่าตัดคลอดที่หน้าท้อง: มีอาการปวดที่แผลผ่าตัดมากกว่าปกติ โดยทั่วไปสตรีหลังคลอดที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน หลังผ่าตัดคลอดจะสุขสบายขึ้นเรื่อยๆ อาการปวดแผลผ่าตัดคลอดจะน้อยลงเรื่อยๆ หากมีอาการปวดแผลมากกว่าปกติ ต้องคิดถึงการอักเสบของแผล อาจร่วมกับมีแผลผ่าตัดบวม แผลผ่าตัดแยก แผลไม่ติด  ซึ่งส่วนมากจะมีอาการให้เห็นชัดเจนประมาณ วันที่ 5 หลังผ่าตัดคลอด

ง. ในกรณีที่มีการอักเสบที่เต้านม: จะมีอาการปวดที่เต้านมมากกว่าปกติ เต้านม บวม แดง กดเจ็บมาก อาจร่วมกับมีอาการคัดตึงเต้านม และเต้านมขยายใหญ่ขึ้น

เมื่อไหร่ควรมาพบแพทย์

ในกรณีที่มีการติดเชื้อรุนแรง ผู้ป่วยมักจะมีอาการที่แพทย์ตรวจพบตั้งแต่อยู่ในโรงพยาบาลและให้การรักษา เช่น แผลผ่าตัดคลอดเป็นหนอง การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ แผลฝีเย็บเป็นหนอง 

แต่ส่วนใหญ่การติดเชื้อมักเกิดหลังจากผู้คลอดกลับไปอยู่ที่บ้านแล้ว คือ มีการอักเสบติดเชื้อตั้งแต่นอนโรงพยาบาลแต่อาการไม่ชัดเจน และประกอบด้วยผู้ที่คลอดทางช่องคลอด แพทย์มักให้กลับบ้านได้ 2-3 วันหลังคลอด ส่วนผ่าตัดคลอดก็มักได้กลับไปอยู่บ้านประมาณ 3-4 วันหลังผ่าตัดคลอดหากไม่มีอาการแสดงของอาการติดเชื้อชัดเจน 

ดังนั้น ผู้คลอดต้องมีการสังเกตอาการตนเองว่ามีอะไรที่ผิดปกติตามที่แพทย์แนะนำก่อนกลับจากโรงพยาบาลหรือไม่ หากมีอาการดังต่อไปนี้ ควรรีบกลับไปพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนวันนัดตรวจหลังคลลอด เช่น

  • ปวดท้องน้อยอย่างมาก
  • มีไข้
  • น้ำคาวปลามีกลิ่นเหม็น หรือเป็นหนอง
  • ปวดแผลฝีเย็บมากผิดปกติ จนนั่งลำบาก
  • ปัสสาวะแสบขัด
  • ปวดแผลผ่าตัดคลอดมากผิดปกติ
  • ปวดเต้านมอย่างมาก ไม่สามารถให้ลูกดูดนมได้
  • เต้านมบวมเปล่ง แดง

แพทย์วินิจฉัยภาวะติดเชื้อหลังคลอดได้อย่างไร?

ทั่วไป แพทย์วินิจฉัยภาวะติดเชื้อหลังคลอดได้โดย

ก. ประวัติทางการแพทย์:  แพทย์จะสอบถามผู้ป่วยถึงอาการต่างๆที่ผิดปกติตามที่กล่าวมาแล้วใน ‘หัวข้อ อาการฯ’ เช่น ถามประวัติเกี่ยวกับการคลอด, ความยาวนานของการคลอด, ถุงน้ำคร่ำแตกก่อนคลอดนานเพียงใด, หัตถการที่แพทย์ทำเพื่อช่วยคลอด, การใช้ยาปฎิชีวนะ, การผ่าตัดคลอด

. การตรวจร่างกาย:  แพทย์จะตรวจร่างกายทั่วไป และพยายามตรวจหาบริเวณที่มีการติดเชื้อ ซึ่งจะทำให้บริเวณติดเชื้อนั้นๆมีอาการปวดมากผิดปกติ  เช่น ตรวจเต้านมว่ามีสิ่งผิดปกติหรือ  ตรวจแผลฝีเย็บ  การตรวจภายในประเมินสภาพภายในอุ้งเชิงกรานว่าผิดปกติหรือไม่  ตรวจแผลผ่าตัดว่ามีการอักเสบหรือไม่,  นอกจากนั้น อาจจะมีการตรวจเชื้อ และ/หรือ การเพาะเชื้อ จากแผลที่มีหนองเพื่อให้ได้ทราบสาเหตุที่ชัดเจน

ค. การตรวจทางห้องปฏิบัติการ: เช่น การตรวจเลือดเพื่อดูว่ามีลักษณะบ่งลอกว่ามีลักษณะการติดเชื้อหรือไม่, การตรวจปัสสาวะเพื่อดูว่ามีการอักเสบของระบบทางเดินปัสสาวะหรือไม่, อาจมีการตรวจอัลตราซาวด์มดลูกเพื่อดูว่ามีเศษเยื่อหุ้มทารกหรือเศษรกค้างอยู่ในโพรงมดลูกหรือไม่, ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในโพรงมดลูกได้

รักษาภาวะติดเชื้อหลังคลอดอย่างไร?

แนวทางรักษาภาวะติดเชื้อหลังคลอด:  

ก. เนื่องจากภาวะนี้เป็นการติดเชื้อแบคทีเรีย ส่วนใหญ่สามารถรักษาโดยการให้ยาปฏิชีวนะ, ในกรณีที่อาการติดเชื้อไม่มาก  ไม่มีไข้  สามารถรับประทานยาปฎิชีวนะที่บ้านได้,  แต่ในกรณีที่มีอาการรุนแรง  มีไข้สูง  แพทย์ต้องให้นอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล  และให้ยาปฎิชีวนะทางหลอดเลือดดำ  จนอาการดีขึ้นระดับหนึ่ง จึงจะเปลี่ยนมาเป็นยาปฎิชีวะนะชนิดรับประทาน  ซึ่งผู้ป่วยต้องรับประทายยาปฏิชีวนะให้ครบตามคำแนะนำของแพทย์ 

ข. ในกรณีที่มีการติดเชื้ออย่างรุนแรง: รักษาด้วยยาปฎิชีวนะแล้วอาการไม่ดีขึ้น มีไข้สูง  หรือมีการติดเชื้อในกระแสเลือดที่เกิดจากการติดเชื้อในโพรงมดลูก  แพทย์อาจพิจารณาผ่าตัดมดลูกออก เพื่อรักษาชีวิตผู้ป่วย

ค. ในกรณีที่มีเศษรกหรือเยื่อหุ้มทารกค้างอยู่ในโพรงมดลูกและเป็นต้นเหตุให้เกิดการติดเชื้อหลังคลอด ต้องมีการขูดมดลูกเพื่อเอาส่วนเศษรก/เศษเยื่อหุ้มทารกที่ค้างออกมา  พร้อมกับการให้ยาปฎิชีวนะร่วมด้วย

ง. ในกรณีที่มีเต้านมอักเสบ แพทย์จะให้ยาปฎิชีวนะ  ยาแก้ปวด  การประคบอุ่นที่เต้านม  ในกรณีที่อาการอักเสบรุนแรงขึ้นจนพัฒนาเป็นหนองที่เต้านม (Breast abscess)  แพทย์อาจต้องใช้เข็มดูดหนองที่เตานมออก  หรืออาจจำเป็นต้องผ่าเอาหนองออก

จ. ในกรณีที่แผลผ่าตัดคลอดอักเสบ แพทย์จะให้ยาปฎิชีวนะ  ยาแก้ปวด และหากมีหนอง  แพทย์ต้องทำการเปิดแผลผ่าตัดนั้น เพื่อให้หนองระบายออกมาได้และต้องทำแผลต่อทุกวันจนกว่าแผลจะหาย โดยหากแผลไม่ใหญ่ แพทย์จะรอให้แผลค่อยๆติดเอง แต่หากแผลใหญ่มาก แพทย์อาจเป็นต้องเย็บแผลใหม่อีกครั้ง

ภาวะแทรกซ้อนของภาวะติดเชื้อหลังคลอดมีอะไรบ้าง?

ภาวะแทรกซ้อน(ผลข้างเคียง)ของภาวะติดเชื้อหลังคลอด เช่น

 ก. กรณีที่มีการอักเสบในโพรงมดลูก: 

  • ภาวะแทรกซ้อนระยะเฉียบพลัน: คือภาวะแทรกซ้อนที่เกิดภายใน 6 สัปดาห์หลังคลอด  ภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบได้ เช่น    
    • การอักเสบติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน/ท้องน้อย
    • ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด
    • อาจถึงตาย ที่มักมีสาเหตุจากการติดเชื้อในกระแสเลือด
  • สำหรับภาวะแทรกซ้อนระยะยาว: คือภาวะแทรกซ้อนที่พบได้หลังพ้นระยะหลังคลอดไปแล้ว 6 สัปดาห์ โดยภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบได้ เช่น  
    • ปวดท้องน้อยเรื้อรัง
    • มีพังผืดในช่องท้อง อาจมีผลทำให้มีภาวะมีบุตรยากในภายหน้า   หรือมีโอกาสเสี่ยงในการเกิดการตั้งครรภ์/ท้องนอกมดลูกมากขึ้น
    • มีประจำเดือนผิดปกติ ประจำเดือนมากระปริดกระปรอย  หรือไม่มีประจำเดือน,  ซึ่งอาจพบได้ในกรณีเกิดพังผืดในโพรงมดลูก(Uterine synechia)  ซึ่งอาจเกิดจากการอักเสบในโพรงมดลูก(เยื่อบุมดลูกอักเสบ),  หรือ เป็นผลจากการขูดมดลูก

ข. กรณีฝีเย็บอักเสบติดเชื้อ: ภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบได้ เช่น แผลฝีเย็บแยก ต้องทำแผลทุกวัน แผลอาจติดไม่สวย หรืออาจจำเป็นต้องเย็บแผลใหม่

ค. กรณีแผลผ่าตัดอักเสบติดเชื้อ: ภาวะแทรกซ้อน ที่อาจพบได้ เช่น แผลผ่าตัดแยก ต้องทำแผลทุกวัน  แผลอาจติดไม่สวย หรืออาจจำเป็นต้องเย็บแผลใหม่ หรืออาจมีการอักเสบลามเข้าที่ชั้น Rectus sheath (ชั้นกล้ามเนื้อหน้าท้อง) ที่ต้องใช้การรักษาที่ยุ่งยากซับซ้อน อาจต้องมีการผ่าตัดแผลหน้าท้องใหม่

ง. กรณีเต้านมอักเสบติดเชื้อ: ภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบได้ เช่น เกิดฝีเต้านม

หลังจากมีภาวะติดเชื้อหลังคลอดแล้วอีกนานแค่ไหนจึงจะสามารถตั้งครรภ์ครั้งใหม่ได้

เมื่อมีภาวะติดเชื้อหลังคลอดที่เกิดจากการติดเชื้อในโพรงมดลูกและได้รับการรักษาแล้ว: หากไม่มีภาวะแทรกซ้อน ควรคุมกำเนิดไปประมาณ 2 ปี เพื่อมีเวลาเลี้ยงดูบุตรเต็มที่ 

ส่วนการอักอักเสบที่แผลฝีเย็บ แผลหน้าท้อง รวมเต้านมอักเสบด้วย: ไม่มีปัญหาส่งถึงการตั้งครรภ์ครั้งต่อไป อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยควรปรึกษาสูติแพทย์ก่อนเสมอในเรื่องการตั้งครรภ์ครั้งต่อไป

กรณีมีเต้านมอักเสบจะให้นมบุตรได้เมื่อไหร่?

โดยทั่วไป หากเกิดเต้านมอักเสบ ยังสามารถให้นมบุตรได้ คือให้ลูกดูดนมได้ ถ้ามารดาไม่ปวดมากจนทนการดูดของทารกไม่ได้ อย่างไรก็ตามในกรณีเช่นนี้ ควรปรึกษาสูตินรีแพทย์เป็นกรณีๆไป

กรณีมีเต้านมอักเสบถ้าให้นมบุตรไม่ได้ควรทำอย่างไร?

กรณีเต้านมอักเสบ หากมารดาปวดเต้านมมากจนไม่สามารถให้ลูกดูดนมได้ โดยในระหว่างนี้ต้องมีการบีบน้ำนมทิ้งด้วย เพื่อเป็นการกระตุ้นการสร้างน้ำนมรอให้มารดาอาการดีขึ้น เพื่อให้ทารกมาดูดต่อไป  เพราะหากไม่บีบน้ำนมทิ้ง  จะไม่มีการกระตุ้นการน้ำนมใหม่ น้ำนมจะแห้งไป

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อมีภาวะติดเชื้อหลังคลอด?

โดยทั่วไป การดูแลตนเองเมื่อมีภาวะติดเชื้อหลังคลอด  เช่น

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • รับประทาน ยาปฏิชีวะนะตามคำแนะนำของแพทย์ให้ครบถ้วน ไม่หยุดยาเองแม้อาการจะหายแล้ว
  • รับประทานอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนทุกมื้ออาหาร, ไม่ควรงดรับประทานตามความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?

ในระยะหลังคลอด เมื่อแพทย์อนุญาตให้กลับบ้านได้แล้ว *หากมีอาการผิดปกติต่างๆตามที่กล่าวมาแล้วในหัวข้อ "อาการฯ" เช่นปวดแผลผ่าตัดมากกว่าปกติ, ปวดแผลฝีเย็บมากกกว่าปกติ, น้ำคาวปลามีกลิ่นเหม็น,  มีไข้, ควรต้องรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว ไม่ต้องรอถึงวันนัด

หากมีภาวะติดเชื้อหลังคลอดและได้รับการรักษาในโรงพยาบาลจนแพทย์อนุญาตให้กลับมาดูแลตนเองที่บ้าน ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัด เมื่อ

  • อาการที่เคยรักษาหายแล้ว กลับมาเป็นอีก หรือมีอาการเลวลง เช่น  น้ำคาวปลามีกลิ่นเป็นเหม็น,  ปวดท้องน้อยมากขึ้น, เป็นต้น
  • มีอาการที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น เต้านม บวม แดง เจ็บ มาก
  • มีผลข้างเคียงต่อเนื่องจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น คลื่นไส้มาก  ท้องเสียมาก ขึ้นผื่นทั้งตัว
  • กังวลในอาการ

ควรมีเพศสัมพันธ์เมื่อไหร่ และควรปฏิบัติอย่างไร?

โดยทั่วไปหากไม่มีภาวะแทรกซ้อนหลังคลอด ควรมีเพศสัมพันธ์หลังคลอดได้ประมาณ 6 สัปดาห์, และหลังจากที่ได้รับการคุมกำเนิดแล้ว,

แต่หากมีภาวะอักเสบติดเชื้อในโพรงมดลูก ต้องรอให้อาการติดเชื้อดีขึ้นก่อน  โดยในระยะแรกควรใช้ถุงยางอนามัยชายร่วมด้วย เพื่อลดโอกาสติดเชื้อซ้ำในโพรงมดลูกอีก

ต้องคุมกำเนิดหรือไม่ ใช้วิธีอย่างไร?

หากไม่ต้องการมีบุตร ควรคุมกำเนิดตามปกติ คือตั้งแต่ 6 สัปดาห์หลังคลอด ในระยะแรกควรใช้ถุงยางอนามัยชายร่วมด้วยเพื่อลดโอกาสติดเชื้อซ้ำในโพรงมดลูกอีก

การคลอดครั้งหน้าจะมีโอกาสเกิดการติดเชื้อหลังคลอดอีกหรือไม่?

ผู้ป่วยภาวะติดเชื้อหลังคลอด หากยังมีปัจจัยเสี่ยงตามที่กล่าวมาข้างต้นใน ‘หัวข้อ  ปัจจัยเสี่ยงฯ’   ก็มีโอกาสที่จะเกิดการติดเชื้อหลังคลอดได้อีก

ป้องกันภาวะติดเชื้อหลังคลอดอย่างไร?

วิธีป้องกันภาวะติดเชื้อหลังคลอด ทั่วไปได้แก่

  • ควรหลีกเลี่ยงการผ่าตัดคลอดบุตร หากไม่มีความจำเป็นทางการแพทย์ เช่น ภาวะรกเกาะต่ำ
  • ขณะตั้งครรภ์ หากมีภาวะถุงน้ำคร่ำแตก (น้ำเดิน/มีน้ำคล้ายปัสสาวะไหลออกทางช่องคลอด) ควรรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลที่ฝากครรภ์คลอด ไม่จำเป็นต้องรอการเจ็บครรภ์คลอด
  • สตรีตั้งครรภ์ควรต้องรักษาสุขภาพให้แข็งแรงและดูแลสุขอนามัยตามสูติแพทย์ และพยาบาล แนะนำ ที่รวมถึงการรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)

บรรณานุกรม

  1. https://emedicine.medscape.com/article/796892-overview#showall [2023,April15]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Postpartum_infections [2023,April15]