ภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย (Bacterial vaginosis)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

ภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียคืออะไร?

ภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย (Bacterial vaginosis ย่อว่า BV) เป็นการอักเสบของช่องคลอดสตรีที่เกิดจากการมีเชื้อแบคทีเรีย (ชนิดที่ไม่ใช้ออกซิเจนในการดำรงชีวิต) มากกว่าปกติ

ภาวะอักเสบที่ช่องคลอดจากแบคทีเรียนี้ พบมากที่สุดที่เป็นสาเหตุทำให้ตกขาวผิดปกติในสตรีวัยเจริญพันธุ์ ในสภาวะปกติ ช่องคลอดสตรีจะมีเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา อยู่ระดับหนึ่ง เพื่อรักษาสมดุลของช่องคลอด และไม่ทำให้เกิดโรค แบคทีเรียที่มีประโยชน์ คือ แบคทีเรีย Lacto bacilli ในช่องคลอดสตรีวัยเจริญพันธุ์ปกติจะมีแบคทีเรียชนิดนี้เป็นจำนวนมาก ประกอบด้วยในวัยนี้จะมีฮอร์โมนเอสโตรเจนสูง จึงทำให้ผนังช่องคลอดหนา แบคทีเรียเหล่านี้จะทำหน้าที่สร้างสาร Hydrogen peroxide (สารชนิดที่มีคุณสมบัติฆ่าเชื้อโรคได้ และมีความเป็นกรดอ่อนๆ) มีผลให้สภาพช่องคลอดเป็นกรด ชึ่งป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อในช่องคลอดได้ง่าย

แต่หากมีเหตุการณ์ที่มาทำให้ความเป็นกรดในช่องคลอดลดลง จะทำให้เชื้อแบคทีเรียบางสายพันธุ์แบ่งตัวมากผิด ปกติในช่องคลอด คือ กลุ่ม Gardnerella vaginalis ซึ่งพบมากที่สุด นอกจากนี้เชื้อแบคทีเรียตัวอื่นๆที่พบได้ เช่น แบคทีเรียในกลุ่ม Prevotella species, Porphyromonas species, Bacteroides species, Peptostreptococcus species, Mycoplasma hominis, Ureaplasma urealyticum, และในกลุ่ม Mobiluncus species ซึ่งเป็นกลุ่มแบคทีเรียที่ทำให้เกิดอาการผิดปกติในช่องคลอดได้

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียมีอะไรบ้าง?

ภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย ได้แก่

1. การมีเพศสัมพันธ์

2. การรับประทานยาแก้อักเสบติดเชื้อแบคทีเรีย (ยาปฏิชีวนะ) บ่อยๆ จะทำให้เสียสมดุลของแบคทีเรียในช่องคลอด ทำให้เสี่ยงต่อการเพิ่มจำนวนแบคทีเรียบางชนิด ทำให้เกิดภาวะนี้ขึ้นมา

3. ภาวะขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน เช่น ในสตรีวัยทอง (วัยหมดประจำเดือน) จะมีจำนวนแบค ทีเรีย Lactobacilli ลดลง ความเป็นกรดในช่องคลอดลดลง ทำให้แบคทีเรียบางชนิดเพิ่มจำนวนได้อย่างรวดเร็ว

4. การสวนล้างช่องคลอดบ่อยๆ จะทำให้เสียสมดุลของแบคทีเรียในช่องคลอด

5. การมีคู่นอนหลายคน

ภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียมีอาการอย่างไร?

อาการจากภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย ได้แก่

1. ตกขาวที่มีกลิ่นเหม็นมาก โดยเฉพาะหลังมีเพศสัมพันธ์ เป็นอาการที่เด่นชัดมาก และเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ป่วยมาพบแพทย์มากที่สุด

2. ตกขาวในปริมาณมาก สีเทาขุ่น

3. มีอาการ แสบ ระคายเคืองในช่องคลอด

4. มีอาการเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์

ผลกระทบต่อสุขภาพจากภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียมีอะไรบ้าง?

ภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย เป็นการติดเชื้อในช่องคลอดสตรีที่พบได้บ่อยที่ สุด อุบัติการณ์พบได้ 10-30% ในสตรีทั่วไป โดยมีโอกาสกลับเป็นซ้ำภายหลังรักษาหายแล้วพบได้ 15-30% ภายใน 3 เดือนหลังการรักษา และพบได้มากถึง 60-80% ภายใน 12 เดือนหลังการรักษา

แม้ว่าภาวะ/โรคนี้จะไม่เป็นอันตรายแก่ชีวิต ไม่ได้เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูก แต่ภาวะนี้ส่งผลกระทบ (ผลข้างเคียง) ต่อสุขภาพได้ กล่าวคือ ทำให้เกิดตกขาวที่มีกลิ่นเหม็นมาก จึงส่งผลให้สตรีผู้นั้นขาดความมั่นใจในตนเอง ซึ่งรบกวนชีวิตสมรส สตรีบางรายไม่กล้ามาพบแพทย์ แต่ก็ไม่กล้ามีเพศสัมพันธ์ ทำให้เกิดปัญหาในด้านชีวิตคู่ และการอักเสบที่เกิดจากมีเพศพันธ์ หากมีคู่นอนหลายคน ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงเพิ่มโอกาสติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ไปด้วย เช่น มีโอกาสติดเชื้อ HIV เพิ่มขึ้น เป็นต้น

นอกจากนั้น ภาวะนี้ ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน (ผลข้างเคียง) ในทางสูติกรรมได้โดย ภาวะนี้ในสตรีตั้งครรภ์ เป็นสาเหตุของการคลอดก่อนกำหนด, และทำให้มดลูกอักเสบจากติดเชื้อในมดลูกหลังคลอดได้ ดังนั้นหากพบภาวะนี้ในสตรีตั้งครรภ์ต้องได้รับการรักษาเสมอ

แพทย์วินิจฉัยภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียได้อย่างไร?

แพทย์ให้การวินิจฉัยภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย ได้จาก

1. ประวัติอาการของผู้ป่วย โดยอาการเด่นของภาวะนี้ คือ มีตกขาวที่มีกลิ่นเหม็นมาก โดย เฉพาะช่วงมีเพศสัมพันธ์ และมีตกขาวในปริมาณมาก ผู้ป่วยมักไม่ค่อยมีอาการคันเหมือนการอักเสบของช่องคลอดจากเชื้อรา หรือเชื้อพยาธิในช่องคลอด

2. จากการตรวจภายใน แพทย์จะพบตกขาวจำนวนมาก สีเทาๆ เนื้อละเอียด มีกลิ่นเหม็น อาจพบมีรอยอักเสบแดงๆบริเวณปากมดลูกด้วย

3. การตรวจทางห้องปฏิบัติการ โดยแพทย์จะนำเอาตกขาวไปตรวจภาวะความเป็นกรด-ด่าง พบว่าส่วนมากตกขาวเหล่านี้ ค่าความเป็นกรดด่างของตกขาวหรือสิ่งคัดหลั่งในช่องคลอดมีค่า pH >/มากกว่า 5.5 และหากนำตกขาวหยดบนแผ่นแก้วใส (Slide) ใส่น้ำ เกลือเล็กน้อย และนำไปขยายดูในกล้องจุลทรรศน์ จะเห็นแบคทีเรียตัวเล็กๆเกาะอยู่เต็มพื้นผิวของเซลล์ชั้นเยื่อบุผิวของช่องคลอด (Clue cell) จำนวนมาก และเมื่อหยดสารละ ลาย 10% KOH (Potassium hydroxide) บนตกขาวนี้ (เรียกว่า การตรวจ Whiff test) จะมีกลิ่นเกิดขึ้น เหม็นเหมือนปลาเน่า (Fishy odor)

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อมีภาวะตกขาว? ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?

การดูแลตนเองเมื่อมีภาวะตกขาวผิดปกติจากทุกสาเหตุ ที่รวมทั้งจากภาวะช่องคลอดอัก เสบจากเชื้อแบคทีเรีย คือ

1. หมั่นดูแลความสะอาดส่วนตัว เปลี่ยนชุดชั้นในบ่อยขึ้น

2. ไม่ควรมีเพศสัมพันธ์จนกว่าอาการตกขาวจะหายไป แต่ถ้าจะมีเพศสัมพันธ์ คู่นอนควรต้องใช้ถุงยางอนามัย (อ่านเพิ่มเติมในบทความเรื่อง ถุงยางอนามัยชาย)

3. ไปพบแพทย์หรือสูตินรีแพทย์ หากมีตกขาวผิดปกติ เช่น มีอาการคัน ตกขาวมีกลิ่นเหม็น หรือตกขาวมี สีเขียว สีเหลือง เพื่อหาสาเหตุที่แน่นอน เพื่อจะได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง หรือซื้อยาสอดช่องคลอดเอง

การรักษาภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียมีอะไรบ้าง?

ภาวะ/โรคช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย ไม่จัดเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การรักษาจึงมุ่งรักษาที่ฝ่ายหญิงฝ่ายเดียว มีบางงานวิจัยที่พยายามจะรักษาฝ่ายชายด้วย เพื่อลดโอ กาสการอักเสบในช่องคลอดซ้ำ แต่ยังไม่มีข้อมูลสนับสนุนพอ

เนื่องจากภาวะนี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย การรักษาขั้นแรกคือ ยาปฏิชีวนะ ที่นิยมใช้มากที่ สุด คือ ยา Metronidazole ขนาด 500 มิลลิกรัม รับประทานวันละ 2 ครั้ง นาน 7 วัน (ส่วนการให้รับประทาน Metronidazole 2 กรัม ครั้งเดียว ปัจจุบันไม่แนะนำแล้ว เพราะประสิทธิภาพการรักษาต่ำ) ซึ่งอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) ที่พบได้บ่อยจากการรับประทานยาตัวนี้ คือ คลื่น ไส้ อาเจียน จึงมีการดัดแปลง Metronidazole มาอยู่ในรูปแบบของเจล ทาในช่องคลอดวันละ 2 ครั้ง เพื่อตัดปัญหาอาการข้างเคียง (แต่ยารูปแบบนี้ยังไม่มีขายในประเทศไทย)

นอกจากนั้นสามารถใช้ยาอื่นได้ ดังนี้

  • Tinidazole 2 กรัม รับประทานวันละ 1 ครั้ง นาน 5 วัน หรือ
  • Clindamycin 300 มิลลิกรัม (มก.) รับประทานวันละ 2 ครั้ง นาน 7 วัน

ส่วนการรักษาในสตรีตั้งครรภ์ คือ

  • Metronidazole 500 มก. รับประทานวันละ 2 ครั้ง นาน 7 วัน หรือ
  • Metronidazole 250 มก. รับประทานวันละ 3 ครั้ง นาน 7 วัน หรือ
  • Clindamycin 300 มก. รับประทานวันละ 2 ครั้ง นาน 7 วัน

ต้องรักษาสามีด้วยหรือไม่?

ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอว่า ต้องรักษาสามีด้วย หากภรรยามีการอักเสบในช่องคลอดจากภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย

เมื่อรักษาภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียหายแล้วสามารถกลับเป็นใหม่ได้หรือไม่?

โรค/ภาวะนี้สามารถกลับเป็นซ้ำได้บ่อยมาก ถือเป็นเรื่องปกติ ไม่ควรกังวลมาก โอกาสกลับเป็นซ้ำ 15-30% ภายใน 3 เดือนหลังการรักษาหายแล้ว และมากถึง 60-80% ภายใน 12 เดือนหลังการรักษา

หากมีภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียบ่อยๆ สามารถทำให้เกิดมะเร็งปากมด ลูกได้หรือไม่?

ตามหลักฐานข้อมูลเท่าที่มีในปัจจุบัน ไม่พบว่าการอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียเหล่านี้ จะเป็นสาเหตุหรือเป็นสารก่อมะเร็งปากมดลูก สาเหตุของมะเร็งปากมดลูกปัจจุบันยอมรับแล้วว่าเกิดจากเชื้อไวรัสเอชพีวี/HPV, Human papilloma virus (อ่านเพิ่มเติมในบทความเรื่อง การติดเชื้อเอชพีวีอวัยวะเพศหญิง)

วิธีป้องกันภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียทำได้อย่างไร?

การป้องกันภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย คือ การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ ปัจจัยเสี่ยง ซึ่งที่สำคัญ คือ

1. ไม่ควรสวนล้างช่องคลอดบ่อย

2. ควรให้ฝ่ายชายสวมถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ (อ่านเพิ่มเติมในบทความเรื่อง ถุง ยางอนามัยชาย)

3. มีคู่นอนคนเดียว

บรรณานุกรม

  1. https://www.cdc.gov/std/bv/ [2019,Aug24]
  2. https://emedicine.medscape.com/article/254342-overview#showall [2019,Aug24]
  3. https://www.uptodate.com/contents/bacterial-vaginosis-clinical-manifestations-and-diagnosis [2019,Aug24]
  4. https://www.uptodate.com/contents/bacterial-vaginosis-treatment [2019,Aug24]