ผื่นผิวหนังอักเสบจากด้วงก้นกระดก (Paederus dermatitis)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ผื่นผิวหนังอักเสบจากแมลงกัดชนิดหนึ่งที่พบบ่อย คือ จากแมลงด้วงก้นกระดก (Paederus dermatitis) โดยผื่นจากแมลงชนิดนี้มักมีการอักเสบที่รุนแรงและมีลักษณะจำเพาะ

ด้วงก้นกระดก (Rove beetles) หรือด้วงก้นงอน หรือแมลงน้ำกรด หรือแมลงเฟรชชี่ หรือแมลงเฟรซซี่ เป็นแมลงที่มีขนาดเล็ก ยาวประมาณ 7-8 มิลลิเมตร มีลักษณะเด่น คือ ก้นกระดกหรืองอนขึ้น ทำให้เรียกกันว่า ด้วงก้นกระดก หรือด้วงก้นงอน แมลงชนิดนี้มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Paederus fuscipes จัดอยู่ในอันดับ (Order) Coleoptera วงศ์ (Family) Staphyinidae ซึ่งพบได้ทั่วโลกรวมทั้งทุกภาคของประเทศไทย มักพบบ่อยตามพงหญ้า และมักชอบเล่นแสงสว่างจากไฟบ้านในฤดูฝนโดยเฉพาะในตอนกลางคืน ดังนั้นจึงพบอุบัติการณ์การเกิดผื่นผิวหนังอักเสบจากด้วงก้นกระดกมากในฤดูฝน อย่างไรก็ตามในช่วงเวลาอื่นก็พบผื่นเช่นนี้ได้เหมือนกัน

อะไรเป็นสาเหตุให้เกิดผื่นผิวหนังอักเสบจากด้วงก้นกระดก?

ผื่นผิวหนังอักเสบจากด้วงก้นกระดก

ผื่นผิวหนังอักเสบจากด้วงก้นกระดก เกิดได้ในทุกเพศทุกวัยที่สัมผัสด้วงฯ โดยเกิดจากการระคายเคืองของผิวหนังต่อสาร Pederin ซึ่งเป็นสารกลุ่ม Amide ที่มีฤทธิ์ระคายเคือง ทำ ลาย และทำให้เกิดการอักเสบของผิวหนังที่สัมผัส โดยสาร Pederin จะหลั่งออกจากด้วงก้นกระดก ทำให้เกิดผื่นเป็นรอยไหม้ได้ และการที่ผื่นมีลักษณะเป็นเส้นแนวยาว ก็เพราะเมื่อโดนแมลง/ด้วงฯกัดหรือไต่ เราอาจใช้มือไปปัดแมลงโดยไม่รู้ตัว ทำให้แมลงปล่อยสารออกมาและสัมผัสผิวหนังตามแนวที่ปัดได้

ผื่นผิวหนังอักเสบจากด้วงก้นกระดกมีอาการอย่างไร?

อาการจากผื่นผิวหนังอักเสบจากด้วงก้นกระดก คือ มักพบผื่นเกิดขึ้นโดยฉับพลันหลังแมลง/ด้วงฯกัดภายใน 12-36 ชั่วโมง ดังนั้นอาจมีประวัติพบผื่นหลังตื่นนอนตอนเช้าได้ โดยมักพบผื่นแดงเหมือนรอยไหม้เป็นแนวเส้นยาว (Linear lesion) ซึ่งอาจมีตุ่มพอง (Vesicles) หรือตุ่มหนองร่วมด้วยได้จากการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย

นอกจากนี้ อาจพบผื่นที่สมมาตรกัน (ทับกันได้พอดี) ในบริเวณรอยพับ (Kissing lesion) เช่น บริเวณแขนด้านในของข้อศอก ในตำแหน่งที่พับซ้อนกันได้พอดี เป็นต้น และผื่นยังมีอา การ คัน แสบร้อน ร่วมด้วยได้

สำหรับในกรณีที่เป็นมาก มักมีผื่นกระจายเกิดหลายตำแหน่งในบริเวณนอกร่มผ้า เช่น บริเวณใบหน้า ลำคอ แขน ขา เป็นต้น หรือบางกรณีอาจเกิดที่เปลือกตา/หนังตาได้ และอาจมีอาการทางระบบอื่นร่วมด้วย เช่น ไข้ คลื่นไส้อาเจียน

ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?

ในกรณีที่มีอาการไม่มาก อาจเป็นแค่รอยผื่นแดง ใน 2-3 วันผื่นก็หายเองได้ แต่ถ้าเป็นมาก มีตุ่มน้ำพอง หนอง หรืออาการทางระบบอื่นๆร่วมด้วย เช่น ไข้ คลื่นไส้อาเจียน เป็นต้น ควรไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเพื่อการวินิจฉัยและรักษา เพราะในบางครั้ง ผื่นผิวหนังอักเสบจากแมลงด้วงก้นกระดกอาจมีลักษณะคล้ายผื่นในโรคงูสวัด หรือโรคเริมได้ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องเพราะมีการรักษาที่แตกต่างกัน

แพทย์วินิจฉัยผื่นผิวหนังอักเสบจากด้วงก้นกระดกอย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยผื่นผิวหนังอักเสบจากด้วงก้นกระดกได้จาก ประวัติที่เกิดผื่นโดยฉับพลัน ร่วมกับการตรวจร่างกาย ที่พบผื่นที่มีลักษณะค่อนข้างจำเพาะนี้ ก็มักจะสามารถวินิจฉัยผื่นผิว หนังอักเสบจากด้วงก้นกระดกได้ โดยไม่ต้องมีการตรวจสืบค้นอื่นเพิ่มเติม เช่น การตรวจเลือด เป็นต้น

รักษาผื่นผิวหนังอักเสบจากด้วงก้นกระดกอย่างไร?

การดูแล และการรักษาผื่นผิวหนังอักเสบจากด้วงก้นกระดก คือ

  • ก. กรณีที่เพิ่งโดนแมลงกัด ควรล้างด้วยน้ำสะอาดและสบู่หลายๆครั้งทันที เพื่อเจือจางสาร Pederin ที่แมลงเพิ่งปล่อยออกมาให้ระเคืองผิวหนังและสัมผัสผิวหนังน้อยที่สุด ถ้าแสบ/เจ็บแผลมากให้ประคบเย็นที่แผล หลังจากนั้นทาผื่นด้วยยาสเตียรอยด์ (ปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยา)
  • ข. เมื่อเริ่มมีรอยโรคขึ้น
    1. ทายาสเตียรอยด์ที่มีความแรงค่อนข้างสูง (Moderate to high potency) เช่น 0.1% Mometasone furoate cream, 0.25% Desoximetasone cream, 0.05% Clobetasol propionate cream เป็นต้น โดยทายาวันละ 1-2 ครั้ง ทั้งนี้จะเลือกใช้ยาชนิดใด ขึ้นอยู่กับตำ แหน่ง และลักษณะความรุนแรงของผื่น ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณา เพราะผื่นที่เกิดจากการระ คายเคืองนี้มักมีการอักเสบที่ค่อนข้างจะรุนแรง
    2. อย่างไรก็ตาม ไม่แนะนำให้ซื้อยามาทาเอง ควรไปพบแพทย์เพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้องก่อน เนื่องจากผื่นผิวหนังอักเสบจากด้วงก้นกระดกนี้ มีลักษณะคล้ายกับโรคงูสวัดหรือโรคเริม แต่มีการรักษาที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เช่น ถ้าเป็นงูสวัด และได้ยาทารักษาโรคผื่นผิวหนังอักเสบ ผื่นงูสวัดจะแย่ลง

    3. ทายาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย (ยาปฏิชีวนะ) หรือรับประทานยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วยเมื่อมีลักษณะของการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อน ซึ่งมักพบในกรณีที่มีน้ำเหลือง หนองไหลมาก โดยแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาสั่งยา
    4. รับประทานยาแก้แพ้ แก้ค้น เพื่อลดอาการคันที่เกิดขึ้น โดยจะรับประทานยาแก้แพ้กลุ่มที่ทำให้ง่วงหรือไม่ง่วงก็ได้ ยาแก้แพ้กลุ่มที่ทำให้ง่วง เช่น Chlorpheniramine, Hydroxyzine หรือยาแก้แพ้กลุ่มที่ทำให้ไม่ค่อยง่วง เช่น Cetirizine, Loratadine โดยรับประทานยาวันละ 1-2 ครั้ง (ปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ)

ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?

เมื่อพบแพทย์และได้รับการรักษาแล้ว แต่อาการไม่ดีขึ้น หรืออาการเลวลง ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด เพราะอาจเป็นรอยโรคที่เกิดจากโรคอื่นดังกล่าวแล้วได้ เช่น งูสวัด เป็นต้น

ดูแลตนเองอย่างไร?

การดูแลตนเองเมื่อเป็นผื่นผิวหนังอักเสบจากด้วงก้นกระดก เช่นเดียวกับที่ได้กล่าวแล้วใน ข้อย่อย ข้อ ก. หัวข้อ วิธีรักษา คือ การรีบล้างบริเวณที่สัมผัสด้วงฯด้วยน้ำและสบู่หลายๆครั้ง เพื่อชำระล้างสารพิษที่ด้วงฯปล่อยออกมา ร่วมกับการประคบเย็น และตามด้วยการทายา สเตียรอยด์ ซึ่งถ้าผื่น/แผลขนาดเล็ก ไม่จำเป็นต้องทำความสะอาดแผลเป็นกรณีพิเศษ

แต่ถ้าผื่นกว้างมาก หรือเป็นหลายตำแหน่ง เจ็บ แสบมาก หรือมีตุ่มน้ำเกิดขึ้น หรือเป็นหนอง หรือมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น มีไข้ ให้ไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล ต่อจากนั้นดูแลผื่น/แผลตามแพทย์/พยาบาลแนะนำ

ถ้าเป็นผื่น/แผล โดยเฉพาะแผลกว้าง ที่เปลือกตา/หนังตา ควรพบแพทย์ ไม่ควรรอจนแผลอักเสบ เพราะจะดูแลรักษายาก

อนึ่ง ระยะเวลาจากเริ่มเกิดผื่นจนผื่นแห้ง ตกสะเก็ด (ผื่น/แผลหาย) ประมาณ 2-4 สัปดาห์

ผื่นผิวหนังอักเสบจากด้วงก้นกระดกมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

การพยากรณ์โรคของผื่นผิวหนังอักเสบจากด้วงก้นกระดกคือ เป็นโรคที่หายขาด ไม่ใช่โรคเรื้อรังหรือโรคติดต่อ อย่างไรก็ตาม รอยโรคหลังจากผื่นหายแล้วอาจเป็นรอยดำหลังจากการอักเสบ (Post inflammatory hyperpigmentation) ได้ ซึ่งรอยดำนี้จะสามารถหายได้เองใน 6 เดือนถึง 1 ปี

ป้องกันผื่นผิวหนังอักเสบจากด้วงก้นกระดกอย่างไร?

การป้องกันผื่นผิวหนังอักเสบจากด้วงก้นกระดก คือ หลีกเลี่ยงการสัมผัสด้วงฯ โดย

  1. หลีกเลี่ยงการจับตัวด้วงฯ หรือ ปัด บีบ ตัวด้วงฯ (เพราะ ด้วงฯจะปล่อยสาร Pederin ออก มา) ควรใช้วิธีเป่าด้วงฯ เพื่อให้หลุดไป โดยไม่ต้องสัมผัสตัวมัน
  2. หมั่นทำความสะอาด ที่นอน หมอน มุ้ง ปัดที่นอน หมอน ผ้าห่มก่อนล้มตัวลงนอน
  3. ปิดประตูห้อง หน้าต่าง ตู้เสื้อผ้า ให้มิดชิดเสมอเพื่อป้องกันด้วงฯเข้ามา
  4. ในช่วงฤดูฝนตอนกลางคืน หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้บริเวณมีแสงไฟสลัว ควรเปิดไฟในห้อง นอนเท่าที่จำเป็น เพราะด้วงฯชอบเล่นแสงไฟ

บรรณานุกรม

1. Jean L.Bolognia, Joseph L.Jorizzo, Julie V.Schaffer; Dermatology; third edition; Expert consult
2. Klaus Wolff, Lowell A Goldsmith , Stephen I Katz , Barbara A Gilchrest Amy S. Paller, David J.Leffell ; Fitzpatrick's dermatology in general medicine ; eight edition ; McGrawhill medical
3. Paederus dermatitis in Wikipedia.org [2014,April24].
4. Qadir,S. et al http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/17459295 [2014,April24].