ผีอำ (Sleep paralysis)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ผีอำ (Sleep paralysis) ไม่ใช่เรื่องเร้นลับหรือไสยศาสตร์ แต่เป็นความผิดปกติทางร่างกายอย่างหนึ่ง ผมเชื่อว่าหลายคนต้องเคยได้ยินเกี่ยวกับผีอำ ซึ่งก็มีความคิดเห็นต่างๆนาๆ มีความเชื่อที่หลากหลาย ต้องมาติดตามจากบทความนี้ดูครับว่า ความจริงคืออะไร

ผีอำ คืออะไร?

ผีอำ

ผีอำ ตามความหมายจากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 หมายถึง อาการที่ปรากฏเมื่อเวลานอน เคลิ้มไปว่ามีคนปลุกปล้ำ หรือยึดคร่า ให้มีอาการเหนื่อยหอบจนตื่นขึ้น

ผีอำ ในทางการแพทย์ คือ อาการ/โรคผิดปกติทางการนอนหลับอย่างหนึ่ง ที่เกิดขึ้นในขณะ ที่นอนหลับในช่วงกลอกตา (Rapid eye movement: REM) ส่วนใหญ่อาการที่เกิดขึ้นนั้น มักเกิดในขณะที่กำลังจะตื่น โดยเป็นอาการที่เกิดขึ้นในระยะเวลาสั้นๆ เป็นครั้งคราว

ผีอำเกิดได้อย่างไร?

ปกติระยะเวลานอนหลับประกอบด้วย 2 แบบ ซึ่งจะเกิดสลับกันระหว่างการนอนหลับ ได้แก่

  • Rapid eyes movement sleep (REM sleep) คือการนอนหลับที่มีการกลอกตาอย่างรวดเร็ว ระ ยะนี้สมองจะมีการทำงานมากจนใกล้กับภาวะที่เรากำลังตื่น ทำให้มีการฝัน ที่สำคัญมีการยับยั้งการทำงานของกล้ามเนื้อในระยะนี้ คือร่างกายจะไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิด ขึ้นในขณะฝัน
  • Non-REM sleep คือการนอนหลับที่ตรงข้ามกับ REM คือไม่มีการกลอกตาอย่างรวดเร็ว ที่สำ คัญคือ ในระยะนี้จะมีการหลั่งฮอร์โมนเพื่อการเจริญเติบโต (Growth hormone) ที่มีหน้าที่กระตุ้นการสร้างเซลล์ต่างๆ เพื่อการเจริญเติบโต และการทำงานของเซลล์ เช่น เซลล์กระดูก

ทั้งนี้ อาการผีอำ ส่วนใหญ่พบในขณะมีการนอนหลับแบบ REM ซึ่งในช่วง REM สมองจะมีการหลั่งฮอร์โมน เพื่อยับยั้งการทำงานของกล้ามเนื้อ เพื่อป้องกันอันตรายจากร่างกายระหว่างการนอนหลับและฝัน กรณีที่เรามีความฝันแบบที่มีการทำกิจกรรมที่รุนแรง ต่อสู้ เกินไป อาจจะทำให้มือหรือเท้าเราไปฟาดกับบางอย่าง ทำให้เกิดการบาดเจ็บ หรือดิ้นจนตกเตียงได้ โดยปกติแล้วฮอร์ โมนนี้จะหยุดหลั่งเมื่อเราตื่น ซึ่งการที่ฮอร์โมนดังกล่าวยังคงทำงานอยู่ ในขณะที่เรากำลังจะตื่น อาจเป็นสาเหตุของอาการผีอำได้ หรือในทางกลับกัน ถ้าฮอร์โมนชนิดนี้ไม่ทำงานในขณะที่เราหลับ ก็อาจจะเป็นสาเหตุของการละเมอ ช่วง REM ที่มีการฝันได้ คือ เกิดมีการเคลื่อนไหวร่างกาย เพราะฉะนั้น กระบวนการของสมองดังกล่าว จึงใช้อธิบายเรื่องของการเห็นผี หรือสิ่งน่ากลัวต่างๆ ตลอดจนการได้ยินเสียง หรือกลิ่น (สมองสามารถจดจำเสียง หรือกลิ่นได้) ในขณะที่เรากำลังจะตื่น แต่ไม่สามารถขยับตัวได้ คล้ายๆกับว่าสิ่งเหลานั้นอยู่กับเรา/เกิดกับเรา ในขณะที่เรากำลังตื่น ซึ่งรวมทั้งการขยับตัวไม่ได้และ/หรือหายใจลำบากด้วย

ผีอำพบได้บ่อยไหม? ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดผีอำ?

ผีอำ เป็นอาการที่พบได้บ่อย มีบางการศึกษาพบว่า 4 ใน 10 คนเคยมีอาการผีอำ

ผีอำ พบบ่อยในช่วงวัยรุ่น แต่ก็พบได้ในทุกเพศทุกวัย และพบมีการถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้

ผู้ที่มีโอกาส/ปัจจัยเสี่ยงเกิดผีอำได้บ่อย คือ

  • มีสุขลักษณะการนอน/สุขอนามัยการนอน ที่ไม่ดี
  • อดนอนเสมอ
  • เปลี่ยนเวลานอนบ่อยๆ
  • นั่งหลับ
  • นอนหงายนานๆขณะหลับ
  • มีความเครียด ภาวะซึมเศร้า
  • โรคลมหลับ (Narcolepsy)
  • ช่วงฝันร้าย
  • ใช้สารเสพติด

ผีอำมีอาการอย่างไร?

อาการของผีอำ คือ อาการที่คนคล้ายจะตื่น แล้วรู้สึกไม่สบายตัว แน่นหน้าอก เหมือนมีคน ผี หรือของหนักๆ รูปร่างประหลาด น่ากลัว มาทับที่หน้าอก โดยไม่สามารถขยับแขน ขา ลำตัวได้ รวมทั้งไม่สามารถส่งเสียงร้อง เพื่อเรียกให้คนมาช่วยได้ โดยมีอาการไม่นาน เป็นเพียงแค่ระยะเว ลาเป็นวินาที หรือถ้านานก็เป็นนาที ก็ไม่กี่นาทีเท่านั้น โดยอาการดังกล่าวเกิดขึ้นได้ทั้งในช่วงที่กำ ลังจะเคลิ้มหลับ หรือกำลังจะตื่น คือเกิดในช่วงการเปลี่ยนช่วงเวลาระหว่างตื่นแล้วจะนอนหลับ หรือนอนหลับแล้วจะตื่น

เมื่อไรควรพบแพทย์?

ควรพบแพทย์ถ้ามีอาการผีอำบ่อยๆ หรือมีอาการผิดปกติด้านการนอนร่วมด้วย เช่น ง่วงนอนง่ายมาก นอนมากตลอดเวลา ไม่สดชื่นถึงแม้นอนมากแล้วก็ตาม หรือมี โรคลมหลับร่วมด้วย

แพทย์วินิจฉัยผีอำได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคผีอำจาก ประวัติที่มีอาการดังกล่าวข้างต้นในหัวข้อ อาการ และการตรวจร่างกาย ถ้าอาการชัดเจน ตรวจร่างกายไม่พบความผิดปกติอื่นๆ ก็สามารถให้การวินิจฉัยได้เลยว่าเป็นโรคนี้ แต่ถ้าสงสัยว่า จะมีปัญหาโรคอื่นๆด้านการนอนร่วมด้วย ก็จะต้องส่งตรวจสภาพการนอน (การตรวจวิธีเฉพาะในโรคที่มีปัญหาทางการนอน) เพื่อดูว่ามีความผิดปกติอื่นๆร่วมด้วยหรือไม่

รักษาผีอำอย่างไร?

ไม่มีการรักษาเฉพาะในโรคผีอำ เพราะไม่จำเป็นต้องให้การรักษา แต่เป็นการดูแลรักษาสา เหตุ/ปัจจัยเสี่ยง (ดังกล่าวในหัวข้อ ปัจจัยเสี่ยง) เช่น โรคที่พบร่วม (เช่น โรคลมหลับ), ปัญหาทางการนอนหลับอื่นๆ, ภาวะซึมเศร้า นอกจากนั้นคือ ปรับสภาพและสุขลักษณะการนอนให้ดี และที่สำคัญคือ ให้ความมั่นใจกับผู้ป่วยว่าไม่มีอันตรายใดๆ

ผีอำมีการพยากรณ์โรคอย่างไร? มีผลข้างเคียงอย่างไร?

การพยากรณ์โรคของโรคผีอำ คือ เป็นโรค/อาการที่ไม่มีอันตรายใดๆ แต่คนส่วนใหญ่จะมีความเชื่อว่า เกิดจากการถูกผีเข้า ผีหลอก เป็นเรื่องของความเชื่อทางไสยศาสตร์ที่พบได้ในทุกวัฒนธรรม

อย่างไรก็ตาม ถ้ามีอาการนี้บ่อยๆ และไม่ได้รับการแนะนำที่ถูกต้อง อาจส่งผลข้างเคียงตาม มา คือ ทำให้เกิดความเข้าใจผิด ส่งผลทำให้มีปัญหาด้านสุขภาพจิตได้ และถ้าผีอำ มีสาเหตุมาจากการนอนหลับที่ไม่มีคุณภาพ ก็อาจทำให้มีผลต่อการเกิดโรคหลายโรค เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง ภาวะซึมเศร้า และอาจมีผลให้เกิดความจำที่ไม่ดีได้

เมื่อพบคนที่กำลังมีอาการผีอำควรทำอย่างไร?

เมื่อพบคนกำลังมีอาการผีอำ ควรปลุกให้ตื่น และปลอบให้กำลังใจว่าไม่เป็นอะไร ไม่ได้ถูกผี หลอกหรืออำ แต่เป็นอาการที่เกิดจากการหลับที่ไม่มีสุขลักษณะการนอนที่ดี

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อมีผีอำ?

การดูแลตนเองเมื่อมีอาการผีอำ คือ

  • การดูแลตนเองขณะมีอาการผีอำ ถ้าพอจะรู้สึกตัว ให้นอนเฉยๆสักพัก อาการจะหายไปเอง และถ้าเป็นบ่อยๆก็อาจต้องป้องกันโดย ใช้ยาช่วยในการนอนหลับให้ดีขึ้น (ต้องได้รับคำแนะ นำจากแพทย์ อย่าซื้อยากินเอง), ปรับเรื่องความเครียด, ทำจิตใจให้ดี ให้สดชื่น ก่อนนอน
  • การดูแลตนเองหลังจากตื่นจากอาการผีอำ คือ ควรทำตนเองให้สดชื่น ไม่ต้องกังวลกับอาการที่เกิดขึ้น ทำความเข้าใจว่า คือเรื่องปกติอย่างหนึ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ในระหว่างการนอนหลับ เป็นกลไกการนอนอย่างหนึ่งเท่านั้น ต่อจากนั้นก็ลองทบทวนว่า มีสิ่งไหนที่ทำให้การนอนเรามีปัญหาหรือไม่ ควรปรับสภาพการนอนและสุขลักษณะการนอนให้ดี เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดอาการ หรือไม่ให้เกิดอาการบ่อยๆ
  • การดูแลตนเองโดยทั่วไป เมื่อเคยมีอาการผีอำ ที่สำคัญ คือ หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอาการ (ดังได้กล่าวในหัวข้อ ปัจจัยเสี่ยง) และรักษาสุขลักษณะการนอน เช่น
    • ใช้ห้องนอนสำหรับนอนเท่านั้น ไม่ควรใช้ห้องนอนเล่นอินเทอร์เน็ต ทำงาน
    • ก่อนนอนให้หายใจช้าๆ และสวดมนต์
    • ควรปรับแสงไฟ เช่น มีไฟสลัวๆดวงพิเศษสำหรับสร้างบรรยากาศห้องนอน โดยปิดไฟดวงอื่นๆให้หมด เปิดไฟดวงนี้ก่อนนอน 15 นาที แล้วปิดไฟนอน ไม่ควรเปิดไฟนอน
    • นอนและตื่นตรงเวลา ทั้งวันธรรมดาและวันหยุด

นอกจากนั้น คือ พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอตามควรกับสุขภาพทุกวัน และฝึกจิตใจให้ผ่อนคลายเสมอ

ป้องกันผีอำได้หรือไม่?

โรค/อาการผีอำ เป็นสิ่งที่ป้องกันได้ ซึ่งการป้องกันจะเช่นเดียวกับที่ได้กล่าวแล้วในหัวข้อการดูแลตนเอง ได้แก่

  • มีสุขลักษณะการนอนที่ดี
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ จะเป็นเวลาไหนก็ได้ถ้าออกกำลังเบาๆจนถึงแรงปานกลาง แต่ถ้าออกกำลังอย่างหนัก ควรทำก่อนเวลานอน 1-2 ชั่วโมงขึ้นไป เพราะถ้าทำก่อนนอน ร่างกายจะอ่อนล้าเกินไป จนส่งผลให้นอนไม่หลับ และ
  • ผ่อนคลาย ไม่เครียด

สรุป

ปัญหาด้านการนอน เป็นเรื่องใหญ่ สามารถเป็นต้นเหตุของโรคร้ายต่างๆได้ ดังนั้นควรดูแลและให้ความสำคัญกับการนอน ด้วยการรักษาสุขลักษณะการนอนเสมอ