กลุ่มยาบิสฟอสโฟเนต (Bisphosphonates)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

กระดูกมีความสำคัญต่อร่างกายของสิ่งมีชีวิตในฐานะเป็นแกนโครงสร้างให้กับสิ่งมีชีวิต รวมถึงช่วยในการเคลื่อนไหวสรีระของร่างกาย การออกแรง และการพยุงร่างกาย

  • กระดูกมีส่วนประกอบที่สำคัญคือ แคลเซียม (Calcium) อาศัยการทำงานของเซลล์ 2 ชนิดคือ เซลล์ออสทิโอบลาสต์ (Osteoblast) เซลล์ที่ช่วยดูดซึมแคลเซียมและสร้างเซลล์กระดูก
  • และเซลล์ออสทิโอคลาส (Osteoclast) ซึ่งมีหน้าที่สลายและดูดซึมแคลเซียมในกรณีที่ร่าง กายมีความจำเป็นในการสร้างมวลกระดูกใหม่เพื่อการซ่อมแซมชดเชยมวลกระดูกเดิมที่เสียหายไป (Remodelling of bone)

ในผู้ป่วยโรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) จะพบว่ามวลกระดูกในร่างกายของผู้ป่วยมีน้อยกว่าบุคคลทั่วไปซึ่งมีสาเหตุหลากหลายประการเช่น ในหญิงวัยหมดประจำเดือนพบว่าการสูญ เสียมวลกระดูกเกิดขึ้นมากกว่าการสร้างเซลล์กระดูกใหม่ซึ่งเป็นผลมาจากระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง หรืออย่างในกรณีอื่นๆ เช่น ผู้ป่วยภาวะติดแอลกอฮอล์/โรคพิษสุรา (Alcoholism) ผู้ป่วยที่มีระดับฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์สูง/ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน(Hyperthyroidism) หรือต่อมไทรอยด์เป็นพิษ ผู้ป่วยโรคไต เป็นต้น

การเพิ่มมวลกระดูกหรือการรักษาระดับของแคลเซียมและเซลล์ในกระดูกจึงมีความสำคัญเพื่อป้องกันการแตกหักของกระดูก(กระดูกหัก)ของผู้ป่วย ดังนั้นจึงมีการใช้ยาเพื่อป้องกันหรือรักษาภาวะดังกล่าว ยากลุ่มหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายคือ ‘ยากลุ่มบิสฟอสโฟเนต (Bisphosphonates)’ ซึ่งช่วยทำหน้าที่ยับยั้งการทำงานของเซลล์สลายกระดูกหรือเซลล์ออสทิโอคลาส

ปัจจุบันมียากลุ่มบิสฟอสโฟเนตหลายชนิด ยาบางขนาน/บางชนิดได้รับการขึ้นทะเบียนด้วยข้อบ่งใช้อื่นๆนอกเหนือไปจากการรักษาและป้องกันภาวะกระดูกพรุนด้วยเช่น การรักษาภา วะแคลเซียมในเลือดสูง เป็นต้น

ในประเทศไทยยากลุ่มนี้จัดเป็นยาอันตรายตามกฎหมายของไทย ยกเว้นยาริซิโดรเนท (Risedronate) ชื่อยาการค้าคือ แอคโทเนล (Actonel) ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นยาควบคุมพิเศษคือ ต้องใช้ใบสั่งแพทย์ในการจ่ายยา อย่างไรก็ดีการใช้ยานี้ควรได้รับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์ก่อนการเริ่มการรักษาและได้รับการตรวจติดตามการรักษาจากแพทย์อย่างสม่ำเสมอ

กลุ่มยาบิสฟอสโฟเนตมีสรรพคุณอย่างไร?

กลุ่มยาบิสฟอสโฟเนต

กลุ่มยาบิสฟอสโฟเนตมีสรรพคุณ/คุณสมบัติ/ข้อบ่งใช้ดังต่อไปนี้

ก. ป้องกันและรักษาโรคกระดูกพรุนในหญิงวัยหมดประจำเดือน

ข. รักษาโรคกระดูกพรุนในผู้ป่วยชาย

ค. รักษาโรคกระดูกพรุนจากการใช้ยาในกลุ่มยาสเตียรอยด์ทั้งในชายและในหญิง ยาที่ใช้รักษากรณีคือ ยาอะเลนโดรเนท (Alendronate)

ง. รักษาโรคพาเจทกระดูก (Paget's disease of bone) ซึ่งเป็นโรคที่ร่างกายผู้ป่วยสร้างกระดูกที่มีความ เปราะบางแตกหักง่าย ซึ่งยารักษากรณีนี้ได้แก่ ยาอะเลนโดรเนท (Alendronate) ยาพามิโดรเนท (Pamidronate) ยาโซลีโดรเนท (Zoledronate)

จ. รักษาภาวะแคลเซียมในเลือดสูง ซึ่งยารักษากรณีนี้ได้แก่ ยาไอแบนโดรเนท (Iban dronate) ยาพามิโดรเนท (Pamidronate) ยาโซลีโดรเนท (Zoledronate)

กลุ่มยาบิสฟอสโฟเนตออกฤทธิ์อย่างไร?

กลุ่มยาบิสฟอสโฟเนตทำหน้าที่ในการยับยั้งการทำงานของเซลล์ออสทิโอคลาส (Osteo clast) ในกระดูกซึ่งเป็นเซลล์ที่มีหน้าที่ในการสลายเซลล์กระดูก ตัวยานี้จะออกฤทธิ์ทำให้การสลายเซลล์กระดูกลดลงทำให้สามารถคงระดับหรือเพิ่มการดูดซึมแคลเซียมเข้าสู่กระดูกได้มากขึ้น นอกจากนี้กลุ่มยาบิสฟอสโฟเนตยังมีส่วนช่วยในการควบคุมการสร้างเซลล์ออสทิโอคลาส และกระตุ้นให้เกิดการสลายของเซลล์ออสทิโอคลาสในร่างกายอีกด้วย

กลุ่มยาบิสฟอสโฟเนตมีรูปแบบจัดจำหน่ายอย่างไร?

กลุ่มยาบิสฟอสโฟเนตมีรูปแบบจัดจำหน่าย:

ก. เภสัชภัณฑ์ยาเม็ด: เช่น

  • ยาอะเลนโดรเนท (Alendronate) ขนาดความแรงเม็ดละ 10 และ 70 มิลลิกรัม
  • ยาไอแบนโดรเนท (Ibandronate) ขนาดความแรงเม็ดละ 150 มิลลิกรัม
  • ยาริซีโดรเนท (Risedronate) ขนาดความแรง เม็ดละ 5, 35 และ 150 มิลลิกรัม

ข. เภสัชภัณฑ์ยาฉีด: เช่น

  • ยาพามิโดรเนท (Pamidronate) ขนาดความแรง 30 มิลลิกรัมต่อ 10 มิลลิลิตร (30mg/10mL) และขนาดความแรง 15 มิลลิกรัมต่อ 10 มิลลิลิตร (15mg/10mL)
  • ยาไอแบนโดรเนท (Ibandronate) ขนาดความแรง 3 มิลลิกรัม/3 มิลลิลิตร (3mg/3mL)
  • ยาโซเลโดรเนท (Zoledronate) ขนาดความแรง 4 มิลลิกรัมใน 5 มิลลิลิตร (4mg/5mL) และขนาดความแรง 5 มิลลิกรัมใน 100 มิลลิลิตร (5mg/100mL)

กลุ่มยาบิสฟอสโฟเนตมีขนาดรับประทาน/บริหารอย่างไร?

ยาในกลุ่มบิสฟอตฟเนสต์มีขนาดบริหารและรับประทานยาเพื่อรักษาโรคกระดูกพรุนโดย ทั่วไปดังต่อไปนี้

ก. ยาอะเลนโดรเนท (Alendronate): เช่น

  • ชนิดรับประทานทุกวันรับประทานวันละ 10 มิลลิกรัม
  • ชนิดรับประทานสัปดาห์ละครั้งรับประทานครั้งละ 70 มิลลิกรัม

ข. ยาไอแบนโดรเนท (Ibandronate): เช่น

  • ชนิดรับประทานเดือนละครั้งรับประทานในวันเดียวกันของทุกเดือนครั้งละ 150 มิลลิกรัม
  • ชนิดฉีดฉีดทุกๆ 3 เดือนครั้งละ 3 มิลลิกรัม

ค. ยาพามิโดรเนท (Pamidronate): เช่น

  • ยาฉีดเดือนละหนึ่งครั้งครั้งละ 90 มิลลิกรัม

ง. ยาริซีโดรเนท (Risedronate): เช่น

  • ชนิดรับประทานทุกวันรับประทานวันละ 5 มิลลิกรัม
  • ชนิดรับประทานสัปดาห์ละครั้งรับประทานครั้งละ 35 มิลลิกรัม
  • ชนิดรับประทานเดือนละครั้งรับประทานในวันเดียวกันของทุกเดือนครั้งละ 150 มิลลิกรัม

จ. ยากรดโซเลโดรนิก (Zoledronic Acid): เช่น

  • ยาฉีดปีละครั้งครั้งละ 5 มิลลิกรัม

*อนึ่ง:

  • ควรรับประทานยาบิสฟอสโฟเนตก่อนอาหารเช้าอย่างน้อย 30 นาที และในการรับประ ทานยากลุ่มนี้ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ผู้รักษาและตามเอกสารกำกับยา/ ฉลากยานี้อย่างเคร่ง ครัด อ่านเพิ่มเติมหลักในการรับประทานยานี้ในหัวข้อ “ข้อควรระวังฯ”
  • ขนาดยาที่ระบุไว้ข้างต้นเป็นขนาดยาโดยทั่วไปในที่ใช้รักษาโรคกระดูกพรุนเท่านั้น ในกรณีการรักษาในข้อบ่งใช้อื่น แพทย์อาจพิจารณาปรับขนาดยาตามความเหมาะสมต่อผู้ป่วยเป็นรายบุคคลไป

*****หมายเหตุ:ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาบิสฟอสโฟเนตควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติการแพ้ยา แพ้อาหาร และแพ้สารเคมีทุกชนิด
  • ประวัติการใช้ยา ทั้งยาที่แพทย์สั่งจ่ายและยาที่ซื้อทานเอง รวมไปถึงวิตามิน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพร โดยเฉพาะหากกำลังใช้ยาดังต่อไปนี้ เช่น
  • ยากดภูมิคุ้มกันต้านทานโรค เช่น ยาบีวาซิซูแมบ (Bevacizumab) ยาเอเวอโร ไลมัส (Everlolimus) พาซาพานิบ (Pazapanib) ยาโซราฟีนิบ (Sorafenib) หรือยาซูนิทินิบ (Sunitinib)
  • ยาแอสไพริน (Aspirin) และยาในกลุ่มยาแก้อักเสบ/ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่ สเตียรอยด์ (Nonsteroidal anti-inflammatory drugs; NSAIDs) เช่น ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ยานาพรอกเซน (Naproxen)
  • ยาเคมีบำบัดเพื่อรักษาโรคมะเร็ง
  • ยาต้านอักเสบชนิดเสตียรอยด์ (Steroids) เช่น ยาเด็กซาเมธาโซน (Dexame thasone) ยาเพรดนิโซโลน (Prednisolone)
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากไม่สามารถนั่งตัวตรงหรือยืนตัวตรงได้ เนื่องจากการใช้ยานี้ผู้ป่วยจำเป็นต้องอยู่ในท่าตรง อาจนั่งหรือยืนเป็นเวลา 30 นาทีหลังรับประทานยานี้เพื่อไม่ให้ยานี้ตกค้างในหลอดอาหาร เพราะตัวยานี้ที่ตกค้างอยู่อาจทำให้หลอดอาหารเกิดเป็นแผลได้
  • แจ้งให้แพทย์ทราบประวัติโรคประจำตัวโดยเฉพาะโรค/ภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ โรคระบบทางเดินอาหาร และโรคของหลอดอาหาร
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากต้องรับการรักษาด้วยวิธีรังสีรักษา ยาเคมีบำบัด หรือเคยมีประวัติโรคซีด (Anemia) หรือระดับวิตามินดีในเลือดต่ำ มีปัญหาด้านการกลืน โรคกรดไหลย้อนเช่น มีอาการแสบร้อนกลางอก มีแผลในกระเพาะอาหาร ประวัติโรคมะเร็ง หรือโรคติดเชื้อโดยเฉพาะบริเวณช่องปาก ฟัน เหงือก รวมไปถึงระบบทางเดินอาหาร ประวัติโรคไต
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากกำลังตั้งครรภ์ วางแผนที่จะตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร
  • แจ้งให้ทันตแพทย์ทราบว่ากำลังใช้ยาในกลุ่มนี้หากต้องมีการผ่าตัดทางทันตกรรม

หากลืมรับประทานยา/บริหารยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาในกลุ่มบิสฟอสโฟเนต ถ้าเป็นชนิดที่รับประทานทุกวันให้ข้ามมื้อยานั้นไปเลย และให้ทานอีกครั้งในวันถัดไปตามปกติโดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า

หากเป็นการบริหารยา/ใช้ยาสัปดาห์ละครั้ง เมื่อลืมมื้อยามื้อหนึ่งไปให้ข้ามมื้อยานั้นไป และให้ทานในวันรุ่งขึ้นโดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า และให้กลับมารับประทานยาในวันเดิมของสัปดาห์ตามปกติในรอบสัปดาห์ถัดไป

หากเป็นการบริหารยา/ใช้ยาเดือนละครั้ง หากระยะเวลาที่ลืมจนถึงรอบการรับประทานยาครั้งถัดไปห่างกันมากกว่า 7 วัน ให้รับประทานในเวลาเช้าของวันที่นึกขึ้นได้โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า และรับประทานครั้งต่อไปตามปกติ หากว่าระยะเวลาน้อยกว่า 7 วันให้ข้ามมื้อยาที่ลืมนั้นไป และให้รอรับประทานยาในรอบการทานยาของเดือนถัดไปโดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า

ในกรณียาฉีด หากลืมนัดการฉีดยาให้แจ้งติดต่อโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลที่ทำการรักษาโดยเร็ว

กลุ่มยาบิสฟอสโฟเนตมีผลไม่พึงประสงค์ไหม?

กลุ่มยาบิสฟอสโฟเนตอาจก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) บางประการ เช่น คลื่นไส้-อาเจียน ท้องเสียหรือท้องผูก มีลม/แก๊สในกระเพาะอาหาร ปวดหัว มึนงง ปวดข้อ ปวดมือ และปวดขา หากอาการดังกล่าวไม่ดีขึ้นหรือมีแนวโน้มว่าจะแย่ลงให้รีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล

หากรับประทานยาบิสฟอสโฟเนตแล้วเกิดอาการแพ้ยาเช่น ผื่นคัน อาการบวมของริมฝี ปาก เปลือกตา/หนังตา ใบหน้า หรือหายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก หรืออาการข้างเคียงที่มีความรุนแรง มีอาการแสบร้อนกลางอกอย่างรุนแรง มีปัญหาในการกลืน หรือมีอาการเจ็บแสบเวลากลืน อาเจียนเป็นเลือดหรือมีสีคล้ายกาแฟ อุจจาระเป็นเลือดหรือมีสีดำเข้มและเหนียว มีไข้ ผิวหนังลอก ปวดบริเวณตา มีอาการปวดกรามหรือฟันหลุด ให้พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลโดยทันที/ฉุกเฉิน

ยาบิสฟอสโฟเนตที่เป็นยาชนิดฉีด ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดบวมบริเวณที่ฉีด หากอาการไม่ดีขึ้นหรือมีแนวโน้มว่าจะแย่ลง ให้พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลโดยทันที/ฉุกเฉิน

อย่างไรก็ดีผู้ป่วยควรตระหนักว่า การที่แพทย์สั่งใช้ยานี้เนื่องจากแพทย์พิจารณาแล้วเห็นว่ายานี้จะมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยมากกว่าโทษหรือมากกว่าการได้รับผลข้างเคียงจากยา ผู้ป่วยที่ได้รับยานี้อาจพบว่าเกิดผลข้างเคียงชนิดรุนแรง ผู้ป่วยจึงควรเฝ้าระวังผลข้างเคียงดังกล่าวที่อาจเกิดขึ้นและควรต้องรีบพบแพทย์ /ไปโรงพยาบาลทันทีหากเกิดอาการรุนแรงดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น

กลุ่มยาบิสฟอสโฟเนตมีปฏิกิริยากับยาตัวอื่นไหม?

ยาในกลุ่มยาบิสฟอสโฟเนตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นบางชนิด ซึ่งอาจทำให้ระดับยาในกลุ่มบิสฟอสโฟเนตในกระแสเลือดสูงขึ้น แพทย์อาจต้องเฝ้าระวังผลข้างเคียงหรือปรับขนาดยาที่ใช้ร่วมกับยากลุ่มบิสฟอสโฟเนต เช่น

  • ยากดภูมิคุ้มกันต้านทานโรค เช่น ยาบีวาซิซูแมบ (Bevacizumab) ยาเอเวอโร ไลมัส (Everlolimus) ยาพาซาพานิบ (Pazapanib) ยาโซราฟีนิบ (Sorafenib) หรือยาซูนิทินิบ (Sunitinib)
  • ยาแอสไพริน (Aspirin) และยาในกลุ่มต้านอักเสบ/ยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่ยา สเตียรอยด์ (Nonsteroidal anti-inflammatory drugs; NSAIDs ) เช่น ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ยานาพรอกเซน (Naproxen)
  • ยาเคมีบำบัด/ยาสารเคมีเพื่อรักษาโรคมะเร็ง
  • ยาต้านอักเสบชนิดสเตียรอยด์ (Steroids) เช่น ยาเด็กซาเมธาโซน (Dexame thasone) ยาเพรดนิโซโลน (Prednisolone)

นอกจากนี้พบว่ายาหรือสารเคมีบางชนิด เช่น ยาลดกรดแอนตาซิด (Antacil), ยาลดกรดชนิดยับยั้งโปรตอนปัม (PPI; Proton Pump Inibitors) เช่น ยาโอเมพราโซล (Omeprazole), แคลเซียม, ธาตุเหล็ก, ธาตุแมกนิเซียม, วิตามิน จะลดการดูดซึมยาในกลุ่มบิสฟอสโฟเนตชนิดรับประทาน จึงควรต้องแจ้งแพทย์พยาบาลและเภสัชกรหากต้องใช้ยาเคมีบำบัดหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีส่วนประกอบของสารดังกล่าวอยู่ก่อนการใช้ยานี้

มีข้อควรระวังในการใช้กลุ่มยาบิสฟอสโฟเนตอย่างไร?

มีข้อควรระวังในการใช้กลุ่มยาบิสฟอสโฟเนต เช่น

  • ไม่ควรใช้ยาในกลุ่มนี้กับผู้ป่วยที่แพ้ยานี้หรือแพ้สารเคมีที่เกี่ยวข้องกับยาในกลุ่มนี้
  • ควรใช้ยานี้ด้วยความระมัดระวังในสตรีตั้งครรภ์ สตรีวางแผนที่จะตั้งครรภ์ หรือกำ ลังให้นมบุตร
  • ในกรณียานี้ชนิดรับประทาน ผู้ป่วยควรทานยานี้
    • ขณะที่ท้องว่างในช่วงเช้าโดยควรทานยานี้ก่อนทานอาหารมื้อเช้า
    • ทานยานี้ร่วมกับดื่มน้ำเปล่าตาม 1 - 2 แก้วไม่ทานยากับเครื่องดื่มอื่นๆที่มิใช่น้ำ เปล่าเช่น ชา กาแฟ นม น้ำแร่ น้ำผลไม้
    • ไม่แบ่งหรือหักเม็ดยา ไม่อมเม็ดยา และไม่เคี้ยวเม็ดยาในช่องปาก
    • หลังรับประทานยานี้ไปแล้ว ผู้ป่วยไม่ควรรับประทานอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มอื่นที่มิใช่น้ำเปล่า ยาและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และควรต้องนั่งหรือยืนในท่าตรง เป็นเวลาอย่างน้อยประมาณ 30 นาทีหลังรับประทานยานี้
  • ยานี้อาจส่งผลให้เกิดอาการปวดบริเวณกรามบนใบหน้าซึ่งเป็นภาวะที่มีความรุนแรง โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดทางทันตกรรมขณะใช้ยานี้ ดังนั้นหากผู้ป่วยมีปัญหาในช่องปากควรได้รับการดูแลจากทันตแพทย์ก่อนการเริ่มใช้ยานี้
  • ยาในกลุ่มนี้อาจส่งผลให้เกิดอาการปวดที่รุนแรงตาม ข้อ กล้ามเนื้อ หรือกระดูก ซึ่งอาจเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้ในขณะที่ผู้ป่วยใช้ยานี้ ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากมีอาการปวดอย่างรุนแรงตามบริเวณดังกล่าว เพื่อให้แพทย์ตรวจพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง
  • ควรใช้ยานี้ด้วยความระมัดระวังในผู้ป่วยที่มีประวัติโรคไต โรคแคลเซียมในเลือดต่ำ หรือวิตามินดีในเลือดต่ำ โรคแผลในหลอดอาหาร/หลอดอาหารอักเสบและในระบบทางเดินอาหาร
  • ผู้ป่วยอาจได้รับการสั่งจ่ายแคลเซียมและวิตามินดีมารับประทานร่วมด้วยเพื่อให้มั่นใจว่าผู้ป่วยจะได้รับแคลเซียมในปริมาณที่เพียงพอขณะใช้ยานี้

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาบิสฟอสโฟเนตด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ควรเก็บรักษากลุ่มยาบิสฟอสโฟเนตอย่างไร?

ควรเก็บรักษากลุ่มยาบิสฟอสโฟเนต:

  • เก็บยาในภาชนะดั้งเดิมของผู้ผลิต ปิดฝาภาชนะให้แน่น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • หลีกเลี่ยงการเก็บยานี้ในบริเวณที่มีความชื้นสูง เช่น บริเวณใกล้ห้องน้ำหรือในตู้เย็น
  • ไม่ควรนำสารดูดความชื้นที่ผู้ผลิตใส่ไว้ในภาชนะของผลิตภัณฑ์ออกจากภาชนะหากผู้ผลิตได้บรรจุไว้
  • เก็บภาชนะที่เก็บยานี้ในอุณหภูมิห้อง

กลุ่มยาบิสฟอสโฟเนตมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาในกลุ่มบิสฟอสโฟเนต มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/จัดจำหน่าย เช่น

ชื่อการค้า ชื่อบริษัทผู้ผลิตหรือบริษัทผู้จำจำหน่าย
ยาอะเลนโดรเนท (Alendronate)
ฟอสะแมกซ์ (Fosamax) บริษัท เอ็มเอสดี (ประเทศไทย) จำกัด
บอนแม็กซ์ (Boxmax) บริษัท เบอร์ลินฟาร์มาซูติคอลอินดัสตรี้ จำกัด
แมกเลน-70 (Maxlen-70) บริษัท เมก้า ไลฟ์ไซแอ็นซ์ จำกัด (มหาชน)
ราลีโนสต์ (Ralenost) บริษัท ไดอิจิ ซังเคียว (ประเทศไทย) จำกัด
เอ-โดรเนต 70 (A-DRONATE 70) บริษัท แอปคาร์ ฟาร์มาแลป (ประเทศไทย) จำกัด
อัลเดรน 70 (Aldren-70) บริษัท แคสป้า ฟาร์มาซูติคอล (ประเทศไทย) จำกัด
อะเลนโดรเนท แซนดอซ (Alendronate Sandoz) บริษัท โนวาร์ตีส (ประเทศไทย) จำกัด
ยาไอแบนโดรเนท (Ibandronate)
ออสเท็คส์ (Ostex) บริษัท ซิมเจนส์ จำกัด
ซีโดรพอร์ (Sedropor) บริษัท เอ็ม แอนด์ เอ็ช แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด
ยาพามิโดรเนท (Pamidronate)
พามิซอล (Pamisol) บริษัท อินโดไชน่า เฮลท์ แคร์ จำกัด
อะรีเดีย (Aredia) บริษัท โนวาร์ตีส (ประเทศไทย) จำกัด
ยาริซีโดรเนท (Risedronate)
แอคโทเนล (Actonel) บริษัท สีลมการแพทย์ จำกัด
รีซิดรอน (Residron) บริษัท เมก้า ไลฟ์ไซแอ็นซ์ จำกัด (มหาชน)
ยากรดโซเลโดรนิก (Zoledronic Acid)
โซมีคัล (Zomekal) บริษัท ดีทแฮล์ม เคลเลอร์ โลจิสติกส์ จำกัด
โซเลนนิค (Zolennic) บริษัท สยามเภสัช จำกัด
โซมีทา (Zometa) บริษัท โนวาร์ตีส (ประเทศไทย) จำกัด
อะคลาสทา (Aclasta) บริษัท โนวาร์ตีส (ประเทศไทย) จำกัด
ซินเวล (Zinvel) บริษัท เมก้า ไลฟ์ไซแอ็นซ์ จำกัด (มหาชน)
ลิวโซเทฟ (LEUZOTEV) บริษัท แปซิฟิค เฮลธ์แคร์ (ไทยแลนด์) จำกัด
โซลนิก (Xolnic) บริษัท มาสุ จำกัด

บรรณานุกรม

  1. American Pharmacists Association. Allendronate, Ibandronate, Pamidronate, Risedronate, Zoledronic Acid , Drug Information Handbook with International Trade Names. 23;2014
  2. Harold N Rosen, MD. Pharmacology of bisphosphonates. UpToDate.com. June 2015
  3. Management of osteoporosis in postmenopausal women: 2010 position statement of The North American Menopause Society. Menopause 2010;17 (1): 25–54