ช็อกโกแลต (Chocolate)

บทความที่เกี่ยวข้อง
ช็อกโกแลต

ช็อกโกแลต หรือ ช็อกโกเลต (Chocolate) เป็นของหวานหรือขนมหวานที่นิยมรับประทานกันมาก และถ้าเป็นช็อกโกแลตที่มีคุณภาพ (ไม่เจือปนสารอื่นๆมาก) ราคาจะสูงมากเช่นกัน

ช็อกโกแลต/ช็อกโกเลต ผลิตจากเมล็ดของต้น Cacao (Cacao tree หรือ Cocoa tree) ซึ่งเป็นพืชประจำถิ่นในแถบอเมริกากลางและอเมริกาใต้

สารที่พบในเมล็ด Cacao มีหลากหลายชนิด ที่เราพอจะรู้จัก เช่น สารในกลุ่มกระตุ้นระบบประสาท (เช่นสาร โดพามีน, คาเฟอีน/มีปริมาณไม่มาก, และสาร เซโรโทนิน), สารต้านอนุมูลอิสระ (เช่นสารในกลุ่ม Catechins, Flavonoids, และในกลุ่ม Phenolics) และสารที่เพิ่มความรู้สึกทางเพศ (เช่นสาร Methylxanthine)

สารเหล่านี้ จะพบได้สูงกว่าในรูปของ ช็อกโกแลต/ช็อกโกเลตที่ไม่ผสมนมและน้ำตาล (Dark chocolate) ซึ่งโดยทั่วไปจะให้รสขม

การศึกษาในห้องปฏิบัติการ พบว่า ด้วยคุณสมบัติของสารต่างๆที่มีอยู่ในเมล็ด Cacao จึงอาจ

  • ช่วยเพิ่มการฟื้นตัวของกล้ามเนื้อลายภายหลังการออกกำลังกายหรือเล่นกีฬา
  • ช่วยเพิ่มการไหลเวียนเลือด
  • ลดประสิทธิภาพของไขมันที่ไม่ดี (LDL) จึงส่งผลให้ลดโอกาสเกิดโรคหัวใจ:โรคหลอดเลือดหัวใจ
  • ช่วยชะลอโอกาสเกิดอาการความจำเสื่อม
  • มีบางการศึกษารายงานว่า ช่วยลดอาการไอ
  • ยังไม่มีการศึกษาทางการแพทย์ที่ยืนยันแน่ชัดว่าช็อกโกแลตเป็นตัวกระตุ้นหรือสามารถลดอาการไมเกรนได้ในบางคน

การศึกษาในคนพบว่า การจะได้ประสิทธิผลต่างๆดังกล่าว จะต้องกินช็อกโกแลตโดยเฉพาะ Dark chocolate ในปริมาณมาก และต่อเนื่อง ซึ่งเป็นไปได้ยากในการใช้ชีวิตประจำ

บางการศึกษาในคนยังพบว่า ผลของการกินช็อกโกแลต/ช็อกโกเลตต่ออารมณ์/จิตใจในทางบวก มักเกิดกับคนที่ เครียด เหนื่อยล้า หรือหิว แล้วกินช็อกโกแลต แต่ความแจ่มใสก็จะเกิดเพียงระยะเวลาสั้นๆ ทั้งนี้มักมีผลน้อยต่อคนปกติที่กินช็อกโกแลตปกติ

ส่วนการเกิดสิว การศึกษาพบว่า ไม่ได้เกิดจากตัวช็อกโกแลต แต่เกิดจาก ไขมัน และน้ำ ตาลที่เป็นส่วนผสมหลักทั่วไปในช็อกโกแลต

ทั้งนี้ ทั่วไป การกินช็อกโกแลต/ช็อกโกเลตในปริมาณมากต่อเนื่อง อาจเป็นสาเหตุของโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน รวมทั้งโรคไขมันในเลือดสูง เนื่องจากปริมาณน้ำตาลและไขมันที่เป็นส่วนผสมหลักของช็อกโกแลต นอกจากนั้นยังพบว่า ต้น Cacao สามารถดูดซึมโลหะหนัก โดยเฉพาะสารตะกั่ว (Lead) ได้ดี และสะสมสารตะกั่วไว้ได้สูงในเมล็ด Cacao

ดังนั้น ในการดื่ม/กิน ช็อกโกแลต/ช็อกโกเลตเพื่อสุขภาพ จึงควรเป็น Dark chocolate และควรต้องจำกัดปริมาณ นม ไขมัน และน้ำตาลที่จะช่วยปรุงเพิ่มเติมในช็อกโกแลต และไม่ควรบริโภคมากเกินไป เพื่อจำกัดปริมาณของสารตะกั่วที่อาจได้รับจากช็อกโกแลต เนื่องจากไม่มีการกำหนดให้ระบุปริมาณสารตะกั่วบนบรรจุภัณฑ์

อนึ่ง ช็อกโกแลตขาว (White chocolate) เป็นช็อกโกแลต/ช็อกโกเลตที่ไม่มีส่วนผสมของสารที่ให้สีคล้ำในเมล็ด Cacao กล่าวคือ ทำมาจากส่วนของเมล็ด Cacao ที่เป็นไขมันที่ เรียกว่า Cocoa butter ซึ่งสารสีคล้ำที่สกัดออกไปเหล่านี้ คือสารที่มีคุณประโยชน์และมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ดังนั้นช็อกโกแลตขาวจึงมีผลดีต่อสุขภาพน้อยกว่าช็อกโกแลตดำทั่วไปโดยเฉพาะ Dark chocolate

บรรณานุกรม

  1. Scholey, A., and Owen,L. (2013). Nutrition Reviews. 71,665-681
  2. Wong, S., and lua, P. (2011). Chocolate: food for moods. Malays J Nutr. 17, 259-269.
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Cocoa_bean [2020,Oct31]
  4. http://en.wikipedia.org/wiki/Chocolate [2020,Oct31]
  5. http://en.wikipedia.org/wiki/Cocoa_butter [2020,Oct31]
  6. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC7146545/ [2020,Oct31]
  7. http://en.wikipedia.org/wiki/White_chocolate [2020,Oct31]