คิวราเร (Curare)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาคิวราเร (Curare) เป็นสารประเภทอัลคาลอยด์ (Alkaloid) มีฤทธิ์เป็นพิษต่อกล้ามเนื้อ สกัดได้จากพืชที่อยู่ในวงศ์ (Family) เมนิสเปอร์มาซี (Menispermaceae) ซึ่งมีถิ่นฐานต้นกำเนิดในประเทศแถบอเมริกากลางและอเมริกาใต้ มนุษย์นำมาใช้เป็นยาพิษอาบลูกดอกหรือธนูและใช้ล่าสัตว์ โดยยาจะออกฤทธิ์ต่อระบบการทำงานของกล้ามเนื้อมากกว่าต่อระบบประสาท และต่อหัวใจ ตัวยานี้ไม่ทำให้สัตว์ที่ได้รับพิษจากคิวราเรถึงกับเสียชีวิต และมนุษย์ที่กินสัตว์ที่ได้รับสารคิวราเรจะไม่เกิดอาการพิษแต่อย่างใด

ด้วยยาคิวราเรเป็นสารประกอบประเภทอัลคาลอยด์ที่มีโครงสร้างทางเคมีใหญ่มากทำให้ยากต่อการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสเลือด รูปแบบผลิตภัณฑ์ยาที่ใช้ในปัจจุบันจึงเป็นยาชนิดฉีดไม่มียาชนิดรับประทาน

สำหรับฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของยาคิวราเรพบว่า ยาคิวราเรมีฤทธิ์ทำให้กล้ามเนื้อคลายตัว โดยปิดกั้นตัวรับ (Receptor) ประเภท Acetylcholine receptors ที่บริเวณเชื่อมต่อระหว่างเส้นประสาทกับกล้ามเนื้อ

ยาคิวราเรมีส่วนประกอบหลักๆที่เป็นตัวทำให้เกิดพิษที่เรียกว่า D-tubocurarine ตัวยาที่สามารถต้านพิษของยาคิวราเร (Antidode of curare poisoning) หรือ D-tubocurarine ได้นั้นคือ ยาในกลุ่ม Acetylcholinesterase inhibitors เช่น Physostigmine หรือ Neostigmine

นักวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ได้พยายามค้นคว้าจนถึงขั้นใช้สารสกัดของคิวราเรจากพืชมา ทำเป็นยาชา ช่วยให้กล้ามเนื้อเกิดการคลายตัวและถูกใช้ในห้องผ่าตัด นอกจากนี้ยังนำมาประยุกต์ใช้กับผู้ป่วยด้วยโรคบาดทะยักโดยทำให้การชักเกร็งของผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น

รูปแบบที่ใช้เป็นยาแผนปัจจุบันของยาคิวราเรคือยาฉีด ผู้ป่วยที่ได้รับการฉีดยาจากยา/สาร สกัดคิวราเรจะทำให้เกิดการคลายตัวของกล้ามเนื้อลายอย่างรวดเร็วโดยเริ่มที่นิ้วเท้า ใบหู ตา จาก นั้นการออกฤทธิ์จะเกิดต่อเนื่องไปถึงคอจนถึงแขน-ขา และการออกฤทธิ์จะสิ้นสุดที่ระบบทางเดินหายใจ นอกจากนี้ยังพบว่าฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของยาคิวราเรยังปิดกั้นการทำงานสารสื่อประสาทประเภทเซโรโทนิน (Serotonin) ลดอาการอาเจียน บรรเทาอาการวิตกกังวล ลดความดันโลหิต ด้วยเกิดการคลายตัวของกล้ามเนื้อที่ผนังหลอดเลือด

อย่างที่เคยกล่าวไว้แล้วว่าสารสำคัญตัวหนึ่งที่โดดเด่นในสารคิวราเรคือ สารTubocurarine ได้ถูกนำมาผลิตเป็นยาฉีด โดยใช้ในรูปแบบโครงสร้างเป็น Tubocurarine chloride มีความแรงขนาด 3 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร ยากลุ่มนี้จะมีใช้แต่ในสถานพยาบาลเท่านั้นและซื้อหาไม่ได้จากร้านขายยาทั่วไป และการใช้ยาจากสารสกัดคิวราเรจะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์ผู้รักษาแต่เพียงผู้เดียว

คิวราเรมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

คิวราเร

ยาคิวราเรมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เช่น

  • เป็นยาชาที่ใช้ในการผ่าตัด
  • เป็นยาคลายกล้ามเนื้อที่ใช้ประกอบหัตถการในการใส่ท่อช่วยหายใจหรือใส่หลอด/ท่อให้อาหารผ่านทางช่องจมูก

คิวราเรมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

สาระสำคัญในยาคิวราเร มีกลไกการออกฤทธิ์ที่ปิดกั้นตัวรับในบริเวณรอยเชื่อมต่อของเส้นประสาทและของกล้ามเนื้อซึ่งมีชื่อว่า Acetylcholine receptor ส่งผลให้กระแสประสาทไม่สามารถส่งผ่านมายังกล้ามเนื้อได้ ส่งผลให้กล้ามเนื้อเกิดการคลายตัวและเป็นอัมพาต ด้วยกลไกเหล่านี้จึงก่อให้เกิดฤทธิ์การรักษาตามสรรพคุณ

คิวราเรมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาคิวราเรมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นยาฉีดที่มีตัวยาสำคัญคือ Tubocurarine chloride ขนาด 3 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร

คิวราเรมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ขนาดการใช้ยาคิวราเรขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้ที่ทำการรักษา สามารถหารายละเอียดขนาดการใช้ยานี้ได้จากเอกสารกำกับยาที่แนบมากับตัวผลิตภัณฑ์

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาคิวราเร ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาคิวราเรอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

คิวราเรมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ที่สามารถพบได้จากสาร/ยาประเภทคิวราเร เช่น ความดันโลหิตต่ำ การเป็นอัมพาตของอวัยวะในระบบทางเดินหายใจที่การช่วยเหลือสามารถใช้เครื่องช่วยหายใจเพื่อบำบัดอาการ

มีข้อควรระวังการใช้คิวราเรอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาคิวราเรเช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยา/แพ้สารสกัดคิวราเร
  • ห้ามใช้กับสตรีตั้งครรภ์และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตต่ำ
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม
  • ระหว่างการใช้ยานี้ต้องมีการตรวจวัดสัญญาณชีพต่างๆของผู้ป่วยให้อยู่ในระดับที่เป็นปกติเสมอ
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมสารสกัดคิวราเรด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

คิวราเรมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ปัจจุบันยังไม่มีรายงานพบปฏิกิริยาระหว่างยาคิวราเรกับยารับประทานชนิดใดๆ

ควรเก็บรักษาคิวราเรอย่างไร?

ควรเก็บยาหรือผลิตภัณฑ์จากยาคิวราเรตามข้อแนะนำของเอกสารกำกับยาเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

คิวราเรมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาคิวราเรที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Tubarine (ทูบารีน) BURROUGHS WELLCOME & CO., LONDON

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Curare [2016,March26]
  2. http://www.rain-tree.com/curare.htm#.VtZS-H196Ul [2016,March26]
  3. http://www.drugs.com/dict/curare.html [2016,March26]
  4. http://www.livestrong.com/article/29650-curare-work/ [2016,March26]
  5. http://www.drugbank.ca/drugs/DB01199 [2016,March26]
  6. http://www.sciencemuseum.org.uk/hommedia.ashx?id=93766&size=Large [2016,March26]