คาร์โบโพรส (Carboprost)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาคาร์โบโพรส(Carboprost หรือ Carboprost tromethamine) เป็นสารสังเคราะห์ประเภท Prostaglandin (PGF2α) เป็นยาที่มีกลไกกระตุ้นให้มดลูกหดตัวเพื่อช่วยให้มีแรงเบ่งคลอด นอกจากนี้ยังช่วยลดภาวะเลือดออกหลังคลอดบุตร(ตกเลือดหลังคลอด)อีกด้วย รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยานี้ เป็นยาฉีด โดยต้องฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ยาคาร์โบโพรสจะใช้เวลาประมาณ 20–30 นาทีเพื่อการออกฤทธิ์ ยานี้สามารถซึมผ่านรก และจะถูกขับทิ้งไปกับปัสสาวะเสียเป็นส่วนมาก ทางคลินิกนำยานี้มาใช้เป็นยายุติการตั้งครรภ์ และใช้เป็นยาห้ามเลือดหลังจากการคลอดบุตร

อย่างไรก็ตาม มีข้อห้ามบางประการที่ทำให้ไม่สามารถใช้ยานี้ได้ เช่น

  • เป็นผู้ที่มีประวัติแพ้ยาคาร์โบโพรส
  • มีภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ(การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน)รวมถึงเป็นผู้ป่วยด้วยโรคหัวใจ โรคปอด โรคไต โรคตับ ด้วยอาการของโรคดังกล่าวอาจรุนแรงมากยิ่งขึ้นเมื่อได้รับยาคาร์โบโพรส

โดยทั่วไป แพทย์จะเริ่มให้ยาคาร์โบโพรสในขนาดต่ำๆเท่าที่ให้ประสิทธิผลสูงแก่ผู้ป่วย ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ต่างๆที่อาจเกิดจากยานี้ ซึ่งการใช้ยาคาร์โบโพรสจะต้องกระทำแต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น ด้วยต้องอาศัยหัตถการทางการแพทย์ที่เหมาะสมร่วมกับเวชภัณฑ์ยาอื่นๆมาประกอบกันเพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วย

ยาคาร์โบโพรสมีผลกระตุ้นการบีบตัวของกระเพาะอาหารและลำไส้ได้ด้วยเช่นกันจึงอาจก่อให้เกิดอาการอาเจียนออกมา ดังนั้นก่อนฉีดคาร์โบโพรสเพื่อเร่งการคลอดให้ผู้ป่วย แพทย์อาจมีความจำเป็นต้องให้ยาลดอาการอาเจียน(ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน)กับผู้ป่วยเพื่อป้องกันการอาเจียนในเบื้องต้น

ผู้ที่ได้รับยาคาร์โบโพรส จะมีอุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้นชั่วคราว นานประมาณ 1–16 ชั่วโมงหลังได้รับยานี้ และอุณหภูมิของร่างกายจะกลับมาเป็นปกติเมื่อการออกฤทธิ์ของยาคาร์โบโพรสหมดลง ข้อควรระวังอีกหนึ่งประการของการใช้ยานี้ คือ ทำให้ผู้ป่วยมีความดันโลหิตสูงในระดับรุนแรงปานกลางตามมา ซึ่งอาจไม่ต้องใช้ยาเข้ามาช่วยลดความดันโลหิตดังกล่าว ทั้งนี้แพทย์ผู้รักษาจะเป็นผู้พิจารณาตามสถานการณ์ได้อย่างเหมาะสมที่สุด

ทางคลินิก จะใช้ยาคาร์โบโพรส เพื่อกระตุ้นการเร่งคลอด(การชักนำให้เจ็บครรภ์คลอด)ให้กับมารดาที่มีอายุครรภ์ 13–20 สัปดาห์ ด้วยเหตุผลทางการแพทย์บางประการ เช่น ถุงน้ำคร่ำในครรภ์มารดาแตกก่อนกำหนด(ถุงน้ำคร่ำแตกก่อนเจ็บครรภ์คลอด)จึงต้องนำทารกออกมาเพื่อเป็นการป้องกันอันตรายที่จะเกิดกับมารดา

ยาคาร์โบโพรสมีจุดประสงค์ของการใช้เพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยเป็นสำคัญ ไม่มีวัตถุประสงค์การใช้ยานี้กับวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควรเพื่อให้เกิดการแท้งบุตร ยานี้จัดเป็นยาที่มีอันตรายมากพอสมควร การใช้ยาคาร์โบโพรสได้อย่างเหมาะสมและปลอดภัย จึงต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์แต่ผู้เดียว

คาร์โบโพรสมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

คาร์โบโพรส

ยาคาร์โบโพรสมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • ช่วยยับยั้งภาวะเลือดออกหลังคลอดบุตร/ตกเลือดหลังคลอด(Postpartum hemorrhage)
  • ใช้เป็นยาเร่งคลอดก่อนกำหนด(การชักนำให้เจ็บครรภ์คลอด)เพื่อช่วยชีวิตมารดาที่มีอายุครรภ์ 13–20 สัปดาห์(Pregnancy termination in the 2nd trimester) และสามารถอ่านเพิ่มเติมในเว็ปไซด์หาหมอ.com ในหัวข้อ “คลอดก่อนกำหนด(Preterm labor)”

คาร์โบโพรสมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาคาร์โบโพรสคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์กระตุ้นให้มดลูกเกิดการหดตัว/บีบตัว เป็นผลให้เกิดการขับเอาตัวทารกออกจากครรภ์มารดา นอกจากนี้ กลไกนี้ยังช่วยลดอาการเลือดออกของมดลูกหลังคลอด(ตกเลือดหลังคลอด)ได้อีกด้วย

คาร์โบโพรสมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาคาร์โบโพรสมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • - ยาฉีดที่มีส่วนประกอบของ Carboprost tromethamine ขนาด 250 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร (0.25 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร)

คาร์โบโพรสมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาคาร์โบโพรสมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น

ก.สำหรับใช้เร่งคลอด(การชักนำให้เจ็บครรภ์คลอด)ที่อายุครรภ์ระหว่าง 13–20 สัปดาห์:

  • ผู้ใหญ่: เริ่มต้นฉีดยาขนาด 250 ไมโครกรัมเข้ากล้ามเนื้อ หรือ เริ่มฉีดยาขนาด 100 ไมโครกรัมเข้ากล้ามเนื้อ และรอดูอาการ หากยังไม่เป็นผล แพทย์อาจต้องฉีดยาซ้ำภายในช่วงเวลา 1.5–3.5 ชั่วโมงต่อมา และแพทย์อาจพิจารณาให้ยาถึง 500 ไมโครกรัม หากการหดตัวของมดลูกไม่เพียงพอ ทั้งนี้ขนาดการใช้ยานี้สูงสุดไม่เกิน 12 มิลลิกรัม ภายใน 2 วัน

ข.สำหรับใช้หยุดอาการตกเลือดหลังคลอด:

  • ผู้ใหญ่: เริ่มต้นฉีดยา 250 ไมโครกรัมเข้ากล้ามเนื้อ แพทย์อาจต้องให้ยาซ้ำทุกๆ 15–90 นาที และขนาดการใช้ยาสูงสุดไม่เกิน 2 มิลลิกรัม

อนึ่ง: ในเด็ก: ทางคลินิก ยังไม่มีข้อบ่งใช้ยานี้ที่ชัดเจน

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาคาร์โบโพรส ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคไต โรคตับ โรคหัวใจ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาคาร์โบโพรส อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้นหรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

คาร์โบโพรสมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาคาร์โบโพรสสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น อาเจียน ท้องเสีย คลื่นไส้ ปวดท้อง ปากแห้ง กระหายน้ำมาก มีอาการขย้อนอาหาร สะอึก
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน ง่วงนอน การรับรสผิดปกติ
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น เกิดภาวะความดันโลหิตสูงระดับปานกลาง หน้าแดง หัวใจเต้นเร็ว
  • ผลต่ออวัยวะเพศและระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น เยื่อบุมดลูกอักเสบ มีเลือดออกในมดลูก มดลูกแตก ทางเดินปัสสาวะอักเสบ/โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ
  • ผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ: เช่น ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีภาวะหลั่งเหงื่อมาก เกิดผื่นคัน
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อหดเกร็งตัว/เป็นตะคริว เป็นตะคริวที่ขา
  • ผลต่อตา: เช่น ตาพร่า ปวดตา หนังตากระตุก
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น นอนไม่หลับ วิตกกังวล
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น ไอ หอบ หายใจขัด/หายใจลำบาก โรคติดเชื้อที่ทางเดินหายใจส่วนต้น คอแห้ง

*กรณีที่ได้รับยานี้เกินขนาด สามารถสังเกตได้จากมีอาการ ความดันโลหิตสูง และมีไข้ ซึ่งแพทย์จะดูแลและรักษาประคับประคองตามอาการ

มีข้อควรระวังการใช้คาร์โบโพรสอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาคาร์โบโพรส เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ(โรคติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน) ผู้ป่วยด้วยโรคหัวใจ ผู้ป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ ผู้ป่วยโรคตับ โรคไต
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น ยาตกตะกอนแข็ง สียาเปลี่ยนไป
  • แจ้งแพทย์ให้ทราบเมื่อเข้ารับการรักษาว่า ตนเองมีโรคประจำตัว และใช้ยาชนิดใดอยู่บ้าง
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดทุกครั้ง เพื่อรับการตรวจร่างกายและดูความก้าวหน้าของการรักษาจากแพทย์
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาคาร์โบโพรสด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

คาร์โบโพรสมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาคาร์โบโพรสมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาคาร์โบโพรสร่วมกับยา Oxytocin ด้วยจะทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงจากคาร์โบโพรสมากขึ้น

ควรเก็บรักษาคาร์โบโพรสอย่างไร?

ควรเก็บยาคาร์โบโพรสภายใต้อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

คาร์โบโพรสมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาคาร์โบโพรส มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Hemabate (ฮีมาเบท)Pfizer

อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ในต่างประเทศ เช่น Deviprost, Prostodin, Prostospan

บรรณานุกรม

  1. https://www.drugs.com/sfx/hemabate-side-effects.html[2017,March18]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Carboprost[2017,March18]
  3. http://www.mims.com/thailand/drug/info/carboprost/?type=brief&mtype=generic[2017,March18]
  4. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4533125/[2017,March18]
  5. https://www.drugs.com/sfx/hemabate-side-effects.html[2017,March18]