คาร์โบพลาติน (Carboplatin)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาคาร์โบพลาติน(Carboplatin) เป็นยาเคมีบำบัดกลุ่ม Alkylating agents ทางคลินิกใช้เป็นยารักษาโรคมะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งรังไข่(Ovarian cancer) มะเร็งปากมดลูก(Cervical cancer) มะเร็งเต้านม(Breast cancer) มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ(Bladder cancer) มะเร็งระบบศีรษะและลำคอ(Head and neck cancer) มะเร็งหลอดอาหาร(Esophageal cancer) มะเร็งปอด(Lung cancer) มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก(Endometrial cancer) เนื้องอกเจิมเซลล์(Germ cell tumor) มะเร็งกระดูก(Osteogenic sarcoma) และ มะเร็งนิวโรบลาสโตมา(Neuroblastoma) ทางองค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้ยาคาร์โบพลาตินอยู่ในรายการยาจำเป็นขั้นพื้นฐานและสถานพยาบาลควรมีสำรองไว้ให้บริการแก่ผู้ป่วย

รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาคาร์โบพลาตินเป็นยาฉีด ขณะตัวยาเข้าสู่กระแสเลือดจะมีการกระจายตัวเข้าสู่อวัยวะต่างๆ เช่น ตับ ไต และ ผิวหนัง ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 6 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ

ผู้ที่ได้รับยาคาร์โบพลาติน อาจเกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ต่างๆหลายประการ เช่น คลื่นไส้อาเจียน เม็ดเลือดและเกล็ดเลือดต่ำ แต่เมื่อจบรอบการให้ยาอาการข้างเคียงต่างๆจะค่อยๆหายและทุเลาไปเอง

คำเตือนและข้อควรระวังต่างๆที่แพทย์จะกำชับให้ผู้ป่วยปฏิบัติและดูแลตนเองอย่างเคร่งครัดขณะที่ได้รับยาคาร์โบพลาติน เช่น

  • ห้ามรับประทานยาอื่นใดร่วมกับยาคาร์โบพลาตินโดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์ ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา)
  • ห้ามรับการฉีดวัคซีนต่างๆขณะที่ใช้ยาคาร์โบพลาตินเพราะเสี่ยงต่อการติดเชื้อ จากตัววัคซีนนั้นๆ
  • ยานี้เป็นพิษ(มีผลข้างเคียงรุนแรง)กับเด็กทารก หากผู้ป่วยสตรีมีการตั้งครรภ์อยู่ก่อนจะต้องแจ้งให้ แพทย์ /พยาบาล/เภสัชกร ทราบเมื่อเข้ารับการรักษา
  • ป้องกันการตั้งครรภ์เสมอไม่ว่าผู้ป่วยจะเป็นบุรุษหรือสตรีก็ตาม ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการส่งผ่านตัวยานี้เข้าสู่ทารก
  • ห้ามเลี้ยงบุตรด้วยน้ำนมของมารดาที่ได้รับยาคาร์โบพลาติน
  • ป้องกันการคลื่นไส้อาเจียนที่เป็นผลจากยาชนิดนี้/ยานี้โดยการรับประทานอาหารเป็นปริมาณน้อย แต่รับประทานให้บ่อยๆขึ้น
  • ดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคล เช่น ล้างมือบ่อยครั้ง ไม่อยู่ในสถานที่มีผู้คนแออัด เพื่อป้องกันการติดเชื้อโรคต่างๆ
  • ห้ามดื่มเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ พักผ่อน และรับประทานแต่อาหารที่เป็นประโยชน์ เพื่อจะได้ฟื้นสภาพร่างกายได้รวดเร็ว
  • ดื่มน้ำเปล่าสะอาดวันละ 2–3 ลิตร พักผ่อน และรับประทานอาหาร ตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร
  • การได้รับยาคาร์โบพลาตินอาจทำให้เกิดอาการชาหรือเสียวที่ปลายนิ้วมือ-นิ้วเท้า ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบเพื่อทำการเยียวยาอาการดังกล่าว
  • มาโรงพยาบาลเพื่อรับ การตรวจเลือด การตรวจร่างกายจากแพทย์ เพื่อแพทย์ดูความก้าวหน้าของการรักษาโรคตามที่แพทย์นัดหมายทุกครั้ง

อนึ่ง คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุยาคาร์โบพลาตินลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยจัดให้อยู่ในหมวดยาอันตรายและยาควบคุมพิเศษที่ต้องใช้ภายใต้การกำกับดูแลของแพทย์แต่ผู้เดียว และจะพบเห็นการใช้ยานี้ได้ตามสถานพยาบาลเท่านั้น

คาร์โบพลาตินมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

คาร์โบพลาติน

ยาคาร์โบพลาตินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ คือ ทางคลินิกได้นำยาคาร์โบพลาตินมารักษามะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งรังไข่ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งระบบศีรษะและลำคอ มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งปอด มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก เนื้องอกเจิมเซลล์ มะเร็งกระดูก และมะเร็งนิวโรบลาสโตมา

คาร์โบพลาตินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาคาร์โบพลาตินมีกลไกการออกฤทธิ์โดยตัวยาจะยับยั้งการสังเคราะห์สารพันธุกรรมของเซลล์มะเร็ง อย่างเช่น DNA และ RNA ส่งผลให้เซลล์มะเร็งหยุดการแบ่งตัว ไม่สามารถขยายขนาด เกิดการฝ่อของเซลล์และตายลงในที่สุด

คาร์โบพลาตินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาคาร์โบพลาตินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาฉีด ที่มีตัวยา Carboplatin ขนาด 50 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร, 150 มิลลิกรัม/15 มิลลิลิตรและ 450 มิลลิกรัม/45 มิลลิลิตร

คาร์โบพลาตินมีขนาดบริหารยาอย่างไร?

ยาคาร์โบพลาตินมีขนาดบริหารยา/ใช้ยาสำหรับรักษามะเร็งชนิดต่างๆ ดังนี้

  • ผู้ใหญ่: แพทย์จะให้ยาทางหลอดเลือดดำกับผู้ป่วย ขนาดการให้ยาจะคำนวณโดยใช้พื้นที่ผิวของร่างกายมาเป็นเกณฑ์อ้างอิง และระยะเวลา/รอบการให้ยาจะต้อง เป็นไปตามคำสั่งแพทย์

    สำหรับผู้ป่วยโรคไต แพทย์อาจต้องปรับลดขนาดการใช้ยานี้ลงมา โดยใช้ค่า Creatinine clearance มาเป็นบรรทัดฐานการคำนวณขนาดยาที่ใช้

    ทั้งนี้ ผู้ป่วยต้องมาโรงพยาบาลเพื่อรับการตรวจเม็ดเลือดตามที่แพทย์นัดหมายด้วยการใช้ยาชนิดนี้จะกดไขกระดูกทำให้เม็ดเลือดขาวและเกล็ดเลือดมีปริมาณน้อยลง

  • เด็ก: การใช้ยาและขนาดยานี้ในเด็กจะอยู่ในดุลพินิจของแพทย์เป็นกรณ๊ๆไป

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาคาร์โบพลาติน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาคาร์โบพลาตินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมมารับการฉีดยาควรทำอย่างไร?

การใช้ยาคาร์โบพลาตินต้องเป็นไปตามระยะเวลาที่แพทย์นัดหมายทั้งนี้มาจากเหตุผลด้านการออกฤทธิ์และการกำจัดทำลายยาออกจากร่างกาย กรณีที่ผู้ป่วยลืมหรือไม่สามารถมารับการฉีดยาคาร์โบพลาติน ควรรีบติดต่อแพทย์/พยาบาล/บุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องรักษาดูแลผู้ป่วยเพื่อทำการนัดหมายใหม่โดยเร็ว

คาร์โบพลาตินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาคาร์โบพลาตินสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อไต: เช่น ค่าCreatinine ในเลือดผิดปกติ
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น มีภาวะคลื่นไส้อาเจียน ท้องเสียหรือไม่ก็ท้องผูก ปวดท้อง กระเพาะอาหารอักเสบ ช่องปากเป็นแผล
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน เส้นประสาทส่วนปลายเสื่อม วิงเวียน มีเสียงในหู/หูอื้อ
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น รู้สึกสับสน
  • ผลต่อระบบเลือด:เช่น ยานี้มีผลกดไขกระดูกทำให้เกล็ดเลือดต่ำและโลหิตจาง
  • ผลต่อตา: เช่น การมองเห็นภาพผิดปกติ
  • ผลต่อตับ: เช่น ค่าบิลิรูบินในเลือดและค่าเอนไซม์การทำงานของตับในเลือด ผิดปกติ
  • ผลต่อระดับอิเล็กโทรไลต์/Electrolyte: เช่น โซเดียม โปแตสเซียม และแคลเซียมผิดปกติ
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น ผมร่วง

มีข้อควรระวังการใช้คาร์โบพลาตินอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาคาร์โบพลาติน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาชนิดนี้/ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร
  • ห้ามใช้กับผู้ป่วย โรคไต ผู้ป่วยโรคไขกระดูกถูกกดการทำงาน ผู้ป่วยที่สูญเสียการได้ยิน
  • ระหว่างที่ได้รับยานี้ ผู้ป่วยต้องเข้ารับการตรวจร่างกายจากแพทย์ตามแพทย์นัดเพื่อประเมินจำนวนเม็ดเลือด การทำงานของไต การได้ยินเสียง ตลอดจนกระทั่ง อาการชา ตามปลายมือและปลายเท้า
  • หลีกเลี่ยงการโดนแสงแดดจัดเป็นเวลานาน เนื่องจากผิวหนังจะแพ้แสงแดดได้ง่าย
  • ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด และมารับการรักษา/มาโรงพยาบาลตามที่แพทย์นัดหมายต่อเนื่องทุกครั้ง
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาคาร์โบพลาตินด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

คาร์โบพลาตินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาคาร์โบพลาตินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ยาคาร์โบพลาตินร่วมกับวัคซีนชนิดต่างๆ เพราะอาจทำให้ร่างกายผู้ป่วย ติดเชื้อจากวัคซีนเสียเอง และผลกระตุ้นภูมิคุ้มกันจากวัคซีนมักล้มเหลว
  • ห้ามใช้ยาคาร์โบพลาตินร่วมกับ ยาAdalimumab เพราะเสี่ยงทำให้เกิดภาวะ ติดเชื้ออย่างรุนแรง
  • ห้ามใช้ยาคาร์โบพลาตินร่วมกับ ยาTenofovir เพราะอาจเป็นเหตุให้เกิดพิษต่อไต /ไตอักเสบของผู้ป่ว
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาคาร์โบพลาตินร่วมกับ ยาClozapine เพราะจะเกิดภาวะกด ไขกระดูกและมีการติดเชื้ออย่างรุนแรงตามมา

ควรเก็บรักษาคาร์โบพลาตินอย่างไร?

ควรเก็บยาคาร์โบพลาตินภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

คาร์โบพลาตินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาคาร์โบพลาติน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Kemocarb (เคโมคาร์บ)Fresenius Kabi
Carboplatin-Ebewe (คาร์โบพลาติน-อีบิว) Ebewe
Arbosin (อาร์โบซิน)Pharmachemie/Teva
Paraplatin (พาราพลาติน)Bristol-Myers Squibb

บรรณานุกรม

  1. http://chemocare.com/chemotherapy/drug-info/carboplatin.aspx [2018,April21]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Carboplatin [2018,April21]
  3. http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/medicine/essential/list/135#item-8783 [2018,April21]
  4. http://www.mims.com/thailand/drug/info/carboplatin/?type=brief&mtype=generic [2018,April21]
  5. https://www.drugs.com/cdi/carboplatin.html [2018,April21]
  6. https://www.drugs.com/drug-interactions/carboplatin-index.html?filter=3&generic_only= [2018,April21]