คานากลิโฟลซิน (Canagliflozin)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาคานากลิโฟลซิน(Canagliflozin) เป็นยาในกลุ่ม Sodium-glucose Cotransporter inhibitor มีฤทธิ์ยับยั้งการดูดกลับเข้ากระแสเลือดของน้ำตาลกลูโคส(Glucose)ที่บริเวณไต ทางคลินิกจึงได้นำยานี้มาใช้รักษาโรคเบาหวานประเภทที่ 2 การใช้ยานี้มักจะต้องปฏิบัติควบคู่ไปกับการควบคุมอาหารและการออกกำลังกายอย่างเหมาะสม และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาแพทย์ สามารถใช้ยาคานากลิโฟลซินร่วมกับยารักษาเบาหวานกลุ่มอื่น อย่างเช่น Metformin, Sulfonylurea, และ Pioglitazone

ยาคานากลิโฟลซินมีรูปแบบของเภสัชภัณฑ์เป็นยาชนิดรับประทาน หลังการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหาร ตัวยานี้จะเข้าสู่กระแสเลือดและรวมตัวกับพลาสมาโปรตีนได้ประมาณ 99% ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 11.8 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือด โดยผ่านทิ้งไปกับอุจจาระและปัสสาวะ

ระหว่างที่ผู้ป่วยได้รับยาคานากลิโฟลซิน ควรหมั่นตรวจระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเองตาม แพทย์/พยาบาล/เภสัชกร แนะนำ และมารับการตรวจระดับน้ำตาลสะสมในเลือด(HbA1C, Hemoglobin A1C) เป็นระยะๆตามแพทย์สั่ง เพื่อดูความก้าวหน้าของการรักษา และผู้ป่วยควรมาโรงพยาบาลตามที่แพทย์นัดหมายทุกครั้ง

ทั้งนี้ มีข้อควรระวังบางประการที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบก่อนใช้ยาคานากลิโฟลซิน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
  • ยานี้อาจเป็นเหตุให้เพิ่มความเสี่ยงการแตกหักของกระดูกมากขึ้น(กระดูกหักง่าย) ด้วยมีผลการศึกษาพบว่ายาคานากลิโฟลซินทำให้การสะสมมวลกระดูกน้อยลง จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีมวลกระดูกบางหรือกระดูกมีภาวะง่ายต่อการแตกหักอยู่แล้ว(โรคกระดูกพรุน)
  • มีโอกาสติดเชื้อราในช่องทางเดินสืบพันธุ์(เช่น เชื้อราในช่องคลอด) และ ระบบทางเดินปัสสาวะได้ง่าย ผู้ป่วยจึงควรดูแลสุขอนามัยของอวัยวะเพศให้สะอาดเสมอ
  • มีโอกาสเกิดภาวะความดันโลหิตต่ำได้ จึงเป็นข้อควรระวังและต้องเฝ้าติดตาม ความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอตาม แพทย์/พยาบาล/เภสัชกร แนะนำ
  • ยานี้อาจทำให้ระดับไขมันคอเลสเตอรอลชนิดแอลดีแอล(LDL)เพิ่มสูงขึ้น
  • ต้องระวังการเกิดสภาพเลือดเป็นกรด (Ketoacidosis) ด้วยยานี้สามารถทำให้ร่างกายมีระดับสารคีโตน (Ketone) ในเลือดหรือในปัสสาวะเพิ่มมากขึ้น
  • มีรายงานว่ายาคานากลิโฟลซิน อาจสร้างความเสียหายจนส่งผลต่อการทำงานของไตผู้ป่วยได้
  • ระหว่างที่ใช้ยาคานากลิโฟลซินเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ผู้ป่วยควรรับการตรวจสอบระดับไขมันแอลดีแอล (LDL cholesterol) ตรวจการติดเชื้อราที่บริเวณอวัยวะเพศ ตรวจความดันโลหิต ระดับอิเล็กโทรไลต์(Electrolyte)ตลอดจนสภาพเลือดว่าเป็นกรดหรือไม่ ตามแพทย์สั่ง
  • การคัดเลือกตัวยาที่ใช้รักษาเบาหวานประเภทใดนั้น ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์เท่านั้น ผู้ป่วยต้องปฏิบัติและใช้ยาตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด

สำหรับข้อมูลด้านอื่นที่ควรทราบเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยปรับตัวได้ดีเมื่อได้รับยาคานากลิโฟลซิน และเกิดประโยชน์ต่อตัวผู้ป่วยสูงสุด อาทิ เช่น

  • ยาคานากลิโฟลซินเป็นยาที่รับประทานเพียงวันละ1ครั้ง ไม่ยุ่งยากต่อการจดจำ หรือต่อการหลงลืมรับประทานยาแต่อย่างใด ผู้ป่วยควรรับประทานยาตรงเวลา ของแต่ละวันเพื่อให้ระดับยาในเลือดคงที่เหมือนกันทุกวัน เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของยานี้ให้ดีขึ้น
  • สามารถรับประทานยานี้ได้ทั้งก่อนหรือหลังมื้ออาหาร โดยต้องดื่มน้ำตาม อย่างเพียงพอเพื่อให้ตัวยากระจายตัวได้มากขึ้นในระบบทางเดินอาหาร
  • รับประทานยานี้อย่างต่อเนื่องและคอยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด เช่น การควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย และหมั่นตรวจน้ำตาลในเลือดด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอตามคำแนะนำของ แพทย์/พยาบาล/เภสัชกร
  • กรณีลืมรับประทานยานี้ ให้รับประทานยานี้ได้ทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า
  • ขณะที่ใช้ยาคานากลิโฟลซินแล้วพบอาการวิงเวียน ให้หยุดพักดูอาการและห้ามขับขี่ยวดยานพาหนะต่างๆ รวมถึงการทำงานกับเครื่องจักร ด้วยจะส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • อย่าหลงลืมจนรับประทานยานี้เกินขนาด
  • ดื่มน้ำเป็นปริมาณเพียงพอในแต่ละวัน เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะสูญเสียน้ำของร่างกาย
  • โดยทั่วไป การรับประทานยานี้ตามคำสั่งแพทย์จะไม่ก่อให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำแต่อย่างใด ผู้ป่วยควรต้องเรียนรู้วิธีปฐมพยาบาลเมื่อมีอาการน้ำตาลในเลือดต่ำและช่วยเหลือดูแลตนเองได้ทันเวลา(อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำในผู้ป่วยเบาหวาน)
  • ผู้สูงอายุที่ใช้ยานี้อาจมีอาการวิงเวียนซึ่งจะเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าผู้ป่วยกลุ่มอื่น
  • ยาคานากลิโฟลซินถูกออกแบบให้ใช้กับผู้ใหญ่เท่านั้น ห้ามใช้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี
  • สตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร สามารถใช้ยานี้ได้หรือไม่นั้นต้องอยู่ที่ดุลยพินิจของแพทย์แต่ผู้เดียว

ในประเทศไทยโดยคณะกรรมการอาหารและยา ได้กำหนดให้ยาคานากลิโฟลซิน อยู่ในหมวดยาควบคุมพิเศษ การสั่งจ่ายให้ผู้ป่วยจะต้องมีใบสั่งจากแพทย์มากำกับเท่านั้น ผู้บริโภคไม่สามารถหาซื้อยานี้จากร้านขายยาได้โดยตรง

หากผู้ป่วยต้องการทราบข้อมูลของยาคานากลิโฟลซินเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้จากแพทย์ผู้ที่ทำการรักษาโรคเบาหวานหรือจากเภสัชกรได้โดยทั่วไป

คานากลิโฟลซินมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

คานากลิโฟลซิน

ยาคานากลิโฟลซินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • บำบัดรักษาโรคเบาหวานประเภทที่ 2

คานากลิโฟลซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาคานากลิโฟลซิน มีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะยับยั้งการดูดกลับเข้ากระแสเลือดของน้ำตาลที่บริเวณไต โดยไม่มีผลกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนอินซูลินของตับอ่อน ส่งผลลดระดับน้ำตาลในเลือด

คานากลิโฟลซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาคานากลิโฟลซิน มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทานที่ประกอบด้วย Canagliflozin ขนาด 100 และ 300 มิลลิกรัม/เม็ด

คานากลิโฟลซินมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาคานากลิโฟลซินมีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป: เริ่มต้นรับประทานยาครั้งละ 100 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง ตอนเช้า ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 300 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง
  • เด็กและผู้อายุต่ำกว่า 18 ปี: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดถึง ขนาดยานี้ ผลข้างเคียง และความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในผู้ป่วยวัยนี้ การใช้ยานี้ใน จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

อนึ่ง:

  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคไตในระดับรุนแรง
  • ผู้ป่วยโรคตับในระดับที่ไม่รุนแรงหรือรุนแรงในระดับปานกลาง ไม่จำเป็นต้องปรับขนาดรับประทานแต่อย่างใด
  • ควรรับประทานยานี้ตรงเวลาในแต่ละวัน

****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาคานากลิโฟลซิน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคไตระยะรุนแรง โรคกระดูกบาง โรคกระดูกพรุน รวมถึงกำลังกินยา/ใช้ยา หรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาคานากลิโฟลซินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ และ/หรือกับอาหารเสริมที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาคานากลิโฟลซิน สามารถรับประทานทันทีเมื่อนึกขึ้นไดถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า ให้รับประทานยาขนาดปกติ

แต่เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยาคานากลิโฟลซิน ตรงเวลาทุกวัน

คานากลิโฟลซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาคานากลิโฟลซินสามารถก่อให้เกิด ผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบสืบพันธุ์และระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น โรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ ติดเชื้อราในบริเวณช่องคลอด(เชื้อราในช่องคลอด)ได้ง่าย ติดเชื้อในบริเวณอวัยวะเพศของบุรุษได้ง่าย
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ
  • ผลต่อไต: เช่น กรวยไตอักเสบ
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ท้องผูก กระหายน้ำ คลื่นไส้ ปวดท้อง ตับอ่อนอักเสบ
  • ผลต่อระบบเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ(ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำในผู้ป่วยเบาหวาน) ไขมันแอลดีแอล(LDL)สูง มีภาวะเลือดเป็นกรด
  • ผลต่อระบบกล้ามเนื้อและกระดูก: เช่น เกิด มวลกระดูกบางลง(โรคกระดูกบาง) มีโอกาสกระดูกหักง่าย
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีโอกาสเกิดผื่นแพ้แสงแดดง่าย เกิดผื่นคัน ลมพิษ

มีข้อควรระวังการใช้คานากลิโฟลซินอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาคานากลิโฟลซิน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยโรคไตระยะรุนแรง
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยานี้กับ เด็ก สตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา) ต้องแจ้งแพทย์ทุกครั้งว่ามีการใช้ยาอื่นๆชนิดใดอยู่ก่อน
  • หยุดการใช้ยานี้ทันทีหากผู้ป่วยมีอาการแพ้ยานี้ เช่น ใบหน้าบวม หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก แล้วรีบไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • ปฏิบัติตามคำสั่ง แพทย์/พยาบาล/เภสัชกร อย่างเคร่งครัดและมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาคานากลิโฟลซินด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

คานากลิโฟลซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาคานากลิโฟลซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ยาคานากลิโฟลซินร่วมกับยา Gatifloxacin ด้วยอาจก่อให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำหรือไม่ก็สูง กรณีที่เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ผู้ป่วยบางรายอาจเกิดอาการช็อก หมดสติ จนถึงขั้นเสียชีวิต ดังนั้นหากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาคานากลิโฟลซินร่วมกับยา Nadolol, Methyldopa, จะเพิ่มความเสี่ยงของภาวะความดันโลหิตต่ำ และเสี่ยงต่อภาวะขาดน้ำ กรณีจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • การใช้ยาคานากลิโฟลซินร่วมกับยา Pseudoephedrine, Estradiol, Phenylephrine, อาจทำให้ประสิทธิภาพในการควบคุมน้ำตาลในเลือดของยาคานากลิโฟลซินลดลง หากจำเป็น ต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • หลีกเลี่ยงและห้ามรับประทานยาคานากลิโฟลซินร่วมกับเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ด้วยอาจก่อให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำหรือสูงมากก็ได้

ควรเก็บรักษาคานากลิโฟลซินอย่างไร

ควรเก็บยาคานากลิโฟลซินภายใต้อุณหภูมิ 20-25 องศาเซลเซียส(Celsius) ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น

คานากลิโฟลซินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาคานากลิโฟลซิน ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Invokana (อินโวคานา) Janssen-Cilag

อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ เช่น Sulisent

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Gliflozin[2017,June24]
  2. https://www.drugs.com/cdi/canagliflozin.html[2017,June24]
  3. https://www.drugs.com/drug-interactions/canagliflozin.html[2017,June24]
  4. http://www.mims.com/thailand/drug/info/invokana/?type=brief[2017,June24]
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Canagliflozin[2017,June24]
  6. https://en.wikipedia.org/wiki/Canagliflozin[2017,June24]
  7. http://www.medscape.com/viewarticle/850835[2017,June24]