คอก-ทู อินฮิบิเตอร์ (Cox-2 inhibitor) หรือ ไซโคลออกซิจิเนส-2 อินฮิบิเตอร์ (Cyclooxygenase-2 inhibitor)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ : คือยาอะไร?

ยาไซโคลออกซิจิเนส-2 อินฮิบิเตอร์ (Cyclooxygenase-2 inhibitor) หรือนิยมเรียกย่อว่า “คอก-ทู อินฮิบิเตอร์ (Cox-2 inhibitor)” คือ ยาในกลุ่มยาเอ็นเสดส์ (NSAIDs) วงการแพทย์นำมาใช้รักษา อาการปวด อาการบวมต่างๆ เช่น ปวดประจำเดือน, อาการปวดจากการเล่นกีฬา, ปวดกระดูก, และอาการปวดจากโรคข้อรูมาตอยด์

COX-2 inhibitor แตกต่างจากยากลุ่มเอ็นเซดส์รุ่นแรกๆตรงที่ COX-2 inhibitor ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหารน้อยกว่ายากลุ่มเอ็นเซดส์รุ่นเก่า ตัวอย่างของ COX-2 inhibitor เช่นยา Celecoxib, Rofecoxib, Etoricoxib, Valdecoxib ในบางประเทศได้ถอดถอนยาบางตัวอาทิ Rofecoxib และ Valdecoxib ออกจากระบบการรักษา ด้วยการใช้กับผู้ป่วยก่อให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว หรือหัวใจขาดเลือด เมื่อใช้ยาเหล่านี้เป็นเวลานานๆ

ปัจจุบันยากลุ่ม COX-2 inhibitor ที่ยังถูกใช้แพร่หลายเห็นจะได้แก่ยา Celecoxib ไม่เพียงเรื่องต้านการอักเสบเพียงอย่างเดียว COX-2 inhibitor ยังถูกนำไปใช้กับผู้ป่วยมะเร็ง เช่น มะเร็งเต้านม และพบว่าผลการรักษาที่ยังอยู่ในการศึกษาวิจัยเป็นที่น่าพอใจระดับหนึ่ง นอกจากนั้นนักวิทยาศาสตร์ยังพบผลของ COX-2 inhibitor ในด้านอื่นๆอีกอาทิ

  • ใช้ปริมาณยาในการรักษาอาการปวดน้อยกว่ายาแอสไพริน (Aspirin) จึงลดผลข้างเคียงจากการใช้ยาลงได้
  • มีแนวโน้มว่า COX-2 inhibitor อาจป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ (ยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษา)
  • การใช้ร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด (เช่นยา Warfarin) มีความเสี่ยงของการตกเลือดหรือเกิดภาวะเลือดออกง่ายน้อยกว่าเอ็นเสดส์ตัวอื่น

ในประเทศไทยมีการขึ้นทะเบียนยากลุ่มนี้ มีทั้งยาควบคุมพิเศษ และยาอันตราย เราสามารถพบเห็นการใช้ยาได้ตามสถานพยาบาลอีกทั้งมีจำหน่ายในร้านขายยาแผนปัจจุบัน ราคาของการจำหน่ายอยู่ในเกณฑ์สูง แต่ก็ถือเป็นอีกทางเลือกของวงการแพทย์รวมถึงผู้บริโภคที่มีศักยภาพในการซื้อหา ด้วยการรับประทานยาเพียงน้อยครั้ง/วัน และมีประสิทธิภาพของการรักษาเป็นที่น่าพอใจ

ไซโคลออกซิจิเนส-2 อินฮิบิเตอร์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)รักษาโรคอะไร?

คอก-ทู อินฮิบิเตอร์

ยาไซโคลออกซิจิเนส-2 อินฮิบิเตอร์มีสรรพคุณรักษา/ข้อบ่งใช้: เช่น

  • รักษาอาการปวดจากไขข้อ (น้ำหล่อลื่นข้อของร่างกาย)อักเสบ, ข้ออักเสบ/ข้อเสื่อม โรคข้อรูมาตอยด์, โรคเกาต์
  • รักษาอาการเจ็บปวดหลังผ่าตัด
  • รักษาอาการปวดประจำเดือน

ไซโคลออกซิจิเนส-2 อินฮิบิเตอร์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยา COX-2 inhibitor คือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอน ไซม์ไซโคลออกซิจิเนส-2 (Cyclooxygenase-2: COX-2, เอนไซม์เกี่ยวข้องกับการทำงานของสาร โพรสตาแกลนดิน/ Prostaglandin) เป็นผลให้ลดการสร้างสารโพรสตาแกลนดิน (สารที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความเจ็บปวด) ยานี้ยังออกฤทธิ์ต่อระบบทางเดินอาหารน้อย จึงถือเป็นข้อโดดเด่นของ COX-2 inhibitor และใช้เป็นจุดขาย

ไซโคลออกซิจิเนส-2 อินฮิบิเตอร์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาไซโคลออกซิจิเนส-2 อินฮิบิเตอร์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาแคปซูล ขนาด 200 และ 400 มิลลิกรัม/แคปซูล เช่น Celecoxib
  • ยาเม็ด ขนาด 30, 60, 90 และ 120 มิลลิกรัม/เม็ด เช่น Etoricoxib

ไซโคลออกซิจิเนส-2 อินฮิบิเตอร์มีขนาดรับประทานอย่างไร?

ขนาดรับประทานของยาไซโคลออกซิจิเนส-2 อินฮิบิเตอร์จะขึ้นกับแต่ละโรคและดุลยพินิจของแพทย์ โดยต้องนำข้อมูลประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วยมาประกอบเพื่อการสั่งจ่ายยาให้ตรงตามอาการและมีความปลอดภัยมากที่สุด

ทั้งนี้สามารถสืบค้นข้อมูลรายละเอียดของการใช้ยา ข้อควรระวัง ข้อห้ามใช้ ได้จากเอกสารกำกับยา/ ฉลากยา ที่แนบมากับภาชนะบรรจุยา หรืออ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ยา Celecoxib และเรื่อง ยา Etoricoxib

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาไซโคลออกซิจิเนส-2 อินฮิบิเตอร์ ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไซโคลออกซิจิเนส-2 อินฮิบิเตอร์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาไซโคลออกซิจิเนส-2 อินฮิบิเตอร์สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้า เวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ไซโคลออกซิจิเนส-2 อินฮิบิเตอร์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาไซโคลออกซิจิเนส-2 อินฮิบิเตอร์ สามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

  • รู้สึกไม่สบายภายในท้อง
  • ส่งผลต่อการทำงานของหัวใจ (เช่น หัวใจเต้นผิดปกติ)
  • ปวดหัว
  • วิงเวียน
  • สับสน
  • ซึมเศร้า
  • ง่วงนอน หรือ นอนไม่หลับ
  • ปวดท้อง
  • ท้องเสีย
  • ท้องอืด
  • ผิวหนังไวต่อแสงแดด (อักเสบ ดำคล้ำ)
  • คลื่นไส้
  • ตัวบวม
  • เกิดแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ (แผลเปบติค)
  • ปากแห้ง
  • ความดันโลหิตสูง
  • การรับรสชาติอาหารเปลี่ยนไป
  • ปากเป็นแผล
  • เจ็บหน้าอก
  • อ่อนเพลีย
  • มีไข้คล้ายเป็นไข้หวัดใหญ่ /กลุ่มอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่
  • ไตอักเสบ
  • ภาวะหัวใจล้มเหลว

มีข้อควรระวังการใช้ไซโคลออกซิจิเนส-2 อินฮิบิเตอร์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาไซโคลออกซิจิเนส-2 อินฮิบิเตอร์ เช่น

  • ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มี โรคลำไส้อักเสบ หรือ มีแผลในกระเพาะอาหาร
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวขั้นรุนแรง ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยโรคตับระยะรุนแรง
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่แพ้ยา Aspirin
  • ห้ามใช้ยานี้กับ หญิงตั้งครรภ์ หญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก ที่อายุต่ำกว่า 16 ปี
  • หลีกเลี่ยงการใช้ COX-2 inhibitor ในผู้ที่มีประวัติแพ้ยา ยาซัลฟา-ซัลโฟนาไมด์ / Sulfa drug/ Sulfonamides
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะเลือดออกง่าย
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่เคยมีประวัติด้วยภาวะหัวใจล้มเหลว
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีอาการบวมของร่างกายอันเนื่องจากเป็น โรคไต โรคตับ โรคหัวใจ
  • ห้ามแบ่งยานี้ให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไซโคลออกซิจิเนส-2 อินฮิบิเตอร์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้น ฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้น ฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ไซโคลออกซิจิเนส-2 อินฮิบิเตอร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาไซโคลออกซิจิเนส-2 อินฮิบิเตอร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การรับประทานยาเซเลคอกซิบ (Celecoxib) ร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด (เช่น Warfarin) หรือ Corticosteroids หรือแอลกอฮอล์ อาจทำให้เกิดภาวะเลือดออกง่าย หากไม่จำเป็น ควรหลีกเลี่ยงการใช้ร่วมกัน
  • การรับประทานยาเซเลคอกซิบร่วมกับยาต้านเชื้อราเช่น Fluconazole สามารถทำให้ระดับเซเลคอกซิบในเลือดเพิ่มมากขึ้น จนทำให้เกิดผลข้างเคียงติดตามมา หากไม่จำเป็นควรหลีกเลี่ยงการใช้ร่วมกัน
  • การรับประทานยาอิโทริคอกซิบ (Etoricoxib) ร่วมกับยาแก้ปวดบางชนิดเช่น แอสไพริน(Aspirin) อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงเกิดแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ (แผลเปบติค) หากมีความจำเป็นต้องใช้ร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสม
  • การรับประทานยาอิโทริคอกซิบร่วมกับยากลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) ตัวอื่นเช่น Ibuprofen, Diclofenac, Naproxen อาจเกิดความเสี่ยงของภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร ควรหลีกเลี่ยงไม่นำมาใช้ร่วมกัน
  • การรับประทานยาอิโทริคอกซิบร่วมกับยาบางกลุ่มอาจทำให้ระดับยาในกระแสเลือดของยา กลุ่มนั้นๆเพิ่มขึ้นจนก่อให้เกิดอาการข้างเคียงตามมา อาจต้องปรับขนาดรับประทานหรือหยุดการใช้ร่วมกัน ยากลุ่มดังกล่าวเช่น ยาโรคหัวใจ (เช่น Digoxin), ยารักษาอาการทางจิตเวช (เช่น Lithium), ยาเคมีบำบัดรักษาโรคมะเร็ง (เช่น Methotrexate), ยาเม็ดคุมกำเนิด (เช่น Oestrogens)

ควรเก็บรักษาไซโคลออกซิจิเนส-2 อินฮิบิเตอร์อย่างไร?

ควรเก็บยาไซโคลออกซิจิเนส-2 อินฮิบิเตอร์ เช่น

  • เก็บยาที่อุณหภูมิต่ำกว่า 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • ห้ามเก็บยาในห้องน้ำ
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดดและความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ไซโคลออกซิจิเนส-2 อินฮิบิเตอร์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไซโคลออกซิจิเนส-2 อินฮิบิเตอร์ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Arcoxia (อาร์โคเซีย)MSD
Celebrex (เซเลเบรค)Pfizer
Zobrex (โซเบรค)MacroPhar

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/COX-2_inhibitor [2021, March27]
  2. https://www.medicinenet.com/cox-2_inhibitors/article.htm [2021, March27]
  3. https://www.rxlist.com/cox-2_inhibitors/drug-class.htm [2021, March27]
  4. https://www.drugs.com/drug-class/cox-2-inhibitors.html [2021, March27]
  5. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/15252926/ [2021, March27]
  6. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/15179621/ [2021, March27]
  7. https://www.medicinenet.com/cox-2_inhibitors/article.htm [2021, March27]
  8. https://www.mims.co.uk/Drugs/musculoskeletal-disorders/musculoskeletal-paininflammation/arcoxia [2021, March27]
  9. https://www.news-medical.net/drugs/Arcoxia.aspx [2021, March27]
  10. https://www.netdoctor.co.uk/medicines/aches-pains/a8349/arcoxia-etoricoxib/ [2021, March27]