ควิโนโลน (Quinolones)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ควิโนโลน (Quinolone) เป็นชื่อกลุ่มยาต้านแบคทีเรียที่ถูกสังเคราะห์ขึ้นในปี ค.ศ. 1962 (พ.ศ. 2505) โดยยารุ่นแรกถูกนำไปใช้รักษาการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะของมนุษย์ จากนั้นได้มีการสังเคราะห์ยารุ่นที่ 2, 3, 4, ติดตามกันมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เพื่อรองรับการพัฒนาการของเชื้อที่มีความต้านทานหรือเชื้อดื้อยา นักวิจัยได้จัดแบ่งหมวดยาควิโนโลนออกเป็น 4+1 รุ่นดังนี้

  1. รุ่นที่ 1 (First – generation) ได้แก่

    Cinoxacin, Nalidixic acid, Oxolinic acid, Piromidic acid, Pipemidic acid, Rosoxacin

  2. รุ่นที่ 2 (Second – generation) ได้แก่

    Ciprofloxacin, Enoxacin , Fleroxacin , Lomefloxacin, Nadifloxacin, Norfloxacin, Ofloxacin, Pefloxacin, Rufloxacin

  3. รุ่นที่ 3 (Third – generation) ได้แก่

    Balofloxacin, Grepafloxacin, Levofloxacin, Pazufloxacin, Temafloxacin, Tosufloxacin

  4. รุ่นที่ 4 (Fourth – generation) ได้แก่

    Clinafloxacin, Gatifloxacin, Gemifloxacin, Moxifloxacin, Prulifloxacin, Sitafloxacin, Trovafloxacin

*และ รุ่นที่กำลังพัฒนา ได้แก่ Delafloxacin, JNJ–Q2, Nemonoxacin

จากการศึกษาทางด้านเภสัชจลนศาสตร์ (Pharmacokinetic, การศึกษาความเป็นไปของยา เมื่อยาเข้าสู่ร่างกาย) ของยากลุ่มควิโนโลนพบว่า ส่วนใหญ่ตัวยาสามารถดูดซึมได้ดีจากทางเดินอาหารมากกว่า 95% โดยที่อาหารไม่ได้รบกวนการดูดซึมของยามากเท่าใดนัก ร่างกายต้องใช้เวลา 1.5 - 1.6 ชั่วโมง ในการกำจัดยากลุ่มนี้ออกจากร่างกาย 50% ดังนั้นการบริหารยาต่อเนื่องหรือการให้ยานี้กับคนไข้ต้องกระทำภายใน 12 - 24 ชั่วโมง โดยมากร่างกายจะขับยากลุ่มควิโนโลนออกมาทางปัสสาวะ ยาบางตัวในกลุ่มนี้จะถูกขับออกโดยผ่านไปกับกระบวนการทำงานของตับ

คณะกรรมการอาหารและยาของไทยบรรจุยากลุ่มควิโนโลนอยู่ในหมวดยาอันตราย เช่น Ciprofloxacin, Norfloxacin, Ofloxacin และ Levofloxacin เป็นต้น การใช้ยาที่เหมาะสม ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดของผู้ป่วยต้องอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น

ยาควิโนโลนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ควิโนโลน

ยาควิโนโลนมีสรรพคุณ ดังนี้

  • ยารุ่นที่ 1 สามารถยับยั้งเชื้อแบคทีเรียแกรมลบได้ในระดับกลาง การกระจายตัวเข้าสู่ระบบต่างๆของร่างกายมีน้อย
  • ยารุ่นที่ 2 ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียแกรมลบได้กว้างขึ้นและค่อนข้างครอบคลุมได้ดี โดย เฉพาะเชื้อกลุ่ม Areobic gram - negative bacilli แต่ยังมีข้อจำกัดการใช้ในแบคทีเรียแกรมบวก
  • ยารุ่นที่ 3 ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียแกรมลบได้กว้างและครอบคลุมไปถึงแบคทีเรียแกรมบวก
  • ยารุ่นที่ 4 ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียแกรมบวกและแกรมลบได้วงกว้าง รวมไปถึงแบคทีเรียกลุ่มแอโรบิกอีกด้วย

* อนึ่ง หากจำแนกเป็นหมวดของโรคที่สามารถรักษาด้วยยากลุ่มควิโนโลน มีดังนี้

  • รักษาการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ (Genitourinary infections)
  • บำบัดรักษาการติดเชื้อของต่อมลูกหมาก (Prostatitis)
  • รักษาการติดเชื้อทางเดินหายใจ (Respiratory disease)
  • รักษาการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์/โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (Sexually transmitted diseases)
  • รักษาการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร (Gastroenteritis)
  • รักษาการติดเชื้อในบริเวณผิวหนังและเนื้อเยื่ออ่อนตามร่างกาย (Skin and soft tissue infections)

ยาควิโนโลนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยากลุ่มควิโนโลนคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการสังเคราะห์ดีเอ็นเอ(DNA) ของตัวแบคทีเรีย ทำให้แบคทีเรียหมดสภาพในการแบ่งเซลล์และตายในที่สุด

ยาควิโนโลนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาควิโนโลนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายดังนี้

  • ยาเม็ดขนาด 50, 100, 200, 400 และ 500 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาเม็ดออกฤทธิ์นาน (Sustained delete) ขนาด 500 และ 1,000 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาแคปซูลขนาด 200 และ 400 มิลลิกรัม/แคปซูล
  • ยาฉีดขนาด 2 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
  • ยาฉีดขนาด 200 มิลลิกรัม/100 มิลลิลิตร
  • ยาฉีดขนาด 250 มิลลิกรัม/50 มิลลิลิตร
  • ยาฉีดขนาด 500 มิลลิกรัม/100 มิลลิลิตร
  • ยาหยอดหู ยาหยอดตา

ยาควิโนโลนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

เนื่องจากยาในกลุ่มควิโนโลนมีหลายรายการ ความเหมาะสมของตัวยากับกลุ่มโรคมีความแตกต่างและหลากหลาย และหากผู้ป่วยมีการทำงานของไตและ/หรือตับผิดปกติ ต้องมีการปรับขนาดการรับประทานเป็นกรณีไป การใช้ยานี้จึงขึ้นกับแพทย์ผู้ที่ทำการรักษาที่จะสามารถบริหารยาได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาควิโนโลน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาควิโนโลนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาควิโนโลน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไปไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ยาควิโนโลนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาควิโนโลนสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น มีอาการ
    • คลื่นไส้อาเจียน
    • ท้องเสีย
    • และปวดท้อง
  • ผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง: เช่น
    • วิงเวียน
    • วงนอน
    • ปวดศีรษะ
    • สับสน
    • นอนไม่หลับ
    • ซึมเศร้า
    • อ่อนเพลีย ชัก
    • และมีอาการสั่น
  • ผลต่อระบบผิวหนัง: เช่น
    • ผื่นคัน
    • ผื่นแพ้แสงแดด

มีข้อควรระวังการใช้ยาควิโนโลนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาควิโนโลน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยากลุ่มควิโนโลน
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีประวัติโรคลมชัก โรคเส้นเอ็นอักเสบ
  • ห้ามใช้ยานี้กับเด็กอายุต่ำกว่า 16 ปี หญิงตั้งครรภ์ หญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ระวังการใช้ยานี้ในผู้สูงอายุ
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่มีโรคหัวใจ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ ผู้ป่วยด้วยภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ (หัวใจเต้นผิดจังหวะ)
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาควิโนโลนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาควิโนโลนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาควิโนโลนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การรับประทานยากลุ่มควิโนโลนร่วมกับยาลดกรดที่มีเกลืออะลูมิเนียมและแมกนีเซียมเป็นส่วนผสม จะลดการดูดซึมของยากลุ่มควิโนโลน หากจำเป็นต้องใช้ร่วมกันควรเว้นระยะเวลาการรับประทานยาให้ห่างกัน 2 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ
  • การรับประทานยากลุ่มควิโนโลนร่วมกับยาเบาหวาน อาจทำให้เกิดทั้งภาวะน้ำ ตาลในเลือดต่ำหรือสูงก็ได้ หากต้องใช้ยาร่วมกันควรต้องตรวจดูระดับน้ำตาลในกระแสเลือดควบคู่กันไป
  • การรับประทานยากลุ่มควิโนโลนร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น Warfarin จะทำให้ฤทธิ์ของยา Warfarin เพิ่มมากขึ้นจนอาจก่อให้เกิดอาการตกเลือดติดตามมา แพทย์จะเป็นผู้ปรับขนาดการรับประทานให้เหมาะสมกับตัวผู้ป่วยเป็นรายบุคคลไป
  • การรับประทานยากลุ่มควิโนโลนร่วมกับยาขยายหลอดลม เช่นยา Theophyline หรือยาแก้ปวดกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) สามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคลมชัก หากไม่มีความจำเป็น ไม่ควรใช้ยาร่วมกัน

ควรเก็บรักษายาควิโนโลนอย่างไร?

การเก็บรักษายาควิโนโลน เช่น

  • ยาเม็ด: เก็บที่อุณหภูมิไม่เกิน 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ยาหยอดตา , ยาหยอดหู: เก็บที่อุณหภูมิไม่เกิน 25 องศาเซลเซียส
  • ยาฉีด: เก็บที่ระหว่างอุณหภูมิ 2 - 30 องศาเซลเซียส
  • ยานี้ทุกรูปแบบ: เช่น
    • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/ แสงแดด และความชื้น
    • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
    • และไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ

ยาควิโนโลนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาควิโนโลนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Avelox (เอวีล็อกซ์) Bayer HealthCare Pharma
Ciflex (ซิเฟล็กซ์) Suphong Bhaesaj
Ciflo (ซิโฟล) Masa Lab
Ciflolan (ซิโฟลแลน) Olan-Kemed
Cifloxin (ซิโฟลซิน) Siam Bheasach
Cifloxno (ซิฟล็อกซ์โน) Milano
Cifolox (ซิโฟล็อกซ์) L. B. S.
Cifran (ซิฟราน) Ranbaxy
Cinfloxine (ซินโฟลซิน) Medicine Products
Cipflocin (ซิพโฟลซิน) Asian Pharm
Cipon (ซิพอน) Unison
Cipro I.V. (ซิโปร ไอ.วี) L. B. S.
Ciprobay (ซิโปรเบ) Bayer HealthCare Pharma
Ciprobid (ซิโปรบิด) Zydus Cadila
Ciprocep (ซิโปรเซพ) T.O. Chemicals
Ciprofex (ซิโปรเฟ็กซ์) The United Drug (1996)
Ciprofin (ซิโปรฟิน) Utopian
Ciprofloxacin Injection Fresenius Kabi (ไซโปรฟล็อกซาซิน อินเจ๊กชั่น ฟรีซีเนีส กะบี่) Fresenius Kabi
Ciprogen (ซิโปรเจน) General Drugs House
Ciprohof (ซิโปรฮอฟ) Pharmahof
Ciprom-M (ซิพร็อม-เอ็ม) M & H Manufacturing
Ciproquin (ซิโพรควิน) Claris Lifesciences
Ciproxan (ซิโปรแซน) Pond’s Chemical
Ciproxin (ซิโปรซิน) Osoth Interlab
Ciproxin-500 (ซิโปรซิน-500) T. Man Pharma
Ciproxin-T.M. (ซิโปรซิน-ที่.เอ็ม ) T. Man Pharma
Ciproxyl (ซิโปรซิล) Farmaline
Cobay (โคแบย์) Millimed
Cravit (คราวิต) Daiichi Sankyo
Cravit IV (คราวิต ไอวี) Daiichi Sankyo
Crossa-200 (ครอสซา-200) T. Man Pharma
Crossa-400 =(ครอสซา-400) T. Man Pharma
Cyflox (ไซฟล็อกซ์) Greater Pharma
Darflox (ดาร์ฟล็อกซ์) Meiji
Enoxin (อีโนซิน) Charoon Bheasaj
Floxcipro 500 (ฟล็อกซ์ซิโปร 500) Medicpharma
Floximed (ฟล็อกซิเมด) Burapha
Gonorcin (โกนอร์ซิน) General Drugs House
Gracevit (กราซีวิต) Daiichi Sankyo
Hyflox (ไฮฟล็อกซ์) Masa Lab
Loxof (โลซอฟ) Ranbaxy
Manoflox (มาโนฟล็อกซ์) March Pharma
Mifloxin (มิฟล็อกซ์ซิน) Community Pharm PCL
Lexfor (เล็กซ์ฟอร์) Thai Nakorn Patana
Loxof (เล็กซ์ออฟ) Ranbaxy
Norfloxacin Community Pharm (นอร์ฟล็อกซาซิน คอมมูนิตี้ ฟาร์ม) Community Pharm PCL
Norfloxin (นอร์ฟล็อกซิน) T.O. Chemicals
Norxacin (นอร์ซาซิน) Siam Bheasach
Ofloxa (โอฟล็อกซา) L. B. S.
Ofloxin (โอฟล็อกซิน) Siam Bheasach
Peflacine (พีฟลาซิน) Aventis
Qinolon (ควิโนโลน) Great Eastern
Uroflox (ยูโรฟล็อกซ์) Eurodrug
Uroxin (ยูโรซิน) Unison
Xyrocin-250 (ไซโรซิน-250) V S Pharma
Zinor 400 (ซีนอร์ 400) Patar Lab

บรรณานุกรม

1 http://en.wikipedia.org/wiki/Quinolone#Generations [2020,Feb15]
2 http://www.drugs.com/drug-class/quinolones.html [2020,Feb15]
3 http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/1864287 [2020,Feb15]
4 http://www.aafp.org/afp/2002/0201/p455.html [2020,Feb15]
5 http://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=quinolones&page=0 [2020,Feb15]
6 http://www.mims.com/Thailand/drug/info/Cravit/?type=full#Contraindications [2020,Feb15]
7 http://www.medsafe.govt.nz/consumers/cmi/c/Ciloxaneyedrop.pdf [2020,Feb15]
8 http://www.mydr.com.au/medicines/cmis/ciproxin-hc-ear-drops [2020,Feb15]
9 http://www.rxmed.com/b.main/b2.pharmaceutical/b2.1.monographs/CPS-%20Monographs/CPS-%20(General%20Monographs-%20L)/LEVAQUIN.html [2020,Feb15]