ควินิน (Quinine)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือยาอะไร?

ควินิน (Quinine) คือ ยาต้านมาลาเรีย/โรคไข้จับสั่น ที่เป็นสารประเภทอัลคาลอยด์ (Alkaloid, สารประกอบชนิดหนึ่งในพืช มีหน้าที่ช่วยการเจริญเติบโตและเป็นสารป้องกันแมลงของพืช)ที่สกัดได้จากเปลือกของต้นซิงโคนา (Cinchona tree), มีฤทธิ์ต่อต้านเชื้อมาลาเรีย/ไข้จับสั่น และมีพิษต่อร่างกายมากกว่ายา Chloroquine, โดยมีรูปแบบเป็นยารับประทาน และยาฉีด    

ยาควินิน รูปแบบรับประทาน สามารถดูดซึมได้อย่างรวดเร็วจากระบบทางเดินอาหาร  ปริมาณตัวยาจะเพิ่มในกระแสเลือดได้สูงสุดโดยใช้เวลาไม่เกิน 1-3 ชั่วโมง,ตัวยาส่วนมากจะจับกับพลาสมาโปรตีนและสามารถซึมผ่านรกได้เป็นอย่างดี, แต่จะซึมผ่านเข้าหลอดเลือดของสมองได้เพียงเล็กน้อย, ตับจะคอยเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของยาควินินอย่างต่อเนื่อง, ก่อนที่จะถูกร่างกายกำจัดทิ้งไปกับปัสสาวะโดยใช้เวลาถึงประมาณ 10 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ

ตัวยาควินิน เคยนำไปใช้ในพื้นที่ที่มีการดื้อยา Chloroquine หรือดื้อยา Mefloquine  ที่ใช้รักษาโรคมาลาเรียที่มีต้นเหตุจากเชื้อชนิด P.falciparum (Plasmodium falciparum), และค้นพบจนได้ข้อสรุปทางคลินิกว่า ยาควินินในรูปแบบของยาฉีดจะถูกนำมาใช้เมื่อผู้ป่วยมีอาการติดเชื้อมาลาเรียในระยะรุนแรงจนไม่สามารถรับประทานยาทุกชนิดรวมถึงยาต้านมาลาเรียได้เอง เพราะอยู่ในภาวะโคม่า หรือกำลังมีอาการชัก หรืออยู่ในภาวะอาเจียนอย่างหนัก,  สำหรับการติดเชื้อมาลาเรียประเภทที่อาการไม่รุนแรงนัก และผู้ป่วยรับประทานได้  แพทย์ก็สามารถใช้ยาควินินชนิดรับประทานกับผู้ป่วยได้

บ่อยครั้งที่แพทย์จะใช้ยาควินินร่วมกับยาอื่น เช่น ยา Pyrimethamine , Sulfadoxine, หรือ Tetracycline, ร่วมในการรักษามาลาเรีย 

ยาควินิน เป็นยาที่ใช้ได้ทั้งกับผู้ใหญ่และเด็ก (นิยามคำว่าเด็ก) แต่ก็มีข้อควรทราบของผลข้างเคียงบางประการที่อาจเกิดขึ้นและต้องเฝ้าระวัง กล่าวคือ ควินินอาจเป็นเหตุให้เกิดภาวะเลือดออกง่ายที่สังเกตได้จากมีเลือดออกตามซอกเหงือกของผู้ป่วยขณะใช้ยานี้   นอกจากนี้ควินินยังสามารถทำอันตรายต่อไตได้อีกด้วย

ก่อนการได้รับยาควินิน ผู้ป่วยมักจะได้รับคำถามจากแพทย์หลายคำถามอย่างเช่น

  • มีประวัติแพ้ยาควินิน หรือแพ้ยาตัวใดอยู่บ้างหรือไม่
  • รับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือด หรือเป็นผู้ที่มีภาวะเลือดออกง่ายอยู่ก่อน หรือไม่
  • อยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือภาวะให้นมบุตรหรือไม่
  • มีโรคประจำตัวใดบ้าง เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด  โรคไต  โรคกล้ามเนื้อ  โรคซึมเศร้า  หรือมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ  ระดับโพแทสเซียมในเลือดต่ำ  เป็นโรคลมชัก  หรือป่วยด้วยโรค/ภาวะขาดเอนไซม์จีซิดพีดี หรือไม่

โดยหลังจากแพทย์สั่งจ่ายควินินให้กับผู้ป่วย การรับประทานยานี้จะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์/เภสัชกรจากสถานพยาบาลอย่างเคร่งครัด เช่น

  • ควรรับประทานยาควินินพร้อมอาหารเพื่อลดอาการไม่สบายท้อง
  • ห้ามรับประทานยาควินินพร้อมกับยาลดกรดที่มีเกลืออลูมิเนียม (Aluminium, เช่น Aluminium hydroxide), หรือเกลือแมกนีเซียม (เช่น Maalox), เป็นองค์ประกอบ แต่อาจรับประทานยาควินินประมาณ 1 ชั่วโมงก่อนรับประทานยาลดกรด,  หรือรับประทานยาควินินหลังรับประทานยาลดกรดประมาณ 2 ชั่วโมงอย่างต่ำ
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานยานี้ด้วยตนเอง, ควรรับประทานยานี้ตรงเวลา,  ถูกขนาด,  ครบกำหนดตามแพทย์สั่ง, และเป็นไปตามคำแนะนำของแพทย์ผู้รักษาอย่างเคร่งครัด
  • ยาควินินอาจทำให้ผู้รับประทานเกิดอาการ วิงเวียน ง่วงนอน จึงควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะใดๆ หรือการทำงานกับเครื่องจักร เพราะอาจเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • ยาควินินจะทำให้เกล็ดเลือดในร่างกายต่ำ ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บหรือเกิดแผลเลือดออกง่าย
  • ผู้ป่วยสูงอายุที่ใช้ยานี้ อาจเกิดผลข้างเคียงได้มากกว่าผู้ป่วยกลุ่มอื่น
  • *กรณีใช้ยานี้ไปแล้ว 1-2 วัน อาการไม่ดีขึ้นหรือกลับแย่ลง เช่น กลับมามีไข้ใหม่ หากพบอาการแบบนี้ *ให้รีบนำตัวผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว หรือฉุกเฉินขึ้นกับอาการ ไม่ต้องรอจนถึงวันนัด
  • *กรณีที่ได้รับยานี้เกินขนาด ควรต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน, ซึ่งสังเกตได้จากอาการที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย อาทิ ได้ยินเสียงในหู/หูอื้อ  การได้ยินเสียงแย่ลง  บางคนอาจทำให้เกิดหูหนวกแบบถาวร  การมองเห็นผิดปกติ และมีภาวะตาบอดกลางคืน เกิดความดันโลหิตต่ำ มีอาการเจ็บหน้าอกคล้ายกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด  หัวใจเต้นผิดจังหวะ  มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ  ปวดท้อง  คลื่นไส้อาเจียน  และ ท้องเสีย
  • ไม่แนะนำให้ใช้ยาควินินเป็นยาป้องกันมาลาเรีย

ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก ได้ระบุให้ยาควินินเป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานของสถานพยาบาลที่ควรมีสำรองเพื่อให้บริการกับผู้ป่วย,  สำหรับประเทศไทยโดยคณะกรรมการอาหารและยา ได้กำหนดให้ยาควินิน อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ควินินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

ยาควินินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น

  • บำบัดรักษาโรคมาลาเรีย/ ไข้จับสั่นที่มีอาการไม่รุนแรง

ควินินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาควินิน คือ ตัวยาจะออกฤทธิ์รบกวนการสังเคราะห์กรดนิวคลีอิก (Nucleic acid, สารเกี่ยวข้องกับสารพันธุกรรมของเชื้อลาลาเรีย) พร้อมกับรบกวนการทำงานของระบบการดำรงชีวิตของเชื้อมาลาเรียที่เรียกว่า Lysosomal function, ส่งผลให้เชื้อมาลาเรียหยุดการเจริญเติบโตจนไม่สามารถแพร่พันธ์ และตายลงในที่สุด

ควินินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาควินินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย: เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 260 และ 300 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาแคปซูลชนิดรับประทาน ขนาด 200, 324, และ 325 มิลลิกรัม/แคปซูล
  • ยาฉีด ขนาด 600 มิลลิกรัม/2 มิลลิลิตร

ควินินมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ขนาดการใช้ยาควินินชนิดฉีด อยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีไป ในบทความนี้ ขอยกตัวอย่างขนาดยาควินินเฉพาะชนิดรับประทาน โดยมีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่ที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป: รับประทานครั้งละ 648 มิลลิกรัม, ทุกๆ 8 ชั่วโมง, เป็นเวลา 7 วัน, กรณีที่มีการติดเชื้อมาลาเรียที่ดื้อต่อยา Chloroquine แพทย์อาจพิจารณาให้ยาอื่นร่วมในการรักษา เช่นยา  Doxycycline,  Tetracycline , Clindamycin,  และ Primaquine ร่วมด้วย
  • เด็กและผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 16 ปีลงมา: รับประทานยา 8.3 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม, วันละ 3 ครั้ง, เป็นเวลา 3-7 วัน โดยขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์,

แพทย์อาจพิจารณาใช้ยาอื่นร่วมในการรักษา เช่นยา  Primaquine, Clindamycin, Tetracycline  และ Doxycycline

*อนึ่ง: แพทย์จะไม่ใช้ยา Tetracycline และ Doxycycline ร่วมกบยาควินินรักษามาลาเรียกับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 8 ปีลงไป

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาควินิน  ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร เช่น                

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ  รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาควินินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน                                                     
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร    เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาควินิน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ตาม เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยาควินินตรงเวลา

ควินินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาควินินอาจก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง):  เช่น

  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น เกิดภาวะเกล็ดเลือดต่ำ, เม็ดเลือดขาวต่ำ, จุดเลือดออกที่ผิวหนัง/Purpura, ลิ่มเลือดในหลอดเลือด/Thrombotic, และ กลุ่มอาการเลือดออกเหตุ จากเกล็ดเลือดต่ำที่ก่อให้เกิดไตวาย/Thrombocytopenic purpura-hemolytic uremic syndrome
  • ต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน  ผิวหนังบวมแดง
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ปวดท้อง  คลื่นไส้อาเจียน  ท้องเสีย  และรู้สึกไม่สาบายในช่องท้อง
  • ผลต่อการทำงานของไต: เช่น เกิดภาวะไตวาย
  • ผลต่อระบบหายใจ: เช่น มีอาการ หอบหืด   หายใจเสียงหวีด  ไอ  อาจไอแห้งๆ
  • ผลต่อระบบการมองเห็น: เช่น ตาพร่า หรือถึงขั้นมองไม่เห็น  การแยกสีสรรผิดปกติ
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น มีภาวะหูดับ  กระสับกระส่าย  รู้สึกสับสน  วิงเวียน หนังตากระตุก
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น  เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ  การขาดสมดุลของน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย

มีข้อควรระวังการใช้ควินินอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาควินิน: เช่น               

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาควินิน
  • ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร  เด็ก  และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานหรือหยุดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยาที่สภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม  
  • ระวังการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำขณะใช้ยาควินิน
  • ระวังการเกิดอาการ Cinchonism ซึ่งจะแสดงอาการ เช่น เหงื่อออกมาก  ได้ยินเสียงในหู/หูอื้อ  สูญเสียการได้ยิน/หูดับ    ตาพร่า  รู้สึกสับสน  ปวดหัว     ปวดท้อง  เกิดผื่นคัน,  *หากพบอาการเหล่านี้ ต้องหยุดใช้ยานี้ แล้วรีบนำตัวผู้ป่วยพบแพทย์โดยเร็ว หรือฉุกเฉินขึ้นกับความรุนแรงของอาการ โดยไม่ต้องรอถึงวันนัด
  • *หลังใช้ยานี้แล้วอาการไม่ดีขึ้นภายใน 1 – 2 วัน ต้องรีบนำผู้ป่วยกลับมาโรงพยาบาล เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง :ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ “ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาควินินด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด  อาหารเสริม  ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง   ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com  บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เอง

ควินินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาควินินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น: เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาควินิน ร่วมกับยา Ritonavir ด้วยการใช้ร่วมกัน อาจทำให้ระดับยาควินินในเลือดเพิ่มสูงจนก่อให้เกิดอาการข้างเคียงต่างๆ ตามมา หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน  แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาควินิน ร่วมกับยา Quinidine ด้วยจะทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะตามมา และก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วยอย่างรุนแรง
  • ห้ามใช้ยาควินิน ร่วมกับยา Rifampin  ด้วยจะทำให้ระดับยาควินินในเลือดลดต่ำลง และส่งผลให้ประสิทธิภาพของการรักษามาลาเรียด้อยลงไป

ควรเก็บรักษาควินินอย่างไร?

ควรเก็บยาควินิน: เช่น

  • เก็บยาที่อุณหภูมิ 20-25 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

ควินินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาควินิน  มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Alquinn (อัลควิน) The Forty –Two
Genin (เจนอิน) General Drugs House
Quinine Acdhon (ควินิน แอคดอน) Acdhon
Quinine Dihydrochloride ANB (ควินิน ไดไฮโดรคลอไรด์ เอเอ็นบี) ANB
Quinine GPO (ควินิน จีพีโอ) GPO
Quinine Sulfate Chew Brothers (ควินิน ซัลเฟต จิวบราเดอร์ส) Chew Brothers
Quinine-P (ควินิน-พี) P P Lab
Quinine-S (ควินิน-เอส) Utopian

 

บรรณานุกรม

  1. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3121651/  [2022,Sept17]
  2. https://www.drugs.com/mtm/quinine.html  [2022,Sept17]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Quinine  [2022,Sept17]
  4. http://ndi.fda.moph.go.th/drug_detail/index/?ndrug=2&rctype=1A&rcno=2802660&lpvncd=&lcntpcd=&lcnno=&licensee_no=  [2022,Sept17]
  5. https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Quinine%20GPO/  [2022,Sept17]
  6. https://www.drugs.com/drug-interactions/quinine-index.html?filter=3&generic_only=  [2022,Sept17]