คลอไรด์ในอาหาร (Dietary chloride)

บทความที่เกี่ยวข้อง


คลอไรด์ในอาหาร

บทนำ

คลอไรด์ (Chloride) เป็นแร่ธาตุหลัก (Macro minerals) ที่ร่างกายต้องการมากกว่า 100 มิลลิกรัม (Milligram)ต่อวัน เพื่อให้ร่างกายเจริญเติบโตตามปกติ โดยแร่ธาตุหลักประกอบด้วย โซเดียม (Sodium), โพแทสเซียม (Potassium), คลอไรด์ (Chloride), แคลเซียม (Calcium), ฟอสฟอรัส ( Phosphorus), แมกนีเซียม (Magnesium), และกำมะถันหรือซัลเฟอร์ (Sulfur) ซึ่งในบทความนี้จะกล่าวถึงเฉพาะ ‘คลอไรด์’

คลอไรด์คืออะไร?

คลอไรด์ คือ

1. คลอไรด์เป็นแร่ธาตุที่ไวต่อปฏิกิริยาเคมีมาก จึงพบว่าธาตุนี้อยู่รวมกับธาตุอื่นๆในธรรมชาติ โดยส่วนใหญ่จะพบคลอไรด์อยู่ในรูปโซเดียมคลอไรด์ (Sodium chloride)

2. ในร่างกาย คลอไรด์พบมากที่น้ำนอกเซลล์ (Extracellular fluid) ซึ่งอยู่ในรูปของเกลือโซเดียมคลอไรด์(Sodium chloride)มากที่สุด โดยในเซลล์ (Intracellular) คลอไรด์จะอยู่ในรูปของโปแตสเซียมคลอไรด์ (Potassium chloride) และส่วนน้อยจะอยูในส่วนประกอบของแคลเซียม และแมกนีเซียม

3. ในคนวัยเจริญพันธุ์ จะมีคลอไรด์อยู่ในร่างกายทั้งหมดประมาณ 30 มิลลิโมล (Millimolar)ต่อน้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัม

4. คลอไรด์จะเปลี่ยนแปลงได้ตามความเข้มข้นของโซเดียม และของไบคาร์บอเนต (Bicarbonate)

คลอไรด์มีผลต่อร่างกายอย่างไร?

คลอไรด์มีผลต่อร่างกายดังนี้ เช่น

1. ทำหน้าที่ควบคุมแรงดันออสโมติค(Osmotic pressure) และรักษาสมดุลของน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย

2. รักษาสมดุลของกรดและด่างในร่างกายโดยกระบวนการที่เรียกว่า ‘Chloride shift (กระบวนการเคลื่อนที่ของคลอไรด์จากภายนอกเซลล์ผ่านเยื่อหุ้มเซลล์เข้าสู่ภายในเซลล์’ ซึ่งคลอไรด์จะมีค่าสูงในภาวะเลือดเป็นกรดเมตาบอลิก (Metabolic acidosis) และมีค่าต่ำในภาวะเลือดเป็นด่าง (Metabolic alkalosis)

3. ควบคุมสมดุลของประจุ (Electro neutrality)ของน้ำนอกเซลล์ (Extracellular fluid)

4. คลอไรด์ในอาหารและในกรดเกลือ(Hydrochloric acid ย่อว่า HCl)จะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายที่บริเวณลำไส้เล็ก

5. เป็นส่วนประกอบของกรดเกลือในกระเพาะอาหาร ซึ่งกรดเกลือทำหน้าที่ในการช่วยย่อยอาหาร และช่วยทำลายเชื้อโรคที่มากับอาหารและน้ำ

6. ช่วยผลิตกรดเกลือในกระเพาะอาหาร โดยการช่วยเปลี่ยนเปปซิโนเจน (Pepsinogen,เอนไซม์ชนิดช่วยย่อยอาหารที่สร้างจากเซลล์กระเพาะอาหาร)ไปเป็นเปปซิน (Pepsin,เอนไซม์ที่ช่วยย่อยโปรตีน)ที่มีคุณสมบัติเป็นน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร

7. ถ้าได้รับคลอไรด์เกินความต้องการของร่างกาย คลอไรด์จะถูกขับออกทางไต ประมาณ 100-200 มิลลิโมล(Millimolar)ต่อลิตร (Littre)

8. นอกจากทางไต ร่างกายยังสูญเสียคลอไรด์ผ่านทางผิวหนัง โดยออกมาพร้อมกับเหงื่อประมาณ 5 มิลลิโมลต่อวัน และจากระบบทางเดินอาหารโดยขับออกมาพร้อมกับอุจจาระประมาณ 1-2 มิลลิโมลต่อวัน

แหล่งอาหารที่พบคลอไรด์

แหล่งคลอไรด์ในอาหาร ที่พบมากคือใน เกลือแกง(เกลือโซเดียมคลอไรด์ที่ใช้ปรุงอาหาร) และในเครื่องปรุงรสเค็มทุกชนิด ส่วนอาหารธรรมชาติที่มีคลอไรด์สูง เช่นใน เนื้อสัตว์ ไข่ และนม เป็นต้น

โดยทั่วไป ร่างกายได้รับคลอไรด์จากอาหารในรูปของโซเดียมคลอไรด์ ประมาณ 2.5 กรัมต่อวัน ซึ่งร่างกายจะได้รับคลอไรด์มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับประเภทของอาหารที่บริโภค

ส่วนการขาดคลอไรด์เกิดได้จาก อาเจียน และ/หรือ ท้องร่วง/ท้องเสีย อย่างรุนแรง เสียเหงื่อมาก หรือผู้ป่วยที่จำกัดการบริโภคโซเดียม เป็นต้น

ตารางที่ 1 ปริมาณคลอไรด์ที่เหมาะสำหรับแต่ละช่วงอายุและเพศ

สรุป

คลอไรด์ เป็นแร่ธาตุที่มักจะมาพร้อมกับโซเดียม (คือ โซเดียมคลอรไรด์) การบริโภคคลอไรด์ในปริมาณที่มากเกินไป จึงย่อมทำให้ร่างกายได้รับปริมาณโซเดียมมากเกินไปเช่นกัน ซึ่งเป็นสาเหตุให้ร่างกายเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆได้ และโรคที่พบได้บ่อยจากมีโซเดียมในร่างกายสูงคือ โรคความดันโลหิตสูง และโรคไตวายเรื้อรัง

ดังนั้น การบริโภคโซเดียมคลอไรด์ หรือเครื่องปรุง ที่มีส่วนผสมของเกลือแกงในปริมาณที่เหมาะสมจะช่วยลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิด โรคความดันในเลือดสูง และโรคไตวายเรื้อรัง ลงได้

บรรณานุกรม

  1. อาหารหลัก 5 หมู่ https://krooaoodpat.files.wordpress.com [2018,June23]
  2. บทที่ 6 วิตามิน แร่ธาตุและน้ำ www.facagri.cmru.ac.th/2013/wp-content/uploads/.../6วิตามิน-แร่ธาตุ-น้ำ.pdf [2018,June23]
  3. การเสริมวิตามิน – แร่ธาตุ และCRN ปิระมิด www.med.cmu.ac.th/dept/nutrition/DATA/COMMON/vitmin%20crn%20pyramid.pdf [2018,June23]
  4. Chloride. www.mt.mahidol.ac.th/e-learning/bodyfluid%20and%20electrolyte/chloride.html [2018,June23]