คลอร์โพรพาไมด์ (Chlorpropamide)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร?

ยาคลอร์โพรพาไมด์ (Chlorpropamide) คือ ยาเบาหวาน ที่อยู่ในกลุ่มยาซัลโฟนิล ยูเรีย (Sulfonyl urea) โดยทั่วไปเป็นกลุ่มยาใช้รักษาโรคเบาหวานประเภท 2 (Type 2 diabetes mellitus) การใช้ยาคลอร์โพรพาไมด์นี้กับผู้ป่วยมักเป็นเพียงในระยะเวลาสั้นๆด้วยตัวยาอยู่ในร่างกายของผู้ป่วยได้นานและมีผลข้างเคียงต่อร่างกายมาก

ทั้งนี้ นอกจากใช้รักษาโรคเบาหวาน ตัวยานี้ยังออกฤทธิ์เป็นยาขับปัสสาวะได้ด้วยซึ่งแพทย์ได้นำคุณสมบัติข้อนี้มาใช้รักษาโรคเบาจืด

หากพิจารณาถึงการกระจายตัวของยาคลอร์โพรพาไมด์จะพบว่า หลังรับประทานยานี้ร่าง กายจะดูดซึมยาจากระบบทางเดินอาหารได้มากกว่า 90% ซึ่งเมื่อยาเข้าสู่กระแสเลือดจะจับกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 90% และร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 36 ชั่วโมงในการกำจัดยา 50% ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านออกไปกับน้ำปัสสาวะ

คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุคลอร์โพรพาไมด์ลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยระบุให้ใช้เป็นยารักษาโรคเบาจืดในกรณีที่สถานพยาบาลนั้นๆไม่สามารถจัดหายารักษา เบาจืดอื่นๆ เช่นยา Desmopressin มาให้กับผู้ป่วยได้

ด้วยผลข้างเคียงของยาและประกอบกับเป็นยาอันตราย การใช้ยานี้ในผู้ป่วยจึงต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น

คลอร์โพรพาไมด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)รักษาโรคอะไร?

คลอร์โพรพาไมด์

ยาคลอร์โพรพาไมด์มีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้:

  • รักษาผู้ป่วยเบาหวานประเภท 2 (Type 2 diabetes mellitus)
  • รักษาภาวะ/โรคเบาจืด (Cranial diabetes insipidus)

คลอร์โพรพาไมด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาคลอร์โพรพาไมด์ในการรักษาโรคเบาหวานคือ ตัวยาจะทำให้เบต้า-เซลล์ (Beta-cell, เซลล์สร้างอินซูลิน) ของตับอ่อนหลั่งอินซูลินซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ทำให้ร่างกายสามารถนำน้ำตาลในเลือดไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ ยานี้จะออกฤทธิ์ได้ดีต่อเมื่อร่างกายยังมีเบต้า-เซลล์ของตับอ่อนที่ยังสามารถทำงานได้เท่านั้น

กลไกการออกฤทธิ์ที่ใช้รักษาโรคเบาจืดคือ ตัวยานี้นอกจากกระตุ้นเบต้า-เซลล์ของตับอ่อนแล้ว ยังกระตุ้นให้เซลล์ของไตตอบสนองได้ดีขึ้นต่อฮอร์โมนที่เป็นสาเหตุของโรคเบาจืด คือ ฮอร์โมนเอดีเอช (ADH: Antidiuretic hormone) จึงส่งผลให้ยานี้มีสรรพคุณใช้รักษาโรคเบาจืดได้ด้วย

คลอร์โพรพาไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

คลอร์โพรพาไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 250 มิลลิกรัม/เม็ด

คลอร์โพรพาไมด์มีขนาดรับประทานอย่างไร?

คลอร์โพรพาไมด์มีขนาดรับประทาน เช่น

ก. สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานประเภทที่ 2 (Type 2 diabetes mellitus): เช่น

  • ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทาน 250 มิลลิกรัมวันละครั้งในช่วงเช้า การปรับขนาดรับประทานอยู่ในช่วง 50 - 125 มิลลิกรัมใน 3 - 5 วันแรก, ขนาดรับประทานเพื่อคงการรักษาอยู่ที่ 100 - 500 มิลลิกรัม/วัน, ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 750 มิลลิกรัม/วัน

ข. สำหรับภาวะ/โรคเบาจืด (Cranial diabetes insipidus): เช่น

  • ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทาน 100 มิลลิกรัม/วัน สามารถปรับขนาดรับประทานเพิ่มได้ตามความจำเป็น ขนาดรับประทานสูงสุดไม่ควรเกิน 350 - 500 มิลลิกรัม/วัน

อนึ่ง:

  • ควรรับประทานยาคลอร์โพรพาไมด์พร้อมอาหาร
  • เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ยังไม่มีการศึกษาที่ชัดเจนในเรื่องความปลอดภัยของการใช้ยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็กและขนาดรับประทานจึงขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาคลอร์โพรพาไมด์ ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยา หรือ อาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาคลอร์โพรพาไมด์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆและ/หรือกับอาหารเสริมที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาคลอร์โพรพาไมด์สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้ เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

คลอร์โพรพาไมด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาคลอร์โพรพาไมด์ สามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/ อาการข้างเคียง) เช่น

  • รู้สึกไม่สบายในช่องทางเดินอาหาร
  • เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำซึ่งจะพบมากในผู้สูงอายุและผู้มีภาวะโรคไตหรือโรคตับร่วมด้วย
  • อาจมีโรคดีซ่าน (Cholestatic jaundice)
  • โรคซีด จากเกิดภาวะโลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตก หรือมีเม็ดเลือดแดงน้อยผิดปกติ
  • ตรวจเลือดอาจพบภาวะเม็ดเลือดขาวสูงผิดปกติ (Lymphocytosis)
  • คลื่นไส้-อาเจียน
  • อ่อนเพลีย
  • ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน
  • ปวดหัว
  • ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ

มีข้อควรระวังการใช้คลอร์โพรพาไมด์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาคลอร์โพรพาไมด์ เช่น

  • ห้ามใช้ในผู้แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคเบาหวานที่อยู่ในภาวะโคม่า
  • ห้ามใช้ยานี้กับ ผู้ป่วยที่มีภาวะบาดแผลฉีกขาด ผู้ป่วยโรคตับ โรคไต โรคไทรอยด์ ผู้ ป่วยที่มีภาวะเลือดเป็นกรด (Ketoacidosis, อาการเช่น สับสน กระหายน้ำมาก หายใจมีกลิ่นผล ไม้ หายใจลำบาก อ่อนเพลียมาก)
  • ระวังการใช้ยานี้กับหญิงตั้งครรภ์และหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • หากพบอาการ เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก เหงื่อออกมาก คลื่นไส้-อาเจียน หลังรับประ ทานยานี้ให้รีบนำผู้ป่วยไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที
  • หากพบอาการน้ำตาลในเลือดต่ำ เช่น ตาพร่า มึนเหมือนมีอาการเมา หนาว และเหงื่อออกผิดปกติ สับสน ตัวซีด วิงเวียน ให้บรรเทาอาการโดยรับประทานน้ำตาลกลูโคส/น้ำหวาน/ลูกอมหวาน น้ำผลไม้ น้ำผึ้ง หรือน้ำเชื่อม (น้ำตาลละลายน้ำ) เพื่อบรรเทาอาการในเบื้องต้น
  • หมั่นตรวจน้ำตาลในเลือดของตนเองเป็นประจำโดยทำตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาลผู้ดูแลรักษาอย่างเคร่งครัด
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาคลอร์โพรพาไมด์ด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

คลอร์โพรพาไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาคลอร์โพรพาไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาคลอร์โพรพาไมด์ ร่วมกับ การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์สามารถทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ จึงห้ามรับประทานยานี้ร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์โดยเด็ดขาด
  • การใช้ยาคลอร์โพรพาไมด์ ร่วมกับ ยาบางตัว เช่นยา Phenobarbital หรือ Rifampicin อาจก่อให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ จึงควรเลี่ยงการรับประทานยาร่วมกันหรือแพทย์ปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
  • การใช้ยาคลอร์โพรพาไมด์ ร่วมกับ ยา Probenecid อาจทำให้ลดการขับยาคลอร์โพรพาไมด์ออกจากร่างกายจนส่งผลให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงติดตามมา หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป

ควรเก็บรักษาคลอร์โพรพาไมด์อย่างไร

ควรเก็บยาคลอร์โพรพาไมด์ เช่น

  • เก็บยาที่อุณหภูมิระหว่าง 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาให้พ้นแสง/ แสงแดดและความชื้น และ
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

คลอร์โพรพาไมด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาคลอร์โพรพาไมด์ มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Diabinese (ไดเอบินิส) Pfizer
Dibecon (ไดเบคอน) Central Poly Trading
Dibemide (ไดเบไมด์) Suphong Bhaesaj
Propamide (โพรพาไมด์) Atlantic Lab

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Chlorpropamide [2021,Aug7]
  2. https://www.mayoclinic.org/drugs-supplements/chlorpropamide-oral-route/precautions/drg-20072075 [2021,Aug7]
  3. https://www.mayoclinic.org/drugs-supplements/chlorpropamide-oral-route/before-using/drg-20072075 [2021,Aug7]
  4. https://www.medicinenet.com/chlorpropamide/article.htm [2021,Aug7]
  5. https://emedicine.medscape.com/article/117648-medication#showall [2021,Aug7]