คลอรอลไฮเดรต (Chloral hydrate)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาคลอรอลไฮเดรต (Chloral hydrate) เป็นสารอินทรีย์นำมาใช้เป็นยาสงบประสาท/ ยาคลายเครียด และยานอนหลับ ค้นพบครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1832 (พ.ศ. 2375) แต่นำมาใช้ทางการ แพทย์ในปี ค.ศ. 1869 (พ.ศ. 2412) โดยมีรูปแบบเป็นยาน้ำชนิดรับประทาน

ยาคลอรอลไฮเดรต สามารถดูดซึมได้ดีจากระบบทางเดินอาหาร ทั้งสามารถซึมผ่านเข้ารก และน้ำนมของมารดาได้ และจะถูกขับออกจากร่างกายโดยผ่านทางปัสสาวะ ยาบางส่วนจะถูกขับออกผ่านไปกับน้ำดี

กระทรวงสาธารณสุขของไทย จัดให้ยาคลอรอลไฮเดรตเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประเภท 4 ไม่สามารถหาซื้อได้จากร้านขายยาทั่วไป แต่จะมีใช้และเตรียมขึ้นในสถานพยาบาลที่มีใบอนุญาตเท่านั้น ดังนั้นการใช้ยานี้จึงต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษาแต่ผู้เดียว

คลอรอลไฮเดรตมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

คลอรอลไฮเดรต

ยาคลอรอลไฮเดรตมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้:

  • ใช้เป็นยาสงบประสาท/ยาคลายเครียด และยานอนหลับ สำหรับ ผู้ใหญ่ เด็ก และผู้สูงอายุ
  • ใช้สงบประสาทในผู้ป่วยก่อนเข้ารับการผ่าตัด

คลอรอลไฮเดรตมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาคลอรอลไฮเดรตคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์กดการทำงานของสมองทำให้เกิดอาการง่วงนอน โดยมีเวลาของการออกฤทธิ์หลังรับประทานที่ประมาณ 30 - 60 นาที และฤทธิ์ของยาจะคงอยู่ประมาณ 4 - 8 ชั่วโมง

คลอรอลไฮเดรตมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาคลอรอลไฮเดรตมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาน้ำ ขนาด 200 และ 500 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร
  • ยาแคปซูล ขนาด 500 มิลลิกรัม

คลอรอลไฮเดรตมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาคลอรอลไฮเดรตมีขนาดรับประทาน เช่น

ก. บรรเทาอาการนอนไม่หลับ:

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 0.5 - 2 กรัมครั้งเดียวก่อนนอน
  • เด็กอายุ 1 เดือน - 12 ปี: รับประทาน 30 - 50 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมครั้งเดียวก่อนนอน โดยขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 1 กรัม
  • เด็กอายุ 12 - 18 ปี: รับประทาน 0.5 - 1 กรัมครั้งเดียวก่อนนอน ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 2 กรัม
  • เด็กอายุต่ำกว่า 1 เดือน: ไม่มีข้อมูลการศึกษาถึงขนาดยา ดังนั้นการใช้ยานี้ในเด็กกลุ่มนี้ จึงขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์
  • ผู้สูงอายุ: ต้องให้แพทย์ปรับขนาดรับประทานลดลงตามดุลพินิจของแพทย์

ข. ใช้เป็นยาสงบประสาท/ยาคลายเครียด:

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 250 มิลลิกรัมวันละ 3 ครั้ง ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 2 กรัม/วัน
  • เด็กอายุ 1 เดือน - 12 ปี: รับประทาน 30 - 50 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ขนาดรับ ประทานสูงสุดไม่เกิน 1 กรัม/วัน
  • เด็กอายุ 12 - 18 ปี: รับประทาน 1 - 2 กรัมครั้งเดียว ก่อนทำหัตถการทางการแพทย์ประ มาณ 45 - 60 นาที
  • เด็กอายุต่ำกว่า 1 เดือน: ไม่มีข้อมูลการศึกษาถึงขนาดยา ดังนั้นการใช้ยานี้ในเด็กกลุ่มนี้ จึงขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์
  • ผู้สูงอายุ: ต้องให้แพทย์ปรับขนาดรับประทานลดลงตามดุลพินิจของแพทย์

*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาคลอรอลไฮเดรต ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาคลอรอลไฮเดรตอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาคลอรอลไฮเดรต สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

คลอรอลไฮเดรตมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาคลอรอลไฮเดรตสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง) เช่น

  • ระคายเคืองที่กระเพาะอาหาร
  • ท้องอืด
  • วิงเวียน
  • ผื่นคัน
  • ปวดหัว
  • กระสับกระส่าย
  • ฝันร้าย
  • เม็ดเลือดขาวต่ำ

อนึ่ง:

  • การใช้ยานี้เป็นเวลานานอาจทำให้ติดยาได้
  • *อาการของผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาด ซึ่งหากพบอาการดังจะกล่าวต่อไป ให้รีบนำตัวผู้ป่วยส่งแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที เช่น
    • อุณหภูมิร่างกายต่ำลง
    • หัวใจเต้นผิดจังหวะ
    • หายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
    • ความดันโลหิตต่ำ
    • โคม่า

มีข้อควรระวังการใช้คลอรอลไฮเดรตอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาคลอรอลไฮเดรต เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคตับ โรคไต โรคหัวใจ กระเพาะอาหารอักเสบ
  • ห้ามใช้ยานี้กับ หญิงตั้งครรภ์ และหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ระหว่างใช้ยานี้ ควรเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะหรือการทำงานกับเครื่องจักร เพราะจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่ายจากการง่วงนอน
  • ระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยกลุ่ม โรคจิต - ประสาท หรือผู้ที่มีประวัติอยากฆ่าตัวตาย หรือมีประวัติติดสุรา ติดยาเสพติด
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ
  • หลีกเลี่ยงไม่ให้ยานี้สัมผัสกับผิวหนัง เพราะอาจทำให้ผิวหนังระคายเคืองเกิดอักเสบ หรือเกิดผื่น
  • ห้ามแบ่งยานี้ให้ผู้อื่นรับประทาน
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาคลอรอลไฮเดรตด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

คลอรอลไฮเดรตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาคลอรอลไฮเดรตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาคลอรอลไฮเดรต ร่วมกับยา Barbiturates, Paraldehyde สามารถเพิ่มฤทธิ์ของการกดประสาทส่วนกลางหรือกดการทำงานของสมองสมอง ควรเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • ห้ามรับประทานยาคลอรอลไฮเดรต ร่วมกับ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  • การใช้ยาคลอรอลไฮเดรต ร่วมกับ ยาต้านการแข็งตัวของเลือด (เช่นยา Warfarin), หรือยาขับปัสสาวะ (เช่นยา Furosemide), สามารถเพิ่มผลข้างเคียงของยาต่างๆเหล่านั้นต่อผู้ป่วยได้ หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน

ควรเก็บรักษาคลอรอลไฮเดรตอย่างไร

สามารถเก็บยาคลอรอลไฮเดรต เช่น

  • เก็บยาในอุณหภูมิห้อง
  • ควรเก็บยาบรรจุในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ

คลอรอล ไฮเดรตมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาคลอรอลไฮเดรต มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
PMS-Chloral Hydrate (พีเอ็มเอส-คลอรอล ไฮเดรต)Pharmascience
Little's Chloral Syrup Paed (ลิตเติ้ลส คลอรอล ไซรัป พีเออีดี)Little Pharm
Somnote (ซัมโน้ต)G. Pohl Boskamp GmbH & Co.

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Chloral_hydrate [2020,Oct10]
  2. http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fSingapore%2fdrug%2finfo%2fPMS-Chloral%2520Hydrate%2f%3ftype%3dbrief [2020,Oct10]
  3. http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fUSA%2fdrug%2finfo%2fchloral%2520hydrate%2f%3ftype%3dfull%26mtype%3dgeneric#Dosage [2020,Oct10]
  4. http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fSingapore%2fdrug%2finfo%2flittle-s%2520chloral%2520syrup%2520paed%2f [2020,Oct10]
  5. https://drugs-forum.com/wiki/Chloral_Hydrate [2020,Oct10]
  6. https://www.drugs.com/mtm/chloral-hydrate.html [2020,Oct10]
  7. https://medlineplus.gov/druginfo/meds/a682201.html [2020,Oct10]