การเดินทางโดยเครื่องบินของผู้สูงอายุ (Air travel in older People)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

การเดินทางที่นับว่าปลอดภัยที่สุดอย่างหนึ่ง คือ การเดินทางโดยเครื่องบินแม้ว่าสิ่งแวดล้อมภายในห้องโดยสารบนเครื่องบิน จะมีผลต่อสรีรวิทยาของผู้โดยสารโดยเฉพาะผู้สูงอายุและผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพ

 

ปัจจุบันกลุ่มผู้สูงอายุเพิ่มจำนวนมากขึ้น ตั๋วเดินทางราคาถูก และผู้สูงอายุมีเวลาสะสมเงินทองไว้มาก ทำให้จำนวนผู้สูงอายุเดินทางโดยเครื่องบินมากขึ้น ระยะทางไกลขึ้น จึงเกิดปัญหาด้านสุขภาพระหว่างเดินทางโดยเครื่องบินมากขึ้น

 

ดังนั้นการเตรียมตัวและการวางแผนการเดินทางที่รอบคอบ จะช่วยลดปัญหาต่างๆเหล่านั้นได้ โดยได้มีการแบ่งกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาตามอายุของผู้สูงอายุ เป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก อายุระหว่าง 65-75 ปี เป็นกลุ่มเสี่ยงน้อยกว่า ส่วนกลุ่มผู้สูงอายุ อายุมากกว่า 75 ปี ขึ้นไป เป็นกลุ่มที่เสี่ยงมากกว่า

 

ผลทางด้านสรีรวิทยา วิศวกรได้ปรับโครงสร้างภายในห้องโดยสารเครื่องบินให้มีความทนทานเสมือนอยู่ในบรรยากาศสูง 6,000-8,000 ฟุต โดยที่ความสูงจริงอยู่ที่ 28,000-45,000 ฟุต ทำให้ความกดดันย่อยของออกซิเจน (O2,Oxygen)ลดลง ร่างกายจึงได้รับ O2 ลดลง ซึ่งเสี่ยงต่อสุขภาพของผู้โดยสารที่มี ภาวะโลหิตจาง(ภาวะซีด) โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคระบบทางเดินหายใจ และจากการที่ห้องโดยสารมีความกดบรรยากาศลดลง ทำให้ก๊าซที่อยู่ตามโพรงอากาศต่างๆ ของร่างกายขยายตัว อาจทำให้เกิดอาการ ปวดหู หูอื้อ ปวดโพรงไซนัส ปวดฟัน คลื่นไส้ อาเจียน หายใจแน่นหน้าอก/หายใจลำบากได้

 

นอกจากนั้น ความชื้นภายในห้องโดยสาร ยังคงลดลงมักต่ำกว่า 25 % ทำให้เยื่อผิวตามส่วนต่างๆ ของร่างกายจะแห้ง เช่น ในลำคอ กระจกตา และเกิดภาวะขาดน้ำ (DEHYDRATON)ได้ โดยเฉพาะผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ระหว่างการเดินทาง ทำให้ร่างกายขาดน้ำ บางรายมีอาการปวดเกร็งกล้ามเนื้อ (CRAMP) เท้าบวม (JET FLIGHT LEG) หลอดเลือกดำอุดตัน หรือกลุ่มอาการ Economy class (ECONOMY CLASS SYNDROME) และการเดินทางอาจไม่สนุกราบรื่น จากเสียงดังของเครื่องยนต์ การสั่นสะเทือน และการตกหลุมอากาศเป็นช่วงๆ จากสภาพอากาศ

 

ด้านสภาพจิตใจของผู้สูงอายุก็มีปัญหาได้ เช่น บางรายเกิดความกังวลและกลัวการบิน พบไม่บ่อยในผู้สูงอายุ ซึ่งจะมีอาการหายใจเร็ว นอกจากนั้นยังวิตกกังวลเรื่องต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น เช่น เครื่องบินออกช้ากว่ากำหนด การตรวจทางศุลกากร การตรวจคนเข้าเมือง กระเป๋าสัมภาระตกค้าง ความรู้สึกขณะเครื่องบินวิ่งขึ้น-ร่อนลง การเตรียมตัวการเดินทางโดยเริ่มตั้งแต่เดินทางไปสนามบิน ซึ่งผู้คนมากมาย สับสนวุ่นวาย งานหนังสือการกรอกแบบฟอร์มต่างๆ จนกระทั่งการไปยังสถานที่ที่จะขึ้นเครื่องบิน

 

ผู้สูงอายุควรเตรียมตัวในการเดินทางโดยเครื่องบินอย่างไร?

การเดินทางโดยเครื่องบินของผู้สูงอายุ

ผู้สูงอายุ ต้องวางแผนการเดินทาง และเตรียมตัวเดินทางอย่างรอบคอบแต่เนิ่นๆ โดย

  • เริ่มตั้งแต่ออกจากที่พักให้เร็วกว่าปกติ เดินทางไปสนามบินให้มีเวลามากพอก่อนเวลาเที่ยวบิน เพื่อเตรียมตัวด้านเอกสารและอื่นๆให้เรียบร้อยจนถึงสถานที่จะขึ้นเครื่องบิน
  • เตรียม ยา เวชภัณฑ์ ของใช้ที่จำเป็นมีพร้อมอยู่ในกระเป๋าเดินทางติดตัวโดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคหืด โรคเบาหวาน (ยารับประทาน,ยาฉีด) โรคความดันโลหิตสูง เครื่องชาร์ตแบตเตอรีสำหรับเครื่องมือแพทย์
  • การเตรียมตัวรับสภาพอากาศในเครื่องบิน และสถานที่ปลายทางที่อาจร้อนจัด หนาวจัด
  • และ/หรือมีการฉีดวัคซีนป้องกันโรค (ปรึกษาแพทย์ก่อนออกเดินทาง ว่าควรต้องฉีดวัคซีนอะไรบ้าง และเพื่อให้วัคซีนออกฤทธิ์ได้มีประสิทธิภาพเมื่อถึงปลายทาง ควรต้องปรึกษาแพทย์ล่วงหน้าอย่างน้อยประมาณ 3-4 สัปดาห์)

 

โรคอะไรของผู้สูงอายุที่ไม่ควรเดินทางโดยเครื่องบิน?

ข้อห้ามเด็ดขาดสำหรับผู้สูงอายุ และผู้โดยสารเดินทางโดยเครื่องบินมีบ้างเล็กน้อยและมักใช้เวลาสักระยะก็มักจะเดินทางโดยเครื่องบินได้ ในรายที่สงสัยว่าสุขภาพจะสามารถเดินทางโดยเครื่องบินได้หรือไม่นั้น สมาคมการเดินทางโดยสารการบินนานาชาติ (IATA – INTERNATIONAL AIRLINE TRAVEL ASSOCIATION) กำหนดให้มีใบรับรองแพทย์สำหรับผู้โดยสารนั้น เพื่อให้แน่ใจว่าสามารถเดินทางโดยเครื่องบินได้โดยไม่เกิดปัญหา

 

โรคที่เป็น”ข้อห้าม” สำหรับผู้สูงอายุที่เดินทางระยะไกลโดยเครื่องบิน ได้แก่

 

1. ระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น

  • โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันที่เพิ่งเป็นในระยะ 3 เดือน หรือ ยังควบคุมโรคไม่ได้
  • เจ็บหน้าอกบ่อยๆ เป็นๆ หายๆ และเพิ่งเป็นใหม่ๆ
  • หัวใจล้มเหลว ที่คุมอาการได้ไม่ดี
  • หัวใจเต้นไม่ปกติ(หัวใจเต้นผิดจังหวะ) คุมอาการไม่ได้
  • โรคความดันโลหิตสูง ที่ควบคุมไม่ได้ (MALIGNANT HYPERTENTION)

 

2. ระบบทางเดินหายใจ เช่น

  • ภาวะมีลมในเยื่อหุ้มปอด (ภาวะโพรงเยื่อหุ้มปอดมีอากาศ) ที่ยังไม่หายเป็น ปกติ
  • โรคถุงลมโป่งพอง ร่วมกับมีถุงอากาศในปอด
  • ระบบหายใจล้มเหลว

 

3. ระบบประสาทและจิตใจ เช่น

  • เส้นเลือดในสมองอุดตัน หรือมีเลือดออกในสมอง(โรคหลอดเลือดสมองชนิดขาดเลือดและชนิดเลือดออก) โดยเพิ่งเกิดโรคหลอดเลือดสมอง(RECENT STROKE) ในระยะเวลา 4 สัปดาห์
  • โรคลมชัก ควบคุมยังไม่ดี
  • ผู้ป่วยทางจิต, ยังไม่สงบ, เพ้อ, วิกลจริต

 

4. อื่นๆ เช่น

  • โลหิตจาง(ภาวะซีด)อย่างรุนแรง โดย ค่าHb/Hemoglobin/ฮีโมโกลบินน้อยกว่า8)
  • มี เลือดออกในทางเดินอาหาร
  • หลังการผ่าตัดทาง ตา ช่องท้อง หรือสมอง ภายใน 2 สัปดาห์
  • โพรงไซนัส และ/หรือ หูชั้นกลาง อักเสบเฉียบพลัน

ผู้สูงอายุควรดูแลตนเองอย่างไรในการเดินทางโดยเครื่องบิน?

ผู้สูงอายุที่เดินทางโดยเครื่องบินบางราย มีปัญหาด้านสุขภาพอย่างรุนแรงขณะเดินทางบนเครื่องบิน ทำให้เครื่องบินต้องแวะลงจอดยังสนามบินต่างๆ ที่ไม่อยู่ในแผนการเดินทาง กระทบต่อผู้โดยสารอื่น และสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก และยังเป็นอันตรายแก่ชีวิตของผู้ป่วยนั้นด้วย ดังนั้นการเตรียมตัวและดูแลตนเองของผู้สูงอายุตั้งแต่ก่อนออกเดินทาง ระหว่างเดินทาง และหลังการเดินทาง จะเป็นประโยชน์ต่อผู้สูงอายุอย่างมาก โดยเฉพาะผู้มี่มีปัญหาด้านสุขภาพและต้องใช้ยาหลายชนิด ผู้ที่เพิ่งออกจากโรงพยาบาล หรือผู้ป่วยเรื้อรัง แพทย์ที่ดูแลผู้สูงอายุควรให้คำปรึกษา คำแนะนำ ถึงความเสี่ยงของโรคต่อการเดินทาง และควรทำประกันสุขภาพไว้ด้วย

 

1. ก่อนเดินทาง (Before The Trip) เช่น

  • ควรต้องมีการเตรียมตัวแต่เนิ่นๆ
  • พิจารณากลุ่มที่เดินทางไปด้วย โดยควรต้องมีผู้สูงอายุน้อยกว่าร่วมเดินทาง ด้วย
  • ฉีดวัคซีนป้องกันโรคตามคำแนะนำของแพทย์ ดังกล่าวแล้วในหัวข้อ การ เตรียมตัว
  • ทำประกันการเดินทางไว้ด้วยเสมอ
  • พบแพทย์ และตรวจร่างกาย ก่อนเดินทาง สำหรับผู้มีปัญหาสุขภาพ (Fit to Fly)
  • รายที่ วิตกกังวล หรือ เมาเครื่องบิน อาจให้ยาก่อนเดินทาง(ปรึกษาแพทย์ก่อนเดินทางเสมอ)

 

2. ระหว่างเดินทาง (During The Flight) เช่น

  • นำยา เวชภัณฑ์ สิ่งของจำเป็นต้องใช้ พกติดตัวไปด้วย ในห้องโดยสาร
  • เลือกที่นั่งใกล้ทางเดิน (Aisle Seat) ห่างจากเครื่องยนต์ ใกล้ห้องสุขา
  • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้เกิดก๊าซ และน้ำอัดลม
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอตลอดการเดินทาง
  • อย่านั่งเป็นเวลานานๆ ควรลุกขึ้นเดินเป็นช่วงๆ และออกกำลังกล้ามเนื้อขา (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง กลุ่มอาการ Economic class)

 

3. หลังการเดินทาง ที่สำคัญ คือ

  • ควรพักผ่อนเต็มที่ เมื่อถึงปลายทาง เป็นเวลาอย่างน้อย 24 ชั่วโมง

 

4. การแจ้งเจ้าหน้าที่สายการบิน ที่สำคัญ เช่น

  • แจ้งล่วงหน้ากับเจ้าหน้าที่สายการบิน หากจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์บางอย่างระหว่างเดินทาง เช่น O2 บนเครื่องบิน รถเข็น อาหารเฉพาะ
  • หากมีอาการผิดปกติ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่บนเครื่องบินเพื่อประกาศหาแพทย์ที่โดยสารมาด้วย เพื่อช่วยตรวจ ดูแลสุขภาพ ให้คำแนะนำเท่าที่จะทำได้

 

บรรณานุกรม

  1. JOHN ERNSTING ET AL., AVIATON MEDICINE, 1999
  2. JAMES A. LOW, DANIEL K.Y. CHAN, AIR TRAVEL IN OLDER PEOPLE, 2002
  3. CUMMIN AND NICHOLSON, AVIATION MEDICINE AND THE AIRLINE PASSENGER, 2002