การส่องกล้องปากมดลูกด้วยคอลโปสโคป (Colposcopy)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

การส่องกล้องตรวจปากมดลูกด้วยคอลโปสโคปคืออะไร?

การส่องกล้องตรวจปากมดลูกด้วยคอลโปสโคป(Colposcope หรือ Colposcopy) เป็นวิธีการตรวจหาพยาธิสภาพที่บริเวณ ปากมดลูก และช่องคลอด ด้วยการใช้กล้องส่องเข้าไปทางช่องคลอด โดยส่องไปที่ปากมดลูก และ/หรือช่องคลอด และใช้กำลังขยายกล้องที่มากขึ้นเพื่อให้เห็นพยาธิสภาพชัดเจนขึ้น และเพื่อสามารถตัดชิ้นเนื้อในบริเวณที่สงสัยว่าจะเป็นรอยโรคไปตรวจพิสูจน์ทางพยาธิวิทยา(การตรวจทางพยาธิวิทยา)เพิ่มเติมต่อไป

จุดประสงค์หลักในการส่องกล้องตรวจปากมดลูกด้วยคอลโปสโคป คือจะค้นหารอยโรคก่อนเป็นมะเร็งระยะลุกลามของมะเร็งปากมดลูก เพราะการดูด้วยตาเปล่าอย่างเดียวจากการตรวจภายใน แพทย์อาจไม่พบเห็นความผิดปกติในระยะเริ่มต้น ทั้งนี้เพื่อวางแผนการรักษาที่เหมาะสมตั้งแต่ในระยะต้นๆของโรค ให้ถูกต้องและรวดเร็ว

ในกระบวนการตรวจคอลโปสโคป แพทย์จะมีการชโลมปากมดลูกด้วย น้ำส้มสายชูที่มีความเข้มข้นต่ำๆ เพื่อช่วยให้เห็นพยาธิสภาพชัดเจนขึ้น ต่อจากนั้นจะมีการทาบริเวณปากมดลูกด้วยน้ำยาที่มีส่วนผสมของไอโอดีน แล้วดูการติดสีไอโอดีนของเซลล์ปกติและเซลล์ผิดปกติ ทำให้สามารถตัดชิ้นเนื้อบริเวณที่ผิดปกติไปตรวจทางพยาธิวิทยาได้แม่นยำขึ้น

ใครที่จำเป็นต้องทำการส่องกล้องตรวจปากมดลูกด้วยคอลโปสโคป?

การส่องกล้องปากมดลูกด้วยคอลโปสโคป

ผู้ที่จำเป็นต้องทำการส่องกล้องตรวจปากมดลูกด้วยคอลโปสโคป ได้แก่

1. สตรีที่มีผลการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก จากแป็ปสเมียร์ ( Pap smear) ผิดปกติที่นอกเหนือจากการอักเสบ จึงต้องมีการส่องกล้องตรวจด้วยคอลโปสโคป เพื่อยืนยันว่ามีหรือไม่มีรอยโรคระยะก่อนเป็นมะเร็งหรือ ได้เป็นมะเร็งแล้ว

2. สตรีที่ตรวจพบเชื้อเอช พี วี (HPV: Humanpapilloma virus)จากปากมดลูกชนิดที่มีความเสี่ยงสูงในการเกิดมะเร็งปากมดลูก

3. มีภาวะเลือดอออกหลังมีเพศสัมพันธ์บ่อยครั้ง โดยที่ผลตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกไม่พบความผิดปกติ

4. มีภาวะปากมดลูกอักเสบเรื้อรัง หรือมีตกขาวผิดปกติและไม่ตอบสนองต่อการรักษา

5. มีรอยโรคที่น่าสงสัยอาจเป็นมะเร็งในบริเวณ ปากช่องคลอด หรือช่องคลอดจากการตรวจภายใน

ต้องเตรียมตัวอย่างไรก่อนส่องกล้องตรวจปากมดลูกด้วยคอลโปสโคป?

การเตรียมตัวก่อนส่องกล้องตรวจปากมดลูกด้วยคอลโปสโคป ได้แก่

1. งดการใช้ยาเหน็บช่องคลอด หรือ สวนล้างช่องคลอด หรือ มีเพศสัมพันธ์ 24 ชั่วโมง ก่อนมาตรวจ

2. ควรมาตรวจช่วงยังไม่มีเลือดประจำเดือน

3. หากมีการอักเสบบริเวณ ช่องคลอด(ช่องคลอดอักเสบ) และ/หรือ ปากมดลูก(ปากมดลูกอักเสบ) ควรได้รับการรักษาให้หายเรียบร้อยก่อน

4. หากกำลังได้รับยาละลายลิ่มเลือด หรือ ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่นในผู้ที่ประวัติการผ่าตัดหัวใจ มีโรคความดันโลหิตสูง แพทย์จะแนะนำให้หยุดยาเหล่านี้ประมาณ 5 วันก่อนมาทำหัตถการส่องกล้องนี้

5. ไม่ควรเครียดหรือกังวลมากเกินไป

การตรวจส่องกล้องตรวจปากมดลูกด้วยคอลโปสโคปต้องวางยาสลบไหม?

การตรวจส่องกล้องตรวจปากมดลูกด้วยคอลโปสโคป ไม่ต้องวางยาสลบ เพราะเป็นหัตถการที่ไม่ทำให้เกิดการเจ็บปวดมาก และใช้เวลาไม่นาน ประมาณ 5-10 นาที จะคล้ายกับการตรวจภายใน ส่วนเวลาตัดชิ้นเนื้อจะมีความรู้สึกปวดหน่วงๆที่ช่องคลอด และหลังทำการตรวจสามารถรับประทานยาแก้ปวดทั่วไปได้ เช่นยาพาราเซตามอล

ขั้นตอนการส่องกล้องตรวจปากมดลูกด้วยคอลโปสโคปมีอะไรบ้าง?

ขั้นตอนการส่องกล้องตรวจปากมดลูกด้วยคอลโปสโคป มีดังนี้

1. ก่อนการตรวจ ปัสสาวะทิ้งให้เรียบร้อย และเปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นการนุ่งผ้าถุงของโรงพยาบาลเพื่อสะดวกในการตรวจ และขึ้นนอนบนเตียงขาหยั่งที่ใช้ตรวจภายใน

2. แพทย์ทำการตรวจภายในเพื่อประเมินความผิดปกติต่างๆอีกครั้ง ได้แก่ ขนาดมดลูก รูปร่างมดลูก ลักษณะมดลูก

3. แพทย์ทำการใส่เครื่องถ่างขยายช่องคลอด จากนั้นใช้ไม้พันสำลีเช็ดมูกหรือตกขาวในช่องคลอด

4. แพทย์ใช้ไม้พันสำลีชุบน้ำเกลือทารอบๆปากมดลูก เพื่อดูร่องรอยความผิดปกติ

5. แพทย์ใช้ไม้พันสำลีชุบน้ำส้มสายชู ความเข้มข้น 3-5% ป้ายบริเวณปากมดลูก จะเกิดเป็นฝ้าขาว เพื่อให้เห็นพยาธิสภาพของปากมดลูกได้เจนขึ้น

6. ต่อจากนั้น แพทย์ใช้สารละลายไอโอดีนทาบริเวณปากมดลูก ไอโอดีนจะทำปฎิกิริยากับสารไกลโครเจน(Glycogen)ของเซลล์ปกติและเกิดเป็นสีตาลเข้ม แต่บนบริเวณที่มีเซลล์ผิดปกติจะไม่เกิดเป็นสีดังกล่าว(ไม่ติดสี) จากนั้นทำการตัดชิ้นเนื้อที่ปากมดลูกบริเวณที่ไม่ติดสีเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา

7. จากนั้น แพทย์ทำการขูดเนื้อเยื่อบริเวณคอมดลูก(ในชองปากมดลูก)เพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยาเช่นกัน

8. แพทย์ทำการหยุดเลือดบริเวณที่ตัดชิ้นเนื้อ โดยใช้ผ้าก๊อซไว้ หลังจากนั้นเมื่อเลือดหยุด แพทย์จะใส่ผ้าก๊อซ/Gauze(Tampon,ผ้าก๊อซหนาที่มีเชือกผูกตรงกลางผ้าก๊อซ เป็นสายยาวออกมานอกช่องคลอด ไว้ใช้ดึงผ้าก๊อซออก) 1 ชิ้น ใส่ไว้ในช่องคลอด เพื่อช่วยหยุดเลือด แล้วให้ผู้ป่วยดึงออกเองหลังการทำหัตถการแล้วประมาณ 3 ชั่วโมง

9. การตรวจด้วยคอลโปสโคปและตัดชิ้นเนื้อใช้เวลาประมาณ 10 นาที

10. แพทย์จะนัดกลับมาฟังผลชิ้นเนื้อประมาณอีก 2-4 สัปดาห์

11. หลังการตรวจและดึงผ้าก๊อซออกแล้ว ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ

ภาวะแทรกซ้อนของการส่องกล้องตรวจปากมดลูกด้วยคอลโปสโคปมีอะไรบ้าง?

การส่องกล้องตรวจปากมดลูกด้วยคอลโปสโคป มักต้องทำร่วมกับการตัดชิ้นเนื้อบริเวณที่สงสัยว่ามีพยาธิสภาพที่ปากมดลูก หรือ มีการขูดเนื้อเยื่อบริเวณคอมดลูกร่วมด้วย หลังการทำหัตถการนี้ อาจมีอาการแสบหรือปวดในช่องคลอดเล็กน้อย แต่โอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนค่อนข้างน้อยจากการทำการส่องกล้องด้วย คอลโปสโคป ซึ่งอาจพบภาวะแทรกซ้อน(ผลข้างเคียง)ได้ดังนี้

ก. ภาวะแทรกซ้อนระยะสั้น(1-4สัปดาห์หลังการตรวจฯ)ที่อาจเกิดได้ มีดังนี้

1. มีเลือดออกมากผิดปกติทางช่องคลอด

2. มีการอักเสบติดเชื้อบริเวณปากมดลูกที่ทำการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ (ช่องคลอดอักเสบ และ/หรือ ปากมดลูกอักเสบ)

3. มีการอักเสบลุกลามเข้าไปในอุ้งเชิงกราน (การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน)ซึ่งเกิดขึ้นได้น้อยมาก

4. มดลูกทะลุ จากที่ปากมดลูกมีขนาดเล็ก หรือมีรูปร่างผิดปกติ โดยเฉพาะในสตรีสูงอายุที่หมดประจำเดือนมานาน การตัดชิ้นเนื้อด้วยขดลวดไฟฟ้าร่วมกับการส่องกล้องคอลโปสโคป อาจทำให้เกิดมดลูกทะลุได้ แต่มีโอกาสเกิดน้อยมากๆ

ข. ภาวะแทรกซ้อนระยะยาว(นานตั้งแต่ 4 สัปดาห์ขึ้นไป)ที่อาจเกิดได้ มีดังนี้

1. ปากมดลูกตีบแคบ อาจส่งผลทำให้มีบุตรยากในอนาคต หรือ มีอาการปวดประจำเดือนมากขึ้นเนื่องจากกการที่เลือดประจำเดือนไหลออกจากโพรงมดลูกไม่สะดวก

2. ในบางกรณีอาจทำให้ภาวะปากมดลูกหลวมเกินไป(Cervical incompetence) ที่อาจส่งผลทำให้เกิดการแท้งบุตรง่ายในอนาคต

ดูแลตนเองอย่างไรหลังส่องกล้องตรวจปากมดลูกด้วยคอลโปสโคป?

การดูแลตนเองหลังส่องกล้องตรวจปากมดลูกด้วยคอลโปสโคป คือ

1. หลังการส่องกล้องตรวจและทำการตัดชิ้นเนื้อที่สงสัยว่ามีรอยโรค แพทย์จะใส่ผ้าก๊อซ(Tampon) 1 ชิ้นเข้าไปในช่องคลอด เพื่อช่วยกดจุดเลือดออกบริเวณแผลที่ตัดชิ้นเนื้อออกไป ซึ่งผ้าก๊อซนี้จะมีเส้นเชือกผูกตรงกลางก้อนและมีสายยาวออกกมาบริเวรปากช่องคลอดให้ดึงสายออกหลังประมาณ 3 ชั่วโมงตามคำแนะนำของแพทย์ ไม่ควรปล่อยผ้าก๊อซไว้ในช่องคลอดนานเกินไป เพราะทำให้มีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากขึ้นในช่องคลอดและที่ปากมดลูก

2. จะมีเลือดออกทางช่องคลอดเล็กน้อยประมาณ 2-3 วัน แต่ปริมาณจะค่อยๆลดลงในแต่ละวัน หลังจากนั้นมักจะมีตกขาวต่ออีกประมาณ 1-2 สัปดาห์

3. อาจมีอาการปวดตึงๆ/ปวดหน่วงบริเวณช่องคลอดในช่วง 1-2 วันแรกหลังการตรวจฯ ซึ่ง สามารถรับประทานยาแก้ปวดพาราเซตามอลได้

4. งดการมีเพศสัมพันธ์ประมาณ 2 สัปดาห์

5. งดการสวนล้างช่องคลอด

6. งดการว่ายน้ำ 2 สัปดาห์

7. งดการออกกำลังกายหนัก 2 สัปดาห์

8. รักษาสุขภาพให้แข็งแรง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ 5 หมู่ให้ครบถ้วนในทุกวัน

9. ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ

10. กินยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ถูกต้อง ไม่หยุดยาเอง

11. พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัด

ต้องพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

ควรต้องพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัด เมื่อ

1. มีเลือดออกมากผิดปกติทางช่องคลอด หรือเลือดทางช่องคลอดที่เคยหยุดไปแล้วกลับมามีเลือดออกใหม่อีก

2. มีตกขาวมาก มีกลิ่นเหม็น

3. ปวดท้องน้อยมาก หรือ ปวดท้องน้อยเรื้อรัง

4. มีไข้

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Colposcopy[2017,May20]
  2. http://www.med.cmu.ac.th/dept/obgyn/2011/index.php?option=com_content&view=article&id=370:basic-colposcopy&catid=40&Itemid=482[2017,May20]