การป้องกันภาวะติดเชื้อในคนไข้เคมีบำบัดและรังสีรักษา (Chemotherapy and Radiotherapy:Infections)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

ทำไมได้เคมีบำบัด หรือรังสีรักษาแล้วติดเชื้อได้ง่าย? ติดเชื้ออะไรได้บ้าง?

         ผู้ป่วยโรคมะเร็งทุกคน โดยธรรมชาติของโรคจะมีภูมิคุ้มกันตานทานของร่างกายต่ำอยู่แล้ว อาจโดยเป็นผลจาก ตัวโรคมะเร็งเอง, พันธุกรรม, ฯลฯ   

         ส่วนการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด และ/หรือ รังสีรักษา ทั้ง 2 วิธีการจะมีผลต่อเซลล์ร่างกายที่ทำหน้าที่สร้างภูมิคุ้มกันต้านทานโรค ซึ่งที่สำคัญคือไขกระดูก โดยยาเคมีบำบัด และ รังสีรักษา จะทำให้เซลล์ไขกระดูกเกิดบาดเจ็บ และมีจำนวนเซลล์ลดลง โดยเฉพาะเซลล์เม็ดเลือดขาวซึ่งมีหน้าที่ให้ภูมิคุ้มกันต้านทานการติดเชื้อโรคทุกชนิดโดยตรง ดังนั้นผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ได้รับยาเคมีบำบัด และ/หรือ รังสีรักษา จึงมักมีภูมิคุ้มกันต่านทานโรคและมีภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำกว่าคนปกติ ดังนั้นจึงมีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายกว่าคนปกติทั่วไป และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อได้รับการรักษาร่วมกันทั้งยาเคมีบำบัดและรังสีรักษา (ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากเคมีบำบัด และ / หรือรังสีรักษา: การดูแลตนเอง)

         การติดเชื้อที่เกิดจากภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ เป็นการติดเชื้อที่เกิดได้จากเชื้อโรคทุกชนิดทั้ง แบคทีเรีย   โรคเชื้อรา  โรคติดเชื้อไวรัส  โรคติดเชื้อสัตว์เซลล์เดียว   โรคติดเชื้อปรสิต   แต่พบบ่อยที่สุด คือ ติด’เชื้อแบคทีเรีย’ รองลงไป คือ โรคติดเชื้อรา

         การติดเชื้อในภาวะมีเม็ดเลือดขาวต่ำ มักเป็นการติดเชื้อที่รุนแรงจนเป็นสาเหตุถึง  ตายได้ในอัตราค่อนข้างสูงและอย่างรวดเร็วเพราะมักลุกลามเป็นภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด(ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ)ได้ง่าย

ป้องกันการติดเชื้อเมื่อได้เคมีบำบัดและ/หรือรังสีรักษาอย่างไร?

การป้องกันการติดเชื้อเมื่อได้รับยาเคมีบำบัดและ/หรือรังสีรักษาและ/หรือในผู้ป่วยมะเร็ง  ที่สำคัญ เช่น

  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เสมอ
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนทุกวัน
  • กินแต่อาหารปรุงสุกทั่วถึง ไม่ใช่สุกๆดิบๆ ไม่กินอาหารค้าง
  • ชาม ช้อน แก้วน้ำ ต้องสะอาด
  • ระมัดระวังการกินอาหารทะเลทุกชนิดเพราะมักติดเชื้อได้ง่าย จากเป็นอาหารที่ล้างให้สะอาดได้ยาก และมักปรุงสุกๆดิบๆ เช่น หอย ปู และกุ้ง
  • ไม่บริโภคผักสด ผลไม้ไม่ปลอกเปือก
  • ระวังพวกน้ำซอส น้ำจิ้ม พริกน้ำส้ม เครื่องปรุงรส ที่ทิ้งค้างไว้ รวมทั้งซอสมะเขือเทศ
  • ควรหลีกเลี่ยง นมเปรี้ยว และโยเกิร์ต ซึ่งมีจุลินทรีย์ที่ในภาวะร่างกายปกติ จะเป็นจุลินทรีย์ช่วยให้ร่างกายแข็งแรง แต่ในภาวะร่างกายมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ จุลินทรีย์เหล่านี้ อาจเจริญเติบโตผิดปกติจนส่งผลให้เป็นสาเหตุของการติดเชื้อได้
  • ระวังน้ำดื่มต้องสะอาด โดยเฉพาะน้ำแข็ง
  • เคลื่อนไหว ออกกำลังกาย ตามควรกับสุขภาพทุกวัน
  • ไม่ไปในที่แออัด เช่น ศูนย์การค้า ถ้าจะไปควรใช้หน้ากากอนามัย และเลือกไปในช่วงเวลาที่มีคนน้อย เช่น ในวันราชการ และในช่วงห้างแรกเปิด หรือเกือบจะปิดแล้ว
  • ระมัดระวังการใช้/สัมผัสของใช้สาธารณะ เช่น ราวบันไดเลื่อน การใช้ลิฟต์ การใช้โทรศัพท์สาธารณะ
  • ล้างมือให้สะอาดบ่อยๆโดยเฉพาะก่อนกินอาหารและหลังเข้าห้องน้ำ
  • ระมัดระวังไม่ให้เกิดแผลต่างๆตามร่างกาย โดยเฉพาะที่เท้า และบริเวณเล็บ
  • ตัดเล็บให้สั้นป้องกันแผลติดเชื้อจากการเกา
  • ระวังการติดเชื้อจากสัตว์เลี้ยง
  • รู้จักใช้หน้ากากอนามัย
  • ใช้ถุงยางอนามัยชายเสมอเมื่อมีเพศสัมพันธ์ไม่ว่าผู้ป่วยโรคมะเร็งจะเป็นหญิงหรือชาย
  • รู้จักดูแลตนเองในภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ (ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากเคมีบำบัด และ / หรือรังสีรักษา: การดูแลตนเอง)

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อมีการติดเชื้อ? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

การดูแลตนเองเมื่อมีการติดเชื้อ รู้ได้โดย มักมีไข้ ท้องเสีย ไอมาก ไอมีเสมหะ หรือเสมหะมีสีเขียว หรือเหลือง  คอแข็ง ปวดหัวมาก มีฝ้าขาวในช่องปากหรือที่อวัยวะเพศ  ผิวหนังขึ้นผื่น  ปัสสาวะแสบขัด  เจ็บปาก คอ มาก เจ็บ/ปวดหูมาก  และ/หรือ ผิวหนังมีแผล/ฝี  บวม แดง ร้อน ควรต้องรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลภายใน 24-48 ชั่วโมงตามความรุนแรงของอาการ

 แต่ถ้ามี ไข้สูงร่วมกับท้องเสีย และ/หรือคอแข็ง ร่วมกับมีเม็ดเลือดขาวต่ำ ต้องรีบไปโรงพยาบาลฉุกเฉินเสมอ

อนึ่ง:  จะรู้ได้ว่า มีเม็ดเลือดขาวต่ำ โดยการตรวจเลือด  ซีบีซี (CBC) ซึ่งระหว่างได้ยาเคมีบำบัด หรือรังสีรักษา แพทย์จะตรวจ ซีบีซี อย่างน้อยสัปดาห์ละ1ครั้ง และแพทย์ พยาบาลจะแจ้งให้ผู้ป่วยทราบ พร้อมให้คำแนะนำการดูแลตนเองในภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ ซึ่งผู้ป่วยควรต้องปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด

นอกจากนั้น การดูแลตนเองที่สำคัญอีกประการ คือ เมื่อมีการตรวจต่างๆรวมทั้งการตรวจเลือด ผู้ป่วยควรสอบถามแพทย์ พยาบาล ว่าตรวจอะไร และผลตรวจเป็นอย่างไร เพื่อการดูแลตนเองได้อย่างเหมาะสม

บรรณานุกรม

  1. DeVita, V., Hellman, S., and Rosenberg, S. (2005). Cancer: principles& practice of oncology (7th edition). New York: Lippincott Williams & Wilkins.
  2. https://www.cancer.org/treatment/treatments-and-side-effects/physical-side-effects/low-blood-counts/infections/preventing-infections-in-people-with-cancer.html   [2022,May14]
  3.   https://www.cancer.org/treatment/treatments-and-side-effects/treatment-types/chemotherapy.html   [2022,May14]
  4. https://www.cancerresearchuk.org/about-cancer/coping/physically/fever/causes/infection/during-or-after-treatment  [2022,May14]
  5. https://chemocare.com/chemotherapy/side-effects/infection.aspx   [2022,May14]