การดูแลแผลบริเวณฉายรังสี (Caring for the skin during radiotherapy)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

แผลตื้นๆ หรือแผลเกิดจากบาดเจ็บบริเวณผิวหนังชั้นนอก หรืออาจลึกลงมาเล็กน้อย แผล จะหายได้เองตามธรรมชาติ แต่ถ้าแผลลึก ร่างกายต้องใช้กระบวนการสมานแผลซึ่งซับซ้อนและเมื่อแผลหายจะเกิดแผลเป็นทั่วไปหรือแผลเป็นนูนได้ ความร้อน ความเย็น และรังสี เป็นอีกหลายสาเหตุที่ทำให้เกิดแผล แต่ในที่นี้ขอกล่าวถึงเฉพาะ’แผลจากผิวหนังได้รับรังสีรักษา’

เนื่องจากผู้ป่วยที่ได้รับรังสีรักษาในกลุ่มรักษาเพื่อหวังผลหายขาด มักได้รับการฉายรังสีในปริมาณสูงและในทุกวันซ้ำๆในบริเวณเดิม ทำให้เนื้อเยื่อบริเวณนั้นได้รับพลังงานความร้อนจากรังสีสะสมในระดับเซลล์ เมื่อถึงขีดจำกัด เซลล์ผิวหนังหรือเนื้อเยื่อใต้ชั้นผิวหนังอาจถูกทำลายเกิดเป็นแผลได้ โดยทั่วไปแพทย์ได้ประเมินผู้ป่วยเป็นระยะอย่างน้อยทุกสัปดาห์เพื่อเฝ้าระวังการเกิดแผลอยู่แล้ว หากแต่ผู้ป่วยก็ต้องทราบวิธีปฏิบัติตัวเพื่อลดโอกาสเกิดแผลด้วย ซึ่งถ้าเกิดแผลแล้วต้องมีการทำแผลด้วยวิธีเฉพาะ เพราะแผลที่เกิดจากรังสีฯจะหายช้าและมีโอกาสติดเชื้อโรคต่างๆได้ง่าย

แผลจากฉายรังสีรักษามีลักษณะอย่างไร?

การดูแลแผลบริเวณฉายรังสี

แผลจากฉายรังสีรักษาจะเกิดเฉพาะในบริเวณที่ได้รับรังสีฯเท่านั้น โดยผิวหนังเฉพาะในส่วน นั้นจะมีสีคล้ำขึ้นในเวลาประมาณ 2 - 3 สัปดาห์หลังฉายรังสี ต่อจากนั้นผิวจะแห้ง และอาจลอกเป็นสะเก็ด ถ้าสะเก็ดแผลหลุดออก ตามธรรมชาติผิวหนังใหม่จะเจริญเติบโตขึ้นมาแทน แต่ถ้าเกิดการลอกหลุดเร็ว เช่น มีการแกะ เกา หรือเสียดสี จะทำให้ผิวหนังใหม่เจริญเติบโตไม่ทัน จึงเกิดแผลได้

ซึ่งในผู้ป่วยฉายรังสี ผิวหนังใหม่จะเจริญเติบโตช้ากว่าในคนทั่วไป เพราะรังสีเป็นตัวชะลอการซ่อมแซมเซลล์ของผิวหนัง (เฉพาะส่วนที่ได้รังสี) แผลที่เกิดจะเริ่มเป็นแผลแฉะ ขอบแผลเปื่อย มีเซลล์ที่ตายอยู่ในแผล และแผลจะขยายกว้างเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งถ้าแผลมีขนาดกว้างหรือใหญ่มักเกิน 2 - 3 เซ็นติเมตร อาจเกิดความเจ็บปวดและติดเชื้อได้ง่าย

ป้องกันเกิดแผลบริเวณฉายรังสีได้อย่างไร?

วิธีป้องกันการเกิดแผลบริเวณฉายรังสีคือ การปฏิบัติตนที่ถูกต้อง แยกเป็นบริเวณฉายรังสี ดังนี้

1. บริเวณศีรษะและคอ:

  • ควรตัดผมสั้นที่สุดเท่าที่ทำได้ เพื่อลดการระคายจากปลายผมและการอับชื้นจากผมที่ยาว
  • ควรใส่เสื้อไม่มีปก คอกว้าง กระดุมผ่าหน้า และเนื้อผ้านิ่ม โปร่งบาง เพื่อลดการเสียดสีของเสื้อขณะใส่และถอด และช่วยให้ผิวหนังไม่อับชื้น
  • ห้ามใส่สร้อยคอหรือเครื่องประดับบริเวณคอ ไม่ใส่ต่างหู
  • ไม่ใช้เครื่องสำอาง
  • ปรึกษาแพทย์ พยาบาลรังสีรักษา เรื่องการสระผม อาบน้ำ ถูกน้ำบริเวณผิวหนังส่วนนั้น

2. บริเวณหน้าอกและเต้านม:

ช่วงแรกสามารถใส่เสื้อยกทรงได้เมื่อแพทย์อนุญาต หลังได้รับรังสีประมาณ 10 ครั้งเป็น ต้นไป ผิวจะแห้งขึ้น จึงไม่ควรใส่เสื้อยกทรงเพราะเกิดการเสียดสีและรัดแน่น เกิดความอับชื้นทำให้เกิดแผลได้ง่าย ควรใส่เสื้อตัวใหญ่วงแขนกว้างและเนื้อผ้านิ่มๆ เช่น ผ้าฝ้าย ควรปรึกษาแพทย์ พยาบาลรังสีรักษาเรื่องการอาบน้ำ ถูกน้ำ และการใช้เครื่องสำอาง รวมทั้งโลชันระงับกลิ่น

3. บริเวณช่องท้องและเชิงกราน:

  • ควรใช้กางเกงชั้นในเนื้อผ้านิ่มตัวหลวมๆ
  • ควรใส่กางเกงเนื้อผ้านิ่มและไม่รัดแน่น เช่น กางเกงผ้าฝ้าย ไม่ควรใส่ยีนส์
  • ควรใส่กระโปรงหลวม ผ้าถุง หรือผ้าขาวม้าเวลาอยู่บ้าน
  • และเช่นเดียวกับในบริเวณอื่นๆ ควรปรึกษาแพทย์ พยาบาลรังสีรักษาเรื่องการอาบน้ำ ถูกน้ำ และในการทำความสะอาดเมื่อขับถ่าย

ทำแผลบริเวณฉายรังสีอย่างไร?

เมื่อเกิดมีแผลขึ้นในบริเวณฉายรังสีรักษา วิธีทำแผลที่ถูกต้องมีดังนี้

  • ไม่ควรใช้ ยาแดง หรือยา เบตาดีน (Betadine) ราดลงบนแผลทันที เพราะทำให้แผลตึงมากขึ้น และแสบมาก
  • ก่อนทำแผล ต้องล้างมือด้วยสบู่จนสะอาด
  • ใช้น้ำเกลือที่ปราศจากเชื้อ (Normal saline, NSS หรือน้ำเกลือโรงพยาบาล) เช็ดจากกลางแผลวนออกไปหาขอบแผล ไม่ควรเช็ดย้อนไปมา สำลีที่ใช้ควรม้วนให้แน่นไม่เป็นปุยก่อนเช็ดแผล เพราะปุยสำลีอาจติดค้างบนแผลทำให้แผลแฉะ ที่ดีที่สุดคือใช้ผ้าทำแผลที่พยาบาลแนะนำ (ผ้ากอซ) ทำแผลแทนสำลี
  • ใช้น้ำกลั่นเช็ดแผลซ้ำ รอจนแผลแห้งหรือหมาด แล้วจึงป้ายด้วยยาที่ แพทย์ พยาบาลแนะนำ เช่น ยา 1% Silver sulfadiazine (ยาซิลเวอร์ซัลฟา) บาง ๆ
  • ถ้าไม่มีธุระออกนอกบ้าน ไม่ควรปิดแผล ควรปล่อยให้โล่ง เพื่อลดการอับชื้นของแผล
  • ถ้าแผลอยู่ในบริเวณที่อาจเสียดสีกับผมหรือเสื้อผ้า ควรปิดแผลด้วยผ้ากอซแผ่นตาข่ายมียาผสม (Sofra-tulle) หรือมีขี้ผึ้งวาสเซลีนผสม เพื่อช่วยให้ผ้ากอซไม่ติดกับผิวนอกแผลตอนดึงผ้ากอซออก แล้วปิดผ้ากอซบางๆให้กว้างกว่าบริเวณแผล และปิดพลาสเตอร์ ข้อสำคัญคือห้ามปิดพลาสเตอร์ลงในบริเวณฉายรังสีเด็ดขาดเพราะเมื่อแกะ/ลอกพลาสเตอร์ออก ผิวหนังส่วนที่กำลังแห้งและลอก จะหลุดติดออกมาด้วย อาจทำให้เกิดแผลใหม่หรือแผลเลือดออกหรือแผลติดช้าได้
  • ถ้าแผลมีขนาดใหญ่และลึก ควรรับประทานยาแก้ปวดก่อนทำแผลประมาณ 30 นาที เพื่อบรรเทาการเจ็บแผลขณะทำแผล (ควรเป็นยาที่แพทย์สั่งหรือถ้าไม่มีควรแจ้งให้แพทย์ทราบในวันตรวจ)
  • อุปกรณ์การทำแผลควรปราศจากเชื้อ สามารถทำเองได้โดยใช้ภาชนะโลหะและคีมคีบ(Forceps) นึ่งในน้ำเดือดนาน 15 นาที หรือหาซื้อชุดทำแผลชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้งได้ตามร้านขายยาทั่วไป
  • ก่อนทำแผลควรสังเกตสีและลักษณะแผลเพื่อเป็นข้อมูลในวันที่มาพบ แพทย์ พยาบาล หรือเพื่อการสอบ ถามแพทย์ พยาบาล
  • ถ้าแผลมีการติดเชื้อจะมีอาการแสดงทางร่างกาย เช่น มีไข้ ลักษณะแผลซีดลง มีหนอง หรือ มีกลิ่น ให้รีบพบแพทย์/พยาบาล เพื่อการพิจารณาใช้ยาปฏิชีวนะ

บรรณานุกรม

  1. จอมจักร จันทรสกุล , พรพรหม เมืองแมน , พรเทพ เปรมโยธิน. Update on wound care 2008. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์กรุงเทพเวชสาร;2551.