แผลกามโรคเรื้อรังที่ขาหนีบ โรคฝีมะม่วงเทียม (Granuloma inguinale)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

แผลกามโรคเรื้อรังที่ขาหนีบคืออะไร?

โรคแผลกามโรคเรื้อรังที่ขาหนีบ (Granuloma inguinale) หรือคนทั่วไปเรียกโรคฝีมะ ม่วงเทียม (Pseudo bubo) คือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดหนึ่ง ภาษาอังกฤษใช้กันอีกหลายชื่อ ได้แก่ Granuloma genitoinguinale, Granuloma inguinale tropicum, Granulo ma venereum, Granuloma venereum genitoinguinale, และ Donovanosis

โรคแผลกามโรคเรื้อรังที่ขาหนีบเกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ Klebsiella granulomatis (ก่อนหน้านี้เรียกว่า Calymmatobacterium granulomatis) ซึ่งทำให้เกิดแผลบริเวณอวัยวะเพศและบริเวณขาหนีบ โรคนี้พบได้น้อยในประเทศไทย จะพบมากแถวในประเทศแอฟริกา และพบเกิดในผู้ชายได้บ่อยกว่าในผู้หญิงประมาณ 2 เท่า

โรคแผลกามโรคเรื้อรังที่ขาหนีบมีอาการอย่างไร?

กามโรคขาหนีบ

การติดเชื้อ Klebsiella granulomatis มีระยะฟักตัวของโรคไม่แน่นอน อาจเป็นไม่กี่วันจนนานเป็นปีก็มีที่นับจากวันสัมผ้สโรค แต่โดยทั่วไปจะอยู่ประมาณ 10 - 40 วัน เชื้อนี้จะทำให้เนื้อเยื่อบริเวณที่ติดเชื้อนั้นแบ่งตัวเจริญมากกว่าปกติจนทำให้เกิดเป็นก้อนนูนๆขึ้นมา และต่อมาจะปริแตกกลายเป็นแผลเรื้อรังซึ่งแผลมักจะลามออกไปเรื่อยๆ

บริเวณส่วนใหญ่ที่พบแผลคือ ผิวหนังบริเวณขาหนีบ (อาจเป็นข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้) และแผลที่อวัยวะเพศที่เกิดได้ทั้งในผู้ชายและในผู้หญิง โรคนี้มักไม่ทำให้ต่อมน้ำเหลืองโต ซึ่งจะต่างจากโรคฝีมะม่วง (Lymphogranulama venereum) ที่จะเกิดการติดเชื้อที่ต่อมน้ำ เหลืองที่ขาหนีบเป็นส่วนใหญ่และทำให้ต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบโต

แผลที่เกิดจากโรคนี้ ช่วงแรกมักไม่เจ็บ จึงอาจทำให้เข้าใจผิดได้ว่าเป็นแผลที่เกิดจากโรคซิฟิลิส แต่หากมีการติดเชื้อซ้ำที่แผลจากแบคทีเรียตามผิวหนัง จะทำให้เกิดการอักเสบเป็นหนองเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งจะทำให้มีอาการเจ็บปวดร่วมด้วย

ใครมีปัจจัยเสี่ยงให้เกิดแผลกามโรคเรื้อรังที่ขาหนีบ?

ผู้มีปัจจัยเสี่ยงให้เกิดแผลกามโรคเรื้อรังที่ขาหนีบคือ

1. ผู้ที่มีแผลบริเวณอวัยวะเพศหรือขาหนีบแล้วมีเพศสัมพันธ์ หรือผู้ที่สัมผัสแผลผู้ที่เป็นโรคนี้ที่รวมถึงการมีเพศสัมพันธ์แบบทั่วไป เพศสัมพันธ์ทางปาก และ/หรือทางทวารหนัก

2. ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายต่ำหรือภูมิคุ้มกันบกพร่องเช่น ผู้ติดเชื้อ HIV, ผู้ ป่วยเบาหวาน, ผู้กินยากดภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่างๆ (เช่น ในผู้ป่วยโรคออโตอิมมูน)

ควรพบแพทย์เมื่อไร?

เมื่อเกิดแผลที่ขาหนีบและ/หรือที่อวัยวะเพศควรรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล ไม่แนะ นำให้หาซื้อยารับประทานเอง เพราะแผลเหล่านี้เกิดได้จากหลายสาเหตุ จึงควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้องและรับการรักษาแต่เนิ่นๆที่จะทำให้รักษาควบคุมโรคได้ผลดีกว่า

อนึ่ง แผลที่เกิดจากการติดเชื้อทั่วไปในคนที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคปกติ แผลควรจะหายภายใน 7 - 10 วัน แต่หากแผลที่เกิดขึ้นมีลักษณะเรื้อรังนานกว่านี้ หรือมีการลุกลามใหญ่ขึ้น หรือในคนมีภูมิคุ้มกันต้านโรคผิดปกติ หรือเป็นแผลที่อวัยวะเพศและ/หรือที่ขาหนีบที่เกิดหลังการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย ควรรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอ ไม่ต้องรอจนถึง 7 - 10 วัน

แพทย์วินิจฉัยโรคแผลกามโรคเรื้อรังที่ขาหนีบอย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคแผลกามโรคเรื้อรังที่ขาหนีบได้จาก

ก. ประวัติทางการแพทย์: มีประวัติมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอน หรือสัมผัสแผลของคนที่มีแผลบริเวณอวัยวะเพศ หรือมีก้อนบริเวณขาหนีบ โดยมักจะมีประวัติมีแผลหรือก้อนมานานเป็นเรื้อรังรักษาไม่หายขาด

 

ข. ตรวจร่างกาย: ลักษณะที่ตรวจพบในผู้ที่เป็นโรคนี้มีได้หลายลักษณะที่พบบ่อยได้ แก่

1. เป็นตุ่มนูน/ก้อนตรงบริเวณที่ติดเชื้อเช่น ขาหนีบหรืออวัยวะเพศ โดยลักษณะเริ่มแรกของการติดเชื้อ ก้อนจะมีลักษณะนิ่มๆ บางครั้งมีหนองได้ หากเป็นที่ขาหนีบจะทำให้เกิดก้อนนูน (แต่ไม่ใช่ต่อมน้ำเหลืองขาหนีบบวมโต) ที่ทำให้มีลักษณะคล้ายโรคฝีมะม่วง (Lymphogranloma venereum) จึงมีการเรียกโรคกามโรคเรื้อรังที่ขาหนีบนี้ว่า “ ฝีมะ ม่วงเทียม (Pseudo bubo)”

2. เป็นแผลเรื้อรังบนก้อนนูนซึ่งเป็นลักษณะที่ตรวจพบบ่อยที่สุด พบได้ที่ขาหนีบและ/หรืออวัยวะเพศ แผลมักจะไม่เจ็บ แผลมักขยายใหญ่ไปเรื่อยๆ หากมีการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำ ทำให้เกิดเป็นหนอง มีอาการเจ็บปวดได้

3. เป็นรอยแผลเป็น/พังผืดดึงรั้งร่วมกับมีการบวมของอวัยวะใกล้เคียง อาจมีการบวมบริเวณ อวัยวะเพศ ขาหนีบ ขา จึงคล้ายโรคเท้าช้างได้

4. เป็นก้อนเนื้อคล้ายหูดหงอนไก่ขนาดใหญ่ แต่ลักษณะนี้พบได้น้อย

5. นอกจากนี้ หากแผล/สารคัดหลั่งจากแผลมีการสัมผัสกับเนื้อเยื่อ/อวัยวะส่วนอื่นๆของร่าง กายโดยเฉพาะที่เป็นแผล สามารถทำให้เกิดแผลโรคนี้ที่ตำแหน่งนั้นๆที่สัมผัสโรคได้ เช่น ที่ริมฝีปาก ผนังหน้าท้อง แขน ขา

6. เคยมีรายงานว่า โรคนี้สามารถกระจายไปตามกระแสเลือดได้ จึงอาจทำให้พบเชื้อนี้ที่ ตับ ไต กระดูก ได้

 

ค. การตรวจทางห้องปฏิบัติการ: ได้แก่

1. การป้ายเนื้อเยื่อบริเวณก้นแผลเพื่อตรวจเชื้อนี้โดยการย้อมสีที่เรียกว่า Giemsa ซึ่งเมื่อตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ ตัวเชื้อจะมีการติดสีชัดเจนบริเวณขั้ว 2 ข้างของเชื้อ ทำให้ดูคล้ายเป็นเข็มกลัด (Safety pin)

2. การตัดชิ้นเนื้อที่แผลเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา

แผลกามโรคเรื้อรังที่ขาหนีบติดต่อได้อย่างไร?

โรคแผลกามโรคเรื้อรังที่ขาหนีบเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดหนึ่ง จึงติดต่อกันทางเพศสัมพันธ์

นอกจากนี้ยังสามารถติดต่อโดยการสัมผัสกับผู้ที่มีแผลที่บริเวณอวัยวะเพศ ขาหนีบ โดยเฉพาะหากผู้ที่ไปสัมผัสแผลนั้นๆมีแผลที่ตนเองอยู่ด้วย จะทำให้ติดเชื้อง่ายขึ้น

ส่วนการไปสัมผัสสิ่งของเครื่องใช้ผู้ป่วยมีโอกาสติดน้อย หากตัวผู้สัมผัสไม่มีแผลเปิด

แพทย์รักษาโรคแผลกามโรคเรื้อรังที่ขาหนีบอย่างไร?

แพทย์รักษาโรคแผลกามโรคเรื้อรังที่ขาหนีบ โดยให้รับประทานยาปฏิชีวะนะ โดยต้องให้ยาเป็นระยะเวลานาน 3 - 12 สัปดาห์ขึ้นอยู่กับชนิดของยาและความรุนแรงของอาการ และต้องให้ยาต่อจนกว่าแผลจะดีขึ้นและยุบหายไป

ตัวอย่างยาปฏิชีวนะ เช่น Bactrim, Doxycycline, Ciprofloxacin, Azithromycin ซึ่งการจะเลือกใช้ยาตัวใดจะอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ โดยดูจากความรุนแรงของแผล การตอบสนองของแผลต่อยาที่ใช้ และประวัติการใช้ยาปฏิชีวนะชนิดอื่นมาก่อนหรือไม่

อนึ่ง:

  • เนื่องจากโรคนี้มีระยะฟักตัวของโรคไม่แน่นอน ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วยภายใน 60 วัน(บางตำราให้ถึง 80 วัน) ก่อนผู้ที่เป็นโรคจะแสดงอาการ ควรตามตัวมารับการรักษาด้วย
  • โรคนี้สามารถติดต่อจากสัมผัสแผลของผู้ติดโรคได้ แม้จะไม่มีเพศสัมพันธ์ ดังนั้นผู้สัมผัสแผลโรคนี้จึงควรต้องได้รับการรักษาด้วยเช่นกัน

ภาวะแทรกซ้อนจากแผลกามโรคเรื้อรังที่ขาหนีบมีอะไรบ้าง?

ภาวะแทรกซ้อน (ผลข้างเคียง) จากโรคแผลกามโรคเรื้อรังที่ขาหนีบ เช่น

1. เกิดพังผืดหรือแผลเป็นบริเวณแผลที่ไปรัดหรือกดท่อน้ำเหลือง ทำให้เกิดการอุดตันของท่อน้ำเหลือง ทำให้เกิดอาการบวมเฉพาะที่ได้เช่น บวมบริเวณอวัยวะเพศ บวมที่ขาหนีบ และที่ขา

2. มีการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำบริเวณแผล ทำให้เกิดความเจ็บปวด แผลมีกลิ่นเหม็น

3. แผลมีโอกาสกลายเป็นแผลมะเร็งได้ แต่เนื่องจากโรคนี้พบได้น้อย จึงไม่สามารถรายงานเป็นร้อยละของการเกิดมะเร็งได้

แผลกามโรคเรื้อรังที่ขาหนีบมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

การพยากรณ์โรคของโรคแผลกามโรคเรื้อรังที่ขาหนีบคือ หากเริ่มมีอาการไม่มาก แผลไม่ใหญ่ ไม่เกิดก้อนนูนมาก ได้รับการรักษาค่อนข้างเร็ว การรักษาก็ให้ผลดี/การพยากรณ์โรคดี แผลหรือก้อนจะหายภายใน 1 - 2 สัปดาห์และไม่เกิดแผลเป็น

แต่หากเป็นแผลเรื้อรังมานาน มีก้อนเนื้อนูนมากแล้ว การพยากรณ์โรคจะไม่ค่อยดี โดยโรคนี้เวลาหายจะเกิดเป็นแผลเป็น ดึงรั้งผิวหนังทำให้เกิดอาการเจ็บตึง และบวมที่อวัยวะเพศ ขาหนีบ ขา เหมือนโรคเท้าช้างได้

อนึ่ง โรคนี้สามารถมีการติดเชื้อซ้ำได้อีก ถ้าได้รับการติดเชื้อใหม่จากมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย นอกจากนั้น ถ้าได้ยาปฏิชีวนะไม่เพียงพอ แผลจะหายชั่วคราวและย้อนกลับเป็นซ้ำได้

ดูแลตนเองอย่างไร?

การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคแผลกามโรคเรื้อรังที่ขาหนีบหลังจากพบแพทย์แล้วคือ

  • ปฏิบัติตามแพทย์พยาบาลแนะนำ
  • กินยา/ใช้ยาที่แพทย์สั่ง ให้ครบถ้วนถูกต้อง ไม่ขาดยา ไม่หยุดยาเอง
  • งดการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าไม่พบมีแผลแล้ว และการมีเพศสัมพันธ์ต่อไปหลังไม่มีแผลแล้วต้องใช้ถุงยางอนามัยชายทุกครั้ง
  • ตรวจเลือด หาการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆที่อาจจะพบร่วมด้วยเช่น เอดส์ ซิฟิลิส ไวรัสตับอักเสบ บี นอกจากนี้ควรตรวจหาภาวะเบาหวานด้วยเพราะอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดแผลเรื้อรังได้
  • สวมเสื้อผ้าที่หลวมสบายเพื่อไม่ให้ไปกดทับ/เสียดสีแผล
  • รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ลดการติดเชื้อซ้ำซ้อนด้วยการรักษา สุขอนามัยพื้นฐาน(สุขบัญญัติแห่งชาติ)
  • ทำแผลทุกวันตามแพทย์พยาบาลแนะนำ ซึ่งโดยทั่วไปมักทำแผลวันละ 2 ครั้งเช้า เย็น การทำแผลโดยเช็ดแผลด้วยสำลีสะอาดที่ชุบน้ำเกลือล้างแผล (Normal saline) เพื่อเช็ดสารคัดหลั่งที่ปกคลุมแผลออก ลดโอกาสการติดเชื้อซ้ำ ส่วนจะปิดแผลหรือไม่ขึ้น กับขนาดของแผลและการใช้ชีวิตประจำวัน จึงควรสอบถามจากแพทย์พยาบาลที่รักษา ดูแล
  • พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามนัดเสมอ

ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด เมื่อ

  • มีอาการที่ผิดปกติไปจากเดิม
  • แผลขยายใหญ่ขึ้น สารคัดหลั่งกลิ่นเหม็นมากขึ้น หรือมีเลือดออกจากแผลมาก
  • ปวดแผลมาก แผลบวมแดง และ/หรือ มีไข้
  • เมื่อกังวลในอาการ

ป้องกันโรคแผลกามโรคเรื้อรังที่ขาหนีบได้อย่างไร?

ป้องกันโรคแผลกามโรคเรื้อรังที่ขาหนีบได้โดย

1. สวมถุงยางอนามัยชายทุกครั้งเมื่อจะมีเพศสัมพันธ์

2. งดมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนที่มีแผลบริเวณอวัยวะเพศและขาหนีบ

3. ไม่สัมผัสแผลหรือใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้มีแผลต่างๆที่รวมถึง แผลที่อวัยวะเพศและ/หรือขาหนีบ

4. รักษาสุขภาพร่างกายด้วยการรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) ไม่สำส่อนทางเพศ

5. ไม่ดื่มสุราเพราะจะทำให้ขาดสติ เกิดการสำส่อนทางเพศได้ง่าย

บรรณานุกรม

1. http://emedicine.medscape.com/article/1052617-overview#showall[2020,Feb29]

2. http://en.wikipedia.org/wiki/Granuloma_inguinale[2020,Feb29]