กล้ามเนื้ออักเสบ (Myositis)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

กล้ามเนื้ออักเสบ (Myositis) เป็นภาวะหรือกลุ่มโรคของกล้ามเนื้อลายที่เกิดจากเซลล์กล้ามเนื้อลายนั้นๆเกิดการอักเสบขึ้น (Inflammatory myopathy หรือ Inflammatory muscle disease) ทั่วไปมักเป็นการอักเสบเรื้อรัง แต่ก็พบเป็นการอักเสบเฉียบพลันได้ ทั้งนี้มีสาเหตุหลากหลายที่ทำให้เกิดกล้ามเนื้ออักเสบ โดยอาการสำคัญในระยะแรกคือกล้ามเนื้อที่อักเสบจะบวม ปวด อ่อนแรง ซึ่งถ้ามีอาการอยู่นานกล้ามเนื้อมัดนั้นจะลีบลงจนทำงานไม่ได้

กล้ามเนื้ออักเสบโดยทั่วไปมักเกิดพร้อมกันทุกมัดในร่างกาย แต่ในแต่ละมัดอาจมีอาการมากน้อยต่างกัน อย่างไรก็ตามบางครั้งอาจมีกล้ามเนื้ออักเสบเพียงมัดเดียวได้ซึ่งขึ้นกับสาเหตุ เช่น เกิดจากกล้ามเนื้อมัดนั้นติดเชื้อแบคทีเรียและเกิดเป็นหนองขึ้นในที่สุด

กล้ามเนื้ออักเสบเป็นโรค/ภาวะพบได้ไม่บ่อย ทั่วโลกจึงยังไม่มีสถิติการเกิดที่ชัดเจน แต่ในสหรัฐอเมริกามีรายงานว่าในแต่ละปีจะพบเกิดโรคนี้ประมาณ 1 - 4 รายต่อประชากร 1 แสนคน

กล้ามเนื้ออักเสบพบได้ในทุกอายุตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ ในเด็กช่วงอายุที่พบบ่อยคือ อายุ 5 - 15 ปี ส่วนในผู้ใหญ่คือช่วงอายุ 30 - 60 ปี พบได้ในทุกเพศโดยทั่วไปพบเกิดในผู้หญิงมากกว่าในผู้ชาย แต่มีบางสาเหตุที่พบในผู้ชายสูงกว่าในผู้หญิงเช่น โรค Inclusion body myositis (โรคกล้ามเนื้ออักเสบที่ยังไม่ทราบสาเหตุแต่เชื่อว่าอาจเกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรม)

กล้ามเนื้ออักเสบมีสาเหตุจากอะไร?

กล้ามเนื้ออักเสบ

สาเหตุของกล้ามเนื้ออักเสบที่พบบ่อยได้แก่

ก. กล้ามเนื้ออักเสบที่ไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด (Idiopathic inflammatory myo pathy): แต่เชื่อว่าน่าเกิดจากมีความผิดปกติทางพันธุกรรมที่ส่งผลให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่อกล้ามเนื้อและ/หรือต่อเนื้อเยื่อเกี่ยวพันของตนเองซึ่งเช่นเดียวกับในโรคออโตอิมมูน หรือการที่กล้ามเนื้ออักเสบอาจเป็นอาการแสดงส่วนหนึ่งของโรคออโตอิมูนก็ได้ โรคกล้ามเนื้ออักเสบในกลุ่มนี้มักเป็นโรคเรื้อรัง รักษาไม่หาย การพยากรณ์โรคจึงไม่ค่อยดี

โรคกล้ามเนื้ออักเสบในกลุ่มนี้แบ่งได้เป็น 3 กลุ่มโรคหลักคือ

  • Polymyositis (ย่อว่า PM): คือโรคที่มีการอักเสบของกล้ามเนื้อหลายมัดพร้อมกัน แต่ที่พบบ่อยคือกล้ามเนื้อมัดที่อยู่ใกล้ลำตัว (เช่น ต้นแขน ต้นขา) และที่ลำตัวเช่น กล้ามเนื้อหลอดอาหาร ที่ส่งผลให้กลืนลำบาก และ/หรือกล้ามเนื้อซึ่โครงที่เกี่ยวข้องกับการหายใจที่ส่งผลให้ผู้ป่วยไม่สามารถหายใจเองได้
  • Dermatomyositis (ย่อว่า DM): โรคที่มีกล้ามเนื้ออักเสบหลายมัดเช่นเดียวกับในกลุ่ม Polymyositis แต่จะมีผิ่นผิวหนังอักเสบ แดง เป็นสะเก็ด ร่วมด้วยเสมอ ซึ่งผื่นนี้มักพบที่ใบหน้า ลำคอ รอบตา และในบริเวณที่ผิวหนังได้รับแสงแดดเป็นประจำ โรคนี้พบเกิดร่วมกับโรคมะเร็งได้ประมาณ 10% โดยสามารถเกิดในมะเร็งได้ทุกชนิดที่พบได้บ่อยเช่น มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งในระบบศีรษะและลำคอ
  • Inclusion body myositis (ย่อว่า IBM): โรคในกลุ่มนี้กล้ามเนื้ออักเสบจะเกิดได้กับกล้าม เนื้อทุกมัดแต่มักเป็นซีกเดียวกันเช่น ซ้ายหรือขวา โดยโรคจะค่อยๆมีอาการและอาการค่อยๆเลวลงเรื่อยๆ กล้ามเนื้อจะค่อยๆลีบลงๆใช้ระยะเวลาเป็นหลายเดือนถึงหลายปี อาการกล้ามเนื้อลีบอาจพบเริ่มต้นที่กล้ามเนื้อของนิ้วหรือของข้อมือ และประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยมักร่วมกับการกลืนลำบาก

ข. กล้ามเนื้ออักเสบจากติดเชื้อ (Infectious myositis): ซึ่งอาจเกิดกล้ามเนื้ออักเสบทั้งตัวที่พบบ่อยคือ จากร่างกายติดเชื่อเช่น จากเชื้อไวรัส (เช่น ไข้หวัดใหญ่ เอชไอวี), จากเชื้อแบคทีเรีย (เช่น โรคฉี่หนู) ซึ่งการติดเชื้อแบคทีเรียอาจเป็นการอักเสบติดเชื้อเฉพาะกล้ามเนื้อมัดเดียวและเกิดเป็นหนองได้เช่น จากการฉีดสารเสพติดด้วยเข็มที่ไม่สะอาด, ทั้งนี้ส่วนใหญ่ของกล้ามเนื้ออักเสบจากติดเชื้อมักเป็นการอักเสบแบบเฉียบพลัน และเป็นสาเหตุที่มีการพยากรณ์โรคที่ดี โรคมักรักษาได้หายหรือรักษาควบคุมโรคได้ดีเนื่องจากทราบสาเหตุที่สามารถรักษาควบคุมโรคได้หายหรือรักษาให้โรคสงบได้ (เช่น ในเอชไอวี)

ค. กล้ามเนื้ออักเสบเฉียบพลันที่ไม่รุนแรง (Benign acute myositis): เป็นโรคกล้ามเนื้ออักเสบเฉียบพลันที่มักพบในเด็ก โดยมักเกิดตามหลังการติดเชื้อบางชนิดโดยเฉพาะการติดเชื้อไวรัสเช่น ในโรคไข้หวัดใหญ่ อาการมักเกิดกับกล้ามเนื้อขาโดยเฉพาะกล้ามเนื้อน่องทั้ง 2 ข้างส่งผลให้เกิดอาการเจ็บขาจนอาจเดินไม่ได้ทันที โดยเด็กมักมีอาการของการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจนำมาก่อน เมื่ออาการจากการติดเชื้อฯหายแล้วจึงได้เกิดกล้ามเนื้ออักเสบตามมา ซึ่งสาเหตุการเกิดกล้ามเนื้ออักเสบในกลุ่มนี้ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่าเกี่ยวข้องกับภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายที่มีต่อเชื้อนั้นๆ ซึ่งโรคกล้ามเนื้ออักเสบในกลุ่มนี้มักมีการพยากรณ์โรคที่ดี โรคมักหายได้เองภายในระยะเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ด้วยการรักษาประคับประคองตามอาการ

ง. กล้ามเนื้ออักเสบที่มีหินปูนจับ (Myositis ossification): เป็นกล้ามเนื้ออักเสบที่ไม่รุนแรง มักเกิดตามหลังกล้ามเนื้อได้รับบาดเจ็บแบบเกิดฟกช้ำ มีเลือดออกภายในกล้ามเนื้อ และร่างกายมีการซ่อมแซมที่ผิดปกติโดยเกิดเป็นเนื้อเยื่อกระดูกในแผลฟกช้ำนั้น ทำให้เกิดเป็นก้อนกระดูกขึ้นในกล้ามเนื้อมัดนั้น ก่ออาการเจ็บปวดเมื่อคลำหรือใช้งานกล้ามเนื้อมัดนั้น กล้ามเนื้ออักเสบสาเหตุนี้มีการพยากรณ์โรคที่ดี รักษาหายได้ด้วยการรักษาประคับประคองตามอาการเพื่อคอยให้ร่างกายค่อยๆดูดซึมหินปูน/กระดูกที่เกิดให้หมดไป หรืออาจใช้การผ่าตัดก้อนกระดูกนั้นออก ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา

จ. กล้ามเนื้ออักเสบที่เกิดจากผลข้างเคียงของยารักษาโรค (Drug-induced myositis): ยาบางชนิดมีผลข้าเคียงทำให้กล้ามเนื้ออักเสบที่มักเกิดพร้อมกันหลายๆมัด อาการมักเกิดภายใน 1 สัปดาห์หลังใช้ยานั้นเช่น ยาในกลุ่มยาลดไขมัน (เช่น Gemfibrozil และยาในกลุ่ม Statins), ยา Interferon โดยโอกาสเกิดจะสูงขึ้นเมื่อใช้ยานี้หลายตัวร่วมกัน กล้ามเนื้ออักเสบจากสาเหตุนี้มักมีการพยากรณ์โรคที่ดี อาการมักหายได้หลังหยุดยานานประมาณ 2 - 3สัปดาห์ถึงหลายเดือนขึ้นกับความรุนแรงของการเกิดกล้ามเนื้ออักเสบนั้นๆ

กล้ามเนื้ออักเสบมีอาการอย่างไร?

อาการกล้ามเนื้ออักเสบแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มอาการหลักคือ อาการทั่วไป, อาการจากตัวกล้าม เนื้อที่อักเสบ และอาการจากสาเหตุ

ก. อาการทั่วไป: เป็นอาการที่เหมือนกันในผู้ป่วยเกือบทุกคนเช่น อ่อนเพลีย เหนื่อยล้า เจ็บคอเรื้อรัง มีไข้มักเป็นไข้ต่ำๆแต่ก็มีไข้สูงได้ เบื่ออาหาร

ข. อาการจากตัวกล้ามเนื้อที่อักเสบ: อาการที่เหมือนกันในผู้ป่วยแต่ละคนได้แก่ กล้ามเนื้อที่อักเสบมักบวมและเจ็บเมื่อจับคลำและเมื่อใช้งาน ร่วมกับมีกล้ามเนื้ออ่อนแรง และในระยะยาว กล้ามเนื้อจะลีบจากเซลล์กล้ามเนื้อกลายเป็นพังผืด ในระยะแรกของโรคนอกจากการบวม กล้าม เนื้อมัดนั้นอาจแดง จับดูจะรู้สึกร้อน

นอกจากนั้นคืออาการตามการทำงานของกล้ามเนื้อมัดที่อักเสบซึ่งจะต่างกันในแต่ละคนขึ้นกับว่ากล้ามเนื้อมัดใดอักเสบเช่น

  • แขน ขาอ่อนแรง เคลื่อนไหวไม่ได้ ถ้าการอักเสบเกิดจากกล้ามเนื้อแขน ขา
  • อาการกลืนลำบากเมื่อการอักเสบเกิดกับกล้ามเนื้อหลอดอาหารหรือกล้ามเนื้อในลำคอ
  • หายใจเองไม่ได้ถ้าอาการมากอาจจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ เมื่อการอักเสบเกิดกับกล้ามเนื้อซี่โครง เป็นต้น

ค. อาการจากสาเหตุ: เป็นอาการที่แตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละคนตามสาเหตุดังกล่าว แล้วในหัวข้อ สาเหตุ เช่น

  • อาการจากโรคออโตอิมมูนเมื่อสาเหตุเกิดจากโรคออโตอิมูน
  • อาการจากโรคมะเร็งชนิดที่เป็นสาเหตุให้เกิดกล้ามเนื้ออักเสบเช่น มะเร็งปอด มะเร็งโพรงหลังจมูก เป็นต้น

นอกจากนี้บางสาเหตุอาจก่อให้เกิดอาการจากการอักเสบของอวัยวะอื่นๆที่อาจเกิดร่วม กับกล้ามเนื้ออักเสบเช่น สาเหตุจากโรคออโตอิมูน นอกจากเกิดอาการกล้ามเนื้ออักเสบแล้วยังอาจมีอาการไอแห้งๆ/ไอไม่มีเสมหะเมื่อมีปอดอักเสบร่วมด้วย หรือมีปัญหาในการเห็นภาพเมื่อมีจอตาอักเสบร่วมด้วย หรือปวดข้อจากมีข้ออักเสบร่วมด้วย หรือมีอาการโรคหัวใจจากโรคหลอดเลือดอักเสบโดยเฉพาะหลอดเลือดหัวใจอักเสบร่วมด้วย เป็นต้น

ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?

เมื่อมีอาการต่างๆที่กล่าวแล้วในหัวข้อ อาการ หรือเมื่อสงสัยว่าจะมีกล้ามเนื้ออักเสบ ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล

แพทย์วินิจฉัยสาเหตุกล้ามเนื้ออักเสบอย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยกล้ามเนื้ออักเสบและหาสาเหตุของกล้ามเนื้ออักเสบได้จากประวัติอาการ ประวัติทางการแพทย์ต่างๆ ประวัติการเจ็บป่วยต่างๆในอดีตและที่เพิ่งผ่านมา ประวัติการใช้ยาต่างๆ การตรวจร่างกาย การตรวจคลำกล้ามเนื้อมัดที่เกิดอาการ การตรวจเลือดดูค่าต่างๆเช่น ซีบีซี/CBC ที่บอกถึงการติดเชื้อ ค่าเอนไซม์ที่บอกถึงมีการอักเสบของกล้ามเนื้อ (CK, Creatine kinase หรือ CPK, Creatine phosphokinase) ค่าสารภูมิต้านทานและ/หรือสารก่อภูมิต้านทานของโรคที่แพทย์สงสัยเป็นสาเหตุ การตรวจภาพกล้ามเนื้อด้วยเอกซเรย์ อัลตราซาวด์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และ/หรือเอมอาร์ไอ อาจมีการตรวจคลิ่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ และอาจมีการตัดชิ้นเนื้อจากกล้ามเนื้อที่มีการอักเสบเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา

รักษากล้ามเนื้ออักเสบอย่างไร?

แนวทางการรักษากล้ามเนื้ออักเสบคือ การรักษาการอักเสบของตัวกล้ามเนื้อ, การรักษาสาเหตุ และการรักษาประคับประคองตามอาการ

ก. การรักษาการอักเสบของกล้ามเนื้อ: เป็นการรักษาแนวทางเดียวกันในผู้ป่วยแต่ละคนคือ การใช้ยาต้านการอักเสบ/ยาแก้อักเสบที่อาจเป็นยาในกลุ่มสเตียรอยด์และ/หรือกลุ่มเอ็นเสด และอาจใช้ยาในกลุ่มกดภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย (เช่น ยา Methotrexate) เมื่อสาเหตุเกิดจากร่างกายมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคผิดปกติ ที่อาจเป็นยากินหรือยาฉีดขึ้นกับความรุนแรงของอาการและดุลพินิจของแพทย์

ทั้งนี้การรักษาร่วมไปด้วยกับการใช้ยาที่สำคัญสำหรับการอักเสบที่เกิดกับกล้ามเนื้อแขน ขา มือ เท้า นิ้วมือ นิ้วเท้า คือการพักใช้งาน (Rest) กล้ามเนื้อมัดที่อักเสบ และการใช้อุปกรณ์ช่วยไม่ให้กล้ามเนื้อมัดที่อักเสบนั้นๆเคลื่อนที่หรือให้เคลื่อนที่ได้น้อยที่สุด (Immobilization) และร่วมกับการทำกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพกล้ามเนื้อที่อักเสบเหล่านั้น

ข. การรักษาสาเหตุ: เป็นการรักษาที่ต่างกันในผู้ป่วยแต่ละคนเช่น รักษามะเร็งปอดเมื่อสาเหตุเกิดจากโรคมะเร็งปอด รักษาโรคออโตอิมมูนเมื่อสาเหตุเกิดยาโรคออโตอิมมูน ส่วนการรักษาสาเหตุจากยาคือ การหยุดกินยานั้นๆร่วมกับการรักษาประคับประคองตามอาการ การใช้ยาปฏิชีวนะเมื่อกล้ามเนื้ออักเสบติดเชื้อแบคทีเรีย เป็นต้น

ค. การรักษาประคับประคองตามอาการ: คือการรักษาตามอาการของผู้ป่วยแต่ละรายเช่น ยาแก้ปวด ยาลดไข้ ยาแก้ไอ ยาลดบวม

กล้ามเนื้ออักเสบมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

กล้ามเนื้ออักเสบมีการพยากรณ์โรคได้หลากหลายตั้งแต่มีการพยากรณ์โรคที่ดี โรคหายได้ ไปจนถึงมีการพยากรณ์โรคไม่ดี โรครักษาไม่หายหรือเป็นๆหายๆ ดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ สาเหตุ

ในกลุ่มโรคที่มีการพยากรณ์โรคที่ดี มักเป็นกล้ามเนื้ออักเสบเฉียบพลันที่เกิดจากร่างกายติดเชื้อ หรือกล้ามเนื้ออักเสบที่เกิดตามหลังการติดเชื้อของร่างกาย หรือจากกล้ามเนื้อติดเชื้อโดยตรง หรือกล้ามเนื้อได้รับบาดเจ็บฟกช้ำ หรือกล้ามเนื้ออักเสบจากผลข้างเคียงจากยารักษาโรค อย่างไรก็ตามก็จำเป็นต้องใช้ระยะเวลารักษานานเป็นหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน นอกจากนั้นกล้ามเนื้ออักเสบนั้นๆยังสามารถกลับเป็นซ้ำได้อีกเมื่อกลับมาเป็นโรคที่เป็นสาเหตุซ้ำอีก

กล้ามเนื้ออักเสบที่การพยากรณ์โรคไม่ดีที่สุดคือ เมื่อสาเหตุเกี่ยวข้องกับโรคมะเร็ง ซึ่งการพยากรณ์โรคจะขึ้นกับชนิดและระยะของโรคมะเร็งนั้นๆ

กล้ามเนื้ออักเสบชนิดเรื้อรังที่ไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด หรือที่เกี่ยวข้องกับโรคออโตอิมูน จะมีการพยากรณ์โรคกลางๆ โรคไม่หาย แต่การรักษาแต่เนิ่นๆจะช่วยคงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้ยังสามารถใช้กล้ามเนื้อมัดที่อักเสบได้ใกล้เคียงปกติ และช่วยชะลอการกำเริบของโรคให้เกิดห่างออกไปจนผู้ป่วยอาจมีคุณภาพชีวิตใกล้เคียงปกติได้

มีผลข้างเคียงจากกล้ามเนื้ออักเสบอย่างไร?

ผลข้างเคียงจากกล้ามเนื้ออักเสบคือ การเสียคุณภาพชีวิตจากการใช้งานกล้ามเนื้อไม่ได้ตามปกติเช่น เดินไม่ได้ต้องใช้รถเข็น เมื่อโรคเกิดกับกล้ามเนื้อขา ช่วยตนเองได้น้อยเมื่อโรคเกิดกับกล้ามเนื้อแขน หายใจเองไม่ได้ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจเมื่อโรคเกิดกับกล้ามเนื้อซี่โครง หรือกลืนลำบากต้องใช้การให้อาหารทางสายให้อาหารผ่านทางหน้าท้องหรือผ่านทางโพรงจมูกเมื่อโรคเกิดกับกล้ามเนื้อหลอดอาหาร เป็นต้น

นอกจากนั้นคือ การติดเชื้อในบางอวัยวะได้ง่ายโดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรีย เมื่อเป็นการอักเสบของกล้ามเนื้อที่เกี่ยวกับอวัยวะที่สร้างสารคัดหลั่งหรือที่เป็นทางผ่านของอาหารหรือสารคัดหลั่งเช่น การอักเสบของกล้ามเนื้อที่เกี่ยวกับการหายใจอาจก่อให้เกิดปอดอักเสบ เพราะปอดขับเสมหะออกมาไม่ได้ หรือปอดบวมจากกลืนอาหารแล้วสำลักเมื่อมีการอักเสบของกล้ามเนื้อหลอดอาหาร หรือการติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะจากปัสสาวะลำบาก/ปัสสาวะคั่งในกระเพาะปัสสาวะจากมีการอักเสบของกล้ามเนื้อในอุ้งเชิงกรานที่ช่วยในการขับถ่ายปัสสาวะ เป็นต้น

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อกล้ามเนื้ออักเสบ?

การดูแลตนเองเมื่อเป็นกล้ามเนื้ออักเสบที่สำคัญคือ

  • มีสุขภาพจิตที่ดี เข้าใจ ยอมรับ เรียนรู้ และปรับการใช้ชีวิตให้ดำเนินไปได้อย่างมีคุณภาพชีวิต
  • ปฏิบัติตามแพทย์/พยาบาล/นักกายภาพบำบัดแนะนำ
  • กินยาที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วนถูกต้องไม่ขาดยา ไม่หยุดยาเอง
  • พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลและพบนักกายภาพบำบัดตามนัดเสมอ

ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร์?

ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ

  • อาการต่างๆเลวลงเช่น ปวดกล้ามเนื้อมากขึ้น กล้ามเนื้ออ่อนแรงมากขึ้น
  • กลับมามีอาการที่เคยรักษาหายแล้วเช่น มีไข้ กลืนลำบาก ปัสสาวะขัด
  • มีอาการใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนเช่น ไอเป็นเลือด เหนื่อยง่าย บวมทั้งตัว
  • เมื่อกังวลในอาการ

ป้องกันกล้ามเนื้ออักเสบอย่างไร?

การป้องกันกล้ามเนื้ออักเสบคือการป้องกันสาเหตุ ดังนั้นจึงไม่สามารถป้องกันกล้ามเนื้ออัก เสบได้เต็มร้อย ป้องกันได้เฉพาะสาเหตุที่ป้องกันได้เท่านั้นที่สำคัญคือป้องกันการติดเชื้อซึ่งได้แก่

  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
  • กินร้อน ช้อนกลาง และล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะก่อนกินอาหารและหลังเข้าห้องน้ำ
  • รู้จักใช้หน้ากากอนามัย
  • ใช้ยาเฉพาะที่จำเป็น ไม่ใช้ยาพร่ำเพรื่อ เมื่อซื้อยาใช้เองต้องปรึกษาเภสัขกรประจำร้านขายยาก่อนเสมอยกเว้นยาสามัญประจำบ้าน
  • ฉีดวัคซีนป้องกันโรคต่างๆตามกระทรวงสาธารณสุขแนะนำ

บรรณานุกรม

  1. Dalakas, M. (2015). N Engl J Med.372, 1734-1747
  2. http://www.myositis.org/learn-about-myositis/types-of-myositis [2016,April30]
  3. http://www.drugs.com/health-guide/myositis.html [2016,April30]
  4. http://www.ninds.nih.gov/disorders/inflammatory_myopathies/detail_inflammatory_myopathies.html [2016,April30]
  5. http://www.orthop.washington.edu/?q=patient-care/articles/arthritis/myositis.html [2016,April30]
  6. http://www.myositis.org/storage/documents/Publications_for_website/2014_-_Myositis_101_ForDocs_small.pdf [2016,April30]
  7. http://www.biomedcentral.com/1471-2474/13/103 [2016,April30]