กลุ่มอาการจากการหลั่งสารไซโตไคน์ (Cytokine Releasing Syndrome: CRS)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คืออะไร?

กลุ่มอาการจากการหลั่งสาร*ไซโตไคน์ (Cytokine Releasing Syndrome  ย่อว่า ซีอาร์เอส/CRS) คือ กลุ่มอาการอักเสบเฉียบพลันที่ไม่ได้เกิดจากกการติดเชื้อของอวัยวะต่างๆในร่างกายแต่เกิดจากผลข้างเคียงของยาบางชนิดในกลุ่มยาโมโนโคลนอลแอนตีบอดี (Monoclonal Antibodies)

*ไซโตไคน์ (Cytokine) คือ สารโปรตีน หรือ สารไกลโคโปรตีน (Glycoprotein) ขนาดเล็ก ทำหน้าที่ในการสื่อสารระหว่างเซลล์เพื่อตอบสนองต่อสิ่ง/ตัวกระตุ้น  สารไซโตไคน์สร้างจากเซลล์เม็ดเลือดขาวและเซลล์ต่างๆในร่างกาย โดยมีหลายประเภท เช่น

  • อินเตอร์เฟอรอน (Interferon): เป็นไซโตไคน์ที่สร้างจากเซลล์ที่ติดเชื้อไวรัส และสามารถออกฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของไวรัสในเซลล์ข้างเคียงที่ติดเชื้อไวรัสได้  
  • อินเตอร์ลิวคิน (Interleukin): เป็นกลุ่มของสารไซโตไคน์ที่ทำหน้าที่ในการประสานการทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาว, และ
  • ทูเมอร์นีโครติกแฟกเตอร์ (Tumor Necrotic Factor ย่อว่า TNF): เป็นไซโตไคน์ที่ทำหน้าที่ทำลายเซลล์แปลกปลอมบางชนิด เช่น เซลล์มะเร็ง เป็นต้น

ไซโตไคน์มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับระบบภูมิคุ้มกัน/ระบบภูมิต้านทาน/ระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายมนุษย์ โดยมีส่วนช่วยในการกระตุ้นการทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาวให้สามารถกำจัดเชื้อโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ, หรือกระตุ้นการพัฒนาสร้างสารภูมิต้านทานในร่างกาย

ไซโตไคน์ออกฤทธิ์ได้โดยการจับกับตัวรับ(Receptor)ที่มีความจำเพาะสูง สามารถออกฤทธิ์ได้แม้มีการหลั่งสารไซโตไคน์จากร่างกายในปริมาณน้อยมากก็ตาม

ปัจจุบัน แนวทางการพัฒนายารักษาโรคมะเร็งมุ่งเน้นการพัฒนายาที่มีความจำเพาะสูงเพื่อลดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง) ในกลุ่มเดิม (ยาเคมีบำบัด) เช่น ยาภูมิคุ้มกันบำบัดโรคมะเร็ง (Cancer immunotherapy) อาทิ กลุ่มยาโมโนโคลนอลแอนตีบอดี หรือ ยาที่มีความจำเพาะกับแอนติเจน (Antigen)ของเซลล์มะเร็ง

อย่างไรก็ดี พบว่าการใช้วิธีการภูมิคุ้มกันบำบัดโรคมะเร็งนั้นมีความเสี่ยงที่ผู้ป่วยจะเกิดภาวะที่เรียกว่า “กลุ่มอาการจากการหลั่งไซโตไคน์ (Cytokine Releasing Syndrome ย่อว่า  CRS/ซีอาร์เอส)” ซึ่งหากกลุ่มอาการนี้มีความรุนแรง อาจก่อให้เกิดอันตรายถึงตายได้

กลุ่มอาการจากการหลั่งสารไซโตไคน์มีสาเหตุจากอะไร?

กลุ่มอาการจากการหลั่งสารไซโตไคน์

 

กลุ่มอาการจากการหลั่งสารไซโตไคน์เกิดขึ้นจากการที่เซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด ‘ลิมโฟไซต์ (Lymphocyte)’ เช่น บีเซลล์ (B Cells), ทีเซลล์ (T cells), และไมอีลอยด์เซลล์ (Myeloid Cells เช่น แมโครฟาจ/Macrophage), ถูกกระตุ้นจากตัวกระตุ้นจึงหลั่งสารไซโตไคน์ชนิดต่างๆที่มีคุณสมบัติเกี่ยวข้องกับการอักเสบ (Inflammatory Cytokines)เข้าสู่กระแสเลือด/ร่างกาย โดยยาที่มีส่วนในการกระตุ้นการหลั่งไซโตไคน์ เช่นยา มูโรโมแนบ-ซีดี 3 (Muromonab-CD3), อะเลมทูซูแมบ (Alemtuzumab), ริทูซิแมบ (Rituximab) เป็นต้น

กลุ่มอาการจากการหลั่งสารไซโตไคน์มีอาการอย่างไรบ้าง?

ดังที่ได้กล่าวใน “หัวข้อ สาเหตุฯ” ว่า กลุ่มอาการจากการหลั่งไซโตไคน์เกิดจากการหลั่งสารไซโตไคน์ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการอักเสบในร่างกาย   ร่างกายของผู้ป่วยจึงมีการตอบสนอง(อาการต่างๆ/กลุ่มอาการ)เช่นเดียวกับเมื่อเกิดการอักเสบจากการติดเชื้อโรค  เช่น มีไข้  หนาวสั่น  ไม่มีแรง/อ่อนเพลีย  คลื่นไส้   ปวดหัว   อาเจียน  มีผื่นขึ้นทั่วตัว ความดันโลหิตต่ำ   ชีพจร/ หัวใจเต้นเร็ว  หายใจเร็ว   เป็นต้น

หากอาการ/กลุ่มอาการดังกล่าวมีความรุนแรงอาจพบ ภาวะหัวใจล้มเหลว, หอบเหนื่อย/หายใจลำบาก/กลุ่มอาการหายใจลำบากเฉียบพลัน(Respiratory distress syndrome), ภาวะพิษในระบบประสาท (Neurologic toxicity), เกิดภาวะไตล้มเหลว/ไตวาย, และ/หรือ ตับล้มเหลว/ตับวาย  ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงตายได้

ควรพบแพทย์เมื่อใด?

กลุ่มอาการจากการหลั่งไซโตไคน์เป็นอาการเฉียบพลัน สามารถเกิดขึ้นได้ในระยะเวลาไม่นาน เป็นนาที หลังจากใช้ยา/บริหารยาที่เป็นสาเหตุ, จนถึงอาจเกิดหลังใช้ยาฯนานหลายชั่วโมง  

‘การมีไข้’ที่เกิดขึ้นหลังได้รับยารักษามะเร็งชนิดโมโนโคลนอลแอนตีบอดีถือเป็นสัญญาณแรกของกลุ่มอาการนี้   ดังนั้นหากภายหลังการได้รับยารักษามะเร็งชนิดโมโนโคลนอลแอนตีบอดี โดยเฉพาะยามูโรโมแนบ-ซีดี 3 (Muromonab-CD3), ยาอะเลมทูซูแมบ (Alemtuzumab), ยาริทูซิแมบ (Rituximab), แล้วมีอาการดังที่กล่าวไปแล้วใน “หัวข้อ อาการฯ” ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยทันที/ฉุกเฉิน

แพทย์วินิจฉัยกลุ่มอาการจากการหลั่งสารไซโตไคน์ได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยกลุ่มอาการจากการหลั่งสารไซโตไคน์ได้จาก ประวัติการใช้ยาที่เป็นสาเหตุ, ร่วมกับประวัติอาการต่างๆของผู้ป่วย

อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยที่เกิดกลุ่มอาการจากการหลั่งสารไซโตไคน์จะมีอาการคล้ายกับผู้ป่วยที่มีการอักเสบจากการติดเชื้อ เช่น อาการมีไข้สูง  หนาวสั่น  คลื่นไส้อาเจียน  อ่อนแรง,  และถึงแม้ผู้ป่วยมีประวัติการใช้ยาในกลุ่มโมโนโคลนอลแอนตีบอดี แต่แพทย์ก็อาจพิจารณาเพาะเชื้อจากเลือดเพื่อให้แน่ใจว่า อาการที่เกิดขึ้น เกิดจากการติดเชื้อหรือเกิดจากยานี้(ยาที่ก่อกลุ่มอาการจากการหลั่งสารไซโตไคน์)

อนึ่ง: การตรวจหาระดับสารไซโตไคน์ต่างๆในกระแสเลือดถือเป็นการตรวจยืนยันกลุ่มอาการนี้, อย่างไรก็ดี ยังไม่มีข้อมูลเชิงประจักษ์ (ข้อมูลจากการศึกษาวิจัย) ว่า ระดับของไซโตไคน์ในกระแสเลือด สามารถช่วยทำนายความรุนแรงของกลุ่มอาการนี้ในผู้ป่วยได้

นอกจากนี้ การวัดความดันโลหิต และวัดปริมาณออกซิเจนในกระแสเลือด ก็มีความสำคัญในการวินิจฉัยเพื่อบอกความรุนแรงของกลุ่มอาการนี้ และเพื่อการเลือกวิธีการรักษาให้แก่ผู้ป่วยต่อไป

กลุ่มอาการจากการหลั่งสารไซโตไคน์รักษาอย่างไร?

การรักษากลุ่มอาการจากการหลั่งสารไซโตไคน์ แพทย์จะรักษาตามอาการ,และตามความรุนแรงของอาการ เช่น    

  • หากผู้ป่วยมีอาการเบื้องต้น: เช่น มีไข้ หนาวสั่น  ปวดหัว  คลื่นไส้อาเจียน  แพทย์จะทำการรักษาตามอาการอย่างใกล้ชิด  เช่น อาจมีการให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ, ยาลดไข้,  หรือยาแก้ปวด      
  • หากอาการมีความรุนแรง: เช่น ความดันโลหิตต่ำ แพทย์จะให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ
  • ถ้าค่าออกซิเจนในเลือดต่ำ: แพทย์จะให้ออกซิเจนกับผู้ป่วย   
  • และแพทย์จะติดตามการทำงานของอวัยวะต่างๆของร่างกายอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการทำงานของหัวใจ เพื่อการรักษาประคับประคองตามอาการของอวัยวะต่างๆเหล่านั้น
  • ในผู้ป่วยที่มีความรุนแรงสูงจากภาวะนี้: แพทย์อาจมีการใช้ยาร่วมกับการรักษาแบบประคับประคองตามอาการ  ยาที่มีการนำมาใช้รักษากลุ่มอาการนี้ เช่น
    • ยาโทซิลิซูแมบ (Tocilizumab) ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นยาที่ใช้รักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์/โรคข้อรูมาตอยด์ ที่มีการทำงานยับยั้งสารอินเตอร์ลิวคิน 6 (Interleukin 6; IL-6) อย่างไรก็ดี มีการนำใช้รักษากลุ่มอาการนี้ในสถาบันการแพทย์หลายแห่ง และพบว่ามีประสิทธิภาพในการรักษากลุ่มอาการจากการหลั่งสารไซโตไคน์ชนิดรุนแรงได้

อนึ่ง: แพทย์อาจพิจารณาให้ยาในกลุ่มเสตียรอยด์ควบคู่ไปด้วยก็ได้ ซึ่งจากการศึกษาทางคลินิกพบว่า ยาเสตียรอยด์มีส่วนช่วยในการรักษากลุ่มอาการนี้ได้เช่นเดียวกัน  โดยยาเสตียรอยด์ที่นิยมใช้ เช่น ยาเมธิลเพรดนิโซโลน(Methylprednisolone) และ ยาเด็กซาเมธาโซน (Dexamethasone)

การพยากรณ์ของโรคเป็นอย่างไร? และมีผลข้างเคียงจากกลุ่มอาการจากการหลั่งสารไซโตไคน์อย่างไรบ้าง?

กลุ่มอาการจากการหลั่งไซโตไคน์เป็นกลุ่มอาการที่พบได้น้อย ไม่บ่อยนัก โดยเป็นอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)จากการได้รับยารักษามะเร็งในกลุ่มโมโนโคลนอลแอนตีบอดี อาการอาจจะเกิดขึ้นตั้งแต่เป็นนาทีจนถึงเป็นชั่วโมงภายหลังได้รับยาดังกล่าวไปแล้ว  ผู้ป่วยจึงควรเฝ้าระวัง   หากเกิดอาการ ไข้สูง หนาวสั่น คลื่นไส้อาเจียน ภายหลังการได้รับยาในกลุ่มนี้ ควรรีบเข้าพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยทันที/ฉุกเฉิน

*ความรุนแรงของอาการ/การพยากรณ์โรคของกลุ่มอาการนี้ขึ้นอยู่กับปฏิกิริยาการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายของผู้ป่วย’ที่ไม่อาจคาดเดาได้’ การเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุดจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง   

หากผู้ป่วยมีอาการที่รุนแรง อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของอวัยวะสำคัญต่างๆ เช่น หัวใจ ไต  ตับ เป็นต้น จนอาจส่งผลให้เกิด ภาวะหัวใจล้มเหลว, ไตวาย, ตับวาย, จนเป็นเหตุให้ถึงตายได้

ป้องกันกลุ่มอาการจากการหลั่งสารไซโตไคน์อย่างไร?

กลุ่มอาการจากการหลั่งสารไซโตไคน์เป็นกลุ่มอาการที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่สามารถคาดเดาได้ ผู้ป่วยจึงควรเฝ้าระวังอาการเป็นพิเศษภายหลังการได้รับยาต่างๆ โดยเฉพาะยารักษาโรคมะเร็ง  และมิใช่เพียงแค่ครั้งแรกที่ได้รับยาฯเท่านั้น ผู้ป่วยควรเฝ้าระวังอาการจากกลุ่มอาการนี้ทุกครั้งภายหลังการรับยาฯ

สรุป

ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ "ยา" ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด ยาแผนโบราญทุกชนิด  อาหารเสริม และสมุนไพรต่างๆ เสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยา ก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

อนึ่ง: กลุ่มอาการที่ก่ออันตรายที่นอกเหนือจาก 'กลุ่มอาการจากการหลั่งสารไซโตไคน์' ที่เป็นผลข้างเคียงจากการใช้ยาต่างๆที่พบได้ ถึงแม้จะพบได้น้อย แต่เมื่อเกิดขึ้นก็เป็นอันตรายถึงตายได้ เช่น

  • กลุ่มอาการเซโรโทนิน (Serotonin syndrome)
  • กล้ามเนื้อลายสลาย (Rhabdomyolysis)
  • ไข้สูงอย่างร้าย (Malignant hyperthermia)
  • แอแนฟิแล็กซิส (Anaphylaxis)
  • สะตีเวนส์จอห์นสัน (Stevens-Johnson syndrome)

บรรณานุกรม

  1. Daniel W. Lee, Rebecca Gardner, David L. Porter, et al. Current concepts in the diagnosis and management of cytokine release syndrome. Blood 2014 124:188-195.
  2. Breslin S. Cytokine-release syndrome: overview and nursing implications. Clin J Oncol Nurs. 2007 Feb;11(1 Suppl):37-42.
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Cytokine_release_syndrome [2023,Jan14]