กลุ่มยามอร์ฟีแนน (Morphinan class)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

กลุ่มยามอร์ฟีแนน (Morphinan class) เป็นสารประกอบที่มีโครงสร้างทางเคมีในลักษณะที่เรียกว่า Phenanthrene จัดเป็นกลุ่มยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทโดยตรง ยามอร์ฟีแนนมีสรรพคุณเป็น ยาแก้ปวด ยาแก้ไอ รวมถึงเป็นยาที่มีฤทธิ์หลอนประสาท(ทำให้เกิดอาการประสาทหลอน)อีกด้วย

เราสามารถพบเห็นการใช้ยากลุ่มมอร์ฟีแนน ตามสถานพยาบาลได้มากมายหลายรายการยา อาทิ

  • Codeine: ใช้เป็นยาลดอาการเจ็บปวดระดับต่ำไปจนถึงระดับกลาง นอกจากนี้ ยังมีฤทธิ์กดอาการไอได้ด้วย
  • Hydromorphone: มีฤทธิ์ลดอาการปวดระดับกลางถึงขั้นปวดมากทั้งแบบเฉียบพลันและแบบเรื้อรัง ยานี้มีความเสี่ยงต่อการติดยา ดังนั้นยา Hydromorphone จึง มักจะถูกเลือกให้เป็นยาบำบัดอาการปวดหลังและการรักษาด้วยการใช้ยาแก้ปวดกลุ่ม non-opioids และกลุ่ม weak opioids แล้วไม่ได้ผล บางสถานพยาบาลใช้ยานี้ระงับอาการไอที่ไม่สามารถใช้ยาอื่นมาเยียวยาได้
  • Oxycodone: ใช้บำบัดอาการปวดระดับกลางจนถึงอาการปวดขั้นรุนแรง บางสูตรตำรับของยานี้มีการออกแบบให้ออกฤทธิ์ได้ยาวนาน เพื่อควบคุม อาการปวดแบบเรื้อรังได้ดียิ่งขึ้น
  • Levallorphan: ถูกนำมาใช้บำบัดอาการหายใจไม่ออกเนื่องจากการใช้ยากลุ่ม Opioids หรือการใช้ยา Barbiturates ในระหว่างการผ่าตัด หรือกล่าวได้ว่า Levallorphan เป็น Opioid antidote ก็ได้
  • Dextromethorphan: ใช้เป็นยาบำบัดอาการไอแห้งๆที่มิได้มีสาเหตุจากเสมหะ
  • Butorphanol: ใช้ลดอาการปวดระดับกลางจนถึงระดับรุนแรง
  • Pentazocine:ใช้ลดอาการปวดระดับกลางจนถึงระดับรุนแรง
  • Naltrexone: ใช้บำบัดอาการผู้ที่ติดยาเสพติดหรือติดสุรา
  • Nalbuphine : ใช้ลดอาการปวดระดับกลางจนถึงระดับรุนแรง
  • Levorphanol: ใช้ลดอาการปวดระดับกลางจนถึงระดับรุนแรงและยังใช้เป็นยากล่อมประสาทในผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการผ่าตัด
  • Buprenorphine: ใช้บำบัดอาการปวดระดับกลางจนถึงระดับรุนแรงและใช้เป็นยาลดอาการปวดระหว่างการผ่าตัด
  • Hydrocodone: ใช้บำบัดอาการปวดระดับกลางจนถึงขั้นรุนแรงและใช้เป็นยาบรรเทาอาการไอโดยแพทย์อาจใช้ร่วมกับยาบรรเทาอาการไอชนิดอื่น เช่น ยาขับเสมหะ เป็นต้น
  • Naloxone: ใช้บำบัดอาการผู้ที่ติดยาเสพติดหรือบรรเทาอาการผู้ที่ได้รับยาเสพติดเกินขนาด ยานี้ยังช่วยฟื้นฟูสภาพของระบบประสาทส่วนกลาง
  • Oxymorphone: เป็นยาบำบัดอาการปวดระดับกลางจนถึงขั้นปวดแบบรุนแรง
  • Diamorphine: ใช้บำบัดอาการปวดระดับรุนแรงอันมีสาเหตุจากการผ่าตัดหรืออาการปวดที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวร่วมด้วย นอกจากนี้ยังช่วยบรรเทาอาการหายใจติดขัดอันเนื่องมาจากภาวะปอดบวมน้ำเฉียบพลัน(Acute pulmonary edema)
  • Dihydrocodeine: เป็นยาบำบัดอาการปวดระดับกลางจนถึงระดับรุนแรง ยานี้ถูกใช้ลดอาการปวดที่เกิดขึ้นหลังการผ่าตัด รวมถึงบรรเทาอาการปวดฟัน ช่วยลดอาการปวดแบบเรื้อรัง บรรเทาภาวะหายใจติดขัด อาการไอ และใช้บำบัดผู้ป่วยที่ติดเฮโรอีน
  • Dihydromorphine : ใช้บำบัดอาการปวดระดับกลางถึงขั้นรุนแรง
  • Methylnaltrexone: ใช้บำบัดอาการท้องผูกที่มีสาเหตุจากการใช้ยากลุ่ม Opioids ซึ่งอาการท้องผูกลักษณะนี้ไม่สามารถใช้ยาระบายทั่วไปช่วยเหลือได้
  • Pholcodine: ใช้เป็นยากดอาการไอแบบแห้งๆ
  • Nalorphine: ใช้บำบัดอาการผู้ป่วยที่ได้รับยากลุ่ม Opioids เกินขนาด

อนึ่ง :

  • ยังมียากลุ่มมอร์ฟีแนนอีกหลายรายการที่ไม่สามารถนำมาลงในบทความนี้ได้ทั้งหมด
  • ยามอร์ฟีแนนบางกลุ่มถูกนำมาใช้กับสัตว์หรือบางกลุ่มยังอยู่ระหว่างการค้นคว้า

และเพื่อหาข้อสรุปและประโยชน์อย่างแท้จริง การใช้ยากลุ่มนี้ได้อย่างปลอดภัยตลอดจนกระทั่งไม่ก่อให้เกิดภาวะติดยาได้นั้น ผู้ป่วยจะต้องใช้ยาต่างๆทุกชนิดรวมถึงยามอร์ฟีแนนตามคำสั่งของแพทย์ผู้ที่ทำการรักษาอย่างเคร่งครัด ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อแพทย์ตรวจร่างกายตามแพทย์นัดหมายทุกครั้งไป

กลุ่มยามอร์ฟีแนนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

กลุ่มยามอร์ฟีแนน

อาจสรุปสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ของกลุ่มยามอร์ฟีแนนได้ ดังนี้ เช่น

  • ใช้บำบัดอาการปวดตั้งแต่ระดับกลางไปจนกระทั่งระดับรุนแรง โดยสามารถ บรรเทาอาการปวดทั้งแบบเฉียบพลันหรือแบบเรื้อรัง โดยขึ้นอยู่กับชนิดของยามอร์ฟีแนนแต่ละตัว
  • ใช้ต้านพิษของยากลุ่ม Opioid เช่น บรรเทาอาการหายใจไม่ออกในผู้ที่ใช้ยากลุ่ม Opioids เกินขนาด
  • ใช้เป็นยาบรรเทาอาการท้องผูกที่มีสาเหตุจากการใช้ยากลุ่ม Opioids และไม่ สามารถใช้ยาบรรเทาอาการท้องผูกทั่วไปมารักษาได้
  • ใช้เป็นยาบรรเทาอาการไอแห้งๆ

กลุ่มยามอร์ฟีแนนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยามอร์ฟีแนน เป็นกลุ่มยาที่มีโครงสร้างหลักทางเคมีคล้ายคลึงกับยากลุ่มมอร์ฟีน (Morphine) ทำให้ยากลุ่มนี้มีอิทธิพลต่อระบบประสาทส่วนกลาง ส่งผลให้ร่างกายปรับเปลี่ยนความรู้สึก การรับรู้ ตลอดจนการตอบสนองต่อภาวะกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อมทั้งภายนอกและในร่างกาย เช่น อาการปวด อาการไอ เป็นต้น

นอกจากนี้ ตัวยาบางตัวของกลุ่มมอร์ฟีแนนยังสามารถบำบัดอาการทรมานอันเนื่องจากภาวะถอนยาเสพติดให้ทุเลาจนกระทั่งผู้ป่วยกลับมามีสภาพร่างกายเป็นปกติ

อย่างไรก็ตามการเลือกใช้กลไกการออกฤทธิ์ใดๆของยากลุ่มมอร์ฟีแนนมารักษาอาการในผู้ป่วยจะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น

กลุ่มยามอร์ฟีแนนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

มอร์ฟีแนน เป็นกลุ่มยาที่มีหลากหลายรายการ จึงพบเห็นเภสัชภัณฑ์ของยาเหล่านี้ทั้งในลักษณะ ยารับประทานแบบเม็ดและยาน้ำ, ตลอดจนกระทั่งยาฉีดที่ต้องให้ทางหลอดเลือด

การออกแบบเภสัชภัณฑ์ยามีพื้นฐานมาจาก สภาวะการคงตัว, การดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย, การกระจายตัวยาในระบบทางเดินอาหาร, หรือแม้แต่ความเป็นพิษของยานั้นๆที่อาจเกิดขึ้น ต่อร่างกาย, ดังนั้นฝ่ายเภสัชกรรมจึงต้องออกแบบเภสัชภัณฑ์ให้เหมาะสมต่อการใช้กับร่างกายของผู้ป่วยโดยก่อให้เกิดประโยชน์และความปลอดภัยสูงสุด

กลุ่มยามอร์ฟีแนนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ขนาดการบริหารยา/ใช้ยากลุ่มมอร์ฟีแนนแต่ละรายการมีความแตกต่างตามโครงสร้างทางเคมี การใช้ยากลุ่มนี้ได้อย่างปลอดภัยต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์แต่เพียงผู้เดียว

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยามอร์ฟีแนน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคควาดันโลหิตต่ำ โรคตับ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะกลุ่มยามอร์ฟีแนนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

กลุ่มยามอร์ฟีแนนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยามอร์ฟีแนนอาจสร้างผลไม่พึงประสงค์จากยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ได้หลายภาคส่วนของร่างกาย เช่น

  • ทำให้หัวใจเต้นเร็ว หรือ หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • คลื่นไส้-อาเจียน
  • ท้องผูก
  • ปากแห้ง
  • เหงื่อออกมาก
  • ง่วงนอน
  • มึนงง
  • ปัสสาวะไม่ค่อยออก/ ปัสสาวะขัด
  • ความดันโลหิตต่ำ
  • อุณหภูมิร่างกายลดลง
  • ประสาทหลอน
  • อารมณ์แปรปรวน
  • อาการชัก

อย่างไรก็ตามยาแต่ละตัวในกลุ่มนี้อาจกระตุ้นหรือไม่กระตุ้นให้เกิดอาการข้างเคียงดังกล่าวก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการตอบสนองของร่างกายผู้ป่วยแต่ละบุคคลไป

มีข้อควรระวังการใช้กลุ่มยามอร์ฟีแนนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้กลุ่มยามอร์ฟีแนน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยากลุ่มนี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร และเด็ก นอกจากจะมีคำสั่งแพทย์
  • ห้ามปรับขนาดการใช้ยาด้วยตนเอง
  • การใช้ยามอร์ฟีแนนร่วมกับยาอื่นใด ต้องอยู่ภายใต้คำสั่งแพทย์แต่ผู้เดียว
  • หากใช้ยามอร์ฟีแนนแล้วมีอาการข้างเคียงที่รบกวนต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ให้รีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาล เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
  • ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมกลุ่มยามอร์ฟีแนนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

กลุ่มยามอร์ฟีแนนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

การใช้ยามอร์ฟีแนนร่วมกับยาใดๆ มีโอกาสที่จะเกิดการทำปฏิกิริยาร่วมกันหรือ ที่เรียกกันว่า”อันตรกิริยา/ ปฏิกิริยาระหว่างยา” ได้อย่างมากมาย ดังนั้น การใช้ยามอร์ฟีแนนร่วมกับยาชนิดใด ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์แต่ผู้เดียว

และประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลการเกิดอันตรกิริยาระหว่างยามอร์ฟีแนนกับยาชนิดอื่นได้จากเภสัชกรตามร้านขายยาหรือเภสัชกรที่ประจำในสถานพยาบาลที่ตนเองเข้ารับการรักษาได้ตลอดเวลาทำการ

ควรเก็บรักษากลุ่มยามอร์ฟีแนนอย่างไร?

ควรเก็บรักษากลุ่มยามอร์ฟีแนน เช่น

  • เก็บยาตามข้อกำหนดที่ระบุมาในเอกสารกำกับยา
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่เก็บยาที่หมดอายุ
  • ไม่ทิ้งยาลงในแม่น้ำคูคลองตามธรรมชาติ

บรรณานุกรม

  1. https://www.drugbank.ca/categories/DBCAT000690[2019,July6]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Morphinan[2019,July6]
  3. https://www.sciencedirect.com/topics/neuroscience/morphinan[2019,July6]