กระผู้สูงอายุ (Senile lentigo) กระแดด (Solar lentigines)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

กระผู้สูงอายุ(Senile lentigo หรือ Lentigo senilis) หรือ กระแดด (Solar lentigo หรือ Sun-induced freckle) หรือภาษาอังกฤษทั่วไป เรียกว่า Liver spots หรือ Age spot คือ รอยสีน้ำตาลเข้ม ที่พบบริเวณผิวหนังที่ผ่านการตากแดด/โดนแสงแดดมาเป็นเวลายาวนาน พบได้ทั้งเพศหญิงและเพศชาย และพบได้ทุกวัย แต่จะพบได้มากกว่าในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้มีเชื้อชาติที่มีผิวสีขาว ผมสีอ่อน เช่น ผมสีแดง ผมสีทอง

กระผู้สูงอายุ แตกต่างจาก ‘กระทั่วไป’ คือ กระผู้สูงอายุเกิดในคนอายุที่มากขึ้น โดยปริมาณกระผู้สูงอายุจะมากขึ้นตามอายุ และมักไม่จางหายไป (อ่านเพิ่มเติม เรื่อง ‘กระ’ ได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง กระ)

จากรายงานโดยการสำรวจพบว่า ประมาณ 90% ของประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปจะมีกระผู้สูงอายุอยู่

กระผู้สูงอายุเกิดได้อย่างไร?

กระผู้สูงอายุ

กระผู้สูงอายุ เกิดจากการที่เซลล์สร้างเม็ดสี(Melanin) คือเมลาโนไซต์ (Melanocyte) ถูกกระตุ้นเป็นเวลานานจากแสงแดด จึงทำให้เซลล์มีการแบ่งตัวเพิ่มขึ้นและมีการทำงานสร้างเม็ดสีมากขึ้น จึงเห็นเป็นผิวหนังบริเวณนั้น มีสีเข้มกว่าบริเวณโดยรอบ

กระผู้สูงอายุติดต่อได้ไหม?

กระผู้สูงอายุ เป็นโรคผิวหนังที่เกิดจากแสงแดดกระตุ้นการทำงานของเซลล์เมลาโนไซด์อย่างสะสม ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ จึงไม่เป็นโรคติดต่อแต่อย่างใด

กระผู้สูงอายุมีอาการอย่างไร?

อาการ หรือลักษณะของกระผู้สูงอายุ จะมีลักษณะเป็น

  • ผื่นราบ สีน้ำตาลเข้มกว่าผิวหนังโดยรอบ มีขอบเขตชัดเจนและขอบเรียบ
  • โดยทั่วไป มีขนาดใหญ่กว่า 1 เซนติเมตร แต่ก็สามารถพบได้บ้างที่มีขนาดเป็นจุดเล็กๆ
  • มักพบบริเวณผิวที่ถูกแสงแดดปริมาณมาก เช่น โหนกแก้ม หลังมือ และแขน
  • ทั้งนี้เกิดโดยไม่มีอาการอื่นๆร่วมด้วย เช่น โตขึ้นรวดเร็ว เจ็บ คัน บวม หรือเป็นแผล

ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?

โดยทั่วไป กระผู้สูงอายุ ไม่มีผลเสียต่อสุขภาพ แต่เนื่องจากกระผู้สูงอายุ มักพบร่วมกับโรคผิวหนังอื่นๆที่มีปัจจัยการเกิดร่วมกัน ดังนั้นหากไม่มั่นใจว่ารอยโรคที่เป็นอยู่ เป็นกระผู้สูงอายุ หรือเป็นโรคอื่น สามารถมาพบแพทย์ให้ช่วยวินิจฉัยได้

โรคผิวหนังอื่นที่มีปัจจัยเกิดร่วมกับกระผู้สูงอายุ จากการสัมผัสแสงแดดเรื้อรัง เช่น

  • จุดขาวจากการสัมผัสแสงแดด (Idiopathic guttate hypomelanosis)
  • ผื่นผิวหนังจากการรับแสงแดดสะสมชนิดที่อาจพัฒนาเป็นมะเร็งผิวหนังได้ (Actinic hyperkeratosis),
  • หรือกระเนื้อ

แพทย์วินิจฉัยกระผู้สูงอายุได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยกระผู้สูงอายุได้เพียงจาก

  • ประวัติอาการผู้ป่วย
  • อายุ
  • การโดนแสงแดด
  • และการตรวจดูรอยโรค
  • แต่ถ้าแพทย์สงสัยว่า เป็นรอยโรคชนิดที่อาจพัฒนาเป็นมะเร็งได้ แพทย์อาจตัดชิ้นเนื้อจากรอยโรคเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา

รักษากระผู้สูงอายุอย่างไร?

รักษากระผู้สูงอายุได้โดย

  • การทายาที่ทำให้ผิวขาวขึ้น (Whitening agent) แต่วิธีนี้ให้ผลการตอบสนองไม่ดีนัก โดยอาจทำให้สีน้ำตาลของรอยโรคจางลงได้บ้าง
  • การรักษาที่ได้ผลดี คือ
    • การใช้เลเซอร์ชนิด Q-Switch NdYag laser
    • หรือการจี้รอยโรคด้วยความเย็น(Cryotherapy)

กระผู้สูงอายุก่อผลข้างเคียงอย่างไร?

เฉพาะตัวโรคของกระผู้สูงอายุ ไม่มีผลข้างเคียงต่อสุขภาพแต่อย่างใด แต่เนื่องจากกระผู้สูงอายุ คือตัวสะท้อนว่าผิวหนังได้รับแสงแดดมาเป็นปริมาณมากและยาวนาน ในคนที่พบกระแดด/กระผู้สูงอายุมาก จะพบว่า

  • มีแนวโน้มผิวไหม้แดดได้ง่ายกว่าคนทั่วไปประมาณ 2 เท่า
  • และเพิ่มโอกาสเกิดมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา/ มะเร็งไฝได้ประมาณ 3-4 เท่าของคนที่ไม่มีกระผู้สูงอายุ

กระผู้สูงอายุมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

การพยากรณ์โรคของกระผู้สูงอายุ ต่างจาก ‘กระทั่วไป’ ที่รอยโรคของกระทั่วไปสามารถลดลงและอาจหายได้เองเมื่ออายุมากขึ้น (อ่านเพิ่มเติม เรื่อง ‘กระ’ ได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง กระ)

แต่กระผู้สูงอายุนั้น มีแต่จะเพิ่มจำนวนตามอายุและตามการสัมผัสแสงแดด เมื่อกระผู้สูงอายุเกิดขึ้น หากหลบเลี่ยงแสงแดดร่วมกับใช้ครีมกันแดด อาจทำให้รอยโรคจางลง หรือคงอยู่สภาพเดิมไม่มีการเปลี่ยนแปลงได้

ดูแลตนเองอย่างไร?

การดูแลตนเองเมื่อมีกระผู้สูงอายุ คือ

  • การดูแลผิวหนังตามปกติ ร่วมกับ
    • การป้องกันแสงแดด ด้วยการหลีกเลี่ยงแสงแดดจัด
    • และทาครีมกันแดดเป็นประจำ

อนึ่ง มีรายงานว่า *ผู้มีกระผู้สูงอายุ มีโอกาสเกิดมะเร็งผิวหนังเมลาโนมาได้สูงประมาณ 3-4 เท่าของคนที่ไม่มีกระผู้สูงอายุ ดังนั้นผู้มีกระผู้สูงอายุ จึงควรคอยสังเกตว่า กระฯมีลักษณะผิดปกติไปหรือไม่ ซึ่งถ้าพบ กระฯมีลักษณะผิดปกติไปจากเดิม ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล

*ลักษณะของกระฯที่ผิดปกติ เช่น

  • มีขนาดโตเร็ว
  • ขอบหรือผิวกระฯขรุขระ
  • กระฯเป็นรอยแผลแตก
  • หรือกระมีเลือดออกเรื้อรัง

ป้องกันกระผู้สูงอายุอย่างไร?

การป้องกันกระผู้สูงอายุ คือ การหลีกเลี่ยงไม่ให้ผิวหนังได้รับแสงแดดจัด เช่น

  • การสวมหมวกปีกกว้างเมื่อออกแดด
  • การใช้ร่ม
  • การสวมใส่เสื้อผ้าที่ปกปิด
  • การพยายามอยู่ในที่ร่ม
  • นอกจากนั้น คือ การใช้ครีมกันแดดเป็นประจำ

บรรณานุกรม

  1. ปรียา กุลละวณิชย์,ประวิตร พิศาลยบุตร .Dermatology 2020:Aging and geriatric dermatology .พิมพ์ครั้งที่1.กรุงเทพฯ:โฮลิสติก,2555
  2. Lowell A. Goldsmith,Stephen I. Katz,Barbara A. Gilchrest,Amy S. Paller,David J.Leffell,Klaus Wolff.Fitzpatrick’s dermatology in general medicine :Benign neopasias and hyperplasias of melanocytes.eight edition.McGraw-Hill.2012
  3. Bastiaens M, Hoefnagel J,Westendorp R,Vermeer BJ,Bouwes Bavinck JN.Solar lentigigines are strongly related to sun exposure in contrast to ephelides.Pigment cell research .2004Jun:225-9