กระดูกแข็ง (Osteopetrosis)

บทความที่เกี่ยวข้อง
กระดูกแข็ง

กระดูกแข็ง(Osteopetrosis)หรือโรคกระดูกหิน(Stone bone) คือโรคผิดปกติทางพันธุกรรมชนิดถ่ายทอดได้ที่ส่งผลให้กระดูกมีมวลกระดูกเพิ่มมากผิดปกติ กระดูกจึง หนา แข็ง และเปราะ บางท่านให้นิยามว่าแข็งเหมือนหินหรือหินอ่อน(ซึ่งเป็นที่มาของชื่อโรคนี้ คือ Stone bone หรือ Marble bone disease) แต่กระดูกที่พอกหนาและแข็งนี้ จะเปราะและหักง่าย ส่งผลให้ผู้ป่วยโรคนี้มีตัวเตี้ยแคระ และมีรูปร่างของกระดูกทุกชิ้นผิดรูป/ผิดปกติจนส่งผลกดอวัยวะ/เนื้อเยื่อต่างๆจนส่งผลต่อเนื่องให้เกิดอาการผิดปกติต่าง เช่น กะโหลก หนา แข็งผิดรูปที่ทำให้รู/ช่องต่างๆของกะโหลกที่เป็นช่องทางออกของเส้นประสาทสมองมีขนาดเล็ก ตีบแคบ รวมถึงกระดูกที่พอกหนาจะช่วยเสริมให้มีการกดเส้นประสาทสมองทุกเส้น ผู้ป่วยจึงมี หูหนวก(กดเส้นประสาทหู) ตาเห็นภาพไม่ชัดอาจถึงขั้นตาบอดกรณีมีการกดประสาทตา เป็นต้น

โรคกระดูกแข็ง พบได้ทุกอายุ ตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ และพบได้ทั้งในเพศหญิงและเพศชาย สถิติโรคนี้ที่แท้จริงยังไม่ทราบเพราะเป็นโรคพบยากมาก รวมถึงยังไม่มีการศึกษาอย่างเป็นระบบ แต่มีรายงานพบโรคได้ประมาณ 1 รายต่อประชากร 1แสน-5แสนคน

อนึ่ง

  • Osteopetrosis เป็นคำมาจากภาษากรีก โดย Osteo หมายถึง กระดูก ส่วน Petrosis หมายถึง หิน เมื่อรวมกันจึงแปลว่า “กระดูกแข็ง หรือ กระดูกหิน”
  • ชื่ออื่นของโรคนี้ ได้แก่ Marble bone disease หรือ Osteosclerosis fragilis generalisata หรือ Albers-Schnberg disease
  • Albers-Schnberg เป็นแพทย์รังสีวิทยา ชาวเยอรมัน ผู้รายงานโรคกระดูกแข็งนี้เป็นคนแรก ในปีค.ศ 1904

สาเหตุและการแบ่งประเภท/หมู่โรค

โรคกระดูกแข็งประมาณ 70%เกิดจากมีพันธุกรรมผิดปกติ อีกประมาณ 30%แพทย์หาสาเหตุไม่พบ

ในส่วนพันธุกรรมผิดปกติ คือมีจีน/Gene/ยีนผิดปกติที่เป็นเหตุให้เกิดโรคนี้ได้ประมาณ10ชนิด แต่ที่พบบ่อยมี 3 จีน คือ CLCN7, TCIRG1, IKBKG

ทั้งนี้ โรคกระดูกแข็งที่เกิดจากพันธุกรรมผิดปกติแบ่งได้เป็น3 กลุ่มตามชนิดของพันธุกรรมที่ผิดปกติ คือ

ก. Autosomal recessive malignant infantile type คือ กลุ่มโรคทางพันธุกรรมที่เกิดจากพันธุกรรมผิดปกติที่ถ่ายทอดได้ชนิดจีนด้อยที่ไม่เกี่ยวกับจีน/โครโมโซมเพศ (Autosome) ซึ่งชื่ออื่นของโรคกลุ่มนี้ได้แก่ Autosomal recessive osteopetrosis /ย่อว่า ARO หรือ โรค Malignant infantile osteopetrosis หรือโรค Infantile autosomal recessive osteopetrosis หรือโรค Simply infantile osteopetrosis หรือ Osteopetrosis infantile type พบโรคนี้ได้ประมาณ 1รายต่อประชากร 200,000-300,000คน เป็นโรคแสดงอาการตั้งแต่แรกเกิด/เด็กอ่อน และจัดเป็นโรคที่รุนแรงที่สุดเด็กจะมีภาวะไขกระดูกล้มเหลว(ไขกระดูกสร้างเม็ดเลือดและสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานโรคไม่ได้) เด็กโรคนี้มักเสียชีวิตภายในอายุ10ปี จากภาวะโลหิตจางรุนแรงร่วมกับการติดเชื้อรุนแรงจากการมีไขกระดูกล้มเหลว

อย่างไรก็ตามส่วนน้อยมากในกลุ่มนี้ ที่เกิดจากความผิดปกติของจีน/โครโมโซมเพศหญิง แต่ยังคงเป็นพันธุกรรมชนิดถ่ายทอดได้ที่เป็นจีนด้อย และผู้ป่วยความผิดปกติจากจีนนี้จะพบเฉพาะในเด็กชายเท่านั้น โดยจีนที่ผิดปกติคือ IKBKG

ข. Autosomal intermediate type: อีกชื่อคือ Intermediate autosomal osteoporosis ย่อว่า IAO หรือ Intermediate osteopetrosis หรือ Childhood osteopetrosis หรือ Osteopetrosis childhood type เป็นกลุ่มโรคที่พบได้น้อยมากมีรายงานเพียงไม่กี่ราย จัดเป็นโรคที่รุนแรง แต่ความรุนแรงน้อยกว่าโรคกลุ่มแรก โดยโรคมักแสดงอาการในช่วงวัยเด็กโต บางครั้งพบในวัยผู้ใหญ่ได้ แต่ไขกระดูกผู้ป่วยยังพอทำงานได้ ผู้ป่วยจึงมีชีวิตได้ยืนยาวกว่าผู้ป่วยกลุ่มแรกแต่ก็มักเสียชีวิตในวัยเด็ก จึงจัดเป็นกลุ่มอาการรุนแรงปานกลาง โรคนี้เป็นโรคผิดปกติทางพันธุกรรมถ่ายทอดได้ที่เกือบทั้งหมดเป็นจีนด้อยพบเป็นจีนเด่นได้แต่น้อยมากๆ และไม่ใช่ความผิดปกติที่จีน/โครโมโซมเพศเช่นกัน

ค. Autosomal dominant adult type หรือ Autosomal dominant osteopetrosis หรือ Osteopetrosis adult type : เป็นโรคมีความรุนแรงน้อย ผู้ป่วยอาจไม่มีอาการเลย แพทย์ตรวจพบโดยบังเอิญจากเอกซเรย์กระดูกจากโรคอื่น เช่น กรณีได้รับอุบัติเหตุ แต่เมื่อมีอาการ อาการโรคจะแสดงต่อเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว เป็นกลุ่มที่มีการพยากรณ์โรคที่ดี ผู้ป่วยมีอายุเฉลี่ยเท่ากับคนทั่วไป

*อนึ่ง ประมาณ30%ของผู้ป่วยโรคกระดูกแข็ง แพทย์หาสาเหตุไม่พบ

พยาธิสรีรวิทยา

พยาธิสรีรวิทยา/กลไกการเกิดโรคกระดูกแข็งพบว่า จีนที่ผิดปกติที่เป็นสาเหตุที่ ส่งผลให้เซลล์กระดูกชนิด Osteoclast ที่มีหน้าที่สลายมวลกระดูกเพื่อให้เกิดมวลกระดูก มีสมดุลกับการสร้างมวลกระดูกโดยเซลล์กระดูกชนิด Osteoblast นอกจากการสลายมวลกระดูกเพื่อให้เกิดสมดุลกับการสร้างมวลกระดูกแล้ว Osteoclast ยังทำหน้าที่จัดรูปร่าง/รูปทรงของกระดูกที่สร้างขึ้นมาให้เหมาะสมกับหน้าที่การใช้งาน ซึ่งเมื่อ Osteoclast ทำงานผิดปกติ กระดูกที่สร้างขึ้นมาจึงขาดสมดุล เกิดการสะสม พอกหนาขึ้นเรื่อย ร่วมกับมีการเปราะ แตก/หักได้ง่าย รวมถึงกระดูกจะขาดการเจริญเติบโต และเกิดเป็นรูปร่างที่ผิดปกติ นอกจากนั้นการพอกหนาของกระดูกยังส่งผลก่อการอุดตันของช่อง/รู/โพรงต่างๆในกระดูกที่เป็นทางผ่าน/ทางออกของเส้นประสาท และหลอดเลือดต่างๆ ส่งผลให้เกิดการกด เบียดทับ เส้นประสาท และหลอดเลือดต่างๆเหล่านั้น ส่งผลต่อเนื่อง ให้เกิดเส้นประสาท หลอดเลือดเกิดการบาดเจ็บ เสียหาย ตีบแคบ การทำงานต่างๆจึงสูญเสียไป จนก่ออาการผิดปกติขึ้นได้กับทุกอวัยวะ

อาการ

ผู้ป่วยโรคกระดูกแข็งบางคนไม่มีอาการโดยเฉพาะในผู้ป่วยกลุ่ม Autosomal dominant osteopetrosis ผู้ป่วยกลุ่มนี้แพทย์ตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจเอกซเรย์กระดูกสาเหตุต่างๆ เช่น เกิดอุบัติเหตุ ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้ ไม่จำเป็นต้องมีการรักษา ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ และมีการพยากรณ์โรคเช่นเดียวกับคนทั่วไป

แต่ในกรณีมีอาการ ผู้ป่วยโรคกระดูกแข็งทั้ง3 กลุ่มจะมีอาการเหมือนกัน ต่างกันที่ความรุนแรง คือ กลุ่ม Infantile type อาการโรคจะรุนแรงที่สุด ในกลุ่ม Intermediate หรือ Childhood type อาการโรคจะรุนแรงปานกลาง และในกลุ่มAdult type ผู้ป่วยอาจแสดงอาการหรือไม่มีอาการก็ได้ แต่ถ้ามีอาการ อาการจะรุนแรงต่ำ

อาการที่พบได้ในผู้ป่วยโรคกระดูกแข็ง ได้แก่

  • ตัวเตี้ย แคระ และมีรูปร่าง/กระดูกทุกชิ้นที่รวมถึง กะโหลก ใบหน้า ผิดปกติ ส่งผลให้ใบหน้าผิดรูป ลำตัว แขน ขา มือ เท้า นิ้วต่างๆ ผิดรูป
  • เส้นประสาทสมองทุกเส้นถูกกดทับ จึงมักมี หูหนวก ตาเห็นภาพไม่ชัดเจนจนถึงตาอาจบอด
  • เนื้อเยื่อไขกระดูกลดลงเพราะโพรงกระดูกจะตีบแคบ ส่งผลให้เม็ดเลือดทุกชนิดลดต่ำลงมาก เกิดภาวะโลหิตจางที่อาจถึงขั้นรุนแรงในกรณีของโรคกลุ่มInfantile type และไขกระดูกไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานโรคได้ จึงมักเกิดภาวะติดเชื้อโรคต่างๆได้ง่ายและรุนแรง ซึ่งอาการจากไขกระดูกล้มเหลว มักเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตของผู้ป่วย
  • การวินิจฉัย

    แพทย์วินิจฉัยโรคกระดูกแข็งได้จาก ประวัติอาการ ประวัติโรคนี้ในครอบครัว การตรวจร่างกายดูสภาพร่างกายและความพิการของร่างกาย การตรวจภาพกระดูกด้วยเอกซเรย์ และการตรวจเลือดเพื่อตรวจโครโมโซม/จีน

    การรักษา

    ปัจจุบันยังมีการรักษาเฉพาะโรคนี้ แพทย์จะรักษาตามความรุนแรงของอาการด้วย การรักษาประคับประคองตามอาการ

    • กรณี ผู้ป่วยไม่มีอาการ ไม่จำเป็นต้องมีการรักษา ผู้ป่วยใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่ควรได้รับการตรวจจีน/วางแผนครอบครัวกรณีต้องการมีบุตร เพราะโรคนี้ถ่ายทอดได้ทางพันธุกรรม
    • กรณีมีอาการ การรักษาจะเป็นกรณีๆไป ขึ้นกับอาการและความรุนแรงของอาการ
    • กรณีมีอาการน้อย การรักษา เป็นการรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น ยาแก้ปวดกรณีปวดกระดูก เป็นต้น
    • การรักษาภาวะโลหิตจาง เช่น การให้ยากระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง Erythropoietin
    • การให้ยาในกลุ่ม Gamma interferon เพื่อกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดขาว เสริมสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานโรค
    • การปลูกถ่ายไขกระดูก กรณีมีไขกระดูกล้มเหลว
    • การรักษาทางศัลยกรรมต่างๆ โดยเฉพาะศัลยกรรมกระดูก เพื่อรักษาภาวะกระดูกหัก หรือภาวะกระดูกกดทับต่างๆ เช่น กดทับเส้นประสาท

    การพยากรณ์โรค

    การพยากรณ์โรคของโรคกระดูกแข็งขึ้นกับชนิด/กลุ่มย่อยของโรค

    • กรณีโรคกลุ่ม Autosomal recessive malignant infantile type ที่มีอาการรุนแรง และแสดงอาการตั้งแต่ภายในอายุ1ปี การพยากรร์โรคไม่ดี ผู้ป่วยมักเสียชีวิตภายในอายุ10ปีจากการล้มเหลวของไขกระดูก
    • กรณีโรคกลุ่ม Autosomal intermediate type เป็นโรคอาการรุนแรงเช่นกัน พบอาการได้ตั้งวัยเด็ก เด็กมักมีอายุสั้นกว่าคนทั่วไป ด้วยสาเหตุเสียชีวิตจากการล้มเหลวของไขกระดูกเช่นกัน แต่รายละเอียดทางคลินิกด้านการพยากรณ์ยังไม่ทราบข้อมูลที่แน่ชัดเพราะเป็นโรคที่พบน้อยๆมาก
    • กรณี Autosomal dominant adult type เป็นกลุ่มโรคมีการพยากรณ์โรคที่ดี อายุเฉลี่ยจะเช่นเดียวกับคนทั่วไป เป็นกลุ่มที่อาจไม่มีอาการเลย หรือถ้ามีก็จะมีอาการเพียงเล็กน้อย ไม่รุนแรง แพทย์ให้การรักษาควบคุมโรคได้ผลดี

    บรรณานุกรม

    1. Raghunath Reddy MH. International Journal of Clinical Pediatric Dentistry 2011;4(3):232-234
    2. Zornitza Stark and Ravi Savariratyan. Orphanet Journal of rare disease 2009;4:5-17
    3. https://emedicine.medscape.com/article/123968-overview#showall [2018,Aug4]
    4. https://en.wikipedia.org/wiki/Osteopetrosis [2018,Aug4]
    5. https://rarediseases.org/rare-diseases/osteopetrosis/ [2018,Aug4]