กระดานสุขภาพ

ลืมกินยาคุมฉุกเฉินเม็ดที่สอง ซื้อแผงใหม่มากินทันมั้ย
Bigr*****e

6 กุมภาพันธ์ 2562 08:49:57 #1

เรากินยาคุมฉุกเฉินเม็ดไปแล้ว 1 เม็ด แล้วทีนี้ก็หลับไปจนตื่นมาก็เลย 12 ชั่วโมงแล้ว เลยไปซื้อแผงใหม่ มาเริ่มกินอีกรอบให้ครบทั้ง 2 เม็ด แบบนี้จะคุมได้ทันมั้ยอะคะ

อายุ: 25 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 47 กก. ส่วนสูง: 156ซม. ดัชนีมวลกาย : 19.31 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
Popp*****r

7 กุมภาพันธ์ 2562 07:09:23 #2

จริงๆประสิทธิภาพมันก็ลดลงเรื่อยๆตามชั่วโมงที่เพิ่มขึ้นนะ จริงๆตอนแรกจขกท.น่าจะได้ซื้อยาคุมฉุกเฉินเม็ดเดียวของแทนซีวันเนอะ จะได้ไม่ต้องกังวลแบบนี้

Ooro*****o

11 กุมภาพันธ์ 2562 10:40:40 #3

มันไม่เกี่ยวกันแล้ว กินใหม่ยังไงเวลามันก็เลยมาแล้ว ยังไงก็ขอให้ไม่ป่องนะ

Enjo*****e

12 กุมภาพันธ์ 2562 09:39:10 #4

อันนี้ไม่แน่ใจอะ เราเคยกินแต่ยาคุมฉุกเฉินเม็ดเดียว tansy one เอง พอมันมีเม็ดเดียวก็เลยไม่ต้องมานับชม.แบบกินสองเม็ดอะ

Lion*****n

13 กุมภาพันธ์ 2562 04:50:08 #5

เราว่าแบบนี้ไม่น่าได้อะค่ะ ยังไงก็ลองดูช่วงระยะตกไข่ ถ้าหลังจากหมดประจำเดือนที่มาเดือนก่อนไม่เท่าไรก็อาจจะไม่ท้องค่ะ

ภก.ประดิษฐ์ งามศิริผล

เภสัชกร

14 กุมภาพันธ์ 2562 16:53:45 #6

เรียน คุณ Bigree,

คำถามของคุณ ตอบได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากมีหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง คือ

1. ช่วงที่มีเพศสัมพันธ์ เป็นช่วง 14 วันแรกของรอบประจำเดือนหรือไม่ หากใช่ ความเสี่ยงในการตั้งครรภ์ก็จะเพิ่มสูงขึ้น

2. ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินเม็ดแรกของชุดแรกนั้น รับประทานยาหลังจากมีเพศสัมพันธ์เกิน 48 ชั่วโมงหรือไม่ หากใช่ โอกาสในการตั้งครรภ์ก็จะเพิ่มสูงขึ้น

3. ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินเม็ดแรกของชุดที่สองนั้น รับประทานยาเกินช่วงเวลา 72 ชั่วโมงหลังจากมีเพศสัมพันธ์หรือไม่ หากใช่ โอกาสในการตั้งครรภ์จะเพิ่มสูงขึ้น

ดังนั้น ช่วงนี้ คงต้องรอจนกว่าประจำเดือนจะมา แต่หากเกินจากกำหนดไปแล้ว 2 สัปดาห์ ประจำเดือนยังคงไม่มาตามปกติ อาจตรวจเบื้องต้นด้วยการใช้ชุดตรวจการตั้งครรภ์ หากผลเป็นลบ แต่ประจำเดือนยังคงไม่มาตามปกติ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจเลือดเพิ่มเติม หาสาเหตุที่แท้จริงต่อไป
แต่หากผลเป็นบวก แนะนำให้ไปฝากครรภ์กับสถานพยาบาลตามสิทธิ์การรักษา

แนะนำเพิ่มเติม - การใช้ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินนั้น ทางการแพทย์จะใช้ก็ต่อเมื่อไม่สามารถใช้การคุมกำเนิดตามปกติได้ เช่น เมื่อถูกข่มขืน หรือการใช้ถุงยางอนามัยไม่ถูกต้อง แล้วเกิดการฉีกขาด รั่วซึม (ทั้งจากการเก็บรักษาไม่ถูกต้อง / การเปิดซองโดยการใช้ของมีคม (รวมถึงฟัน) / การสวมใส่ไม่ถูกต้อง (ไม่ได้บีบไล่อากาศจากกระเปาะเก็บอสุจิ) / การใช้สารหล่อลื่นที่ไม่ใช่สูตรน้ำ (จนถุงยางอนามัยฉีกขาดได้ง่าย) / การถอดถุงยางอนามัย ต้องถอดขณะองคชาติยังไม่อ่อนตัว ใช้กระดาษชำระพันรอบโคน แล้วค่อย ๆถอดถุงยางฯออก)
ไม่แนะนำให้ใช้แทนการคุมกำเนิดปกติ เนื่องจากอัตราเสี่ยงในการตั้งครรภ์ค่อนข้างสูงกว่าแบบปกติ คือ 8-15% (ยาคุมกำเนิดรายเดือน น้อยกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ หากใช้ยาได้อย่างถูกต้อง) และมีอาการไม่พึงประสงค์ที่พบได้น้อย แต่รุนแรงจนอาจเสียชีวิตได้ คือการตั้งครรภ์นอกมดลูก

กลไกการออกฤทธิ์ของยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน

  • 1. ทำให้มูกที่ปากมดลูกข้นเหนียวขึ้น เพื่อลดโอกาสที่ตัวอสุจิจะผ่านเข้าไปพบกับไข่
  • 2. ทำให้ท่อนำไข่บีบตัวน้อย หรือ ช้าลง ลดโอกาสที่ไข่จะเดินทางมาพบกับตัวอสุจิ
  • 3. ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกมีความบางลง ลดโอกาสที่ตัวอ่อนจะมาฝังตัวและเจริญต่อไปเป็นทารกได้ (หากมีการผสมของไข่กับตัวอสุจิ)

การรับประทานยาที่ถูกต้อง มีได้ 2 วิธี แต่ควรรับประทานยาภายหลังจากมีเพสสัมพันธ์ไม่เกิน 48 ชั่วโมง (ยิ่งทิ้งเวลานาน ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการตั้งครรภ์)

1. รับประทานยาเม็ดแรกทันทีหลังจากมีเพศสัมพันธ์ (ช้าสุดไม่ควรเกิน 48 ชั่วโมง) จากนั้นรับประทานยาเม็ดที่สอง เมื่อเว้นไปอีก 12 ชั่วโมงหลังจากรับประทานยาเม็ดแรก

ข้อดี - อาการไม่พึงประสงค์ด้านคลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะน้อยกว่าอีกวิธี และหากมีเพศสัมพันธ์อีกหลังจากรับประทานยาเม็ดแรก แต่ยังไม่ถึงเวลารับประทานยาเม็ดที่สอง ก็ไม่จำเป็นต้องรับประทานยาอีกชุดเพิ่ม

ข้อเสีย - มักลืมรับประทานยาเม็ดที่สอง หรือรับประทานยาเร็วกว่าหรือช้ากว่า 12 ชั่วโมง ทำให้เพิ่มความเสี่ยงในการตั้งครรภ์

2. รับประทานยาพร้อมกันสองเม็ดทันที (หรือยารุ่นใหม่ ทำเป็นเม็ดเดียว เพื่อให้ได้ขนาด 150 มิลลิกรัม) หลังจากมีเพศสัมพันธ์

ข้อดี - ไม่ต้องกังวลเรื่องการลืมรับประทานยา ระดับยาสูงขึ้นทันทีหลังจากรับประทานยา

ข้อเสีย - ระดับยาสูงขึ้นทันที อาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์สูงกว่าวิธีแรก เช่น เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน

อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา - เวียนศีรษะ มึนศีรษะ ตาพร่า ไมเกรน คลื่นไส้ อาเจียน ท้องอืด แน่นท้อง คัดตึงเต้านม ประจำเดือนมาผิดปกติ (ปริมาณ และจำนวนวันของรอบเดือนที่อาจมาล่าช้ากว่าปกติ) ตั้งครรภ์นอกมดลูก

หากคุณยังไม่ได้แต่งงาน และประสงค์จะวางแผนคุมกำเนิด การใช้ถุงยางอนามัยน่าจะเป็นวิธีที่เหมาะสมมากกว่า เนื่องจากช่วยการคุมกำเนิดแล้ว ยังช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้อีกด้วย เช่น หนองใน ซิฟิลิส แผลริมอ่อน (หนองในเทียม) พยาธิในช่องคลอด เริม ไวรัสตับอักเสบ ชนิด บี/ซี หรือหากโชคร้ายสุดอาจติดเชื้อเอชไอวีที่เป็นสาเหตุของโรคเอดส์ ที่ปัจจุบันยังไม่มียารักษาให้หายขาด นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี ที่เป็นสาเหตุกระตุั้นให้เกิดมะเร็งปากมดลูกในเพศหญิง หรือหูดหงอนไก่ / มะเร็งองคชาติในเพศชายอีกด้วย

หรือหากคุณแต่งงานแล้ว แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อวางแผนครอบครัว ทั้งเรื่องการคุมกำเนิด กำหนดที่ควรมีบุตร การตรวจร่างกาย ฯ

กรณีมีข้อสงสัยเร่งด่วนเกี่ยวกับการใช้ยา สามารถสอบถามได้จากแพทย์หรือเภสัชกรร้านยาใกล้บ้านได้ทันที เนื่องจากอาจต้องมีการสอบถามข้อมูลจำเป็นเพิ่มเติม เพื่อประกอบการตัดสินใจตอบข้อสงสัย หรือในบางครั้งอาจช้าเกินไป ไม่ทันเวลา จนเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายต่อสุขภาพได้


เภสัชกรประดิษฐ์ งามศิริผล


แนะนำบทความดี ๆจากกองบรรณาธิการของเราที่

  • การคุมกำเนิด (Contraception)
  • แพทย์หญิง กีรติ ลีละพงศ์วัฒนา
  • สูตินรีแพทย์
  • ยาเม็ดคุมกำเนิด (Birth control pill)
  • แพทย์หญิง กีรติ ลีละพงศ์วัฒนา
  • สูตินรีแพทย์