กระดานสุขภาพ

ตรวจเต้านม
Anonymous

5 พฤศจิกายน 2561 13:57:42 #1

ไปตรวจเต้านมที่***เมื่อวันที่ 25/10/61 พบว่าทุกอย่างปกติ ไม่มีก้อนเนื้อเพิ่มเติมขนาดไม่โตขึ้น (เคยมีอยู่แล้ว 2 ก้อน) ตรวจด้วยการอัลตร้าซาวด์ เป็นไปได้ไหมคะว่าเวลาผ่านไป ประมาณ 10วัน จะมีก้อนเนื้อเพิ่มขึ้นหรือก้อนเนื้อเดิมมีขนาดใหญ่ขึ้น และอยากทราบว่าตามปกติแล้วเนื้องอกมีอัตราการเจริญเติบโตระยะเวลาประมาณไหน
อายุ: 21 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 41 กก. ส่วนสูง: 161ซม. ดัชนีมวลกาย : 15.82 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
Anonymous

5 พฤศจิกายน 2561 23:55:01 #2

ผลตรวจคือรูปร่างของเนื้องอก คือเป็นวงกลม รีๆ ผิวเรียบคะ ครั้งที่ไปตรวจเป็นการตรวจติดตามครั้งที่ 3. แล้วคะ คุณหมอนัดทุก 6เดือน
พญ.กิติพร กวียานนท์

แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว/เวชศาสตร์ทั่วไป

14 พฤศจิกายน 2561 09:43:49 #3

ก้อนในเต้านม (Breast mass หรือ Breast lump) คือ ก้อนเนื้อผิดปกติที่เกิดขึ้นในเต้านม อาจเกิดเพียงข้างเดียว (ซึ่งพบได้บ่อยกว่า) หรือ เกิดทั้งสองข้างของเต้านม (ซึ่งพบได้น้อยกว่ามาก) อาจเกิดเพียงก้อนเดียว (ซึ่งพบได้บ่อยกว่า) หรือเกิดได้หลายก้อน (ซึ่งพบได้น้อยกว่ามาก) ก้อนเนื้ออาจมีขนาดเล็ก ตรวจพบได้จากการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งเต้านมด้วยการตรวจภาพรังสีเต้านม หรือ แมมโมแกรม (Mammogram) และ/หรือ อัลตราซาวด์เต้านม หรือก้อนเนื้ออาจมีขนาดใหญ่จนสามารถคลำได้โดยตัวผู้ป่วยเอง และ/หรือโดยแพทย์ก้อนเนื้อในเต้านมพบได้ในทุกอายุ ตั้งแต่เด็ก จนถึงผู้สูงอายุ โดยในเด็กมักพบในช่วงวัยรุ่นที่ร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศต่างๆ เต้านมจึงมีการขยายใหญ่ขึ้น และเริ่มมีการสร้างต่อมต่างๆสำหรับการสร้างน้ำนม จึงอาจส่งผลให้คลำได้คล้ายก้อนเนื้อ แต่ก้อนเนื้อเหล่านี้จะค่อยๆหายไปเมื่อเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ ก้อนเนื้อในเต้านม พบเกิดได้ทั้งในผู้หญิงและในผู้ชาย โดยทั่วไปมักพบในผู้หญิง ในเด็ก ชายมักคลำได้ก้อนในเต้านมโดยเฉพาะใต้หัวนมในช่วงวัยรุ่น ซึ่งพบได้เป็นปกติ โดยมีสาเหตุจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศในวัยนี้ ซึ่งก้อนจะค่อยๆยุบหายไปเอง

ก้อนเนื้อในเต้านมมีได้หลากหลายชนิด ที่พบได้บ่อย คือ

ชนิดที่เรียกว่า ไฟโบรซีสติค (Fibrocystic changes หรือ เรียกย่อว่า FCC ) ซึ่งพบได้ประมาณ 40% ของก้อนเนื้อในเต้านมทั้งหมด

เนื้องอกชนิด ไฟโบรอะดีโนมา (Fibroadenoma) พบได้ประมาณ 7-10%

ก้อนเนื้ออื่นๆที่ไม่ใช่มะเร็ง พบรวมกันได้ประมาณ 13-20% ซึ่งที่พบได้บ่อยในกลุ่มนี้ คือ ถุงน้ำ (Cyst) เป็นฝี ก้อนไขมัน (Lipoma) เนื้องอก ชนิดที่เรียกว่า Phyllodes เนื้องอกชนิดที่เซลล์มีการเจริญเกินปกติ (Hyperplasia) เนื้องอกในท่อน้ำนม หรือ เนื้องอกชนิด Adenosis

เนื้องอกมะเร็ง (โรคมะเร็งเต้านม) พบได้ประมาณ 10%

บางครั้ง ผู้ป่วยคลำแล้วสงสัยมีก้อนในเต้านม แต่เมื่อแพทย์ตรวจแล้วพบว่า ไม่มีก้อนเนื้อผิดปกติ (ทั้งจากตรวจคลำ และจากตรวจภาพรังสีเต้านม) ซึ่งพบกรณีนี้ได้ประมาณ 30 % ของผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ด้วยสงสัยมีก้อนที่เต้านม

สาเหตุ และอาการของก้อนในเต้านมขึ้นกับชนิดของก้อนเนื้อ

ชนิดไฟโบรซีสติค (Fibrocystic changes) สาเหตุของก้อนเนื้อชนิดนี้ เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศตามรอบประจำเดือน มักคลำก้อนเนื้อได้ทั้งสองข้างเต้านม ก้อนเนื้อมีขอบเขตไม่ชัดเจน และคลำได้ไม่ชัดเจน ผิวขรุขระ ลักษณะหยุ่นๆ ไม่แข็ง เคลื่อนที่ได้ มักร่วมกับอาการเจ็บเต้านม และ/หรือเจ็บก้อนเนื้อ เจ็บบริเวณรักแร้ และเจ็บที่ก้อน รวมทั้งรู้สึกตึงแน่น หรือเต้านมบวมใหญ่ โดยอาการต่างๆจะเป็นมากขึ้นเมื่อใกล้วันประจำเดือนมา แต่อาการต่างๆจะดีขึ้นเมื่อประจำเดือนมาแล้ว ซึ่งการกินยาเม็ดคุมกำเนิดจะบรรเทาอาการเหล่านี้ลง ในขณะที่ถ้ากินฮอร์โมนชดเชย เช่น หลังผ่าตัดรังไข่ อาการต่างๆจะมากขึ้น ทั้งนี้ก้อนเนื้อชนิดนี้ มักไม่กลายเป็นโรคมะเร็ง (โรคมะเร็งเต้านม)

ชนิดไฟโบรอะดีโนมา (Fibroadenoma) เป็นเนื้องอกที่ไม่ใช่มะเร็ง มักพบในช่วงวัยเจริญพันธุ์ (วัยยังมีประจำเดือน) ทั้งนี้สาเหตุเกิดที่แท้จริงยังไม่ทราบ แต่เชื่อว่ามีความสัม พันธ์กับฮอร์โมนเพศหญิง เพราะพบโรคได้สูงขึ้นในผู้หญิงที่กินยาคุมกำเนิดก่อนอายุ 20 ปี และในหลายๆคน ก้อนเนื้อยุบหายเองได้ภายหลังหมดประจำเดือนแล้ว (วัยหมดประจำเดือน)

ก้อนเนื้อมีลักษณะค่อนข้างกลม ผิวเรียบ เคลื่อนที่ได้ ไม่เจ็บ ไม่แข็งมาก มีได้ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ เกิดได้ทั้งก้อนเดียว หรือหลายก้อน ในเต้านมข้างเดียว หรือ ทั้งสองข้าง

เมื่อเป็นชนิดที่เซลล์ยังไม่มีการเจริญเกินปกติ และ/หรือเซลล์ไม่มีการเจริญเปลี่ยนรูปแบบ (Atypia) ซึ่งเรียกว่า ชนิด Simple fibroadenoma จะไม่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการกลาย เป็นมะเร็งเต้านม แต่ถ้าเซลล์เกิดการผิดปกติโดยมีการเปลี่ยนรูปแบบของเซลล์ ซึ่งเรียกว่าชนิด Complex fibroadenoma จะเป็นปัจจัยเสี่ยงในการกลายเป็นมะเร็งเต้านมสูง 1-2 เท่าของผู้หญิงปกติ ทั้งนี้การจะทราบชนิดของเซลล์ ได้จากการตัดก้อนเนื้อเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา

ชนิดเกิดจากเซลล์ไขมันตาย (Fat necrosis and oil cyst) พบได้ภายหลังจากเต้านมถูกกระแทก หรือ อุบัติเหตุเต้านม หรือจากผ่าตัดเต้านม หรือฉายรังสีรักษาบริเวณเต้านม ซึ่งจะส่งผลให้เซลล์ไขมันซึ่งมีอยู่มากมายในเต้านมตาย เกิดเป็นพังผืด และ/หรือเป็นถุงน้ำชนิดภายในเป็นน้ำมัน จึงเกิดเป็นก้อนเนื้อขึ้น ก้อนเนื้อจะมีลักษณะค่อนข้างกลม ไม่แข็ง เคลื่อนที่ได้บ้างเล็กน้อย อาจเจ็บหรือไม่เจ็บก็ได้ ทั้งนี้มักมีประวัติดังกล่าวนำมาก่อนคลำพบก้อนเนื้อ และก้อนเนื้อชนิดนี้ไม่กลายเป็นมะเร็งเต้านม

ชนิดถุงน้ำ/ซีส (Breast cyst) เป็นชนิดที่ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่เชื่อว่าสัมพันธ์กับฮอร์โมนเพศหญิง เพราะมักพบเกิดร่วมกับก้อนเนื้อไฟโบรซีสติค พบในวัยเจริญพันธุ์ และถุงน้ำยุบหายเองได้ภายหลังวัยหมดประจำเดือนแล้ว ก้อนเนื้อค่อนข้างกลม หรือ รูปไข่ อาจเจ็บหรือไม่ก็ได้ เคลื่อนที่ได้ แข็งคล้ายลูกโป่งใส่น้ำ มีได้ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ได้หลายเซนติเมตร โดยทั่วไปถุงน้ำไม่กลายเป็นโรคมะเร็ง ยกเว้นส่วนน้อยมากที่เซลล์ผนังถุงน้ำเกิดการเจริญเปลี่ยนรูปแบบ ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งได้ 1-2 เท่าของผู้หญิงปกติ

เนื้องอกชนิด Phyllodes หรือ Phylloides พบได้น้อยมาก พบได้ในทุกอายุ แต่พบได้บ่อยกว่าในช่วงอายุ 30-40 ปี ทั้งนี้สาเหตุเกิดยังไม่ทราบ อาการและลักษณะก้อนเนื้อเช่น เดียวกับในก้อนเนื้อ ไฟโบรอะดีโนมา

เนื้องอก Phyllodes กลายเป็นมะเร็งได้น้อย ประมาณ 5% ของเนื้องอกชนิดนี้ แต่โรคนี้มีโอกาสย้อนกลับเป็นซ้ำได้สูงภายหลังการผ่าตัด

ก้อนเนื้อไขมัน (Lipoma) เป็นก้อนเนื้อที่ยังไม่ทราบสาเหตุเกิดที่ชัดเจน แต่เชื่อว่าอาจจากมีความผิดปกติทางพันธุกรรมบางชนิด เป็นก้อนเนื้อมีลักษณะขอบเขตชัดเจน ค่อนข้างกลม นิ่ม มักไม่เจ็บ (แต่อาจเจ็บได้) เคลื่อนที่ได้ ขนาดไม่เปลี่ยนแปลงตามรอบประจำเดือน ไม่กลายเป็นมะเร็งเต้านม มีโอกาสกลายเป็นโรคมะเร็งของเซลล์ไขมัน (Liposarcoma) ได้ แต่โอกาสเกิดน้อยมากๆ

เนื้องอกในท่อน้ำนม (Intraductal papilloma) คือ เนื้องอกที่เกิดในท่อน้ำนม มักเกิดกับเต้านมเพียงข้างเดียว แต่พบสองข้างได้บ้าง โดยทั่วไปมักคลำก้อนเนื้อไม่ได้ แต่ถ้าก้อนเนื้อโตขึ้น มักคลำได้ก้อนเนื้อโตอยู่ใต้หัวนม และผู้ป่วยอาจมีน้ำนม น้ำเหลือง หรือ น้ำเลือด ออกจากหัวนมได้ โดยทั่วไปเนื้องอกชนิดนี้เปลี่ยนแปลงเป็นมะเร็งได้บ้าง แต่โอกาสเกิดน้อยมาก

ก้อนเนื้อจากความผิดปกติของท่อน้ำนม (Duct ectasia) เกิดจากท่อน้ำนมมีขนาดใหญ่ และมีผนังหนากว่าปกติจนทำให้สามารถคลำได้เป็นก้อนเนื้อ ไม่แข็งมาก อยู่ใต้หัวนม หัวนมอาจบุ๋มได้ และอาจมีน้ำสีออกเขียว หรือ ดำคล้ำออกจากหัวนม มักเกิดกับเต้านมเพียงข้างเดียว ทั้งนี้ก้อนเนื้อชนิดนี้ ไม่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเต้านม

ก้อนเนื้อจากความผิดปกติของต่อมน้ำนม (Adenosis) ได้แก่ ก้อนเนื้อที่เกิดจากต่อมน้ำนมขยายใหญ่ขึ้น และมีจำนวนต่อมเพิ่มกว่าปกติจนทำให้เกิดเป็นก้อนเนื้อขึ้น มักเกิดกับเต้านมเพียงข้างเดียว (แต่พบเกิดได้ทั้งสองข้าง) อาจคลำได้ทั้งเป็นก้อนที่ไม่แข็ง หรือเป็นก้อนที่แข็งจากมีพังผืดซึ่งบางครั้งอาจเป็นสาเหตุให้เต้านมผิดรูปร่างได้ (Sclerosing adenosis) ก้อนเนื้อชนิดไม่แข็ง มักไม่เปลี่ยนแปลงเป็นมะเร็งเต้านม แต่ชนิดที่แข็งมีพังผืดมาก เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการกลายเป็นมะเร็งเต้านมได้ประมาณ 1-2 เท่าของผู้หญิงปกติ

ก้อนเนื้อจากการอักเสบ/ฝี มักเกิดในช่วงให้นมบุตร โดยเกิดจากเซลล์เต้านมติดเชื้อแบคทีเรีย มักเกิดร่วมกับมีไข้ เต้านมบวม แดง ร้อน เจ็บ มีลักษณะเป็นฝี อาจมีหนองออกทางหัวนม เกิดได้กับเต้านมข้างเดียว หรือทั้งสองข้าง โรคนี้ไม่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านม แต่โรคมะเร็งเต้านมชนิดรุนแรง จะทำให้เกิดอาการคล้ายการอักเสบของเต้านมได้ ซึ่งแพทย์แยกได้จากอายุ ประวัติให้นมบุตร และการตัดชิ้นเนื้อเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา

ก้อนเนื้อชนิดมีเซลล์เจริญเกินปกติ (Hyperplasia) ก้อนเนื้อชนิดต่างๆทุกชนิด อาจมีเซลล์เจริญเกินปกติได้ ซึ่งแพทย์ทราบได้จากการตัดชิ้นเนื้อ หรือ ผ่าตัดก้อนเนื้อเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา ซึ่งถ้าเกิดมีเซลล์เจริญเกินปกติเกิดขึ้น จะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการกลายเป็นโรคมะเร็งเต้านมได้

ถ้ามีเพียงเซลล์เจริญเกินปกติ เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อก้อนเนื้อเกิดเป็นมะเร็งเต้านม 1-2 เท่าของผู้หญิงปกติ แต่ถ้ามีทั้งเซลล์เจริญเกินปกติ ร่วมกับเซลล์เจริญเปลี่ยนรูปแบบ (Atypia) จะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อก้อนเนื้อกลายเป็นมะเร็ง 4-5 เท่าของผู้หญิงปกติ

แนวทางการรักษาก้อนเนื้อในเต้านม โดยทั่วไปคือการผ่าตัดเอาก้อนเนื้อออกตั้งแต่แรกคลำพบก้อนเนื้อ หรือ เจาะ/ดูดเซลล์ หรือ ตัดชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้อ เพื่อการตรวจทางเซลล์วิทยา หรือการตรวจทางพยาธิวิทยา ให้รู้ว่าเป็นก้อนเนื้อชนิดใด แล้วจึงให้การรักษาด้วยการผ่าตัดก้อนเนื้อ

บางครั้งเมื่อแพทย์แน่ใจว่าเป็นก้อนเนื้อจากไฟโบรซีสติก และก้อนเนื้อมีขนาดเล็กๆหลายๆก้อน แพทย์อาจใช้วิธีตรวจติดตามโรค (เพราะถ้าผ่าตัด อาจต้องตัดทั้งเต้านม) โดยอาจนัดผู้ป่วยทุก 2-3 เดือน ทั้งนี้เพราะดังกล่าวแล้วว่าก้อนเนื้อชนิดนี้อาจหายเองได้ แต่จะผ่าตัด เมื่อก้อนเนื้อมีขนาดโตขึ้น

เมื่อก้อนเนื้อเกิดจากถุงน้ำ แพทย์อาจรักษาด้วยการเจาะดูดน้ำออก