กระดานสุขภาพ

ประจำเดือนไม่มา
Anonymous

19 มิถุนายน 2561 15:53:16 #1

ประจำมาประมาณ 27/8/60 วันสุดท้าย แล้วก็มาอีกทีประมาณวันที่ 26/2/61 ตั้งแต่ตอนนั้นจนถึงวันที่ 17/6/61 ยังไม่มาอีกเลย จะเข้าข่ายโรคไหนบ้างคะ ไม่ได้มีเพศสัมพันธุ์กับใคร มีแค่การสอดใส่นิ้วของตัวเอง
อายุ: 16 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 89 กก. ส่วนสูง: 171ซม. ดัชนีมวลกาย : 30.44 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
Anonymous

19 มิถุนายน 2561 15:54:27 #2

ตอนที่มาวันที่ 26/2/61 ก็มาแบบน้อยๆสีน้ำตาล มาได้สามสี่วันก็หายไป ปกติจะมา5-7วันและมีปริมาณเยอะพอสมควร
รศ.พญ. สายฝน ชวาลไพบูลย์

(สูติ-นรีแพทย์)

20 มิถุนายน 2561 08:43:59 #3

ในกรณีที่คุณไม่เคยมีเพศสัมพันธ์เลยก็สามารถตัดปัญหาเรื่องการตั้งครรภ์ออกไปได้ การที่คุณมีรอบเดือนมาไม่ปกตินั้น น่าจะมีสาเหตุมาจากการทำงานของรังไข่ที่ไม่ปกติ โดยเฉพาะภาวะกลุ่มอาการของถุงน้ำที่รังไข่ที่เรียกว่า PCOS (Polycystic ovarian syndrome) ภาวะนี้มักจะพบในสตรีที่มีน้ำหนักตัวมากเพราะการที่มีน้ำหนักตัวมาก ไขมันจะไปสะสมที่ผิวของรังไข่ปริมาณมาก ทำให้ผิวรังไข่มีความหนาตัวจนไข่ไม่สามารถตกได้ตามปกติ เมื่อไข่ไม่ตกก็จะขาดการสร้างฮอร์โมนที่สำคัญคือโปรเจสเตอโรนซึ่งจะไปทำหน้าที่เปลี่ยนผนังเยื่อบุโพรงมดลูกให้สุกและหลุดลอกออกมาเป็นประจำเดือนในทุกเดือน ผนังเยื่อบุโพรงมดลูกจึงมีความหนาตัวมากผิดปกติ และไม่มีรอบเดือนมาตรงตามปกติ ผนังเยื่อบุโพรงมดลูกที่มีความหนาตัวมากนี้จะมีความเสี่ยงในเรื่องของการเกิดมะเร็งของผนังเยื่อบุโพรงมดลูกได้ โดยเฉพาะถ้ารอบเดือนไม่มานานเกิน 3 เดือน ดังนั้น ควรจะต้องรับประทานฮอร์โมนเพื่อทำให้ประจำเดือนมา ถ้ารอบเดือนไม่มานานตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไปก็จะมีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งของผนังเยื่อบุโพรงมดลูกได้ ผิวรังไข่ที่มีความหนาตัวมากนี้จะทำให้รังไข่กลายเป็นถุงน้ำซึ่งมีฟองไข่ปริมาณมากมายสะสมอยู่ภายใน เมื่อตรวจอัลตราซาวด์จะเห็นลักษณะของรังไข่คล้ายพวงองุ่นเกาะกันอยู่ ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโลกนี้ การวินิจฉัยภาวะนี้สามารถทำการตรวจอัลตราซาวด์เพื่อประเมินสภาพของรังไข่และผนังเยื่อบุโพรงมดลูกได้ และการรักษาจะต้องทำให้ประจำเดือนมาซึ่งสามารถใช้ฮอร์โมนโปรเจสโตรเจนรับประทานนานประมาณ 7-10 วัน รอบเดือนก็จะมาได้หรืออาจจะใช้เป็นยาเม็ดคุมกำเนิดในการรักษาก็ได้ ภาวะนี้มักจะมีสิวมาก หน้ามัน ขนดก มีหนวดเครา ขนหน้าแข้งมาก การกินยาเม็ดคุมกำเนิด ที่มีฤทธิ์ต้านฮอร์โมนแอนโดรเจนจะช่วยในการรักษาภาวะดังกล่าวได้ด้วยและควบคุมให้รอบเดือนเป็นปกติ การรักษาที่ยั่งยืนนั้นจะต้องพยายามลดน้ำหนักตัวลง เพื่อที่ไข่จะได้ตกได้ตามปกติ ตอนนี้ควรสังเกตอาการไปก่อน และรับประทานฮอร์โมนเพื่อให้ประจำเดือนมาตามปกติ ถ้าสงสัยว่าจะมีภาวะนี้หรือไม่ควรไปรับการตรวจวินิจฉัยโดยการตรวจอัลตราซาวด์ สามารถไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยภาวะดังกล่าวได้ แพทย์จะให้คำแนะนำในเรื่องของแนวทางการรักษาการให้ฮอร์โมนมาทานอีกครั้ง นอกจากนี้ ภาวะนี้ยังมีความสัมพันธ์กับภาวะมีบุตรยากได้ในอนาคต เพราะการตกไข่ไม่ดีซึ่งถ้าวางแผนมีบุตรในอนาคต ก็สามารถไปปรึกษาแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านมีบุตรยากต่อไปได้ค่ะ