กระดานสุขภาพ

การกินยาคุมแผงถัดไป
Wasn*****y

15 พฤษภาคม 2561 02:15:27 #1

เริ่มกินยาคุมแผงแรก วันที่สองของการเป็นประจำเดือนคือวันที่ 6/พค/61 แผงเเรกจะหมดในวันที่ 26/พค/61

เมือกินแผงเเรกหมดต้องหยุดกิน 7วัน ใช่ไหมครับ หรือ กินต่อได้เลย

อายุ: 23 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 52 กก. ส่วนสูง: 157ซม. ดัชนีมวลกาย : 21.10 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
Pooy*****a

17 พฤษภาคม 2561 09:43:48 #2

แบบแผง 21 เม็ดใช่มั้ยคะ? ถ้าใช่ก็หยุด 7 วันแล้วค่อยกินต่อค่ะ เพราะเราก็กินยาคุม 21 เม็ดของเมโลเดียแบบนี้เหมือนกัน

ภก.ประดิษฐ์ งามศิริผล

เภสัชกร

17 พฤษภาคม 2561 18:29:49 #3

เรียน คุณ wasnanny,

เนื่องจากคุณไม่ได้ให้ข้อมูลมาว่ารับประทานยาคุมกำเนิดชนิดใด เป็นแบบ 21 เม็ด หรือ 21 + 7 (วิตามิน) หรือ 24 + 4 (วิตามิน)

1. หากเป็นชนิด 21 เม็ด เมื่อรับประทานยาหมด ก็ให้เว้นยาครบ 7 วัน แล้วจึงเริ่มต้นรับประทานแผงใหม่ เช่น เมื่อรับประทานยาหมดแผงในคืนวันที่ 16 พ.ค. ก็ให้รับประทานยาแผงใหม่ในคืนวันที่ 24 พ.ค. ครับ โดยไม่ต้องสนใจว่าประจำเดือนจะหยุดแล้วหรือไม่

2. หากเป็นชนิด 21+7 ก็ให้รับประทานยาจนครบ 28 เม็ด แล้วจึงเริ่มต้นรับประทานยาแผงใหม่ โดย 7 เม็ดที่ขนาดแตกต่างกันนั้น เป็นเม็ดวิตามิน ที่ช่วยป้องกันการลืมรับประทานยา

3. หากเป็นชนิด 24 + 4 ก็ให้รับประทานยาจนครบ 28 วัน แล้วเริ่มรับประทานยาแผงใหม่ โดย 4 เม็ด จะเป็นวิตามิน และช่วยป้องกันการลืมรับประทานยา

ขอแนะนำเพิ่มเติม หลักการรรับประทานยาคุมกำเนิด ควรที่จะ

1. รับประทานยาในทุกคืน อย่างสม่ำเสมอ เวลาใกล้เคียงกัน โดยคลาดเคลื่อนกันไม่ควรเกิน +/- 1 ชั่วโมง เพื่อให้ระดับยาในเลือดสม่ำเสมอตลอดวัน (หากระดับยาในเลือดสูงต่ำ ไม่ค่อยคงที่ตลอดวัน อาจเสี่ยงต่อการเกิดการฉีกขาดของเยื่อบุโพรงมดลูก จนเกิดเลือดออกกะปริบกะปรอยระหว่างเดือนได้ โดยเฉพาะยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนต่ำ) และช่วยป้องกันการลืมรับประทานยา

2. รับประทานยาทุกชนิดด้วยน้ำเปล่าสะอาด เนื่องจากเครื่องดื่มอื่นใด อาจทำให้การละลายของตัวยาลดลง จนเกิดการตกตะกอน ร่างกายไม่สามารถดูดซึมตัวยาได้ เช่น ชา (ชาเขียว ชาขาว ชาแดง) กาแฟ โกโก้ นม (รวมถึงโยเกิร์ตพร้อมดื่ม) น้ำนมถั่วเหลือง โซดา น้ำอัดลม เป็นต้น หรือน้ำผลไม้บางชนิด จะกระตุ้นให้ตับที่เป็นแหล่งในการเผาผลาญหรือกำจัดยา มีการสร้างเอนไซม์หรือน้ำย่อยที่ใช้กำจัดยาเพิ่มมากขึ้น ร่างกายจึงสามารถกำจัดยาได้มากและเร็วขึ้น เช่น น้ำเกรปฟรุต (จำพวกเดียวกับส้มโอ) น้ำส้มคั้น น้ำแอปเปิ้ล น้ำแครนเบอร์รี่ เป็นต้น หรือยาบางชนิดการดื่มน้ำแร่ ก็ส่งผลให้เกิดการจับเป็นตะกอน ร่างกายไม่สามารถดูดซึมยาได้ เช่น ยาปฏิชีวนะกลุ่ม Tetracyclines, Fluoroquinolones หรือ Bisphosphonates เป็นต้น

3. "ก่อน" การใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารใด ๆมาใช้ร่วมกัน ต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้ง เนื่องจากอาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างกัน หรือที่มักเรียกว่า "ยาตีกัน" จนเสี่ยงต่อการใช้ยาแล้วไม่ได้ผล หรือเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายต่อสุขภาพได้

หากมีข้อสงสัยเร่งด่วนเกี่ยวกับการใช้ยา สามารถสอบถามได้จากแพทย์หรือเภสัชกรร้านยาใกล้บ้านได้ทันที ไม่ควรรอคำตอบจากทางหน้าเว็บ เนื่องจากอาจต้องมีการสอบถามข้อมูลสำคัญเพิ่มเติม หรืออาจช้าเกินไป ไม่ทันการ เสี่ยงต่อการเกิดอันตรายจากการใช้ยาไม่ถูกต้องได้

เภสัชกรประดิษฐ์ งามศิริผล

แนะนำบทความดี ๆจากกองบรรณาธิการของเราที่

  • ยาเม็ดคุมกำเนิด (Birth control pill)
  • แพทย์หญิง กีรติ ลีละพงศ์วัฒนา
  • สูตินรีแพทย์
  • ยาลดประสิทธิภาพยาคุมกำเนิด (Common medications that reduce efficacy of birth control medications)
  • ภก. กรชัย ฉันทจิรธรรม