กระดานสุขภาพ

ประจำเดือนไม่มา
Anonymous

6 มกราคม 2561 23:47:40 #1

สวัสดีค่ะ อยากสอบถามเรื่องยาคุมกำเนิดค่ะ คือทานยาคุมแอนนามาตลอดแล้วน้ำหนักขึ้นค่ะ พอประจำเดือนมาเลยไปปรึกษาเภสัชกร แนะนำให้ทานยามินิดอซ ทานมา2แผง ขณะนี้ขึ้นแผงที่3ทานได้10เม็ดแล้ว ประจำเดือนก็ยังไม่มาค่ะ ซื้อที่ตรวจครรภ์มาตรวจ ก็ขึ้น1ขีดตลอดค่ะ มีอาการเจ็บท้องน้อยกับคัดเต้านมเหมือนประจำเดือนจะมาเป็นพักๆค่ะ ถ้าหมดแผงที่3แล้วประจำเดือนยังไม่มาสามารถเปลี่ยนยี่ห้อยาคุมได้หรือเปล่าค๊ะ #ขอบคุณค่ะ
อายุ: 25 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 64 กก. ส่วนสูง: 154ซม. ดัชนีมวลกาย : 26.99 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
ภก.ประดิษฐ์ งามศิริผล

เภสัชกร

11 มกราคม 2561 18:36:57 #2

เรียน คุณ e3738,

คำถามนี้ต้องแยกตอบเป็นหลายประเด็นนะครับ

  • 1. การที่รับประทานยาคุมกำเนิด An... แล้วทำให้น้ำหนักตัวขึ้นนั้น ต้องปรับตัวนะครับ เนื่องจากการที่มีปริมาณเอสโตรเจน 30 ไมโครกรัม เอสโตรเจนช่วยให้ร่างกายมีการเก็บกักน้ำ ช่วยให้ผิวพรรณนุ่มนวลแบบผู้หญิง ดังนั้นเมื่อคุณได้รับฮอร์โมนเสริมจากเดิม ต้องปรับพฤติกรรม โดยงดอาหารที่มีรสเค็มหรือมีโซเดียมปริมาณสูง เพราะโซเดียมจะยิ่งทำให้ร่างกายบวมน้ำเพิ่มมากขึ้น และฮอร์โมนโปรเจสตินสำหรับบางคนจะทำให้เพิ่มการเก็บกักโปรตีนและไขมัน (แบบผู้ชาย) ดังนั้นนอกเหนือจากการปรับเปลี่ยนยาแล้ว ต้องปรับเรื่องการรับประทานอาหารด้วย
  • - โดยควรปรับขนาดภาชนะบรรจุอาหารให้เล็กลง หรือใช้ช้อนตักอาหารให้ลดลง เน้นผักสดผลไม้ที่มีรสไม่หวานจัด เพื่อให้อยู่ท้องและป้องกันการเกิดอาการท้องอืด แน่นท้อง ท้องผูก โปรตีนควรเน้นจากเนื้อปลา เนื้อไก่ (ไม่เอาหนัง) เน้นวิธีการปรุงจากนึ่ง ต้ม อบ มากกว่าการทอด หรือปิ้งย่าง
  • - เพิ่มการออกกำลังกาย อย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน และอย่างน้อย 5 วันต่อสัปดาห์ ออกกำลังกายแบบแอโรบิค สลับกับการยกน้ำหนัก เพื่อให้เกิดกล้ามเนื้อ ป้องกันไม่ให้ไขมันเข้ามาแทนที่
  • - นอนหลับพักผ่อนให้เพ่ียงพอ อย่างน้อย 6-8 ชั่วโมงต่อวัน และไม่ควรเข้านอนเกินเวลา 23.00 น. เนื่องจากเมื่อร่างกายหลับสนิท สมองจะมีการหลั่ง Growth Hormone เพื่อซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย ป้องกันไม่ให้คอลลาเจนถูกทำลาย
  • การอดนอนหรือนอนดึก จะทำให้ร่างกายเกิดภาวะเครียด มีการหลั่งคอร์ติซอล ซึ่งเป็นสารจำพวกสเตียรอยด์ ที่ทำให้ร่างกายเกิดการเก็บเกลือ (บวมน้ำ ความดันโลหิตสูง ไตวาย) น้ำตาล (เบาหวาน ไขมันพอกตับ) ไขมัน (ไขมันอุดตันในหลอดเลือด) มีการดึงแคลเซียมออกมาในกระแสเลือด (เสี่ยงต่อภาวะกระดูกพรุน)
  • 2. เมื่อปรับเปลี่ยนยาเป็น M... ที่มีเอสโตรเจน 15 ไมโครกรัม ก็จะลดปัจจัยที่จะทำให้เกิดภาวะบวมน้ำลง แต่เมื่อเอสโตรเจนลดลง การสร้างเยื่อบุโพรงมดลูกจะลดลงด้วย จึงลดปริมาณประจำเดือนที่จะมีด้วย (เมื่อมีการฉีกขาดหรือหลุดลอกของเยื่อบุโพรงมดลูก จะกลายเป็นเลือดประจำเดือน) หากมั่นใจว่ารับประทานยาได้อย่างถูกต้อง สม่ำเสมอ ไม่ซื้อยาหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอืนใดมาใช้ร่วมกัน "ก่อน" ที่จะปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร โอกาสในการตั้งครรภ์น้อยมากนะครับ คือ น้อยกว่า 1 เปอร์เซ็นต์
  • 3. หากต้องการปรับเปลี่ยนชนิดยาคุมกำเนิด เมื่อรับประทานยาแผงนี้หมดแล้ว ก็สามารถปรับเปลี่ยนได้ครับ ทั้งนี้ควรพิจารณาถึงแนวโน้มการมีฮอร์โมนเพศเด่นของคุณ โดยพิจารณาจากรูปร่างภายนอกและรูปแบบการมีประจำเดือน
  • 3.1 มีลักษณะฮอร์โมนเอสโตรเจนเด่นชัด มีรูปร่างอกเอวชัดเจน ผิวค่อนข้างแห้งหรือผิวผสม รูขุมขนไม่ค่อยกว้าง ขนบางหรือจาง รูปแบบการมีประจำเดือน มักมาปริมาณมาก (อาจต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยวันละหลายแผ่น) หรือมาจำนวนวันมาก 5-7 วัน
  • แบบนี้ควรเลือกใช้ยาที่มีปริมาณโปรเจสตินเด่นชัด เพื่อให้เกิดสมดุลของระบบฮอร์โมนเพศ
  • 3.2 ลักษณะฮอร์โมนโปรเจสตินเด่นชัด รูปร่างค่อนข้างตรง อกเอวไม่ค่อยชัดเจน ผิวค่อนข้างมัน รูขุมขนกว้าง หน้ามัน ขนดก เป็นสิวบ่อย รูปแบบการมีประจำเดือนมักมานานเกินกว่า 30 วัน ปริมาณประจำเดือนไม่มาก หรือมาเพียง 2-3 วัน
  • แบบนี้ควรเลือกยาคุมกำเนิดที่มีปริมาณเอสโตรเจนเด่นชัด เพื่อปรับร่างกายให้สมดุล

หากมีข้อสงสัยเร่งด่วนเกี่ยวกับการใช้ยา สามารถสอบถามได้จากแพทย์หรือเภสัชกรร้านยาใกล้บ้าน ไม่ควรรอคำตอบจากทางหน้าเว็บ เนื่องจากอาจได้รับข้อมูลไม่ครบถ้วน หรือช้าไปไม่ทันการ เสี่ยงต่อการตั้งครรภ์หรือเกิดอันตรายต่อสุขภาพได้


เภสัชกรประดิษฐ์ งามศิริผล


แนะนำบทความดีๆ จากกองบรรณาธิการของเราที่

  • ยาเม็ดคุมกำเนิด (Birth control pill)
  • แพทย์หญิง กีรติ ลีละพงศ์วัฒนา
  • สูตินรีแพทย์
  • ยาลดประสิทธิภาพยาคุมกำเนิด (Common medications that reduce efficacy of birth control medications)
  • ภก. กรชัย ฉันทจิรธรรม