กระดานสุขภาพ

ยาคุมฉุกเฉินแอป*** ***แพก ใช้ดีไหม? มีประสิทธิภาพไหม
Appl*****s

30 ธันวาคม 2560 15:40:42 #1

คือดิฉันมีเพศสัมพันธ์กับแฟนแต่แฟนดันเผลอหลั่งใน เลยไปซื้อยาคุมฉุกเฉิน**** มารับประทาน แต่ไม่รู้ว่าจะมีประสิทธิมากพอไหม? แล้วคุณภาพจะเหมือนยาคุมฉุกเฉินชนิดอื่นไหม มีโอกาสตั้งครรภ์ไหม? ไม่เคยเห็นยาคุมฉุกเฉินชนิดนี้เลยค่ะ พึ่งเห็นครั้งแรก และลองกินดู เลยอยากรู้ว่ามันจะดีไหม
อายุ: 19 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 52 กก. ส่วนสูง: 160ซม. ดัชนีมวลกาย : 20.31 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
Haamor Admin

(Admin)

31 ธันวาคม 2560 14:38:15 #2

แอดมินขออนุญาติเซนเซอร์ชื่อตัวยานะคะ เนื่องจากปรึกาาในเรื่องประสิทธิภาพ

ภก.ประดิษฐ์ งามศิริผล

เภสัชกร

1 มกราคม 2561 18:44:45 #3


เรียน คุณ Apples,

ก่อนตอบคำถามของคุณ ขอให้ข้อมูลการใช้ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินว่าในทางการแพทย์นั้น ใช้ต่อเมื่อ ไม่สามารถวางแผนคุมกำเนิดได้ตามปกติ เช่น เมื่อถูกข่มขืน หรือ ฝ่ายชายใช้ถุงยางอนามัยไม่ถูกต้อง จนเกิดการฉีกขาด รั่วซึม เท่านั้น ไม่นิยมนำมาใช้แทนการคุมกำเนิดปกติ เนื่องจากอัตราเสี่ยงในการตั้งครรภ์ ค่อนข้างสูง คือ 8-15 เปอร์เซ็นต์ (เมื่อเทียบกับการรับประทานยาคุมกำเนิดปกติหรือถุงยางอนามัย ที่น้อยกว่า 1 เปอร์เซ็นต์) และปริมาณฮอร์โมนเพศค่อนข้างสูง คือ 1,500 ไมโครกรัม (ยาคุมกำเนิดรายเดือน ประมาณ 50-75 ไมโครกรัม)

- กลไกการออกฤทธิ์ มี 3 ประการ คือ

  • 1. ทำให้มูกที่ปากมดลูกข้นเหนียว ลดโอกาสที่ตัวอสุจิจะผ่านเข้าไปพบกับไข่
  • 2. ทำให้ท่อนำไข่บีบตัวน้อยลง หรือช้าลง ลดโอกาสที่ไข่จะมาพบกับตัวอสุจิ
  • 3. ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกบางลง ลดโอกาสที่ตัวอ่อนจะมาฝังตัวและเจริญต่อไปได้ (หากมีการผสมของตัวอสุจิกับไข่)

วิธีการรับประทานยาที่ถูกต้อง สามารถรับประทานได้ 2 แบบ แต่ทั้งสองแบบต้องเริ่มยาไม่เกิน 72 ชั่วโมงหลังจากมีเพศสัมพันธ์

  • 1. รับประทานยาเม็ดแรกทันที จากนั้นอีก 12 ชั่วโมง จึงรับประทานยาเม็ดที่สอง
  • ข้อดี คือ อาการไม่พึงประสงค์ด้านเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน น้อยกว่าอีกแบบ และหากเผลอมีเพศสัมพันธ์อีกก่อนรับประทานยาเม็ดที่สอง ก็ไม่จำเป็นต้องรับประทานยาเพิ่มอีก
  • ข้อเสีย คือ มักลืมรับประทานยาเม็ดที่สอง หรือรับประทานยาล่าช้า ทำให้เสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ได้
  • 2. รับประทานยาพร้อมกัน 2 เม็ดทันที
  • ข้อดี คือ ระดับยาในเลือดสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และป้องกันการลืมรับประทานยาเม็ดที่สอง
  • ข้อเสีย คือ อาการไม่พึงประสงค์ ด้านเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียนสูงกว่าวิธีแรก และหากจะมีเพศสัมพันธ์ซ้ำอีกหลังจากรับประทานยาไปแล้ว
  • ต้องใช้วิธีการสวมถุงยางอนามัยแทน ไม่แนะนำให้รับประทานยากล่องที่สองเพิ่มอีก

อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา : เวียนศีรษะ มึนศีรษะ คัดตึงเต้านม คลื่นไส้ อาเจียน ท้องอืด แน่นท้อง ประจำเดือนมาล่าช้า หรือไม่มาตามปกติ เลือดออกกะปริบกะปรอยระหว่างเดือน

ข้อควรระวังพิเศษ : ไม่ควรรับประทานยาเกินกว่า 2 กล่องต่อเดือน เนื่องจากเพิ่มความเส่ี่ยงในการเสียชีวิตจากการตกเลือดในช่องท้อง เหตุจากการตั้งครรภ์นอกมดลูก

โดยเมื่อรับประทานยาไปแล้ว 7-10 วัน มักมีเลือดออกทางช่องคลอด (จากการฉีกขาดของเยื่อบุโพรงมดลูก) แต่ไม่ใช่ประจำเดือนปกติ ซึ่งประจำเดือนมักมาล่าช้ากว่ากำหนดเดิม 7-14 วัน แต่หากมาล่าช้ากว่ากำหนดเดิม 3-4 สัปดาห์ ควรใช้ชุดอุปกรณ์ตรวจครรภ์ เนื่องจากอาจเกิดการตั้งครรภ์ได้

กลับมาที่คำถามของคุณ ยาที่คุณสอบถามมานั้นประกอบด้วยตัวยา Levonorgestrel เหมือนกันกับยาคุมกำเนิดฉุกเฉินยี่ห้ออื่น สามารถใช้ทดแทนกันได้

ขอแนะนำเพิ่มเติม จากข้อมูลส่วนบุคคล หากยังไม่ได้แต่งงาน แนะนำว่าการสวมถุงยางอนามัยจะเหมาะสมมากกว่านะครับ เพราะจะได้ไม่ต้องเปลืองค่าใช้จ่ายด้านยา และยังช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้อีกด้วย เช่น หนองใน ซิฟิลิส แผลริมอ่อน พยาธิในช่องคลอด ไวรัสเริม ไวรัสตับอักเสบ ชนิด บี/ซี หรือที่โชคร้ายสุดคือไวรัสเอชไอวี ที่เป็นสาเหตุของโรคเอดส์ ที่ปัจจุบันยังไม่มียารักษาให้หายขาด และยังช่วยป้องกันไวรัสเอชพีวี (HPV - human Papillomavirus) ที่พบเป็นสาเหตุกระตุ้นให้เกิดมะเร็งปากมดลูกในเพศหญิง และหูดหงอนไก่ มะเร็งองคชาติในเพศชายอีกด้วย

หรือพิจารณาการคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่น เช่น รับประทานยาคุมกำเนิดรายเดือน ยาฉีดคุมกำเนิด หรือรับบริการฝังยาคุมกำเนิดได้ฟรีที่สถานบริการของรัฐ สำหรับหญิงอายุน้อยกว่า 20 ปี
หากมีข้อสงสัยเร่งด่วนเกี่ยวกับการใช้ยา สามารถสอบถามข้อมูลได้จากแพทย์หรือเภสัชกรทันที ไม่ควรรอคำตอบจากทางหน้าเว็บ เนื่องจากอาจขาดข้อมูล หรือตอบคำถามได้ไม่ทันการ เสี่ยงต่อการเกิดอันตรายต่อสุขภาพ หรือเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ได้

เภสัชกรประดิษฐ์ งามศิริผล

  • แนะนำบทความดี ๆจากกองบรรณาธิการของเราที่
  • การคุมกำเนิด (Contraception)
  • แพทย์หญิง กีรติ ลีละพงศ์วัฒนา
  • สูตินรีแพทย์
  • ยาเม็ดคุมกำเนิด (Birth control pill)
  • แพทย์หญิง กีรติ ลีละพงศ์วัฒนา
  • สูตินรีแพทย์
  • ยาฉีดคุมกำเนิด (Injectable contraceptive)
  • รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง ประนอม บุพศิริ
  • สูตินรีแพทย์
  • ยาฝังคุมกำเนิด (Contraceptive implant)
  • รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง ประนอม บุพศิริ
  • สูตินรีแพทย์