กระดานสุขภาพ

ยาคุมฉุกเฉิน
Anonymous

28 ธันวาคม 2560 02:26:12 #1

ผมมีเพศสัมพันกับแฟน หลังจากมีผมให้แฟนกินยาคุมฉุกเฉินไป แล้วผมได้อ่าน ผลข้างเคียงจากยา ที่อาจจะเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งได้ ถ้าตลอดชีวิตกินแค่1แพง 2เม็ด มีโอกาสเป็นมะเร็งเลยหรอครับ มีวิธีไหนช่วยบรรเทาได้บ้าง ถ้าย้อนกลับไปได้ผมคงไม่ให้แฟนผมกิน และจะไม่ให้กินอีกแล้วครับ หรือมีโอกาสที่มดลูกจะกลับมาเป็นปกติไหม ถ้าเวลาผ่านไปนานๆ โดยไม่กินยาซ้ำอีก
อายุ: 23 ปี เพศ: M น้ำหนัก: 70 กก. ส่วนสูง: 175ซม. ดัชนีมวลกาย : 22.86 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
ภก.ประดิษฐ์ งามศิริผล

เภสัชกร

28 ธันวาคม 2560 12:36:24 #2

เรียน คุณ 170ed,

ขอตอบคำถามเป็นประเด็นนะครับ

1. ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน ทางการแพทย์จะใช้ก็ต่อเมื่อไม่สามารถใช้การคุมกำเนิดตามปกติได้ เช่น เมื่อถูกข่มขืน หรือ ถุงยางอนามัยฉีกขาด รั่วซึม จากการใช้งานไม่ถูกต้อง* ไม่นิยมใช้แทนการคุมกำเนิดปกติ เนื่องจากอัตราเสี่ยงในการตั้งครรภ์ค่อนข้างสูง คือ 8-15 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับยาคุมกำเนิดปกติ ที่น้อยกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ และมีปริมาณฮอร์โมนค่อนข้างสูง คือ 1,500 ไมโครกรัม เทียบกับยาคุมกำเนิดรายเดือน ที่เม็ดละ 50-75 ไมโครกรัม
อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา : เวียนศีรษะ มึนศึรษะ คัดตึงเต้านม คลื่นไส้ อาเจียน แน่นท้อง ท้องอืด ประจำเดือนมาล่าช้า หรือไม่มาตามปกติ เลือดออกกะปริบกะปรอยระหว่างเดือน

ข้อควรระวังพิเศษ : ไม่ควรรับประทานยาเกินกว่า 2 กล่องต่อเดือน เนื่องจากเพิ่มความเสี่ยงในการเสียชีวิตจากการตกเลือดในช่องท้อง สาเหตุจากการตั้งครรภ์นอกมดลูก

2. เนื่องจากคุณไม่ได้ให้ข้อมูลว่าแต่งงานแล้วหรือไม่ มีเพศสัมพันธ์เป็นประจำ หรือนาน ๆครั้ง

- หากยังไม่ได้แต่งงาน มีเพศสัมพันธ์นานๆครั้ง การสวมถุงยางอนามัย จะเหมาะสมมากกว่านะครับ เนื่องจากฝ่ายหญิงก็ไม่จำเป็นต้องได้รับยาเป็นประจำ เพราะนอกจากการสวมถุงยางอนามัยจะช่วยคุมกำเนิดแล้ว ยังช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้อีกด้วย เช่น หนองใน ซิฟิลิส แผลริมอ่อน พยาธิในช่องคลอด ไวรัสเริม ไวรัสตับอักเสบ ชนิดบี/ซี หรือไวรัสเอชไอวีที่เป็นสาเหตุของโรคเอดส์ที่ปัจจุบันยังไม่มียารักษาให้หายขาด และยังช่วยป้องกันไวรัสเอชพีวี (HPV - human Papillomavirus) ที่เป็นสาเหตุกระตุ้นให้เกิดมะเร็งปากมดลูกในเพศหญิง ส่วนในเพศชายเป็นสาเหตุให้เกิดหูดหงอนไก่ หรือมะเร็งองคชาติได้

- หากแต่งงานแล้ว แต่ยังไม่พร้อมที่จะมีบุตร สามารถปรึกษาแพทย์ เพื่อพิจารณาคัดเลือกวิธีการคุมกำเนิดที่เหมาะสม เช่น รับประทานยาคุมกำเนิดรายเดือน ยาฉีดคุมกำเนิด การใส่ห่วงทองแดงคุมกำเนิด ยาฝังคุมกำเนิด เป็นต้น

3. ส่วนเรื่องการกระตุ้นให้เกิดเซลล์มะเร็งนั้น ยังไม่ต้องกังวลไปนะครับ เนื่องจากไม่ได้รับยาคุมกำเนิดฉุกเฉินบ่อย ๆหรือเป็นเวลานาน

และยังมีปัจจัยเรื่องอื่น ๆอีก เช่น อาหาร อากาศ (สิ่งแวดล้อม) การออกกำลังกาย การขับถ่าย การนอนหลับพักผ่อน ฯ

หมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี และคอยสังเกตอาการผิดปกติของร่างกาย เช่น มีเม็ดสีผิดปกติ เลือดประจำเดือนผิดปกติ มีจ้ำเลือดโดยไม่ทราบสาเหตุ เป็นต้น

- อาหารควรเลือกรับประทานอาหารที่ดี มีประโยชน์ และครบ 5 หมู่ ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ เลี่ยงอาหารไขมันสูง หรือปิ้งย่าง (เนื่องจากมีสารก่อมะเร็ง คล้ายกับในควันบุหรี่) เน้นผักสด ผลไม้ที่มีรสไม่หวานจัด ไม่รับประทานอาหารซ้ำซาก ควรเวียนเปลี่ยนไปตามฤดูกาล

- อากาศ เลี่ยงในที่มีควันพิษ หรอืหากเลี่ยงไม่ได้ ควรจัดหาโอกาสไปที่มีอากาศบริสุทธิ์บ้าง เช่น สวนสาธารณะ ฯ

- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน ๆละอย่างน้อย 30 นาที และควรเป็นแบบแอโรบิค เพื่อเพิ่มการไหลเวียนโลหิต เพิ่มการขับถ่ายของเสียออกทางเหงื่อ เพิ่มสารเอนดอร์ฟินที่เป็นสารแห่งความสุข

- พยายามไม่ท้องผูก เนื่องจากเมื่อมีอุจจาระค้างในลำไส้ ก็จะเพิ่มความเสี่ยงในการดูดซึมสารพิษเข้าสู่ร่างกาย

- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ วันละอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง และไม่ควรเข้านอนดึกเกิน 23.00 น. เนื่องจากช่วงที่หลับสนิท ต่อมใต้สมองจะมีการหลั่ง Growth Hormone ที่่ช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย การอดนอนหรือนอนดึกจะทำให้ร่างกายเกิดภาวะเครียด ต่อมหมวกไตจะมีการหลั่งฮอร์โมนเครียด คอร์ติซอลที่เป็นสารจำพวกสเตียรอยด์ ที่อาจทำให้เกิดโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง กระดูกพรุน แก่ก่อนวัย เป็นต้น

หากมีข้อสงสัยเร่งด่วนเกี่ยวกับการใช้ยา สามารถสอบถามได้จากแพทย์หรือเภสัชกรทันที "ก่อน" เริ่มต้นการใช้ยา ไม่ควรรอคำตอบจากทางหน้าเว็บ เนื่องจากอาจช้าไป ไม่ทันการ เสี่ยงต่อการเกิดอันตรายต่อสุขภาพได้

 

เภสัชกรประดิษฐ์ งามศิริผล

 

แนะนำบทความดี ๆจากกองบรรณาธิการของเราที่

  • การคุมกำเนิด (Contraception)
  • แพทย์หญิง กีรติ ลีละพงศ์วัฒนา
  • สูตินรีแพทย์
  • ยาเม็ดคุมกำเนิด (Birth control pill)
  • แพทย์หญิง กีรติ ลีละพงศ์วัฒนา
  • สูตินรีแพทย์
  • ยาที่ลดประสิทธิภาพยาคุมกำเนิด (Common medications that reduce efficacy of birth control medications)
  • ภก. กรชัย ฉันทจิรธรรม
  • มะเร็ง (Cancer)
  • ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
  • วว.รังสีรักษา และเวชศาสตร์นิวเคลียร์