กระดานสุขภาพ

กินตัวตัวนี้แล้วเลือดทำไมถึงมาแบบนี้
Anonymous

16 ธันวาคม 2560 15:56:25 #1

ไปตรวจPCOSที่โรงพยาบาลหมอให้ยาตัวนี้มากอนยาPROVER 5mg กินหมดอยู่ไปประมาณ1อาทิตย์ประจำเดือนมา วันแรกมาใส่ผ้าอนามัยแต่ไม่ติดผ้าอนามัยเลย วันที่2มาแต่ติดที่ผ้าอนามัยนิดเดียว เมื่อก่อนเคยกินตัวอื่นเลือดมาเยอะและมาทีละ3-4วัน (ก่อนประจำเดือนมามีอาการเสียวบริเวณท้องน้อยและอวัยวะเพศ แล้วก็ได้ร่วมกอจกรรมกับสามี แบบนี้มีโอกาสจะทองไหมค่ะ)
อายุ: 31 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 70 กก. ส่วนสูง: 148ซม. ดัชนีมวลกาย : 31.96 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
ภก.ประดิษฐ์ งามศิริผล

เภสัชกร

27 ธันวาคม 2560 13:01:22 #2

เรียน คุณ 95107,


ภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ หรือ Polycystic Ovarian Syndrome เป็นภาวะที่ระบบฮอร์โมนเพศไม่สมดุล มีฮอร์โมนเพศชายสูงเกินกว่าปกติจึงทำให้รอบประจำเดือนและการที่มีไข่ตกผิดปกติไป หรือในบางรายอาจไม่มีประจำเดือนเลย 3-4 เดือน. ในทางการแพทย์มักเริ่มต้นจากการ

  • 1. ฮอร์โมนโปรเจสตินเดี่ยวๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนา. ตัวเกินไปจนเสี่ยงต่อการเกิดเนื้องอก และช่วยให้มีรอบประจำเดือนใกล้เคียงธรรมชาติ ตัวอย่างยา เช่น norethisterone, medroxyprogesterone
  • 2. รับประทานยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม โดยแพทย์มักเลือกจากยาคุมที่มีฤทธิ์ต้านฮอร์โมนเพศชาย หรือชนิดที่มีเอสโตรเจนต่ำ เพื่อปรับระดับฮอร์โมนเพศให้สมดุล ลดปริมาณถุงน้ำในรังไข่ที่เป็นแหล่งผลิตฮอร์โมนเพศชาย
  • 3. ให้ฮอร์โมนที่ยับยั้งฮอร์โมนเพศที่สูงเกิน หรือ GnRH (Gonadotrophin Releasing hormone analogue) โดยจะไปแย่งจับกับตัวรับฮอร์โมนตามธรรมชาติ จึงไม่มีการกระตุ้นให้มีการสร้างฮอร์โมนเพศ คล้ายกับในช่วงที่ตั้งครรภ์หรือวัยหมดประจำเดือน

เนื่องจากคุณไม่ได้ให้ข้อมูลว่ายาก่อนหน้านั้นชื่อยาว่าอะไร รับประทานอย่างไร แนะนำให้สอบถามจากแพทย์ที่เคยสั่งจ่ายยาให้ แต่จากฤทธิ์ของยาในกลุ่มที่ 1 จะทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกบางลง ลดความเสี่ยงในการเกิดเนื้องอกเยื่อบุโพรงมดลูก

ส่วนเลือดประจำเดือน ต้องขึ้นกับว่ามีการรับประทานยามาก่อนหน้ามาอย่างต่อเนื่องหรือไม่ หากเป็นดังกล่าว เยื่อบุโพรงมดลูกก็จะไม่เกิดการสะสมตัวหนามาก เหมือนเมื่อก่อนทำการรักษา จึงทำให้เลือดประจำเดือนไม่มากเท่าก่อนหน้า

ยานี้เป็นฮอร์โมนที่คล้ายกับช่วงหลังที่มีการตกไข่ เมื่อหยุดยาจะทำให้มีการหลุดลอกของเยื่อบุโพรงมดลูก แต่ไม่มีฤทธิ์ในการคุมกำเนิดนะครับ หากต้องการคุมกำเนิดด้วย แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อปรับเปลี่ยนเป็นยาคุมกำเนิดชนิดรับประทานจะได้ประโยชน์ทั้งสองประการครับ

ส่วนที่คุณสอบถามมานั้นเป็นอาการของเมื่อระดับฮอร์โมนเพศสูงนะครับ แม้โอกาสที่จะมีไข่ตกจะน้อย แต่ก็ยังคงมีความเสี่ยงในการตั้งครรภ์ได้ ควรปรับเป็นยาคุมกำเนิดเพื่อการรักษาแทนนะครับ ห้ามรับประทานยาทั้งสองอย่าง (ฮอร์โมนเดี่ยว+ยาคุมกำเนิด) เนื่องจากอาจส่งผลให้ระบบฮอร์โมนเพศเสียสมดุล หรือต้านฤทธิ์ของยาคุมกำเนิดได้ครับ

ช่วงนี้ควรมีการลดน้ำหนัก. ควบคุมอาหาร ออกกำลังกายสม่ำเสมอ. พยายามไม่เครียด จากการศึกษาพบว่าสตรีที่อ้วน หรือมีไขมันในช่องท้องมากจะมีโอกาสเสี่ยงในการเกิดภาวะดังกล่าว รวมถึงฮอร์โมนแห่งความเครียด หรือคอร์ติซอล จะยับยั้งไม่ให้ระบบเมตาบอลิซึ่มทำงานเป็นปกติ. จะเก็บกักสารอาหารที่คิดว่าจำเป็นต่อการดำรงชีวิต เช่น น้ำตาล (เสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน) เกลือโซเดียม (บวมน้ำ โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง). แคลเซียม (ภาวะกระดูกบาง กระดูกพรุน) ไขมัน (โรคหัวใจ ไขมันในเลือดสูง ภาวะไขมันเกาะตับ). ระบบสืบพันธุ์ไม่ทำงาน นอกจากนี้ยังทำให้เซลล์ผิวหนังเหี่ยวย่นง่าย คอลลาเจนถูกทำลาย (หน้าแก่ก่อนวัย ไขข้ออักเสบ) เซลล์สมองเสื่อมก่อนวัย เป็นต้น
การออกกำลังกายนอกจากช่วยลดไขมันในช่องท้อง ยังเพิ่มสารเอนดอร์ฟิน ต้านฤทธิ์คอร์ติซอล การนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ อย่างน้อย 6-8 ชั่วโมงต่อวัน และพยายามเข้านอนก่อนเวลา 23.00 น. เนื่องจากช่วง เที่ยงคืนถึงตีสองช่วงที่นอนหลับสนิท ต่อมใต้สมองจะมีการหลั่งโกรทฮอร์โมน (Growth Hormone) ช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย เสริมฤทธิ์การทำงานของอินซูลิน ลดการถูกทำลายของคอลลาเจน ช่วยให้เกิดความจำระยะยาว

 

เภสัชกรประดิษฐ์ งามศิริผล


ขอแนะนำบทความดี ๆจากกองบรรณาธิการของเราที่

 

  • พีซีโอเอส หรือ พีโอเอส: กลุ่มอาการรังไข่มีถุงน้ำหลายใบ (PCOS หรือ POS : Polycystic ovarian syndrome)
  • รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง ประนอม บุพศิริ
  • สูตินรีแพทย์
  • เมดรอกซีโปรเจสเตอโรน (Medroxyprogesterone)
  • เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
  • นอร์อิทิสเตอโรน (Norethisterone) หรือ พริมโมลูท เอ็น (Primolut N)
  • เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
  • ยาเม็ดคุมกำเนิด (Birth control pill)
  • แพทย์หญิง กีรติ ลีละพงศ์วัฒนา
  • สูตินรีแพทย์