กระดานสุขภาพ

ยาคุมฉุกเฉินกับการเลื่อนประจำเดือน
Anonymous

2 ธันวาคม 2560 00:42:19 #1

คุณหมอคะ คือหนูได้กินยาคุมฉุกเฉินไปแล้ว จากนั้น2 อาทิตย์ ประจำเดือนก็มา แต่มาไม่เยอะ แล้วเดือนนี้ปจด ยังไม่มา ปจด จะเคลื่อนไหมคะ เลยมาแล้ว4 วัน ยังไม่มาเลยค่ะ แต่มีอาการเจ็บหน้าอก กับเจ็บช่องคลอด ปวดตรงท้องน้อย
อายุ: 29 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 90 กก. ส่วนสูง: 150ซม. ดัชนีมวลกาย : 40.00 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
ภก.ประดิษฐ์ งามศิริผล

เภสัชกร

5 ธันวาคม 2560 12:25:18 #2

เรียน คุณ 8efff,

ก่อนตอบคำถามของคุณ ขออนุญาตให้ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน ในทางการแพทย์นั้น นำมาใช้เมื่อไม่สามารถวางแผนการคุมกำเนิดได้ตามปกติ เช่น เมื่อถูกข่มขืน หรือถุงยางอนามัยฉีกขาด รั่วซึม (จากการใช้งานไม่ถูกต้อง*) ไม่แนะนำให้ใช้แทนการคุมกำเนิดปกติ เนื่องจากปริมาณฮอร์โมนค่อนข้างสูง คือ 1,500 ไมโครกรัม (เทียบกับชนิดปกติ 50-75 ไมโครกรัมต่อเม็ด)

และมีอัตราเสี่ยงในการตั้งครรภ์ค่อนข้างสูง คือ 8-15 เปอร์เซ็นต์ (เทียบกับชนิดปกติ น้อยกว่า 1 เปอร์เซ็นต์)
กลไกการออกฤทธิ์ 3 ประการ คือ

1. ทำให้มูกที่ปากมดลูกข้นเหนียว ลดโอกาสที่ตัวอสุจิจะผ่านเข้าไปพบกับไข่

2. ทำให้ท่อนำไข่บีบตัวช้าลง หรือน้อยลง ลดโอกาสที่ไข่จะเดินทางมาพบกับตัวอสุจิ

3. ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกบางลง ไม่เหมาะที่ตัวอ่อนจะมาฝังตัวและเจริญเติบโตได้ (หากมีการผสมของไข่กับตัวอสุจิ)

วิธีการรับประทานยาที่แนะนำ มี 2 แบบ แต่ทั้งนี้ต้องรับประทานยาหลังจากมีเพศสัมพันธ์ไม่เกิน 48 ชั่วโมง การทิ้ง

ระยะให้นานเพิ่มขึ้น จะเพิ่มโอกาสเสี่ยงในการตั้งครรภ์มากขึ้นด้วย

1. รับประทานยาเม็ดแรกทันที จากนั้นเว้นอีก 12 ชั่วโมงจึงรับประทานยาเม็ดที่สอง

ข้อดี คือ อาการไม่พึงประสงค์ด้านคลื่นไส้ อาเจียนจะน้อยกว่า และหากมีเพศสัมพันธ์ซ้ำอีกก่อนรับประทานยาเม็ดที่

สอง ก็ไม่จำเป็นต้องรับประทานยาเพิ่มอีก

ข้อเสีย คือ มักลืมรับประทานยาเม็ดที่สอง หรือรับประทานยาเม็ดที่สองล่าช้ากว่า 12 ชั่วโมง ทำให้เสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ได้

2. รับประทานยาพร้อมกัน 2 เม็ดทันที

ข้อดี คือ ระดับยาในเลือดสูงขึ้ันทันที ป้องกันการลืมรับประทานยา

ข้อเสีย คือ เมื่อระดับยาสูงขึ้นทันที นอกจากจะช่วยในเรื่องการออกฤทธิ์ของยา แต่ทำให้อาการไม่พึงประสงค์ด้านเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียนสูงกว่าวิธีแรกด้วย

และหากต้องการมีเพศสัมพันธ์หลังจากรับประทานยาไปแล้ว ต้องใช้การสวมถุงยางอนามัยร่วมด้วย ไม่ควรใช้การรับประทานยาคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนอีก

อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา : เวียนศีรษะ มึนงง คัดตึงเต้านม คลื่นไส้ อาเจียน แน่นท้อง ท้องอืด ประจำเดือนผิดปกติ (ไม่มา หรือมาช้ากว่ากำหนด) เลือดออกกะปริบกะปรอยระหว่างเดือน

ข้อควรระวัง : ไม่ควรใช้เกินกว่า 2 กล่องต่อเดือน เนื่องจากเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากการตกเลือดในช่องท้อง เนื่องจากการตั้งครรภ์นอกมดลูก

กลับมาที่คำถามของคุณ เลือดที่ออกมานั้นไม่ใช่เลือดประจำเดือนตามปกตินะครับ ส่วนใหญ่หลังรับประทานยาประมาณ 7-14 วันจะมีเลือดจากการหลุดลอกของเยื่อบุโพรงมดลูก ส่วนเลือดประจำเดือนมักจะมาล่าช้ากว่าเดิม 10-14 วัน หากเกินจากนี้ไปแล้วประจำเดือนยังคงไม่มาตามปกติ แนะนำให้ใช้อุปกรณ์ตรวจครรภ์ เพื่อทดสอบการตั้งครรภ์ หากผลเป็นลบ แต่ประจำเดือนยังคงไม่มาตามปกติ 2-3 เดือน ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แท้จริงต่อไป
ขอแนะนำเพิ่มเติม หากยังไม่ได้แต่งงาน มีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนเป็นครั้งคราว การใช้ถุงยางอนามัยจะเหมาะสมที่สุดนะครับ เพราะนอกจากจะช่วยเรื่องคุมกำเนิดแล้ว ยังช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้อีกด้วย เช่น หนองใน ซิฟิลิส แผลริมอ่อน พยาธิในช่องคลอด เริม ไวรัสตับอักเสบชนิดบี/ซี หรือโชคร้ายสุดคือเอชไอวี ที่เป็นสาเหตุของโรคเอดส์ ที่ปัจจุบันยังไม่มียารักษาให้หายขาด และยังช่วยป้องกันไวรัสเอชพีวี (HPV - human Papillomavirus) ที่เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกในเพศหญิง และหูดหงอนไก่ มะเร็งองคชาติในเพศชายได้อีกด้วย

แต่หากแต่งงานแล้ว ต้องการคุมกำเนิด วางแผนครอบครัวไว้ก่อน แนะนำให้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรร้านยาใกล้บ้าน เพื่อพิจารณาคัดเลือกการใช้วิธีการคุมกำเนิดที่เหมาะสมต่อไป

กรณีมีข้อสงสัยเร่งด่วนเกี่ยวกับการใช้ยา สามารถสอบถามได้จากแพทย์หรือเภสัชกร ก่อนการใช้ยาทุกครั้ง เพื่อความปลอดภัยจากการใช้ยา และประสิทธิภาพในการรักษาสูงสุด

 

เภสัชกรประดิษฐ์ งามศิริผล

 

แนะนำบทความดี ๆจากกองบรรณาธิการของเราที่

การคุมกำเนิด (Contraception)

แพทย์หญิง กีรติ ลีละพงศ์วัฒนา
สูตินรีแพทย์

ถุงยางอนามัยชาย (Male Condom)

นพ.วิชัย ชวาลไพบูลย์
สูตินรีแพทย์

ยาเม็ดคุมกำเนิด (Birth control pill)

แพทย์หญิง กีรติ ลีละพงศ์วัฒนา
สูตินรีแพทย์