กระดานสุขภาพ

ทำไมกินยาคุมฉุกเฉินแล้วยังมีโอกาสท้องได้คะ
Anonymous

16 กรกฎาคม 2560 08:55:17 #1

1.ทำไมกินยาคุมฉุกเฉินแล้วยังมีโอกาสท้องได้คะ 2.มีโอกาสมากน้อยขนาดไหนคะ
อายุ: 22 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 46 กก. ส่วนสูง: 151ซม. ดัชนีมวลกาย : 20.17 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
ภก.ประดิษฐ์ งามศิริผล

เภสัชกร

23 กรกฎาคม 2560 18:22:27 #2

เรียน คุณ 3ef5e,

ก่อนตอบคำถามของคุณ ขอให้ข้อมูลเกี่ยวกับยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฉุกเฉินนะครับ

- ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฉุกเฉิน ไม่ใช้แทนการคุมกำเนิดปกติ ในทางการแพทย์จะนำมาใช้สำหรับ เมื่อไม่สามารถวางแผนใช้การคุมกำเนิดได้ล่วงหน้า เช่น เมื่อถูกข่มขืน หรือเมื่อใช้ถุงยางอนามัยแล้วเกิดการฉีกขาด รั่วซึม (ซึ่งเกิดขึ้นได้ยากมากนะครับ เนื่องจากทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา นับเป็นเครื่องมือทางการแพทย์ ต้องมีการทดสอบในห้องปฏิบัติการให้มั่นใจว่าไม่มีการฉีกขาด รั่วซึม จึงจะอนุญาตให้ออกมาจำหน่ายได้ ซึ่งหากมีการปฏิบัติอย่างถูกต้อง ทั้งการจัดเก็บ การเปิดซอง การสวมใส่ และการถอดออกเมื่อเสร็จกิจ)

- กลไกการออกฤทธิ์ ประกอบด้วยหลัก ๆ 3 ประการคือ

1. ทำให้มูกที่ปากมดลูกมีความข้นเหนียวเพิ่มมากขึ้น ลดโอกาสที่อสุจิจะผ่านเข้าไปผสมกับไข่

2. ทำให้ท่อนำไข่บีบตัวช้าลง ลดโอกาสที่ไข่จะเดินทางมาพบกับตัวอสุจิ

3. ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกผิดปกติ ลดโอกาสที่ตัวอ่อน (หากมีการผสมของไข่กับตัวอสุจิได้) จะมาฝังตัวที่ผนังมดลูก และเติบโตต่อไป

- วิธีการรับประทานยาที่ถูกต้องมี 2 แบบ คือ

1. รับประทานยาทันทีหลังจากเสร็จกิจ แต่ต้องไม่เกิน 48 ชั่วโมง จากนั้นอีก 12 ชั่วโมง ให้รับประทานยาเม็ดที่สอง
วิธีนี้มีข้อดี คือ อาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องอืด แน่นท้อง จะน้อยกว่าอีกวิธี และหากมีเพศสัมพันธ์อีกหลังจากรับประทานยาเม็ดแรก แต่ยังไม่ได้รับประทานยาเม็ดที่สอง ก็ไม่ต้องรับประทานยาเพิ่มอีก
ข้อเสีย คือ มักลืมรับประทานยา หรือรับประทานยาช้าเกินกว่า 12 ชั่วโมง ทำให้เพิ่มความเสี่ยงในการตั้งครรภ์ได้

2. รับประทานยาพร้อมกัน 2 เม็ดทันที แต่ไม่เกิน 48 ชั่วโมง

วิธีนี้ข้อดี คือ ไม่ต้องกลัวลืมรับประทานยา ได้ระดับยาที่สูงขึ้นทันที

ข้อเสีย คือ อาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน แน่นท้อง ท้องอืดมากกว่าวิธีแรก และหากต้องการมีเพศสัมพันธ์อีกหลังจากรับประทานยาไปแล้ว ต้องใช้วิธีการสวมถุงยางอนามัยแทน ไม่แนะนำให้รับประทานยาเพิ่มอีก 1 ชุด เนื่องจากจะส่งผลต่อระบบฮอร์โมนเพศ อาจเกิดภาวะประจำเดือนผิดปกติ หรืออันตรายต่อระบบสืบพันธุ์ได้

- อาการไม่พึงประสงค์ที่พบบ่อย คือ เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน แน่นท้อง ท้องอืด ประจำเดือนมาไม่ปกติ (มาช้า หรือไม่มาตามปกติ) เลือดออกกะปริบกะปรอย

- ยานี้ห้ามใช้แทนการคุมกำเนิดปกติ เนื่องจากปริมาณฮอร์โมนเพศค่อนข้างสูง (1,500 ไมโครกรัม เทียบกับชนิดปกติ 50-75 ไมโครกรัม) และมีอัตราเสี่ยงในการตั้งครรภ์ค่อนข้างสูง (8-15 เปอร์เซ็นต์ เทียบกับชนิดปกติ น้อยกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ (หากรับประทานยาอย่างถูกต้อง))

- ไม่ควรใช้เกินกว่า 2 กล่องต่อเดือน เนื่องจากอาจทำให้ประจำเดือนไม่มาตามปกติ หรือเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากการตั้งครรภ์นอกมดลูก

จากข้อมูลที่ให้มาข้างต้น คุณคงพอจะได้ข้อมูลแล้วว่าทำไมจึงเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ถึง 8-15 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากไม่ได้ยับยั้งไม่ให้รังไข่มีการสร้างและมีการตกของไข่ตั้งแต่แรกเหมือนกับยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดปกติ
หากคุณแต่งงานแล้ว และมีเพศสัมพันธ์กับสามีเป็นประจำ อาจใช้วิธีการรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดปกติ หรือใช้ยาฉีดคุมกำเนิด เพื่อวางแผนครอบครัว หรือ หากคุณยังไม่ได้แต่งงาน และไม่ได้มีเพศสัมพันธ์เป็นประจำ แนะนำให้ใช้การสวมถุงยางอนามัย นอกจากช่วยคุมกำเนิดแล้ว ยังช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้อีกด้วย เช่น หนองใน ซิฟิลิส แผลริมอ่อน เริม พยาธิในช่องคลอด ไวรัสตับอักเสบ บี/ซี หรือไวรัสเอชไอวีที่ทำให้เกิดโรคเอดส์ หรือไวรัสเอชพีวี ที่เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกในเพศหญิง หรือหูดหงอนไก่ มะเร็งองคชาติในเพศชายได้อีกด้วย

กรณีมีข้อสงสัยเร่งด่วนเกี่ยวกับการใช้ยา สามารถสอบถามได้จากแพทย์หรือเภสัชกรร้านยาใกล้บ้าน ไม่ควรรอคำตอบจากทางหน้า้เว็บ เนื่องจากอาจช้า ไม่ทันการ ไม่ตรงกับข้อสงสัยของคุณ จนเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายต่อสุขภาพได้

เภสัชกรประดิษฐ์ งามศิริผล

แนะนำบทความดี ๆจากกองบรรณาธิการของเราที่

การคุมกำเนิด (Contraception)

แพทย์หญิง กีรติ ลีละพงศ์วัฒนา

สูตินรีแพทย์

ยาเม็ดคุมกำเนิด (Birth control pill)

แพทย์หญิง กีรติ ลีละพงศ์วัฒนา

สูตินรีแพทย์