กระดานสุขภาพ

รบกวนสอบถามหน่อยนะครับ
Mini*****g

30 ตุลาคม 2557 09:54:29 #1

ถ้ากินยาคุมฉุกเฉินติดต่อกัน 2 วัน คือมีเพศสัมพันธ์กับแฟนประมาณ บ่าย 2 กินครั้งที่1ตอนวันอังคารเวลา 5โมงเย็น(เม็ดที่สองตอนตี4) และ มีเพศสัมพันธ์กับแฟนอีกครั้งตอนวันพุธเวลาประมาณเที่ยงและกินยาคุมฉุกเฉินตอน 19.50 (กินเม็ดที่สองตอน 06.50) ไม่ทราบว่าถ้ากินแล้วประสิทธิภาพของยาคุมจะเป็นยังไงหรอครับและจะเป็นอันตรายมากแค่ไหนครับ 

อายุ: 24 ปี เพศ: M น้ำหนัก: 65 กก. ส่วนสูง: 172ซม. ดัชนีมวลกาย : 21.97 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
ภก.ประดิษฐ์ งามศิริผล

เภสัชกร

1 พฤศจิกายน 2557 06:05:15 #2

เรียน คุณ miniongg,

ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน ในทางการแพทย์ใช้ต่อเมื่อมีความจำเป็นฉุกเฉินเท่านั้น คือ เมื่อถูกข่มขืน หรือเมือ่ถุงยางอนามัยฉีกขาด ไม่ควรใช้แทนยาคุมกำเนิดปกติ เนื่องจากมีปริมาณฮอร์โมนค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับยาคุมกำเนิดปกติ และมีโอกาสเสี่ยงในการตั้งครรภ์ประมาณ 8-15 เปอร์เซ็นต์ ตัวยาออกฤทธิ์ป้องกันการตั้งครรภ์ โดย

    • ทำให้มูกที่ปากมดลูกข้นเหนียว ลดโอกาสที่อสุจิจะผ่านเข้าไปด้านในมดลูก
    • ทำให้ท่อนำไข่บีบตัวช้าลง เพื่อลดโอกาสที่ไข่จะมาพบกับตัวอสุจิ
    • ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวเพิ่มขึ้น เพื่อลดโอกาสที่ตัวอ่อน (หากเกิดการผสมระหว่างไข่กับอสุจิ) จะมาฝังตัวและเจริญเติบโตต่อไปได้

วิธีการรับประทานยาที่ถูกต้อง มี 2 แบบ โดยต้องรับประทานยาภายใน 72 ชั่วโมงของการมีเพศสัมพันธ์ คือ

  1. รับประทานยาทันที 1 เม็ด และอีก 1 เม็ดหลังจากยาเม็ดแรก 12 ชั่วโมง ข้อดี คืออาการคลื่นไส้ อาเจียนค่อนข้างน้อย แต่ข้อเสียคือมักลืมรับประทานยา
  2. รับประทานยาพร้อมกัน 2 เม็ดทันที วิธีนี้มีข้อดีคือไม่ต้องกลัวลืมรับประทานยา แต่มักพบปัญหาเรื่องคลื่นไส้ อาเจียน จนยาอาจไม่ได้ผล

ข้อควรระวังพิเศษ คือ ไม่ควรรับประทานยาเกิน 2 กล่องต่อเดือน เนื่องจากอาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากภาวะตกเลือดในช่องท้อง สาเหตุจากการตั้งครรภ์นอกมดลูก (จากกลไกข้อ 2 ที่ท่อนำไข่บีบตัวช้าลง ตัวอ่อนจึงมักไปฝังตัวที่ท่อนำไข่แทน)

แต่จากข้อมูลการศึกษาวิจัย พบว่าสตรีที่ได้รับประทานยาคุมกำเนิดฉุกเฉินมากเกินกว่า "3 ครั้งตลอดชีวิต" จะมีอัตราเสี่ยงในการเกิดมะเร็งต่ออวัยวะต่าง ๆสูงหลายเท่าเมื่อเทียบกับสตรีที่ได้รับยาคุมกำเนิดปกติ หรือไม่เคยรับประทานยาคุมกำเนิดมาก่อน ที่พบบ่อยได้แก่มะเร็งเต้านม มะเร็งมดลูก/รังไข่ หรือมะเร็งตับ เป็นต้น

ขอแนะนำเพิ่มเติม คือ หากคุณยังไม่ได้แต่งงาน ไม่จำเป็นต้องมีเพศสัมพันธ์เป็นประจำ แนะนำให้ใช้วิธีการสวมถุงยางอนามัย จะช่วยคุมกำเนิดและป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ด้วย เช่น หนองใน ซิฟิลิส แผลริมอ่อน พยาธิในช่องคลอด ไวรัสตับอักเสบ บีหรือซี หรือเอดส์ ที่ปัจจุบันยังไม่มีทางรักษา นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัส เอชพีวี (HPV - human Papilloma virus) ที่เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูก หรือมะเร็งองคชาติในเพศชายอีกด้วย
หรือหากคุณแต่งงานแล้ว อาจให้แฟนคุณรับประทานยาคุมกำเนิดปกติแทน ซึ่งจะส่งผลดีต่อทั้งสองฝ่าย

 

เภสัชกรประดิษฐ์ งามศิริผล

แนะนำบทความดี ๆจากกองบรรณาธิการของเราที่
การคุมกำเนิด (Contraception) โดยแพทย์หญิง กีรติ ลีละพงศ์วัฒนา สูตินรีแพทย์
http://haamor.com/th/การคุมกำเนิด/