กระดานสุขภาพ

กินยาคุมกำเนิด
Wasn*****y

22 เมษายน 2561 03:16:20 #1

พอดีอยากทราบรายละเอียดการกินยาคุมกำเนิดครับ

1.การกินยาคุมกำเนิดกินหลังหมดระจำเดือน ของเดือนนั้นใช่ไหมครับ และกินได้ทันทีหรือหลังมีเพสสัมพันธ์ ใช่ไหมครับ

2.เมื่อกินยาคุมกำเนิดเเแล้วมีเพสสัมพันธ์แบบไม่ได้ป้องกัน มีการหลั่งข้างใน  หรือ หลั่งข้างนอก จะมีโอกาสท้องหรือไม่ครับ 

3.หลังจากมีเพสสัมพันธ์แล้วต้องกินยาคุมจนหมดแผง เลยหรือไม่ครับ 

4.ถ้าเดือนนั้นไม่ได้มีเพสสัมพันธ์ ถ้าไม่กินจะมีอะไรไหมครับ

***โอกาศท้องจากการกินยาคุมกำเนิดมีมากน้อยเพียงใดครับถเาไม่ป้องกัน

   ......ขอบคุณครับ......

 

อายุ: 22 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 50 กก. ส่วนสูง: 156ซม. ดัชนีมวลกาย : 20.55 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
ภก.ประดิษฐ์ งามศิริผล

เภสัชกร

22 เมษายน 2561 16:39:14 #2

เรียน คุณ wasnanny,

ก่อนตอบคำถามของคุณ แนะนำให้ปรึกษาเภสัชกรร้านยา เพื่อร่วมกันพิจารณาความเหมาะสมในการคัดเลือกยา ทั้งในเรื่องข้อห้ามใช้ ความสะดวกในการรับประทานยา ประเภทและความเข้มข้นของยา อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาที่อาจเกิดขึ้น ข้อควรระวัง

การปฏิบัติหากเกิดการลืมรับประทานยา รวมถึงค่าใช้จ่ายด้านยาแต่ละเดือน เป็นต้น

โดยการรับประทานยาคุมกำเนิด จะมีข้อห้ามใช้ในผู้ที่มีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านม หรือมะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์บางชนิด (ที่ไวต่อฮอร์โมนในตัวยา) ประวัติความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือด เช่น ลิ่มเลือดอุดตันที่ขา โรคตับอักเสบที่กำลังมีอาการ หรือมีเลือดออกจากมดลูกโดยไม่ทราบสาเหตุ เป็นต้น

การพิจารณาคัดเลือกยา มักดูจากรูปร่างลักษณะทางกายภาพ ร่วมกับรูปแบบการมีประจำเดือน ได้แก่

- มีฮอร์โมนเอสโตรเจนเด่นชัด มีรูปร่างอกเอวชัดเจน รูขุมขนค่อนข้างเล็ก ผิวค่อนข้างแห้ง เส้นขนเล็กและบาง รูปแบบการมีประจำเดือนมักมาปริมาณมาก (อาจต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยหลายแผ่นต่อวัน) ระยะเวลาการมีประจำเดือนค่อนข้างนาน (5-7 วัน) แต่ละรอบเดือนประมาณ 28-30 วัน แบบนี้แพทย์มักเลือกใช้ยาคุมกำเนิดที่มีปริมาณเอสโตรเจนน้อย หรือยาคุมฯที่มีโปรเจสตินเด่นชัด เพื่อให้เกิดความสมดุลของฮอร์โมนเพศในร่างกาย

- มีฮอร์โมนโปรเจสตินเด่นชัด มักมีรูปร่างค่อนข้างตรง อกเอวไม่ชัดเจน รูขุมขนค่อนข้างกว้าง ผิวมันหรือผิวผสม เป็นสิวง่าย ขนดก รูปแบบการมีประจำเดือนมักมาปริมาณไม่มาก (อาจใช้วันละ 1-2 แผ่นก็พอ) ระยะเวลาการมีประจำเดือนสั้น (3-4 วัน) แต่ละรอบเดือนมักยาวนานกว่า 35 วัน แบบนี้แพทย์มักพิจารณาเลือกยาที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนเด่นชัด หรือเลือกยาโปรเจสตินที่ออกฤทธิ์ต้านกับเทสโทสเตอโรน เพื่อให้เกิดความสมดุลของฮอร์โมนเพศในร่างกาย
หากรับประทานยาได้อย่างถูกต้อง สม่ำเสมอแล้ว อัตราเสี่ยงในการตั้งครรภ์ค่อนข้างต่ำ คือ น้อยกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ (เทียบได้กับการสวมถุงยางอนามัย แต่การสวมถุงยาง นอกจากจะช่วยเรื่องการคุมกำเนิดแล้ว ยังช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้อีกด้วย)

กลับมาที่คำถามของคุณ

1.การกินยาคุมกำเนิดกินหลังหมดระจำเดือน ของเดือนนั้นใช่ไหมครับ และกินได้ทันทีหรือหลังมีเพสสัมพันธ์ ใช่ไหมครับ

การรับประทานยาคุมกำเนิด ควรรับประทานยาภายในวันแรกที่มีประจำเดือน (หรือช้าสุด คือไม่เกินวันที่ 5 ของการมีประจำเดือน) เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีการตั้งครรภ์ก่อนการรับประทานยา และตัวยายับยั้งไม่ให้มีไข่ตกได้ตั้งแต่เมื่อรับประทานยาเม็ดแรกครบ 24 ชั่วโมง

2.เมื่อกินยาคุมกำเนิดเเแล้วมีเพสสัมพันธ์แบบไม่ได้ป้องกัน มีการหลั่งข้างใน หรือ หลั่งข้างนอก จะมีโอกาสท้องหรือไม่ครับ

การรับประทานยาคุมกำเนิดแบบรายเดือน เป็นการยับยั้งไม่ให้มีไข่ตกครับ จนกว่าจะหยุดยา และมีประจำเดือน เมื่อรับประทานยาหมดแผง ตัวยาก็จะหมดฤทธิ์ในการคุมกำเนิดไป ดังนั้นจึงสามารถมีเพศสัมพันธ์แบบหลั่งในได้ครับ

3.หลังจากมีเพสสัมพันธ์แล้วต้องกินยาคุมจนหมดแผง เลยหรือไม่ครับ


เมื่อเริ่มต้นรับประทานยาคุมกำเนิดแบบรายเดือนแล้ว ควรรับประทานยาต่อจนหมดแผง เพื่อให้ตัวยาออกฤทธิ์อย่างต่อเนื่อง ตัวยาออกฤทธิ์แบบเม็ดต่อเม็ด แผงต่อแผง ดังนั้นเมื่อลืมรับประทานยาเกิน 2 วัน อัตราเสี่ยงในการตั้งครรภ์จะกลับมาเท่ากับเมื่อไม่ได้รับประทานยา

4.ถ้าเดือนนั้นไม่ได้มีเพสสัมพันธ์ ถ้าไม่กินจะมีอะไรไหมครับ

หากไม่ได้มีเพศสัมพันธ์ ก็สามารถเว้นยาของเดือนนั้นได้ แต่หากไม่สามารถกำหนดวันที่จะมีเพศสัมพันธ์ได้ ควรรับประทานยาคุมกำเนิดอย่างต่อเนื่อง ไม่แนะนำให้ใช้การรับประทานยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน แทนการคุมกำเนิดปกติ

เนื่องจากมีอัตราเสี่ยงในการตั้งครรภ์ค่อนข้างสูง คือ 8-15 เปอร์เซ็นต์ แพทย์จะเลือกใช้ต่อเมื่อไม่สามารถวางแผนคุมกำเนิดตามปกติได้ เช่น เมื่อถูกข่มขืน หรือการใช้ถุงยางอนามัยไม่ถูกต้อง แล้วเกิดการฉีกขาด รั่วซึม

แนะนำเพิ่มเติม หากยังไม่ได้แต่งงาน ไม่ได้มีเพศสัมพันธ์เป็นประจำ การสวมถุงยางอนามัยก็เป็นทางเลือกที่ดีทั้งสองฝ่าย คือ ฝ่ายหญิงก็ไม่จำเป็นต้องเปลืองค่าใช้จ่ายด้านยา (ยกเว้นว่าจะรับประทานยาคุมกำเนิดเพื่อปรับประจำเดือนด้วย) และยังช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้อีกด้วย เช่น หนองใน ซิฟิลิส แผลริมอ่อน พยาธิในช่องคลอด ไวรัสเริม ไวรัสตับอักเสบ ชนิด บี/ซี หรือหากโชคร้ายสุด คือไวรัส เอชไอวี ที่เป็นสาเหตุของโรคเอดส์ที่ปัจจุบันยังไม่มียารักษาให้หายขาด

และยังช่วยป้องกันไวรัสเอชพีวี (HPV - human Papillomavirus) ที่เป็นสาเหตุกระตุ้นให้เกิดมะเร็งปากมดลูกในเพศหญิง และหูดหงอนไก่ / มะเร็งองคชาติในเพศชายได้อีกด้วย

กรณีมีข้อสงสัยเร่งด่วนเกี่ยวกับการใช้ยา สามารถสอบถามได้จากแพทย์หรือเภสัชกรร้านยาใกล้บ้านได้ทันที "ก่อน" การใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารใด ๆ ไม่ควรรอคำตอบจากทางหน้าเว็บ เนื่องจากอาจช้าไป ไม่ทันการ เสี่ยงต่อการเกิดอันตรายต่อสุขภาพจนถึงแก่ชีวิตได้


เภสัชกรประดิษฐ์ งามศิริผล


แนะนำบทความดี ๆจากกองบรรณาธิการของเราที่

  • การคุมกำเนิด (Contraception)
  • แพทย์หญิง กีรติ ลีละพงศ์วัฒนา
  • สูตินรีแพทย์
  • ยาเม็ดคุมกำเนิด (Birth control pill)
  • แพทย์หญิง กีรติ ลีละพงศ์วัฒนา
  • สูตินรีแพทย์
  • ยาลดประสิทธิภาพยาคุมกำเนิด (Common medications that reduce efficacy of birth control medications)
  • ภก. กรชัย ฉันทจิรธรรม
  • ยาฝังคุมกำเนิด (Contraceptive implant)
  • รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง ประนอม บุพศิริ
  • สูตินรีแพทย์