กระดานสุขภาพ

ยารักษา pcos
BN10*****4

6 กรกฎาคม 2558 09:15:54 #1

ยาที่ใช้รักษาโรค pcos มีอะไรบ้างครับ  แล้วนอกจากการรักษาด้วยยาแล้วมีการรักษาอย่างอื่นมั้ยครับ

อายุ: 28 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 86 กก. ส่วนสูง: 165ซม. ดัชนีมวลกาย : 31.59 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
ภก.ประดิษฐ์ งามศิริผล

เภสัชกร

8 กรกฎาคม 2558 15:09:57 #2

เรียน คุณ BN1014,

ไม่ทราบวัตถุประสงค์ของการสอบถามครับ ตัวคุณเป็นผู้ป่วยเอง หรือว่าถามแทนผู้อื่น (ในคำถามลงด้วย "ครับ")
ขอตอบพอสังเขปนะครับ. เนื่องจากขาดข้อมูลการตรวจร่างกาย การตรวจวัดระดับฮอร์โมนในเลือด โรคประจำตัว หรือภาวะการทำงานของตับหรือไตฯ ภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ หรือ Polycystic Ovarian Syndrome เป็นภาวะที่ระบบฮอร์โมนเพศไม่สมดุล มีฮอร์โมนเพศชายสูงเกินกว่าปกติจึงทำให้รอบประจำเดือนและการที่มีไข่ตกผิดปกติไป หรือในบางรายอาจไม่มีประจำเดือนเลย 3-4 เดือน. ในทางการแพทย์มักเริ่มต้นจากการ

1. รับประทานยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม โดยแพทย์มักเลือกจากยาคุมที่มีฤทธิ์ต้านฮอร์โมนเพศชาย หรือชนิดที่มีเอสโตรเจนค่อนข้างสูง เพื่อปรับระดับฮอร์โมนเพศให้สมดุล ลดปริมาณถุงน้ำในรังไข่ที่เป็นแหล่งผลิตฮอร์โมนเพศชาย

2. ทดลองให้ฮอร์โมนโปรเจสตินเดี่ยวๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนา. ตัวเกินไปจนเสี่ยงต่อการเกิดเนื้องอก และช่วยให้มีรอบประจำเดือนใกล้เคียงธรรมชาติ

3. ให้ ฮอร์โมนที่ยับยั้งฮอร์โมนเพศที่สูงเกิน หรือ GnRH (Gonadotrophin Releasing hormone analogue) โดยจะไปแย่งจับกับตัวรับฮอร์โมนตามธรรมชาติ จึงไม่มีการกระตุ้นให้มีการสร้างฮอร์โมนเพศ คล้ายกับในช่วงที่ตั้งครรภ์หรือวัยหมดประจำเดือน

4. เท่าที่ทราบหากมีอาการมากหรือรุนแรง อาจใช้การลดปริมาณถุงน้ำด้วยการจี้ไฟฟ้า หรืออาจผ่าตัดรังไข่ออกไปในผู้ที่ไม่ต้องการมีบุตรแล้ว

ทั้งนี้ควรปรึกษาแพทย์ผู้ทำการตรวจรักษาจะดีที่สุดนะครับ. ว่ามีความผิดปกติที่ใดบ้าง ช่วงนี้ควรมีการลดน้ำหนัก. ควบคุมอาหาร ออกกำลังกายสม่ำเสมอ. พยายามไม่เครียด จากการศึกษาพบว่าสตรีที่อ้วน หรือมีไขมันในช่องท้องมากจะมีโอกาสเสี่ยงในการเกิดภาวะดังกล่าว รวมถึงฮอร์โมนแห่งความเครียด หรือคอร์ติซอล จะยับยั้งไม่ให้ระบบเมตาบอลิซึ่มทำงานเป็นปกติ. จะเก็บกักสารอาหารที่คิดว่าจำเป็นต่อการดำรงชีวิต เช่น น้ำตาล (เสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน) เกลือโซเดียม (บวมน้ำ โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง). แคลเซียม (ภาวะกระดูกบาง กระดูกพรุน) ไขมัน (โรคหัวใจ ไขมันในเลือดสูง ภาวะไขมันเกาะตับ). ระบบสืบพันธุ์ไม่ทำงาน นอกจากนี้ยังทำให้เซลล์ผิวหนังเหี่ยวย่นง่าย คอลลาเจนถูกทำลาย (หน้าแก่ก่อนวัย ไขข้ออักเสบ) เซลล์สมองเสื่อมก่อนวัย เป็นต้น

การออกกำลังกายนอกจากช่วยลดไขมันในช่องท้อง ยังเพิ่มสารเอนดอร์ฟิน ต้านฤทธิ์คอร์ติซอล การนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ อย่างน้อย 6-8 ชั่วโมงต่อวัน และพยายามเข้านอนก่อนเวลา 23.00 น. เนื่องจากช่วง เที่ยงคืนถึงตีสองช่วงที่นอนหลับสนิท ต่อมใต้สมองจะมีการหลั่งโกรทฮอร์โมน (Growth Hormone) ช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย เสริมฤทธิ์การทำงานของอินซูลิน ลดการถูกทำลายของคอลลาเจน ช่วยให้เกิดความจำระยะยาว
เป็นกำลังใจให้ครับ

เภสัชกรประดิษฐ์ งามศิริผล

แนะนำบทความดีๆจากอาจารย์แพทย์ของเราที่พีซีโอเอส หรือ พีโอเอส: กลุ่มอาการรังไข่มีถุงน้ำหลายใบ (PCOS หรือ POS : Polycystic ovarian syndrome) รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง ประนอม บุพศิริ สูตินรีแพทย์

http://haamor.com/th/พีซีโอเอส/