กระดานสุขภาพ

รับประทานยาอะไซโคลเวียร์ (Aciclovir)คู่กับยาไดคลอกซาซิลลิน (Dicloxacillin)ได้ไหมครับ
Mada*****o

2 มิถุนายน 2558 12:52:29 #1

คือกินยาอะไซโคลเวียร์ (Aciclovir) รักษาโรคงูสวัด แล้วกินยาปฏิชีวนะ(ยาไดคลอกซาซิลลิน (Dicloxacillin))ได้ไหมครับ

เพื่อยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย(แผลงูสวัดเป็นหนองจากการติดเชื้อแบคทีเรีย))))

อายุ: 23 ปี เพศ: M น้ำหนัก: 75 กก. ส่วนสูง: 170ซม. ดัชนีมวลกาย : 25.95 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
ภก.ประดิษฐ์ งามศิริผล

เภสัชกร

4 มิถุนายน 2558 15:08:12 #2

เรียน คุณ madao,

จากคำถามของคุณ หากไม่เคยมีประวัติแพ้ยากลุ่มเพนิซิลลิน (เพนิซิลลิน อะม็อกซี่ซิลลิน ฯ) หรือ เซฟาโลสปอรินส์ (เซฟาเล็กซิน เซฟูร็อกซีม ฯ) ก็สามารถใช้ยานี้ร่วมกันได้ โดยใช้เพื่อต้านเชื้อแบคทีเรีย ที่เป็นสาเหตุของการเกิด ฝี หนอง ขนาดที่แนะนำคือ 500 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง ก่อนอาหาร ทั้งนี้ควรรับประทานยาขณะท้องว่าง คือ ก่อนอาหาร 1 ชั่วโมง หรือหลังอาหาร 2 ชั่วโมง เนื่องจากหากรับประทานยานี้พร้อมอาหารจะลดการดูดซึมตัวยาลงประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ และควรรับประทานยานี้ติดต่อกัน 7-10 วัน แต่หากเกินจาก 5 วันแล้ว แผลยังไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้องต่อไป

ข้อแนะนำเพิ่มเติม คือ ควรรับประทานยาพร้อมน้ำสะอาดมาก ๆ เนื่องจากป้องกันการติดของแคปซูลที่หลอดอาหาร และช่วยการขับถ่ายยาออกทางปัสสาวะ

ส่วนยา acyclovir ที่เป็นยายับยั้ง (ไม่ใช่ยากำจัดเชื้อ) เชื้อไวรัสนั้น ต้องรับประทานให้ตรงตามช่วงเวลา (เว้นช่วงเวลาให้ใกล้เคียงกัน เพื่อให้ระดับยาในเลือดสม่ำเสมอตลอดวัน เช่น ทุก 4 ชั่วโมง ยกเว้นเวลานอน) ข้อสำคัญคือยานี้เป็นเพียงการยับยั้งไม่ให้เชื้อไวรัสเจริญเติบโตเพิ่ม ต้องอาศัยภูมิต้านทานของร่างกาย ในการกำจัดเชื้อให้มีปริมาณลดต่ำลง ไม่ให้เกิดโรค แต่เชื้อไวรัสนี้จะไม่หายขาด จะอาศัยหลบซ่อนอยู่ตามปมประสาทของร่างกาย ต้องดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง รับประทานอาหารที่ดี มีประโยชน์ เน้นอาหารที่ปรุงสุก สะอาด โปรตีนที่ย่อยง่าย เช่นเนื้อปลาทะเลหรือเนื้อไก่ ไม่ติดหนัง นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ พยายามอย่าเครียด (ทั้งจากเรื่องงาน การอดอาหาร การอดนอน) จะทำให้ร่างกายมีการหลั่งสารความเครียด ซึ่งเป็นสารจำพวกสเตียรอยด์ ที่จะลดภูมิคุ้มกันของร่างกาย บวมน้ำ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมัน หรือกระดูกพรุนฯ จะทำให้ไวรัสกลับมาเป็นซ้ำได้อีก รักษาความสะอาดของแผล ประคบแผลด้วยน้ำเกลือบ่อย ๆ เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้เป็นแผลเป็น หรือเกิดแผลติดเชื้อง่าย หรือปรึกษาคลินิกใกล้บ้าน เพื่อรับคำแนะนำในการดูแลความสะอาดแผล พยายามแยกข้าวของเครื่องใช้จากผู้ร่วมอาศัย เนื่องจากอาจเกิดการแพร่กระจายของเชื้อได้ โดยเฉพาะหากมีสตรีมีครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เนื่องจากอาจเสี่ยงทำให้ทารกพิการได้

เป็นกำลังใจให้ครับ

เภสัชกรประดิษฐ์ งามศิริผล

แนะนำบทความดี ๆจากกองบรรณาธิการของเราที่

  • ยาไดคลอกซาซิลลิน (Dicloxacillin) โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
  • งูสวัด (Herpes zoster) โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์ (วว.รังสีรักษา และเวชศาสตร์นิวเคลียร์)