กระดานสุขภาพ

ปัญหาเรื่องยาคุมฉุกเฉินและยาคุมปกติ
Anonymous

1 กรกฎาคม 2557 11:45:25 #1

เรียนคุณหมอค่ะ คือว่าประจำเดือนในรอบเดือน พ.ค. กับ มิ.ย. ของหนูคือ วันที่ 10 และ 13 ตามลำดับ แต่หนูมีเพศสัมพันธุ์กับแฟนโดยไม่ได้ป้องกันค่ะ แล้วแฟนหนูเค้าบอกว่าเค้าปล่อยในไป แต่พอแฟนหนูเอาอวัยวะเพศออกมากก็มีน้ำไหลออมาจากช่องคลอดหนูค่ะ เป็นแบบนี้3ครั้ง(เพราะมีเพศสัมพันธุ์กัน3ครั้ง แต่ครั้งที่2น้ำไม่ไหลออกมา) โดยเรามีเพศสัมพันธุ์กันในวันที่ 28-29 มิ.ย. ค่ะ และหนูก็ได้กินยาคุมฉุกเฉินเม็ดแรกเวลา 13.00 น. เม็ดที่ 2 ตอน 01.00 น. หนูอยากจะทราบว่าในกรณีแบบนี้ ยาคุมฉุกเฉินสามารถช่วยได้หรือเปล่าค่ะ แล้วต้องกินเพิ่มอีกกล่องหรือเปล่าค่ะ แล้วยาคุมฉุกเฉินจะออกฤทฤธิ์กี่วันค่ะ แล้วถ้าเดือนหน้าหนูจะรับประทานยาคุมแบบปกติจะสามารถทานได้เลยหรือเปล่าค่ะ ขอบคุณค่ะ

อายุ: 22 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 51 กก. ส่วนสูง: 163ซม. ดัชนีมวลกาย : 19.20 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
ภก.ประดิษฐ์ งามศิริผล

เภสัชกร

2 กรกฎาคม 2557 10:39:05 #2

เรียน คุณ 68e5d,

จากข้อมูลที่คุณให้มา หากคุณรับประทานยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน ไม่เกิน 72 ชั่วโมง หลังจากมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก
และรับประทานได้ถูกต้อง คือเม็ดแรกภายใน 72 ชั่วโมงของการมีเพศสัมพันธ์ และอีก 1 เม็ด หลังจากเม็ดแรก ครบ 12 ชั่วโมง ดังนั้น เพื่อให้ได้ตัวยาคุมกำเนิดฉุกเฉินได้ผลดีที่สุด คือ คุณต้องรับประทานยา หลังจากมีเพศสัมพันธ์ครั้งสุดท้าย คือวันที่ 29 มิ.ย. ตัวยาก็จะมีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ ได้ประมาณ 99 เปอร์เซ็นต์ การรับประทานยาอีก 1 ชุด ไม่ได้เพิ่มประสิทธิภาพของตัวยา แต่จะทำให้เกิดอันตรายจากการได้รับยาเกินขนาดมากกว่า แต่ถ้ารับประทานยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน วันที่ 28 มิ.ย. ตัวยาอาจไม่มีประสิทธิภาพครอบคลุมถึงการมีเพศสัมพันธ์ชนิดหลั่งในอีก ในวันที่ 29 มิ.ย.ครับ

การมีเพศสัมพันธ์แบบสอดใส่และมีการหลั่งใน จะมีโอกาสเสี่ยงในการตั้งครรภ์อยู่แล้ว ไม่ได้ลดความเสี่ยงลง แม้ว่าจะมีของเหลวไหลออกมาจากช่องคลอดหรือไม่ เนื่องจากอสุจิบางส่วนได้ผ่านเข้าในช่องคลอดไปแล้ว การใช้ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน ที่ขึ้นทะเบียนนั้น ใช้เมื่อเกิดการผิดพลาดจากการคุมกำเนิด เช่น ถุงยางอนามัยฉีกขาด รั่วซึม หรือมีเพศสัมพันธ์โดยที่ไม่ได้มีการวางแผนไว้ก่อน เช่น เมื่อถูกข่มขืน เนื่องจากตัวยาประกอบด้วยฮอร์โมนโปรเจสตินขนาดสูง คือ 1500 ไมโครกรัม เมื่อเทียบกับฮอร์โมนในยาคุมกำเนิดทั่วไป คือ 50-75 ไมโครกรัม กลไกของยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน คือ

- ทำให้มูกที่ปากช่องคลอดมีความข้นเหนียว เพื่อกันไม่ให้อสุจิผ่านเข้าไปได้ง่าย

- ทำให้ท่อนำไข่ มีการบีบตัวช้าลง ลดโอกาสที่ไข่จะเดินทางมาผสมกับอสุจิ

- ทำให้เยื่อบุผนังมดลูก มีการหนาตัวมากขึ้น จนยากที่ตัวอ่อน (หากมีการผสมของไข่กับอสุจิ) จะมาฝังตัวได้

ข้อมูลจากบริษัทยา แจ้งไว้ว่าไม่ควรใช้ยาเกิน 2 กล่องต่อเดือน เนื่องจากจะทำให้ประจำเดือนมาผิดปกติ หรือเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์นอกมดลูก ซึ่งมักเป็นที่ท่อนำไข่ เสี่ยงต่อการเกิดฉีกขาดของท่อนำไข่ ซึ่งมีเนื้อเยื่อมีขนาดเล็กและบางกว่าผนังมดลูก เสี่ยงต่อการตกเลือดภายในช่องท้อง จนเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ แต่มีข้อมูลการศึกษาเก็บข้อมูลย้อนหลัง พบว่าสตรีที่เคยได้รับยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน "มากกว่า 3 ครั้ง ตลอดชีวิต" จะมีอัตราเสี่ยงในการเป็นมะเร็งต่ออวัยวะต่างๆ มากกว่าหลายเท่า เมื่อเทียบกับสตรีที่ได้รับยาคุมกำเนิดชนิดปกติ หรือไม่เคยได้รับยาคุมกำเนิดมาก่อน
ที่พบมักเป็นมะเร็งเต้านม มดลูก รังไข่ หรือมะเร็งตับ

หากคุณยังไม่ได้แต่งงาน หรือแต่งงานแล้วแต่ยังไม่ต้องการมีบุตร แนะนำให้ใช้ก่อนเบื้องต้น คือการสวมถุงยางอนามัย ซึ่งนอกจากใช้ป้องกันการตั้งครรภ์แล้ว ยังช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อีกด้วย เช่น หนองใน ซิฟิลิส แผลริมอ่อน ไวรัสตับอักเสบ บี/ซี เริม หงอนไก่ หรือเอดส์ และยังลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อไวรัส HPV ซึ่งเป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูก หรือหูด หงอนไก่ในผู้ชาย และยังพบว่าในบางรายลดการสร้างภูมิต้านทานต่ออสุจิ จนเป็นสาเหตุที่ทำให้มีบุตรยากในบางรายได้อีกด้วย หากต้องการรับประทานยาคุมกำเนิดปกติ คงต้องรอให้ประจำเดือนมาก่อนนะครับ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ เพื่อทำการตรวจร่างกาย เพื่อคัดเลือกชนิดของยาคุมกำเนิดที่มีปริมาณฮอร์โมนเหมาะสมกับคุณ รวมถึงตรวจว่ามีข้อห้ามใช้ใด ๆหรือไม่ เช่น มีก้อนที่เต้านม หรือมีปัญหาหลอดเลือดอุดตัน ปวดไมเกรนรุนแรง ชนิดที่ไม่สามารถควบคุมได้ เป็นต้น หรือปรึกษาสูติ-นรีแพทย์ เพื่อเลือกวิธีการคุมกำเนิดอื่น ๆเช่นการรับประทานยาคุมกำเนิดปกติ การใส่ห่วงคุมกำเนิด หรือการฉีดยาคุมกำเนิด ที่เหมาะสมกับสภาพร่างกายของคุณครับ

 

เภสัชกรประดิษฐ์ งามศิริผล

การคุมกำเนิด (Contraception) โดยแพทย์หญิง กีรติ ลีละพงศ์วัฒนา สูตินรีแพทย์

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กามโรค (STD: Sexually transmitted disease)

โดยรองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง วรลักษณ์ สมบูรณ์พร สูตินรีแพทย์