กระดานสุขภาพ

ยากระเพาะ
Kamo*****n

5 มิถุนายน 2557 15:53:24 #1

สวัสดีค่ะ

พอดีว่ารักษาโรคกระเพาะอยู่ค่ะ ก็ทานยาหลายตัว ทั้ง Miracid และยาลดกรด ยาธาตุน้ำแดง

และยาอะไรอีกตัวนึงไม่ทราบชื่อค่ะ เม็ดสีเขียว 

แล้วพอดีว่า ทานแล้ว ไปอ่านในเว็บว่า ถ้าเป็นโรคกระเพาะแล้วหิวระหว่างวันให้รับประทานนม หรือผลไม้ไปแทน

จึงเกิดข้อขัดแย้งว่า ถ้าเราทานนมไป แล้วรับประทานยาลดกรด ก็ไม่ดีอีกเพราะเป็น นมกับยาลดกรดไม่ควรทานคู่กัน หรือว่าควรหลีกเลี่ยงการทานนมจนกว่าจะรักษาแผลในกระเพาะอาหารหาย หรือว่ายังไงดีค่ะ

หากรับประทานยาลดกรดไปเมื่อมื้อเย็นประมาน 1 ทุ่ม แล้วพอดึกๆมาหิว เลยทาน นมเข้าไป ตอนประมาน 3 ทุ่ม แล้วมียาที่ต้องรับประทานก่อนนอนอีก จะทานยายังไงดีค่ะ

 

ขอบคุณค่ะ 

อายุ: 22 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 41 กก. ส่วนสูง: 155ซม. ดัชนีมวลกาย : 17.07 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
ภก.ประดิษฐ์ งามศิริผล

เภสัชกร

8 มิถุนายน 2557 15:57:33 #2

เรียน คุณ Kamolchanok,

โดยทั่วไปหากมีอาการของแผลในกระเพาะอาหาร การปฏิบัติตนนอกจากการรับประทานยาให้ครบตามแพทย์สั่งแล้ว ควรปรับพฤติกรรรมสุขภาพอื่น ๆด้วย เช่น

- พยายามเลี่ยงความเครียด (เรื่องงาน เรื่องส่วนตัว การอดนอนฯ) เนื่องจากจะกระตุ้นให้กระเพาะอาหารมีการหลั่งกรดและน้ำย่อยออกมามากขึ้น

- รับประทานอาหารที่ย่อยง่าย รสไม่จัด โดยเฉพาะเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด (ถ้าเค็มจัด คุณจะได้โรคไต หรือโรคความดันโลหิตสูงแทน)

- รับประทานอาหารให้ตรงเวลา อาจแบ่งเป็นมื้อเล็ก ๆ 4-5 มื้อแทน เพื่อไม่ให้แคลอรีต่อวันเกิน และช่วยป้องกันอาการปวด แสบท้อง จากกรดเกิน

- งดพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำร้ายทางเดินอาหาร เนื่องจากทำให้เมือกที่คลุมกระเพาะอาหารลดลง และบางลง เช่น การดื่มเหล้า หรือสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยง ชา กาแฟ น้ำอัดลม

- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน 5 วันต่อสัปดาห์ เพื่อให้ภูมิต้านทานดีขึ้น เลือดไหลเวียนดีขึ้น

- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อย 6-8 ชั่วโมงต่อวัน หากนอนน้อย จะทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนความเครียด ซึ่งเป็นพวกสารสเตียรอยด์ จะทำให้เมือกคลุมกระเพาะบางลง ไม่ดึกเกิน 23.00 น. ซึ่งเป็นช่วงที่ร่างกายมีการหลั่ง Growth Hormone ช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ นอกจากนี้ยังไม่ทำให้เหี่ยวย่น หรือแก่ก่อนวัยอีกด้วย

กลับมาที่คำถามของคุณ การรับประทานยาเป็นสิทธิของผู้ป่วยที่จะทราบข้อมูลเกี่ยวกับชื่อยาและข้อบ่งใช้นะครับ เพื่อจะได้ระวังการใช้ยาได้อย่างถูกต้อง ตอนนี้ขอตอบเฉพาะยาที่ทราบชื่อก่อนนะครับ Miracid หรือตัวยา Omeprazole เป็นยาลดการหลั่งกรด (คนละความหมายกับยาลดกรดเคลือบกระเพาะ ซึ่งเมื่อรับประทานลงไปก็จะทำให้เป็นด่าง
จะออกฤทธิ์สั้น ๆ เมื่อจับกับกรดในกระเพาะอาหาร จะเป็นกลาง และถูกกำจัดออกทางอุจจาระไป คล้ายกับแม่เหล็กขั้วบวก ขั้วลบ จับกันแล้ว จะไม่ออกฤทธิ์อีก) ยาลดการหลั่งกรด คือลดตั้งแต่การสร้างกรด ที่จะออกมากระตุ้นให้น้ำย่อยในกระเพาะอาหารทำงาน ข้อควรระวัง คือ ตัวยาถูกทำลายได้ง่าย เมื่อมีกรดในกระเพาะอาหาร ดังนั้นจึงต้องรับประทานทั้งแคปซูล ซึ่งมีการเคลือบพิเศษให้ไปแตกตัวและละลายที่บริเวณลำไส้เล็ก

- แนะนำให้รับประทานยาก่อนอาหารอย่างน้อย 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง จะได้ลดการถูกทำลายด้วยกรด เมื่อมีอาหารในกระเพาะ

- ไม่รับประทานยานี้พร้อมนมหรือยาลดกรดเคลือบกระเพาะ เพราะจะทำให้กระเพาะอาหารเป็นด่าง แคปซูลและเม็ดแกรนูลยาจะละลายออกมาที่กระเพาะอาหารแทนที่จะไปที่ลำไส้เล็ก หากจะดื่มนมต้องเป็นหลังรับประทานยานี้ประมาณ 2 ชั่วโมง เพื่อให้ตัวยาได้ละลายและถูกดูดซึมก่อน

- หากมีอาการหิว โหย หรือแสบท้องระหว่างวัน แนะนำให้รับประทานเป็นแครกเกอร์ 1 แผ่น กับดื่มน้ำสะอาดตามมาก ๆ เพื่อช่วยเจือจางกรดและน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร อาจเสริมด้วยผลไม้ที่ย่อยง่าย และมีฤทธฺิ์ช่วยรักษาแผลในทางเดินอาหาร เช่น กล้วยน้ำว้า หรือมะละกอสุก หรือฝรั่งสุก พวกนี้จะลดอาการแสบท้อง ไม่ทำให้อ้วนอีกด้วย

- หลีกเลี่ยงการดื่มนมก่อนเข้านอน เนื่องจากนม โดยเฉพาะนมวัว จะมีโปรตีนที่ย่อยยาก มักกระตุ้นให้มีกรดและน้ำย่อยออกมาในกระเพาะอาหารเพิ่มขึ้น เมื่อดื่มนมแล้วเอนตัวลงนอน จะทำให้เสีี่ยงต่อภาวะกรดไหลย้อนเพิ่มขึ้นอีก 1 โรค หากจะดืมนมควรเป็นนมถั่วเหลือง และก่อนเข้านอนอย่างน้อย 4 ชั่วโมง

- ส่วนยาลดกรดเคลือบกระเพาะ ชนิดเม็ด หรือน้ำ (เช่น ยี่ห้อ แอนตาซิล อะลั่มมิลค์ฯ) พวกนี้แพทย์มักให้รับประทานเสริมเมื่อมีอาการปวดหรือแสบท้อง ดังนั้นหากคุณปฏิบัติในข้อข้างต้นเกี่ยวกับอาหาร/ผลไม้เสริมแล้ว ไม่มีอาการหรือลดลงแล้ว ยาลดกรดเคลือบกระเพาะนี้ อาจไม่จำเป็นต้องรับประทาน แต่ omeprazole เป็นยาที่ลดการสร้างกรด ต้องรับประทานครบถ้วน ต่อเนื่องสม่ำเสมอ จนครบตามที่แพทย์สั่ง (ประมาณ 4-8 สัปดาห์)

 

เภสัชกรประดิษฐ์ งามศิริผล

แนะนำบทความดี ๆจากกองบรรณาธิการของเราที่

โรคแผลเปบติค (Peptic ulcer) / โรคแผลในกระเพาะอาหาร (Gastric ulcer) โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์