กระดานสุขภาพ

กินยาคุมฉุกเฉิน เม็ดที่2 ก่อนเวลา จะท้องมั้ยค่ะ
Anonymous

17 ตุลาคม 2561 15:05:14 #1

คือหนูไม่ได่ดูเวลาตอนกินเม็ดแรก แต่พอจะเดาได้ แต่ไม่แน่ใจ พอถึงเวลากินเม็ดที่2 หนูกินก่อนเวลา จะท้องมั้ยค่ะ ตัวหนูยุไทย แฟนหนูทำงานที่ลาว กังวลมากค่ะ
อายุ: 16 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 45 กก. ส่วนสูง: 170ซม. ดัชนีมวลกาย : 15.57 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
ภก.ประดิษฐ์ งามศิริผล

เภสัชกร

21 ตุลาคม 2561 20:20:09 #2

เรียน คุณ 5cb40,
ก่อนตอบคำถามของคุณ ขออนุญาตให้ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน ว่าในทางการแพทย์นั้นจะใช้ก็ต่อเมื่อ ไม่สามารถใช้การคุมกำเนิดตามปกติ เช่น เมื่อถูกข่มขืน หรือเมื่อใช้ถุงยางอนามัยไม่ถูกต้อง แล้วเกิดการฉีกขาด รั่วซึม (ซึ่งเกิดได้ยากมากๆ เนื่องจากเป็นเครื่องมือแพทย์ต้องมีการผ่านการทดสอบอย่างเต็มที่ จึงจะออกมาจำหน่ายได้ - สามารถศึกษาวิธีการใช้ถุงยางอนามัยที่ถูกต้องเหมาะสมได้จากบทความท้ายคำตอบนี้)
ไม่ควรใช้ยานี้แทนการคุมกำเนิดปกติ เนื่องจากมีอัตราเสี่ยงในการตั้งครรภ์ค่อนข้างสูง คือ 8-15 เปอร์เซ็นต์ (เทียบกับยาคุมกำเนิดรายเดือนหรือถุงยางอนามัย ที่มีอัตราเสี่ยงน้อยกว่า 1 เปอร์เซ็นต์) และยาคุมกำเนิดฉุกเฉินยังมีปริมาณฮอร์โมนสูงกว่ายาคุมกำเนิดปกติ คือ 1,500 ไมโครกรัม (ยาคุมกำเนิดปกติมีเพียง 50-75 ไมโครกรัม)

กลไกการออกฤทธิ์ของยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน คือ
1. ทำให้มูกที่ปากมดลูกข้นเหนียวขึ้น ลดโอกาสที่ตัวอสุจิจะไปพบกับไข่
2. ทำให้ท่อนำไข่มีการบีบตัวที่ความแรงน้อยลงหรือช้าลง ลดโอกาสที่ไข่จะเดินทางไปพบกับตัวอสุจิ
3. ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกมีความหนาไม่เหมาะสมที่ตัวอ่อนจะมาฝังตัวและเจริญต่อไปเป็นทารกได้ (หากมีการผสมของไข่กับตัวอสุจิ)

วิธีการรับประทานยาที่ถูกต้อง มีได้ 2 แบบ คือ

- รับประทานยา 1 เม็ดทันทีหลังจากมีเพศสัมพันธ์ (หรือช้าสุดไม่ควรนานเกิน 48 ชั่วโมง เนื่องจากหากทิ้งเวลานานเกินไป จะเพิ่มอัตราเสี่ยงในการตั้งครรภ์) จากนั้นนับไปอีก 12 ชั่วโมง จึงรับประทานยาเม็ดที่สอง

ข้อดี - อาการไม่พึงประสงค์ด้านคลื่นไส้ อาเจียน ท้องอืด แน่นท้อง จะน้อยกว่าอีกวิธี และหากมีเพศสัมพันธ์ซ้ำอีกก่อนถึงเวลารับประทานยาเม็ดที่สอง ก็ไม่ต้องใช้วิธีการคุมกำเนิดอื่นเพิ่มเติม

ข้อเสีย - มักลืมรับประทานยาเม็ดที่สอง หรือรับประทานยาล่าช้ากว่ากำหนด ทำให้เพิ่มอัตราเสี่ยงในการตั้งครรภ์

- รับประทานยาพร้อมกัน 2 เม็ดทันที (หรือปัจจุบันมียารูปแบบใหม่มีความแรงเท่ากับยาสองเม็ด คือ 1,500 ไมโครกรัม) โดยระยะเวลาที่รับประทานยา เหมือนกับวิธีแรก คือช้าสุดไม่เกิน 48 ชั่วโมง

ข้อดี - ไม่ต้องกังวลเรื่องการลืมรับประทานยาเม็ดที่สอง หรือรับประทานยาล่าช้ากว่า 12 ชั่วโมง

ข้อเสีย - ระดับยาในเลือดสูงขึ้นทันที หลังจากรับประทานยา จึงมักเกิดอาการไม่พึงประสงค์ด้านเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน แน่นท้องมากกว่าวิธีแรก และหากจำเป็นต้องมีเพศสัมพันธ์ซ้ำอีกหลังจากรับประทานยาไปแล้ว ต้องใช้วิธีการสวมถุงยางอนามัยแทน ไม่แนะนำให้ใช้การรับประทานยาคุมกำเนิดฉุกเฉินซ้ำอีก หรือรับประทานยาคุมกำเนิดปกติ
เพราะอาจทำให้ประจำเดือนมาผิดปกติ ซึ่งไม่ทราบว่าเกิดจากการตั้งครรภ์หรือจากผลของยาที่รับประทานเพิ่ม

อาการไม่พึงประสงค์ด้านยา : เวียนศีรษะ มึนศึรษะ คัดตึงเต้านม คลื่นไส้ อาเจียน แน่นท้อง ท้องอืด ประจำเดือนมาผิดปกติ หรือไม่มาตามกำหนด

ข้อควรระวังพิเศษ : ห้ามรับประทานยาเกินกว่า 2 ชุดต่อเดือน เนื่องจากจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูก จนเป็นเหตุให้ตกเลือดในช่องท้อง จนถึงแก่ชีวิตได้

กลับมาที่คำถามของคุณ คงตอบอัตราเสี่ยงในการตั้งครรภ์ได้ไม่ชัดเจน แต่น่าจะใกล้เคียงกับการรับประทานยาวิธีที่สอง หากเลยกำหนดที่ประจำเดือนมาตามปกติเกิน 3 สัปดาห์ แนะนำให้ใช้ชุดตรวจการตั้งครรภ์ทดสอบว่ามีการตั้งครรภ์หรือไม่ แต่หากยังคงไม่มาตามปกติ ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แท้จริงต่อไป

ขอแนะนำเพิ่มเติม หากคุณยังไม่ได้แต่งงาน แฟนไม่ได้อยู่ด้วยเป็นประจำ การใช้ถุงยางอนามัยจะเป็นวิธีที่สะดวกและเหมาะสมมากที่สุดสำหรับทั้งสองฝ่าย เพราะนอกจากช่วยในการคุมกำเนิดแล้ว ยังช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้อีกด้วย เช่น หนองใน ซิฟิลิส แผลริมอ่อน (หนองในเทียม) พยาธิในช่องคลอด ไวรัสเริม ไวรัสตับอักเสบ ชนิด บี/ซี หรือหากโชคร้ายสุด คือไวรัสเอชไอวี ที่เป็นสาเหตุของโรคเอดส์ ที่ปัจจุบันยังไม่มียารักษาให้หายขาด และยังช่วยป้องกันไวรัสเอชพีวี ที่เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกในเพศหญิง หรือหูดหงอนไก่ มะเร็งองคชาติในเพศชายได้อีกด้วย

หรืออาจรับบริการฝังยาคุมกำเนิดได้ฟรี ในสถานบริการของรัฐ สำหรับหญิงที่อายุต่ำกว่า 20 ปี ซึ่งจะลดค่าใช้จ่ายด้านยา หรือการลืมรับประทานยาคุมกำเนิดได้อีกด้วย

กรณีมีข้อสงสัยเร่งด่วนเกี่ยวกับการใช้ยา สามารถสอบถามได้จากแพทย์หรือเภสัชกรร้านยาใกล้บ้านได้ทันที ไม่ควรรอคำตอบจากทางหน้าเว็บ เนื่องจากในบางครั้งอาจต้องมีการสอบถามข้อมูลที่สำคัญเพิ่มเติม หรืออาจช้าเกินไป ไม่ทันการ เสี่ยงต่อการเกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

เภสัชกรประดิษฐ์ งามศิริผล

แนะนำบทความดี ๆจากกองบรรณาธิการของเราที่

  • การคุมกำเนิด (Contraception)
  • แพทย์หญิง กีรติ ลีละพงศ์วัฒนา
  • สูตินรีแพทย์
  • ยาเม็ดคุมกำเนิด (Birth control pill)
  • แพทย์หญิง กีรติ ลีละพงศ์วัฒนา
  • สูตินรีแพทย์
  • ยาลดประสิทธิภาพยาคุมกำเนิด (Common medications that reduce efficacy of birth control medications)
  • ภก. กรชัย ฉันทจิรธรรม
  • เภสัชกร
  • ยาฝังคุมกำเนิด (Contraceptive implant)
  • รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง ประนอม บุพศิริ
  • สูตินรีแพทย์
  • ถุงยางอนามัยชาย (Male Condom)
  • นพ.วิชัย ชวาลไพบูลย์
  • สูตินรีแพทย์