กระดานสุขภาพ

ฮอร์โมน insulin
Muk.*****a

9 มกราคม 2557 12:28:37 #1

ถ้ากินอาหารพวกคาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน มันจะมีผลต่อการหลั่งและการออกฤทธิ์ของฮอร์โมน insulin เหมือนหรือต่างอย่างไรคะ ??

อายุ: 18 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 55 กก. ส่วนสูง: 165ซม. ดัชนีมวลกาย : 20.20 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
ผ*****

15 มกราคม 2557 16:33:53 #2

-เมื่อเรากินอาหารคาร์โบไฮเดรต

อาหารจะถูกย่อยไปเป็นอณู/หน่วยสุดท้ายคือกลูโคส ซึ่งเป็นสารจำเป็นที่ร่างกายต้องนำไปใช้เพื่อให้เกิดพลังงาน แต่กลูโคสไม่สามารถซึมเข้าเซลล์โดยตรงได้ ต้องอาศัยตัวพาเข้าคือ อินซูลิน ที่เปรียบเสมือนเป็นกุญแจไขประตูเซลล์ โดยกลูโคสส่วนที่เหลือใช้ จะถูกเก็บไว้ที่ตับ ที่เซลล์ไขมัน และที่เซลล์กล้ามเนื้อ ในรูปอื่น เช่น ไกลโคเจน และจะถูกนำมาใช้ในยามจำเป็น

จะเห็นว่ากลูโคสในกระแสเลือดมีที่มาจาก 3 แหล่ง คือ อาหาร การสลายของไกลโคเจน และการสร้างน้ำตาลภายในร่างกายเองจาก ตับ กล้ามเนื้อ และเซลล์ไขมัน

ดังนั้นหน้าที่ของอินซูลินคือ นำพากลูโคสเข้าเซลล์ กล้ามเนื้อ และเซลล์ไขมัน รวมทั้งเซลล์อื่นๆ และในภาวะที่ร่างกายไม่มีอาหาร อินซูลิน ก็จะสลาย ไกลโคเจนที่เก็บไว้ (Glycogenolysis) รวมทั้งกระตุ้นการสร้างน้ำตาลจากเซลล์กล้ามเนื้อ และเซลล์ไขมัน ( Glucolysis and Gluconeogenesis)

-เมื่อเรากินอาหารโปรตีน

อาหารโปรตีนจะถูกย่อยไปเป็น อะมิโนเอซิด/กรดอะมิโน(amino acid) ซึ่งในทางตรง อินซูลินจะช่วยให้เซลล์ตับ และเซลล์กล้ามเนื้อลาย สามารถนำไปใช้ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกายให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และป้องกันการสลายของโปรตีนในร่างกาย ส่วนทางอ้อมคือ ป้องกันมิให้มีการเปลี่ยนโปรตีนไปเป็นกลูโคสในสภาวะปกติ (ร่างกายได้กลูโคสจากอาหารเพียงพอแล้ว) แต่ถ้าอินซูลินไม่พอ ร่างกายจะสลายโปรตีนไปเป็นน้ำตาลต่อไป [พบได้ในผู้ป่วยเบาหวาน (ขาดอินซูลิน) ซึ่งแม้น้ำตาลจะสูงแต่เซลล์เอาไปใช้ไม่ได้จึงรู้สึกเหมือนยังขาดน้ำตาล]

-เมื่อเรากินอาหารไขมัน

อาหารไขมัน เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะเปลี่ยนเป็นไคโรไมครอน(ไขมันที่รวมตัวกับโปรตีน) ไตรกลีเซอไรด์ และกรดไขมันอิสระในที่สุด อินซูลินช่วยให้การเปลี่ยนแปลงนี้ มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ไตรกลีเซอไรด์ และกรดไขมันอิสระจะถูกเก็บสะสมไว้ที่เซลล์กล้ามเนื้อ และเซลล์ไขมัน และจะถูกสลายมาเป็นกลูโคสเมื่อจำเป็น เช่น ภาวะที่ต้องใช้น้ำตาลมากๆ (เช่น การออกกำลังกาย) หรือภาวะขาดน้ำตาล (เช่น อดอาหาร) กรดไขมันอิสระ จะถูกตับเปลี่ยนไปเป็นน้ำตาลกลูโคส และได้สารคีโตนออกมาด้วย

-สรุป

  • อาหารคาร์โบไฮเดรต >>> กลูโคส
  • อาหารโปรตีน >>> อะมิโนเอซิด
  • อาหารไขมัน >>> กรดไขมันอิสระ

ซึ่งอินซูลินมีส่วนเกี่ยวข้องกับ เมตาบอลิสึม/การสันดาป ของอาหารทั้ง 3อย่าง ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ดังกล่าว

 

พญ. ธัญญา เชฏฐากุล