กระดานสุขภาพ

อาการขาดทุนของการล้างไตหน้าท้อง
Anonymous

25 พฤศจิกายน 2556 03:53:38 #1

เรื่องที่จะสอบถามเป็นคำถามเกี่ยวกับน้องชายค่ะ น้องชายดิฉันป่วยเป็นไตวายเรื้อรังค่ะ อายุ 34 ปี สูง 170 ซม. หนัก 80 กก. (ก่อนฟอกไต หนัก 110 กก.) ได้เจาะฟอกไตทางเส้นเลือดที่คอเมื่อเดือนมิถุนายน 2556 เปลี่ยนเป็นล้างไตหน้าท้องประมาณเดือนสิงหาคม 2556 หลังจากล้างไตหน้าท้อง ต้องเข้ารพ.ประมาณ 2-3 ครั้ง เพื่อให้ยาขับน้ำ เพราะน้ำออกมาขาดทุนบ่อยมากค่ะ จะมีวิธีที่ทำให้ไม่ขาดทุนไหมคะ แล้วสาเหตุที่ขาดทุนมีไหมคะ ว่าเพราะอะไร เจ้าหน้าที่ศูนย์ไตเทียมแนะนำว่าถ้ารู้ว่าขาดทุนให้งดน้ำ แต่ก็ไม่ได้ผล ต้องเข้า รพ.ทุกที อยากทราบวิธีแก้ไขค่ะ และถ้าหากเปลี่ยนไต จะสามารถใช้ชีวิตตามปกติได้มากแค่ไหนคะ ผู้บริจาคไตหากเป็นญาติ พี่ น้อง จะต้องระวังในการใช้ชีวิตกว่าคนธรรมดาทั่วไปมากไหมคะ กังวลเกี่ยวกับการขาดทุนในการล้างไตหน้าท้องมากค่ะ ขอบพระคุณมากค่ะ

อายุ: 36 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 55 กก. ส่วนสูง: 155ซม. ดัชนีมวลกาย : 22.89 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
Anonymous

25 พฤศจิกายน 2556 04:49:24 #2

ขอเพิ่มเติมค่ะ  น้องชายจะมีความดันอยู่ที่ 150-170  แต่ไม่ปวดหัวค่ะ

รศ.พญ. ศิริรัตน์ เรืองจุ้ย

แพทย์เฉพาะทางโรคไต อายุรศาสตร์

29 พฤศจิกายน 2556 16:25:12 #3

ตอบคำถามที่ 1: สาเหตุที่น้ำยาขาดทุน และวิธีที่ทำให้ไม่ขาดทุน

สาเหตุที่ทำให้น้ำยาขาดทุน หรือปริมาณน้ำยาล้างไตที่ไหลออกจากช่องท้อง น้อยกว่าปริมาณน้ำยาที่ใส่เข้าไป อาจเกิดจากสาเหตุต่างๆดังต่อไปนี้

  1. ตำแหน่งของปลายสายล้างไตที่อยู่ภายในช่องท้องไม่อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม ซึ่งตำแหน่งที่ดี คือ ปลายสายควรอยู่บริเวณต่ำสุดของช่องท้อง ภาวะท้องผูกเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สายล้างไตเปลี่ยนตำแหน่ง
  2. มีการอุดตันหรือหักงอของสายล้างไตที่อยู่ภายในช่องท้อง ซึ่งสาเหตุของการอุดตันอาจเกิดจากการติดเชื้อภายในช่องท้องทำให้น้ำยาขุ่นอุดตันสาย หรือมีก้อนเลือด,เยื่อไฟบรินอุดตันภายในสาย หรือมีเยื่อยึดลำไส้หรือพังผืดที่อยู่ภายในช่องท้องกดรัดภายนอกสายล้างไต
  3. มีการรั่วของน้ำยาล้างไตไปตำแหน่งอื่น เช่น เนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง, ช่องปอด, ถุงอัณฑะและบริเวณอวัยวะเพศ เป็นต้น
  4. ผู้ป่วยบางรายเกิดภาวะน้ำยาขาดทุน เนื่องจากสภาพเยื่อบุช่องท้องของผู้ป่วยมีคุณสมบัติที่ยอมให้น้ำตาลกลูโคสในน้ำยาล้างไตเคลื่อนเข้าไปในหลอดเลือดฝอยอย่างรวดเร็ว ทำให้มีปริมาณกลูโคสในน้ำยาลดลง ซึ่งปกติกลูโคสในน้ำยาล้างไตจะทำหน้าที่ดึงน้ำจากหลอดเลือดให้ไหลออกมาในช่องท้อง ดังนั้นเมื่อปริมาณกลูโคสในน้ำยาลดลง คุณสมบัติการดึงน้ำจึงลดลงและเกิดการขาดทุนขึ้น ซึ่งสภาพเยื่อบุช่องท้องชนิดนี้อาจเป็นลักษณะของผู้ป่วยเองหรือเกิดการเปลี่ยนแปลงชนิดนี้ภายหลังจากที่มีการติดเชื้อภายในช่องท้องบ่อยๆ
  5. มีพังผืดปริมาณมากภายในช่องท้อง ทำให้พื้นที่ที่จะบรรจุน้ำยาล้างไตในช่องท้องลดลง ซึ่งพังผืดอาจเกิดจากการติดเชื้อในช่องท้องซ้ำๆหรือจากที่เคยผ่าตัดช่องท้อง
  6. เยื่อบุช่องท้องเสื่อมสภาพ
  7. ร่างกายขาดสารน้ำ

แนวทางหาสาเหตุประกอบด้วยการตรวจปริมาณน้ำยาไหลเข้าออก (test flow), เอกซเรย์เพื่อดูตำแหน่งปลายสายล้างไตในช่องท้อง, และตรวจประสิทธิภาพเยื่อบุช่องท้อง

ในแง่การป้องกันไม่ให้น้ำยาล้างไตขาดทุน ได้แก่ ป้องกันไม่ให้ท้องผูก และดูแลความสะอาดในขั้นตอนการเปลี่ยนน้ำยาเพื่อลดโอกาสติดเชื้อในช่องท้อง

เมื่อเกิดภาวะน้ำยาขาดทุน และผู้ป่วยมีอาการน้ำเกินในร่างกาย เช่น บวม หายใจหอบเหนื่อยหรือไอโดยเฉพาะในช่วงนอนตอนกลางคืน ควรลดปริมาณน้ำดื่มและรีบแจ้งแพทย์และพยาบาลที่ดูแลให้ทราบว่าน้ำยาขาดทุน เพื่อผู้ดูแลจะได้ประเมินและตรวจเพิ่มเติมต่อไป

การรักษาขึ้นกับสาเหตุ เช่น รักษาภาวะติดเชื้อในช่องท้อง, ใช้ยาระบายเพื่อกระตุ้นการเคลื่อนไหวของลำไส้, ผ่าตัดเปลี่ยนตำแหน่งสายล้างไต, ปรับเปลี่ยนวิธีการล้างไตทางช่องท้อง, ใช้เครื่องล้างไตทางช่องท้องอัตโนมัติ หรือเปลี่ยนชนิดของน้ำยาล้างไต และบางรายอาจต้องเปลี่ยนเป็นการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม เป็นต้น

ตอบคำถามที่ 2: ถ้าหากเปลี่ยนไต จะสามารถใช้ชีวิตตามปกติได้มากแค่ไหนคะ ผู้บริจาคไตหากเป็นญาติ พี่ น้อง จะต้องระวังในการใช้ชีวิตกว่าคนธรรมดาทั่วไปมากไหมคะ

หลังการเปลี่ยนไต ผู้ป่วยจะสามารถใช้ชีวิตใกล้เคียงคนปกติ แต่ต้องเคร่งครัดเรื่องการรับประทานยาโดยเฉพาะยากดภูมิต้านทาน รักษาความสะอาดของร่างกาย และเฝ้าระวังการติดเชื้อ รวมถึงควรพบแพทย์อย่างต่อเนื่อง
ผู้บริจาคไต สามารถดำรงชีวิตได้เหมือนคนทั่วไป มีข้อเพิ่มเติมได้แก่ ควรพบแพทย์เพื่อตรวจความดันโลหิตและหน้าที่ของไตเป็นระยะ และควรระมัดระวังไม่ให้เกิดอุบัติเหตุบริเวณช่องท้องและด้านหลัง ที่อาจจะทำให้เกิดอันตรายต่อไตข้างที่เหลือ

Anonymous

2 ธันวาคม 2556 03:09:18 #4

ขอบคุณคุณหมอมากค่ะ  ไปเอ็กซ์เรย์แล้ว ปรากฎว่าสายที่เจาะไว้มันเคลื่อนค่ะ หมอให้ทำท่าบริหารบ่อยๆ  และไปพบหมออีกครั้งค่ะ