กระดานสุขภาพ

ผู้ป่วยติดเชื้อบาดทะยัก มีโอกาสเสียชีวิตมั้ยคะ
Anonymous

22 กันยายน 2556 16:41:51 #1

คุณพ่อเพื่อนอยู่ต่างจังหวัด ตอนเช้ามีอาการขากรรไกรขยับไม่ค่อยได้ กลืนน้ำลายไม่ได้ คอหันไม่ได้ พาไปพบหมอครั้งแรกให้ยาพารา กลับมากินค่ะ แต่อาการไม่เบาลง เลยไปอีกครั้ง ตอนเย็น หมอวินิฉัย ติดเชื้อบาดทะยักค่ะ หมอผ่าตัด เจาะคอเพื่อช่วยหายใจ ตอนนี้ อยู่ ICU หมอให้เตรียม แพมเพิดผู้ใหญ่ และเครื่องใช้อื่นๆ ที่จำเป็น

รบกวนถามค่ะ

โอกาสหายมีมั้ยคะ

คนไข้ไม่สามารถเข้าห้องน้ำเองได้หรือคะ

จะเดินได้ปกติมั้ยคะ

ทำไมต้องเจาะคอเพื่อช่วยหายใจคะ

ขอบคุณค่ะ

อายุ: 60 ปี เพศ: M น้ำหนัก: 70 กก. ส่วนสูง: 175ซม. ดัชนีมวลกาย : 22.86 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
นพ.มงคล อังคศรีทองกุล

ผู้เชี่ยวชาญเวชศาสตร์ครอบครัว

24 กันยายน 2556 13:28:40 #2

บาดทะยัก เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งซึ่งเจริญแบ่งตัวในที่มีออกซิเจนน้อย สามารถสร้างสารพิษที่มีผลกระตุ้นปลายประสาท ทำให้เกิดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อลายทั่วร่างกาย พบมากในดิน และสิ่งสกปรกทั่วไป เข้าสู่ร่างกายผ่านทางบาดแผลที่ถูกบาด หรือทิ่มแทง ที่พบบ่อย คือ ถูกตะปูที่เป็นสนิม ทิ่มตำ อาการเริ่มแรก มีการหดเกร็งของกล้ามเนื้อขากรรไกร กล้ามเนื้อบริเวณต้นคอ แล้วจึงลามไปยังกล้ามเนื้อส่วนอื่นๆทั่วร่างกาย ยกเว้น กล้ามเนื้อที่ทำงานโดยอัตโนมัติ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจ กล้ามเนื้อที่ช่วยในการหายใจ ก็หดเกร็ง หายใจเองไม่ได้ จึงต้องเจาะคอใส่เครื่องช่วยหายใจ การรักษา ให้ยาฆ่าเชื้อบาดทะยัก ให้สารต้านสารพิษของเชื้อบาดทะยัก ยาลดการเกร็งของกล้ามเนื้อ เมื่อสารพิษหมดไป กล้ามเนื้อจะกลับมาทำงานได้ตามปกติ ฉะนั้นจึงมีโอกาสหายขาดได้ แต่ก็มีโอกาสเสียชีวิตได้สูง

โรคบาดทะยักเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน ในปัจจุบัน เด็กจะได้รับวัคซีนบาดทะยักร่วมกับวัคซีนคอตีบ ไอกรน ตั้งแต่เล็กๆ และ ได้รับการกระตุุ้นตอนชั้นประถม ในผู้ใหญ่ เมื่อมีบาดแผล ไม่ว่าจะจากอุบัติเหตุ หรือถูกของมีคม บาด ทิ่ม ตำ ถูกสัตว์กัด ควรฉีดวัคซีนบาดทะยักทุกราย หนึ่งชุดสามเข็ม ป้องกันได้ 5-10 ปี กระตุ้น 1 เข็ม ป้องกันได้อีก 5-10 ปี

Anonymous

25 กันยายน 2556 16:33:59 #3

ขอบคุณ คุณหมอค่ะที่ให้คำตอบ ขอถามเพิ่มนะคะ

ตอนนี้พ่อออกจาก icu มาอยู่ห้องพักฟื้นแล้วค่ะ แล้วจะรู้ได้ยังไงว่าพ้นขีดอันตราย หรือรอดแน่ ๆ

แล้วถ้ารอดแล้วจะดำเนินชีวิตตามปกติ เพราะ ตอนนี้หมอยังใส่ท่อฉี่อยู่ และยังให้อาหารทางสายยาง

และไอบ่อยมากค่ะ

นพ.มงคล อังคศรีทองกุล

ผู้เชี่ยวชาญเวชศาสตร์ครอบครัว

30 กันยายน 2556 03:29:10 #4

คุณพ่อออกจาก ICU แล้ว แสดงว่า อาการดีขึ้นมาก ถอดท่อหายใจออก สามารถหายใจเองได้ อาจมีอาการแทรกซ้อนจากการที่ใส่ท่อหายใจ ท่อปัสสาวะ กล้ามเนื้ออ่อนล้า จากการหดเกร็งเป็นเวลานาน ถ้าอาการแทรกซ้อนไม่รุนแรง สามารถแก้ไขได้ คุณพ่อคงหายกลับมาเป็นปกติได้ แพทย์ผู้ดูแลจะสามารถประเมินอาการ และให้ความเห็นที่ถูกต้องครับ

Anonymous

23 ตุลาคม 2556 07:22:32 #5

ขอบคุณค่ะ สำหรับคำตอบค่ะ

ตอนนี้พ่อกลับมาอยู่บ้านแล้ว ตอนออก หมอยังสั่งให้อาหารทางสายยางอยู่ แต่พอกลับบ้าน สายยางหลุด เลยทำอาหารอ่อน ประเภท ข้าวตัมหมูสับละเอียดให้กิน ยังขยับปากไม่ได้ หมอไม่ให้ออกเสียง

เดินได้ปกติ หมอนัดดูอาการอีกทีวันที่ 30ตุลานี้ค่ะ

แต่หมอยังหาสาเหตุ ของเชื้อไม่ได้ เพราะพ่อไม่มีบาดแผลเลย

เลยนัดตรวจเพื่อดูฟันอีกทีค่ะ

ขอบคุณค่ะ