กระดานสุขภาพ

จะเป็นแบบเดิมไหมน้ำท่วมปอด
Yama*****a

25 มีนาคม 2562 08:25:28 #1

แม่เป็น chf​ค่ะ​เคยไปอ็กซเรย์ปอดเมื่อสองอาทิตย์ก่อนหมอบอกว่าปกติ​พอมาสองสามวันที่ผ่านแม่มีอาการกดหน้าแข็งแล้วบุ๋ม​ค่ะ​ปัสสาวะบ่อยมากค่ะแม่จะกลับมาเป็นน้ำท่วมปอดอีกไหมค่ะเพราะก่อนหน้านี้ก้อเค​ยเป็น​ตอนนี้ทานยาขับปัสสาวะค่ะครึ่งเม็ด​ค่ะจะสังเกตุ​อาการยังไวค่ะว่าจะโรคน้ำท่วมปอดจะกลับมาอีก
อายุ: 58 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 75 กก. ส่วนสูง: 150ซม. ดัชนีมวลกาย : 33.33 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
พญ.กิติพร กวียานนท์

แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว/เวชศาสตร์ทั่วไป

26 มีนาคม 2562 16:45:46 #2

ปอดบวมน้ำ (Pulmonary edema) คือ ภาวะผิดปกติที่เกิดจากมีสารน้ำ/ของเหลวจากในหลอดเลือดของปอด ไหลซึมออกจากหลอดเลือดเข้าสู่เนื้อเยื่อปอด ก่อให้เกิดมีน้ำคั่งในเนื้อ เยื่อปอด โดยเฉพาะในถุงลม จึงส่งผลให้ถุงลมไม่สามารถบรรจุอากาศที่หายใจเข้าไปได้(เพราะมีน้ำมาแทนที่) ปอด/ถุงลมจึงไม่สามารถแลกเปลี่ยนออกซิเจนในอากาศ กับคาร์บอนได ออกไซด์ในหลอดเลือดปอดได้ เซลล์ต่างๆทั่วร่างกาย รวมทั้งเซลล์ของปอด หัวใจ และหลอดเลือดต่างๆ จึงขาดอากาศ/ขาดออกซิเจน ส่งผลให้เกิดอาการเหนื่อยหอบ และตัวเขียวคล้ำ ซึ่งถ้าให้การรักษาไม่ทัน จะส่งผลให้เกิดภาวะหายใจล้มเหลว และเสียชีวิตในที่สุดได้

ปอดบวมน้ำ เป็นภาวะที่พบบ่อย มักเกิดตามหลังภาวะหัวใจล้มเหลว หรือภาวะปอดติดเชื้อรุนแรง (โรคปอดบวม) โดยพบได้ในทั้ง 2 เพศ และในทุกอายุ ตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ แต่จะพบได้สูงขึ้นในผู้สูงอายุ สาเหตุจากโรคหัวใจ

กลไกการเกิดปอดบวมน้ำ เกิดได้ 2 วิธีหลัก คือ

1.จากมีภาวะหัวใจล้มเหลว เรียกว่า Cardiogenic pulmonary edema

ปอดบวมน้ำจากภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะหัวใจล้มเหลว จะส่งผลให้หัวใจโดยเฉพาะห้องล่างซ้ายไม่สามารถบีบตัว ส่งเลือดออกจากหัวใจเข้าท่อเลือดแดงใหญ่ เพื่อไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆของร่างกายได้ (อ่านเพิ่มเติมในบทความ หัวใจ:กายวิภาคหัวใจ) ส่งผลให้เกิดเลือดคั่งในหัวใจ เลือดจากปอดจึงไม่สามารถกลับคืนเข้าสู่หัวใจได้ จึงเกิดเลือดคั่งในปอด และมีความดันในหลอดเลือดปอดสูงขึ้น การที่มีความดันในหลอดเลือดปอดสูงขึ้น จะเพิ่มแรงดันให้สารน้ำหรือของเหลวในหลอดเลือดปอดไหลซึมเข้าสู่เนื้อเยื่อปอด โดยเฉพาะในถุงลม จึงส่งผลให้ถุงลมแลกเปลี่ยนอากาศไม่ได้ ร่างกายจึงเกิดภาวะขาดออกซิเจน (Hypoxia) ซึ่งจะส่งผลให้ร่าง กายสร้างสารที่กระตุ้นให้หลอดเลือดต่างๆรวมทั้งหลอดเลือดปอดหดตัว ความดันในหลอดเลือดต่างๆจึงสูงยิ่งขึ้น รวมทั้งในหลอดเลือดปอด น้ำในหลอดเลือดปอดจึงไหลซึมออกมามากขึ้น เกิดภาวะน้ำท่วมปอด วนเวียนเป็นวงจรไม่รู้จบ

2.จากภาวะผนังหลอดเลือดฝอยของถุงลม เกิดความผิดปกติ ยอมให้สารน้ำหรือของเหลวในหลอดเลือดซึมผ่านออกจากหลอดเลือด (Increased permeability) เข้าสู่เนื้อเยื่อข้างเคียงซึ่งคือเนื้อเยื่อปอด โดยเฉพาะเข้าไปในถุงลม เรียกว่า Noncardiogenic pulmonary edema)

ปอดบวมน้ำจากความผิดปกติของผนังหลอดเลือดฝอยของถุงลม โดยผนังหลอดเลือดฝอยที่ในภาวะปกติจะไม่ยอมให้มีของเหลวผ่านออกจากผนังหลอดเลือด เกิดมีความผิด ปกติขึ้น จนส่งผลให้ของเหลวในหลอดเลือดฝอย (ส่วนใหญ่จะเป็นโปรตีน) ไหลซึมเข้าไปอยู่ในถุงลม ส่งผลให้อากาศไม่สามารถเข้าไปในถุงลมได้ ถุงลมจึงไม่สามารถแลกเปลี่ยนอากาศได้ จึงเกิดภาวะขาดออกซิเจนของเซลล์ต่างๆทั่วร่างกาย

อาการจากปอดบวมน้ำจากทั้ง 2 กลไก และทุกสาเหตุจะมีอาการเหมือนกัน โดยอาการที่พบได้บ่อย คือ

อาการหายใจลำบาก/เหนื่อยหอบ โดยเฉพาะเมื่อต้องออกแรง/ใช้แรง

นอนราบจะหายใจลำบากมากขึ้น ต้องนั่ง หรือนอนเอนตัว

บวม เท้า มือ และ/หรือ ท้อง (ท้องมาน)

คลื่นไส้ อาเจียน

สับสน กระสับกระส่าย

มือเท้าเย็น

ความดันโลหิตต่ำ

ตับโต อาจมีม้ามโต คลำได้ (ภาวะปกติจะคลำไม่ได้)

หลอดเลือดดำที่คอโป่งพอง มองเห็นได้ชัดเจน

ตรวจฟังเสียงปอดหายใจ จะผิดปกติ (Rales)

มีการทำงานของไตผิดปกติร่วมด้วย

อาจมีไข้สูงเมื่อมีการติดเชื้อร่วมด้วย

การรักษาปอดบวมน้ำ คือ การรักษาสาเหตุ และการรักษาประคับประคองตามอาการ

การรักษาสาเหตุ เช่น การรักษาภาวะหัวใจล้มเหลว หรือการให้ยาปฏิชีวนะ เมื่อเกิดจากภาวะปอดติดเชื้อ เป็นต้น ทั้งนี้รวมถึง การให้ยาขยายหลอดลม การสูดดมออกซิเจนด้วยการควบคุมแรงดันของออกซิเจน และการให้ยากระตุ้นการเต้นของหัวใจ เป็นต้น

การรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น การให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำเมื่อผู้ป่วยกินไม่ได้ หรือการให้ยาขับน้ำเมื่อมีอาการบวม เป็นต้น

การดูแลตนเองที่สำคัญที่สุด คือ เมื่อมีอาการดังกล่าวควรรีบไปโรงพยาบาล ทั้งนี้ ภาวะปอดบวมน้ำ มักเป็นการรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาล ต่อเมื่อผู้ป่วยอาการดีขึ้น แพทย์รักษาปอดบวมน้ำได้แล้ว แพทย์จึงจะอนุญาตให้ผู้ป่วยกลับไปดูแลตนเองที่บ้าน

การดูแลตนเองเมื่อกลับบ้านแล้ว คือ

ปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาลแนะนำอย่างถูกต้อง เคร่งครัด

กินยาต่างๆให้ครบถ้วน ถูกต้อง ไม่ขาดยา

พักผ่อนให้เต็มที่

งดบุหรี่ ไม่สูบบุหรี่

งดอาหารเค็ม

รักษา ควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุ

พบแพทย์ตามนัดเสมอ

พบแพทย์ก่อนนัดเมื่อมีอาการผิดปกติไปจากเดิม หรือ เมื่ออาการต่างๆเลวลง หรือเมื่อกังวลในอาการ