กระดานสุขภาพ

ผิดปกติหรือไม่
Namp*****r

9 กุมภาพันธ์ 2562 00:07:12 #1

สวัสดีค่ะ คือพอดีมีปัญหาในช่วงเวลากระมาณ3สัปดาห์ที่ผ่านมา ดิฉันมีอาการหิวบ่อย กินเท่าไรก็ไม่อิ่ม กระหายน้ำบ่อย แต่อีกอาการที่ชัดเจนคือ มีเหงื่อออกมาก โดยเฉพาะบริเวณรักแร้แม้ในขณะที่นอนเฉยๆในที่อากาศเย็นก็ตาม ทั้งที่ปกติเป็นคนเหงื่อออกน้อยมาก แบบนี้เข้าข่ายไทรอยด์เป็นพิษไหมคะ
อายุ: 20 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 54 กก. ส่วนสูง: 168ซม. ดัชนีมวลกาย : 19.13 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
พญ.กิติพร กวียานนท์

แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว/เวชศาสตร์ทั่วไป

13 กุมภาพันธ์ 2562 19:14:33 #2

ต่อมไทรอยด์ (Thyroid gland) เป็นอวัยวะที่อยู่บริเวณใต้ลูกกระเดือกทางด้านหน้าของลำคอ มีหน้าที่ในการสร้างฮอร์โมนไทรอยด์เพื่อใช้ควบคุมการทำงานของอวัยวะต่างๆของร่าง กาย ถ้าหากต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนไทรอยด์ออกมามากเกินไป จะทำให้เกิดอาการผิดปกติของอวัยวะต่างๆที่เรียกว่า ภาวะหรือโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ (Thyrotoxicosis) หรืออาจเรียก ภาวะ/โรคต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน (Hyperthyroid หรือโรค/ภาวะ Hyperthyroidism)

ต่อมไทรอยด์เป็นพิษมีหลายสาเหตุ แต่ส่วนใหญ่เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายที่ผิดปกติกระตุ้นให้ต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไป พบภาวะนี้ในผู้หญิงได้บ่อยกว่าในผู้ชาย และพบว่าผู้ป่วยบางรายมีญาติพี่น้องเป็นต่อมไทรอยด์เป็นพิษเหมือนกันด้วย

ผู้ป่วยภาวะต่อมไทรอยด์เป็นพิษมักมีอาการหลายๆอย่างร่วมกันได้แก่ เหนื่อยง่าย ใจสั่น ขี้ร้อนง่าย เหงื่อออกมาก หงุดหงิด นอนไม่หลับ กินจุแต่น้ำหนักลดลง ประจำเดือนผิดปกติ บางรายอาจมีคอโต (ต่อมไทรอยด์โต/คอพอก) หรือตาโปนทั้งสองตาร่วมด้วย

ผู้ป่วยภาวะต่อมไทรอยด์เป็นพิษที่ไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆอาจมีผลข้างเคียงแทรกซ้อนที่อันตรายต่างๆได้แก่ หัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หัวใจวาย เกิดลิ่มเลือดในช่องหัวใจแล้วกระจายไปอุดตันตามหลอดเลือดต่างๆเช่น ที่สมองทำให้เกิดอาการอัมพฤกษ์หรืออัมพาตได้ ผู้ป่วยบางรายที่มีอาการตาโปนร่วมด้วยอาจทำให้ตาแห้ง หนังตาปิดไม่สนิท กระจกตาเป็นแผล หรือมีผลกระทบต่อการมองเห็นได้

เมื่อผู้ป่วยมีอาการที่สงสัยว่ามีภาวะต่อมไทรอยด์เป็นพิษ ควรไปพบแพทย์เพื่อให้ได้รับการตรวจวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้อง โดยแพทย์จะสอบถามอาการและตรวจร่างกาย ตรวจคลำต่อมไทรอยด์ ต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำคอ ถ้าหากสงสัยว่ามีภาวะต่อมไทรอยด์เป็นพิษ ก็จะเจาะเลือดเพื่อตรวจวัดระดับฮอร์โมนไทรอยด์เพื่อยืนยันว่าเป็นต่อมไทรอยด์เป็นพิษจริงหรือไม่

โดยทั่วไปการรักษาภาวะต่อมไทรอยด์เป็นพิษมี 3 วิธีได้แก่ การรักษาด้วยยา การผ่าตัด และน้ำแร่รังสีไอโอดีน/น้ำแร่รังสี (ปัจจุบันมียาเป็นแคปซูล แต่ยังมีข้อจำกัดในการนำมาใช้มาก จึงยังไม่เป็นที่นิยม) แพทย์จะพิจารณาปัจจัยต่างๆของผู้ป่วยเช่น อายุ ความรุนแรงของอาการ ขนาดของต่อมไทรอยด์ที่โตขึ้น เพื่อเลือกวิธีการรักษาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย

การรักษาด้วยยา

ผู้ป่วยที่มีอายุน้อยมีอาการไม่รุนแรงมากและต่อมไทรอยด์ไม่โตมาก แพทย์มักแนะ นำให้รักษาด้วยยาก่อน ยาที่ใช้รักษานี้จะเป็นยาลดการสร้างฮอร์โมนไทรอยด์และยาลดอาการใจสั่น ผู้ป่วยที่รักษาด้วยยานี้จะต้องสามารถกินยาเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องตามแพทย์แนะนำ โดยทั่วไปแพทย์จะแนะนำให้กินยาประมาณ 1 ถึง 2 ปีโดยในระหว่างที่รักษาด้วยยาอยู่นี้แพทย์จะนัดตรวจติดตามดูอาการและเจาะเลือดวัดระดับฮอร์โมนไทรอยด์บ่อยๆเช่น ทุก 1 - 2 เดือนเพื่อให้มั่นใจว่าผู้ป่วยกินยาในขนาดที่เหมาะสม ไม่มากหรือน้อยเกินไป ข้อเสียของการรักษา ด้วยยาคือ ผู้ป่วยมักจะต้องกินยานานเป็นปี มีโอกาสเกิดการแพ้ยาได้ และโอกาสหายขาดจากโรคมีน้อย เมื่อไม่หายก็ต้องเปลี่ยนไปรักษาด้วยวิธีอื่นเช่น น้ำแร่รังสีไอโอดีน

การรักษาด้วยการผ่าตัดต่อมไทรอยด์

สำหรับผู้ป่วยที่ต่อมไทรอยด์โตมากหรือมีอาการหายใจลำบากหรือกลืนลำบาก เพราะต่อมไทรอยด์ที่โตขึ้นกดเบียดทับหลอดลมและ/หรือหลอดอาหาร ซึ่งทั้งสองอวัยวะนี้อยู่ติดกับต่อมไทรอยด์ แพทย์จะแนะนำให้รักษาด้วยการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ออกบางส่วนเพื่อให้ต่อมไทรอยด์มีขนาดเล็กลง จะได้สร้างฮอร์โมนไทรอยด์ได้น้อยลง และอาการหายใจลำบากหรือกลืนลำบากจะดีขึ้น แม้ว่าเป็นวิธีที่ทำให้หายจากภาวะต่อมไทรอยด์เป็นพิษได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็อาจเกิดผลข้างเคียงจากการผ่าตัดได้เช่น เสียงแหบจากผ่าตัดโดนเส้นประสาทกล่องเสียงที่อยู่ติดกับต่อมไทรอยด์

นอกจากนั้น ถ้าแพทย์ตัดต่อมไทรอยด์ออกน้อยเกินไป หลังผ่าตัดผู้ป่วยก็อาจจะยังมีอาการจากภาวะต่อมไทรอยด์เป็นพิษอยู่เช่นเดิม แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าตัดต่อมไทรอยด์ออกมากเกินไป หลังผ่าตัดผู้ป่วยจะเกิดอาการจากการขาดฮอร์โมนไทรอยด์ได้

การรักษาด้วยน้ำแร่รังสีไอโอดีน

น้ำแร่รังสีไอโอดีนเป็นสารไอโอดีนประเภทหนึ่ง (Iodine-131) ที่ให้รังสีแกมมา (Gamma ray) และรังสีบีตา (Beta ray, รังสีที่ใช้ตรวจและรักษาโรค) และสามารถปล่อยรังสีนั้นๆออกมาทำลายเซลล์ของต่อมไทรอยด์ได้ เมื่อผู้ป่วยกินน้ำแร่รังสีไอโอดีนเข้าไป ต่อมไท รอยด์จึงมีขนาดเล็กลงและสร้างฮอร์โมนลดลง อาการจากภาวะต่อมไทรอยด์เป็นพิษจึงดีขึ้น น้ำแร่รังสีไอโอดีนนี้ไม่สามารถหาซื้อได้ทั่วไป จะต้องรับการรักษาเฉพาะโรงพยาบาลบางโรง พยาบาลที่ให้การรักษาด้านนี้เท่านั้น

การรักษาด้วยน้ำแร่รังสีไอโอดีนมีข้อดีคือ สามารถรักษาภาวะต่อมไทรอยด์เป็นพิษให้หายขาดได้สูง สะดวก ง่าย ปลอดภัย เหมาะสมกับผู้ป่วยที่อายุ 20 ปีขึ้นไปและต่อมไทรอยด์ไม่โตมาก หรือผู้ป่วยที่รักษาด้วยยาเป็นเวลานาน 1 - 2 ปีแล้วยังไม่หาย หรือหายแล้วกลับมาเป็นใหม่อีก หรือผู้ป่วยที่รักษาด้วยการผ่าตัดแล้วยังมีอาการจากภาวะต่อมไทรอยด์เป็นพิษอยู่

ข้อเสียของการรักษาด้วยน้ำแร่รังสีไอโอดีนคือ หลังการรักษาผู้ป่วยจะเกิดภาวะขาดฮอร์โมนไทรอยด์ได้บ่อย ทำให้ต้องกินยาฮอร์โมนไทรอยด์ไปตลอดชีวิต

นอกจากนั้น การรักษาด้วยน้ำแร่รังสีไอโอดีนนี้ไม่สามารถใช้ได้กับผู้ป่วยที่กำลังตั้ง ครรภ์เพราะรังสีมีผลต่อทารกในครรภ์ อาจก่อความพิการหรือการแท้ง หรือในผู้ป่วยให้นมบุตรอยู่เพราะน้ำแร่รังสีไอโอดีนจะปนออกมากับน้ำนมส่งผลต่อต่อมไทรอยด์ของทารกได้ทั้งในระยะเฉียบพลัน (การอักเสบ) และในระยะยาว (โรคมะเร็งต่อมไทรอยด์)